‘ชอบวงนี้เหรอ บอกชื่อเพลงมาสักห้าเพลงสิ?’ ‘ดูบอลหรือดูนักบอล?’ ‘ชอบเรื่องนี้ได้ดูภาคก่อนหน้าเปล่า?’
เมื่อเราเจอเข้ากับกิจกรรม วงดนตรี การ์ตูน หนัง ฯลฯ ที่ทัชใจเรา การลองเดินเข้าไปดูกลุ่มแฟนคลับน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่เราทำในยุคสมัยนี้ ในขณะที่หลายๆ คนข้างในโอบรับเราในฐานะแฟนคลับคนใหม่ที่กำลังมาร่วมกันสำรวจอะไรก็ตามที่พวกเขารัก แต่บางกลุ่มก็มีท่าทีที่เหมือนไม่อยากให้เราเดินข้ามชายแดนของความสนใจไปสู่การเป็นสมาชิกของ ‘แฟนด้อม’ ของพวกเขาได้
การอยู่รอดของสื่อบันเทิงหรือศิลปินนั้นครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับการคงฐานแฟนคลับเอาไว้ และนั่นไม่ได้หมายถึงเพียงการคงไว้ซึ่งแฟนที่อยู่มานาน แต่ต้องมีการตกแฟนใหม่ๆ เข้ามาด้วย ฉะนั้นคำถามที่อาจเกิดขึ้นคือในฐานะ ‘แฟนพันธุ์แท้’ ที่แคร์ที่สุดเกี่ยวกับด้อมนั้นๆ และต้องการให้มันอยู่รอด ทำไมการเปิดรับคนใหม่ๆ ถึงดูไม่เป็นมิตรขนาดนั้น? อะไรกันทำให้เกิด ‘ตำรวจรสนิยม’ หรือที่เรารู้จักกันว่า Gatekeep?
เหตุผลหลักๆ อาจจะเพราะมุมมองของเราต่อสิ่งที่เราอินไปกับมันมากๆ นั้นอาจไม่ใช่แค่ชอบดูหรือชอบฟัง โดยความรู้สึกแบบนี้ถูกศึกษาในงานวิจัย The Interpersonal Beginnings of Fandom: The Relation Between Attachment Style, Trust, and the Admiration of Celebrities โดยนักวิจัยแผนกจิตวิทยา การสื่อสาร และพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอาซูซาแปซิฟิก วาลโดสตา เซาท์ดาโกตา และมหาวิทยาลัยการทหารจอร์เจีย
โดยงานวิจัยดังกล่าวเหล่าว่าหน้าตาของการเป็นแฟนคลับนั้นคล้ายกันกับการอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคนรักมากกว่า และมันมาพร้อมกับความรู้สึกทั้งบวกและลบของความสัมพันธ์ด้วย ในขณะที่การมีคนรักสร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย คลายเครียด และเป็นที่พึ่งพา ความเกาะเกี่ยวแบบนั้นบ่อยครั้งมาพร้อมกันกับความรู้สึกหึงหวงด้วย และมันจะไม่เกิดขึ้นได้ยังไงในเมื่อนอกจากเราคนเดียวแล้วมีคนที่รู้สึกแบบเราอยู่นับหมื่นแสนคน?
ความรู้สึกของการอยู่ในความสัมพันธ์นั้นอาจมาพร้อมกับความคาดหวังและความคุ้นเคยต่อสิ่งนั้นๆ ด้วย การอยู่กับแฟรนไชส์ ศิลปิน หรือสโมสรที่เราชอบอย่างมากและเป็นเวลานานอย่างที่แฟนเดนตายทำนั้น ยิ่งส่งเสริมความคุ้นเคยและรู้จักนั้นๆ สูงขึ้นไปด้วย แต่เช่นเดียวกันกับศิลปะและสื่อทุกอย่าง การตีความของแต่ละผู้ชมไม่เหมือนกัน ความคุ้นเคยของเราไม่เหมือนคนอื่น แง่มุมที่เรารู้จักและชื่นชอบไม่ใช่ส่วนเดียวกันกับของทุกคน การต้องการรักษาภาพนั้นๆ ในมุมมองตัวเองอาจทำให้เราขีดเส้นบางอย่างเอาไว้โดยไม่รู้ตัว หรือเริ่มกระทำการเป็นตำรวจได้
แน่นอนว่าการหวงแหนในอะไรสักอย่างมีข้อดี เช่น ความรู้เกี่ยวกับสื่อหรือศิลปินที่พวกเขามีสำคัญมากๆ สำหรับการบันทึกประวัติศาสตร์ของสิ่งนั้นๆ และความรู้เหล่านั้นอาจเป็นหนึ่งในเสียงสำคัญที่ทำหน้าที่ให้ศิลปินรู้ว่าอะไรที่ทำให้เกิดฐานแฟนคลับขึ้นมาแต่แรก แต่ข้อเสียของมันก็มากพอๆ กัน เพราะนอกจากที่บ่อยครั้งมันผลักแฟนใหม่ๆ ออกแล้ว มันยัวสามารถทำให้ดูเหมือนว่าศิลปินหรือสื่อนั้นๆ คับแคบเพราะการตีความนอกเหนือจากที่ตำรวจคิดดูกลายเป็นเรื่องผิดบาป
และหลายๆ ครั้ง ความเป็นตำรวจยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนออกซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์อันสมควรต่อศิลปินอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก