เรามีการแบ่งคนจากยุคสมัยที่คนๆ นั้นเกิดเป็นรุ่นๆ ประมาณว่าด้วยสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่คนแต่ละยุคเผชิญทำให้ผู้คนที่เกิดและเติบโตขึ้นในแต่ละช่วงเวลามีลักษณะนิสัยและทัศนคติที่ต่างออกไป
เราเชื่อว่า Silent Generation คนรุ่นปู่รุ่นย่า อายุ 70-80 ที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกที่ 2 เป็นช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยสภาพสังคมคนรุ่นนั้นก็ต้องอดทนและใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นประชาชนก็สามารถสร้างกิจการ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ ด้วยสภาพสังคมทำให้เป็นคนเคร่งครัด ขยันอดทน ขณะที่เด็ก Gen Y ที่เกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ความรวดเร็วทำให้คนรุ่นนี้ขี้เกียจและหลงตัวเอง
ทฤษฎีและความเชื่อเรื่อง ‘ช่วงวัย’ ว่าคนแต่ละวัยเป็นอย่างไรก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่พยายามอธิบายและทำความเข้าใจคนอย่างคร่าวๆ แต่ระยะหลังดูเหมือนว่าคำอธิบายพวกนี้จะกลายเป็น ‘คำอธิบายสำคัญ’ โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจที่นิยมใช้ทั้งในแง่ของการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายไปจนถึงการบริหารงาน เพราะในการทำงานเราจะมีเจ้านายอายุมากกว่าที่มีทัศนคติแตกต่างจากลูกน้อง มักมีคำพูดแบบ จะจัดการพวกพนักงานเจนวายที่ไม่อดทน เปลี่ยนงานใหม่ได้ยังไง
แนวคิดเรื่อง Generations มาจากไหน จริงๆ เป็นแนวคิดที่นักสังคมศึกษาเพิ่งจะพัฒนาขึ้นเมื่อช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง
Generations มาจากไหน
แนวคิดเรื่อง Generations แบบที่เรานิยมแบ่งกันเป็นแนวคิดใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง คำว่า Generation สมัยก่อนหมายถึง ‘รุ่นของคนในครอบครัว’ เป็นหลักแบบคนรุ่นย่ารุ่นยาย จนกระทั่ง Karl Mannheim นักสังคมศาสตร์ชาวฮังกาเรียนตีพิมพ์งานชื่อ The Problem of Generations ในปี 1923
งานของ Karl Mannheim เสนอและศึกษาว่านี่ไงผู้คนในสังคมยังไงก็ได้รับอิทธิพลจากบริบททางสังคมและทางประวัติศาสตร์ คนในยุคหนึ่งๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ๆ บางอย่างร่วมกันก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่ง และลักษณะนั้นๆ ก็จะมากำหนดอนาคตของโลกใบนี้ต่อไป แต่แมนไฮมน์เองก็บอกว่าถึงเหตุการณ์สำคัญอย่างสงครามโลกหรือนวัตกรรมที่มีผลกับชีวิตจะมีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยของผู้คน แต่ว่าไอ้แนวคิดเรื่องเจนเนอเรชั่นนี้ก็ใช่ว่าจะอธิบายได้อย่างสัมบูรณ์ คือถึงคนจะเผชิญเหตุการณ์เดียวกัน แต่คนก็มีภูมิหลังอื่นๆ ที่หลากหลายเช่นพื้นที่ ชนชั้น หรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน ดังนั้นท่าทีหรือทัศนคติของคนนั้นถึงจะเจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่สุดท้ายก็มีความจำเพาะเจาะจงอยู่ดี
ที่มาของแต่ละ Gen ใครเป็นคนเรียก
ด้วยความที่แต่ละเจนเกิดจากการสังเกตการณ์ของแต่ละยุค ดังนั้นพวกชื่อแต่ละเจนก็เกิดจากกระแสและคำเรียกที่มันค่อยๆ ก่อตัวเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้น
คำเช่น Baby Boomer อ้างอิงถึงอัตราการเกิดของประชากรที่พุ่งสูงขึ้น Oxford English Dictionary บอกว่าคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Washington Post จนกระทั่ง William Strauss และ Neil Howe นักทฤษฎีที่ศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกาและเชื่อมโยงเข้ากับช่วงวัยของผู้คนนิยามคนยุค Boomer ว่าคือกลุ่มคนที่เกิดช่วงปี 1943 ถึง 1960 เป็นกลุ่มคนที่เด็กเกินกว่าจะมีความทรงจำเกี่ยวกับตัวสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แก่พอที่จะจดจำผลกระทบของสงครามได้ ส่วนคำว่า Generation X เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อสื่อถึงกลุ่มวัยรุ่นทำตัวแปลกแยกจากสังคมบ่อยครั้ง
ปัญหาในตัวเองของการแบ่งคนด้วยปีเกิดก็อย่างที่แมนไฮมน์ว่าคือถึงเราจะผ่านเหตุการณ์เดียวกันมาแต่ท่าทีของคนที่มีต่อเหตุการณ์นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้การแบ่งคนแต่ละเจนจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อผู้คน
นึกภาพโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสามัญ ใครๆ ก็มีสมาร์ตโฟน ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าคุณพ่อ คุณย่า หรือคุณยาย บางทีพ่อแม่เราก็เล่นเกมออนไลน์กับลูกหลาน เราต่างก็มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและทัศคติใหม่ๆ ไม่ต่างกัน ดังนั้นการแบ่งด้วยปีที่เกิดอาจจะไม่สำคัญเท่าการแบ่งโดยภูมิศาสตร์ โดยการเข้าถึงเทคโนโลยี ไปจนถึงพฤติกรรมและทัศนคติส่วนบุคคลมากกว่า