“นี่เราต้องอยู่แบบนี้กันอีกนานแค่ไหน” พี่สาวคนเล็กที่เป็น extrovert พูดอย่างเซ็งๆ ในลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งในรอบ 2 สัปดาห์ จากคนที่ทุกเช้ามืดเคยต้องนั่งรถเข้าเมืองไปทำงาน กลับถึงบ้านช่วงหัวค่ำ กลายเป็นได้ work from home วันๆ นั่งอุดอู้ในห้องนอน หากไม่ใช่เวลาประชุม จะมีออกมาเดินเล่นขึ้นลงบันไดบ้างเพื่อไม่ให้เฉาเกินไป ส่วนพี่สาวคนโตที่ต้องไปทำงานนอกบ้าน ทั้งที่แท้จริงอยาก work from home แทบขาดใจ (คนเราไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองได้รับเลยจริงๆ…) แถมทุกเช้าต้องขึ้นรถเวลาเดิม แต่ไปถึงสถานที่ทำงานเร็วกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนักในความรู้สึกของเธอ! หนำซ้ำตอนก่อนกลับบ้านที่ปกติจะได้เข้าฟิตเนสก็อดไป
ขณะที่ผมเป็นฟรีแลนซ์รับทำคอนเทนต์ประเภทบทความและวิดีโอ (กรอกข้อมูลให้โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ไปแบบนี้ ตอนนี้ลุ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะทิ้งเงินช่วยเหลือมาให้ผมบ้างไหม หรือจะ…ทิ้งผม) ปกติอยู่บ้านแทบจะทุกวันอยู่แล้ว แต่ด้วยมาตรการของภาครัฐก็ทำให้ผมออกไปถ่ายทำไม่ได้ เหลือเพียงงานเขียนที่ปริมาณการจ้างงานก็ลดลงมาก ต้องพยายามหางานทำเพิ่มเติม มีรายได้เล็กน้อยยังดีกว่าไม่มีเลย เวลาว่างของผมที่มากขึ้นถูกถ่ายโอนมาใช้ดูคลิปสาวๆ เล่น Tik Tok และติดตามกลุ่มฝากร้านกับกลุ่มตบมุขของมหาวิทยาลัยตนเองในโซเชียล (อันที่จริงกลุ่มหางานก็มี แต่ผมไม่ค่อยเข้า!)
ก่อน COVID-19 ‘เล่นงาน’ พวกเราแบบนี้ ครอบครัวเรามักไปเดินห้างกันทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ หาของอร่อยๆ ที่นั่นกินเป็นมื้อกลางวัน พาลูกชายของพี่สาวคนกลางเที่ยวเล่นสนุก
พยายามอยู่อย่างมีความสุขให้มากที่สุด
แต่แล้วกิจกรรมของเราก็เปลี่ยนไป เมื่อต้องอยู่บ้านกันยาวๆ เดิมพี่สาวคนกลางจะพาลูกชายตัวน้อยมาวิ่งเล่นที่บ้านเราทุกเสาร์อาทิตย์ แต่เมื่อลูกอดไปอยู่กับเพื่อนและครูที่โรงเรียน ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ จึงเพิ่มการมาอยู่บ้านเรามากขึ้นอีกหนึ่งวันคือวันจันทร์ บรรดาพี่สาวหันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ตอนบ่ายพี่สาวคนโตชอบทำเบเกอรี่ เมนูแต่ละครั้งแทบไม่เคยซ้ำกัน (ทำทั้งที่ไม่เคยไปเรียนที่ไหน อยากทำเองโดยมีสมาชิกในบ้านเป็นหนูทดลอง…) ตกเย็นเราพาเด็กน้อยไปเล่นโยนลูกบอลและปั่นจักรยานอยู่หน้าบ้าน โชคดีที่บ้านเราอยู่ลึกสุดซอย ผู้คนไม่พลุกพล่าน นานทีจะมีรถขับผ่านมาสักคัน
งานบวชของแฟนพี่สาวคนเล็กถูกเลื่อนออกไป ส่วนกำหนดวันแต่งงานที่วางไว้ปลายปีนี้ยังไม่รู้ชะตากรรม ว่าจะหมู่หรือจ่า (หมายถึงวันแต่งงานจะถูกเลื่อนหรือไม่ ไม่ใช่สงสัยว่าเจ้าสาวจะเป็นใครกันแน่…) และเทศกาลเชงเม้งที่ตระกูลเราจัดกันมาตามประเพณีเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นปีแรกที่พวกผู้ใหญ่ประกาศยกเลิก พวกเขาอาจไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่ตอนผมรู้เรื่องมีแอบอมยิ้ม ผมรักบรรพบุรุษแม้ไม่มีความทรงจำร่วมกัน แต่วิธีการแสดงความรักของผมไม่ใช่การก้มหน้าก้มตาจุดธูปกับเผากระดาษ แม้อยู่ในช่วง COVID-19 ระบาดแต่อย่าเพิ่งลืมฝุ่น PM 2.5 สองวิกฤตต่อเนื่องที่มาทับซ้อนกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนแล้วที่เราต้องใส่แมสก์เมื่ออยู่นอกบ้าน
ก่อนเชื้อไวรัส COVID-19 จะโอบรัดโลกอย่างไว อีเวนต์สุดท้ายนอกบ้านที่ผมได้เยือนเกิดขึ้นเมื่อกลางกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2563 เทศกาลขายหนังสือและดนตรีสดกลางแจ้งที่มิวเซียมสยาม ตลอดสิบห้าชั่วโมงในสามวันของการเป็นสตาฟฟ์ที่บูธกิจกรรมงานประดิษฐ์ ผมต้องคลุกคลีกับเด็กและผู้ปกครองมากหน้าหลายตา ตอนนั้นยังไม่มีด่านตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วมงานด้วยเครื่องยิงหน้าผาก มีเพียงขวดเจลแอลกอฮอล์ที่วางไว้ให้ใครใคร่ใช้ก็ใช้
คล้ายเป็นกล่องรับบริจาคปัจจัยตามกำลังศรัทธา
ใครไม่ใส่แมสก์ก็ยังไม่ถูกสายตาแบบตั้งคำถามจากคนรอบข้าง จึงมีทั้งคนใส่แมสก์และคนไม่ใส่แมสก์ปะปนกันไป ด้วยความที่ผมต้องพูดคุยกับผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมแทบตลอดเวลา เพื่อความสะดวกจึงเลือกที่จะไม่ใส่แมสก์ (นอกจากขณะเดินทางไป-กลับบ้าน) ร่างกายผมสบายดีเหมือนสภาพอากาศ ไม่ร้อนเกินไปจนชวนไข้ขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่มีคนรอบข้างคนไหนแสดงอาการให้ผมรู้สึกสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
จนโค้งสุดท้ายใกล้ปิดงาน แถวนั้นแทบไม่มีใครนอกจากผมกับพวกเขา พ่อลูกชาวเอเชียคู่หนึ่งที่ใส่แมสก์มานั่งเล่นที่บูธผม ระหว่างเรามีโต๊ะญี่ปุ่นหนึ่งตัวคั่นกลาง ผมสังเกตว่าคนพ่อพยายามแอบคุยกับลูกเป็นภาษาจีนโดยไม่ให้คนอื่นได้ยิน แต่ตอนขอยืมอุปกรณ์จากผมนั้นเขาพูดภาษาไทย ด้วยสำเนียงคล้ายอยู่เมืองไทยได้สักระยะแล้ว เขาจึงไม่น่าจะเพิ่งลี้ภัยมาจากดินแดนที่เป็นต้นตอของเชื้อไวรัสตามข่าว
หลังแมสก์ผืนนั้นปากคนพ่อไอสักครั้งสองครั้ง แค่นั้นคงทำอะไรผมไม่ได้ (ผมคิดเอง) ผมอยากรู้ว่าพวกเขามาจากที่ไหน เป็นคนชาติใด แต่ไม่กล้าถาม ด้วยบทบาทหน้าที่ ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุดในระยะไม่เกิน 2 เมตร เป็นเวลา 15-20 นาที ก่อนพวกเขาจะจากไป และเราไม่ได้เจอกันอีกเลย
สี่วันหลังจากนั้น ผมใส่แมสก์เข้าเมืองไปดูหนังในโรง มีเพื่อนร่วมโรงอยู่บางตา คนที่นั่งใกล้ผมที่สุดอยู่ถัดไปสองเก้าอี้ในแถวเดียวกัน เราต่างไม่แสดงอาการใดๆ แม้แต่เผลอสำลักน้ำดื่มให้ได้ยิน แต่แล้วอีกสองวันถัดมา ผมก็เริ่มไม่สบายหนัก มีทั้งไอ เจ็บคอ เสมหะ และน้ำมูกไหล มาพร้อมกันเหมือนตามนัดหมาย (ซึ่งปกติผมจะเจ็บป่วยเพียงปีละครั้ง ครั้งก่อนเกิดขึ้นเมื่อปลายธันวาคม ปี พ.ศ.2562) ผมแค่กินยาและอมยารักษาไปตามอาการ สมาชิกในบ้านไม่มีใครเป็นหมอ ไม่มีใครวิตกกังวลนอกจากพี่สาวคนเล็กที่อยากให้ผมไปตรวจหา COVID-19 แต่คนอื่นก็ไม่ได้เร่งเร้าอะไร ผมจึงไม่ไป ไม่ได้กลัวตรวจแล้วเจอ
แค่รู้สึกเสียดายเงิน
ร่างกายคนหนุ่มสาวยังแข็งแรง…
ที่ผ่านมาเวลาผมไม่สบายจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์จึงหายดี แต่คราวนี้ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์แล้วอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่หายขาด ส่วนพ่อเริ่มไอค่อกแค่กและเจ็บคอบ้าง ไม่ใช่อาการไอทั่วไปตามประสาคนชรา หรือไอแห้งๆ แบบผู้มีความเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 แม้การไอแต่ละทีไม่ถี่นัก หากมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ดูน่ากังวลกว่าอาการของผม ไม่รู้ว่าเพราะติดเชื้อจากผมหรือเปล่า พ่อนอนห้องเดียวกับแม่ทุกคืน แต่แม่ไม่มีอาการอะไรสักนิด อาจเพราะแม่ไปเดินออกกำลังกายทุกเช้า ไปว่ายน้ำทุกเย็น สุขภาพร่างกายจึงดูแข็งแรงกว่าพ่อ สมาชิกในบ้านชวนพ่อไปหาหมอก็ไม่ยอมไป แถมมีกินไอศกรีมกับน้ำเย็นอยู่บ้างอีกต่างหาก
ราวกับผมเป็นนักเรียนที่ได้ปิดเทอมก่อนเพื่อน คนอื่นอาจเริ่มอยู่บ้านกันมากขึ้นตอนภาครัฐเริ่มล็อกดาวน์ แต่ผมได้สิทธิกักตัวอยู่บ้านตั้งแต่เริ่มป่วยหนัก ทำให้ไม่กล้าออกไปไหนไกลเกินกว่าปากหมู่บ้าน กับวิ่งที่สวนในหมู่บ้านตามปกติ แต่ระยะทางและจำนวนวันลดลงตามพลังงานในร่างกายที่เหลืออยู่ เหมือนแค่ขอให้ได้ออกจากบ้านสักนิดสักหน่อยก็ดีใจแล้ว นึกภาพว่าถ้าผมไปไกลกว่านั้น ใส่แมสก์ไปขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าแล้วเผลอไอจามออกมา ผู้คนถอยห่างผมกันอย่างเหยียดๆ แล้วดูไม่จืด
จนผมป่วยมาครบสามสัปดาห์ จวนเจียนจะหายก็ไม่หายสักที และเริ่มวิตกว่าจะเรื้อรัง แต่พอใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ ไม่ได้นึกถึงหรือสนใจอาการเจ็บไข้ได้ป่วย รู้ตัวอีกทีผมก็กลับมาสบายดี โดยไม่รู้ว่าหายดีตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะพ่อผู้ไออยู่นานถึงเดือนเศษ กลับมาสบายดีเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบเช่นกัน เหมือนพอไม่มีใครทวงถามเรื่องสุขภาพร่างกาย และเมื่อเราคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ เราก็จะไม่ติด ง่ายๆ เช่นนี้เองเหรอ (ไม่ต่างจากที่เราจะไม่อ้วนถ้าไม่ได้ชั่งน้ำหนัก เพราะ ‘คนอ้วนคือคนที่ชั่งน้ำหนักเท่านั้น’)
การพยายามอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด ทำให้การไกลบ้านเป็นระยะทางมากที่สุด คือบางเช้าและเย็นที่อยากไปปากหมู่บ้าน ผมเดินบนเส้นทางที่ร้างผู้คนไป 5 นาที เพื่อซื้อหาของกินและตรวจตราแผงนิตยสาร ผลจากการไม่ได้เข้าเมืองมาเป็นเดือน ถ้าอยู่ในยุคไร้โซเชียลมีเดียให้ติดตาม
คงได้แต่จินตนาการเห็นภาพเมืองร้าง
เหมือนในหนังที่ซอมบี้บุกโลก
ซอมบี้แสดงอาการออกภายนอกให้เราเห็นกันจะจะ แพร่เชื้อผ่านการเดินวิ่งไล่กัดกินต่อกันเป็นทอดๆ เปิดเผยให้รู้กันไปเลยว่าเราควรอยู่ห่างจากใคร แต่ COVID-19 กลับเลือกวิธีกระจายอำนาจด้วยการซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย หากเรามองเห็นเชื้อไวรัสแบบจับคลื่นความร้อนเหมือนพวกพรีเดเตอร์ในหนังก็จะใช้ชีวิตกันง่ายกว่านี้ ไม่ต้องมาคอยลุ้นการติดเชื้อกันทีเป็นหลายวันหลายคืนแบบที่เป็นอยู่
กว่าวัคซีนจะพัฒนาจนสำเร็จพร้อมใช้งานได้ ไม่รู้ว่าเรายังต้องอยู่ใน ‘ว ร ร ค s c e n e’ สถานการณ์ที่เราต้องเว้นว่างระหว่างกันในระยะปลอดภัย กันไปอีกนานแค่ไหน อยากให้แมสก์มีไว้ใส่เฉพาะตอนป่วย ไม่อยากใส่แมสก์ไปนานๆ เช่นทุกวันนี้ หายใจไม่สะดวก ติดขัดพอๆ กับสภาพคล่องทางการเงิน ได้รับผลกระทบมาหลายด้านแล้ว เมื่อไหร่จะได้กลับไปเดินกระทบไหล่ด้านๆ ของเพื่อนฝูงเสียที
บางกิจกรรมผมทำในบ้านไม่ได้ เช่น ‘การวิ่งออกกำลังกาย’ บ้านผมไม่มีลู่วิ่งไฟฟ้า แต่ถึงมีเราก็ชอบไปวิ่ง (เดินและปั่น) ที่สวนสาธารณะกว้างใหญ่ของหมู่บ้านมากกว่า, ‘การเดินห้าง’ ไม่เหมือนการเดินในบ้าน, ‘การพบเจอเพื่อนฝูง’ รักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น, ‘การเลือกซื้อหนังสือ’ ไปเดินดูของจริงที่ร้านดีกว่าตัดสินใจผ่านหน้าจอ, ‘การไปเที่ยว’ ไม่น่าจะใช่การเดินวนอยู่ในบ้าน, ‘การเข้าร่วมกิจกรรมในที่สาธารณะ’ (เช่น งานเสวนา การชุมนุม การไปชมแม็ตช์กีฬา) จับฝูงชนมาใส่บ้านหลังหนึ่งเหมือนจัดปาร์ตี้ไม่ได้ มีพื้นที่ไม่มากพอ
ขณะที่บางกิจกรรมผมสามารถทำได้เฉพาะในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ‘การอาบน้ำ’ และ ‘การนอน’, ‘การดูถ่ายทอดสดแม็ตช์ฟุตบอล’ ลีกที่ติดตามจะเป็นโมฆะ หรือจะกลับมาเตะกันต่อไป ทุกวันยังคอยลุ้นจากฟีฟ่า ส่วนบางกิจกรรมทำได้ทั้งในบ้านและนอกบ้านอย่าง ‘การทำงาน’ ฟรีแลนซ์ก็ไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน, ‘การดูหนัง’ ดูหนังแผ่นกับเน็ตฟลิกซ์มานานก็คิดถึงโรงหนังแล้ว, ‘การอ่านหนังสือ’ ทุกสถานที่ไม่เว้นกระทั่งห้องน้ำ, ‘การใช้มือถือและโน๊ตบุ๊ก’ ฟังก์ชั่นครอบจักรวาล, ‘การกินอาหาร’ สั่งจากร้านมาส่งที่บ้านก็ไม่อร่อยเท่ากับได้นั่งกินที่ร้าน และอาหารที่พ่อแม่ทำก็ไม่ธรรมดา จากที่เคยอยากฝึกทำอาหาร จนแล้วจนรอดผมก็ยังไม่มีทักษะด้านนี้
กิจกรรมส่วนใหญ่ของผมอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เมื่อไม่ได้เป็นฮิคิโคโมริ เวลาต้องอยู่บ้านทั้งที่อยากออกไปข้างนอก ก็สัมผัสถึงความเหงาได้ และขนาดเป็นคนที่รักษาสุขภาพอยู่แล้ว ก็ยังป่วยได้ พอรู้ตัวว่าผมแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ ก็พยายามอยู่ข้างนอกบ้านให้น้อยลง และป้องกันตนเองจากสมาชิกในบ้านไปตามเรื่องตามราว แต่อย่างไรคนเราก็ ‘จำเป็นต้อง’ มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และต้องการการสัมผัสทางกายเพื่อสื่อสารบางอย่าง ดูอย่างการมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่เหมือนกับการเล่นเซ็กซ์โฟน… (เดี๋ยวๆ…)
สิ่งสำคัญที่ผมอยู่กับมันเป็นประจำจนคุ้นเคย มองข้ามและไม่เห็นความสำคัญของมันจนได้มา ‘รู้ซึ้ง’ ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านนานๆ นั่นคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้านอย่างสมดุล ไม่อยู่บ้านน้อยเกินไป ไม่อยู่นอกบ้านมากเกินไป และไม่ใช่การอยู่บ้านและการอยู่นอกบ้านอย่างละ 12 ชั่วโมงเท่ากันในแต่ละวัน แต่เลือกได้ตามความจำเป็นและความต้องการของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก
คล้ายกับนักฟุตบอลอาชีพที่ต้องลงแข่งขันแบบมีการเล่นทั้ง ‘ในบ้านและนอกบ้าน’ (หรือเรียกว่าเกมเหย้า-เกมเยือน) ต่างกันตรงที่เพื่อความยุติธรรมแล้ว นักเตะเหล่านั้นจะมีจำนวนแม็ตช์ทั้งในและนอกบ้านอย่างละเท่าๆ กัน แต่เมื่อโลกปิดทำการ ความยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นอีกต่อไป มีเพียงพื้นที่ในบ้านที่เปิดต้อนรับเรา ประตูบ้านไม่เหมือนกับประตูกรงขังที่ใช้กักร่างของสัตว์ หรือนักโทษ เราอยากเดินเข้าในออกนอกเมื่อไหร่ก็ได้
ทุกย่างก้าวที่ได้ข้ามผ่านธรณีประตูบ้านจึงถือเป็นนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นเท้าที่ก้าวย่างจากในบ้านออกไปนอกบ้าน หรือเท้าที่ก้าวย่างจากนอกบ้านกลับมาในบ้านก็ตาม