ผมเลี้ยงแมวอยู่ตัวหนึ่ง
ในสายตาของผู้เป็นเจ้าของ มันเป็นแมวที่ ‘เอาแต่ใจตัวเอง’ มากๆ คืออยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่มีวันทำ ไม่ขึ้นอยู่กับใคร ใครมาหือกับมันอาจถูกตบด้วยเล็บคมกริบ และหลายคนก็ถูกเล็บคมนั่นเกี่ยวจนได้เลือดแดงฉานกันมาแล้ว
มีคนบอกผมว่า มันเป็นแมวที่ ‘ลิเบอรัล’ (หรือจริงๆ ก็คือ ‘ลิเบอร่าน’ เอามากๆ) เพราะไม่ยอมอยู่ในกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่อยากได้แมวน่ารักๆ เชื่องๆ อยู่ในขนบและระเบียบแบบแผนเป็นแมวคอนเซอร์เวทีฟนอนอ้วนน่ารักสักเท่าไหร่
นั่นก็เลยทำให้ผมสงสัยขึ้นมาว่า แมวกับเจ้าของแมว หรือสัตว์เลี้ยงกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง จะมีส่วนในอันที่จะเลือกกันและกัน และ/หรือ สร้างทัศนคติทางการเมืองระหว่างกันและกันขึ้นมาได้หรือเปล่า
แน่นอน – สงสัยอย่างนี้แล้วก็ต้องลองค้นดู
แล้วผมก็พบการสำรวจบางอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย
อย่างแรกสุดก็คือ เคยมีการสำรวจของ AVMA หรือ American Veterinary Medical Association หรือสมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับ ว่าเป็นอเมริกัน ดังนั้นเขาจึงสำรวจเฉพาะในคนอเมริกันเท่านั้น เขาพบว่า ในบรรดา ‘สัตว์เลี้ยง’ ทั้งหลายนั้น ถ้าดูเป็นครัวเรือนหรือ Household พบว่ามีอยู่ 36.5% ของครัวเรือนทั้งหมด ที่เลี้ยงหมา ส่วนครัวเรือนที่เลี้ยงแมว มีอยู่ด้วยกัน 30.4% (รองจากนั้นก็เป็นนกแล้วก็ม้า ซึ่งน้อยกว่ากันมาก)
ฟังแบบนี้ หลายคนอาจบอกว่าคนอเมริกันเลี้ยงหมามากกว่าแมวใช่ไหมครับ แต่นั่นเป็นจำนวนครัวเรือนครับ ถ้าเราเจาะลึกลงไปดูว่า แต่ละครัวเรือนเลี้ยงหมาหรือแมวกี่ตัว ก็จะพบว่าค่าเฉลี่ยของการเลี้ยงหมาต่อครัวเรือนคือ 1.6 ตัว ส่วนแมวอยู่ที่ 2.1 ตัว ดังนั้นถ้าสรุปรวมจำนวนหมาที่เป็นสัตว์เลี้ยงออกมา ก็จะได้อยู่ที่ราว 69.9 ล้านตัว ส่วนแมวนั้นอยู่ที่ราว 74 ล้านตัว แสดงว่าถ้าวัดเป็นจำนวนตัวแล้วละก็ คนเลี้ยงแมวมากกว่า มีคนอธิบายว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะโดยทั่วไปแมวมีขนาดเล็กกว่าหมา ดังนั้นในหนึ่งบ้านที่รักแมว จึงสามารถเลี้ยงแมวได้มากกว่าเลี้ยงหมา
สรุปว่า ในมุมของสัตว์เลี้ยง เราจึงมีสัตว์เลี้ยงยอดฮิตอยู่สองชนิด คือหมากับแมว ซึ่งก็สอดคล้องกับ ‘มุมมองทางการเมือง’ เช่นกัน
เพราะมุมมองทางการเมืองยอดฮิตก็มีสองมุม (โดยเฉพาะถ้าคิดกันแบบสองขั้วตรงข้ามหรือทวิลักษณ์น่ะนะครับ) นั่นคือแบบเสรีนิยมหรือลิเบอรัล กับแบบอนุรักษ์นิยมหรือคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งในอเมริกานั้นเห็นได้ชัดเจนพอสมควรนะครับ ว่ารัฐไหนบ้างที่มีแนวคิดแบบลิเบอรัล (เรียกว่า Blue States) รัฐไหนมีแนวคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟ (เรียกว่า Red States) โดยผ่านการเลือกพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ดังนั้นก็เลยดูการกระจายตัวของการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเทียบกับแนวคิดทางการเมืองได้ว่าคนในรัฐแบบไหนนิยมเลี้ยงสัตว์อะไรมากกว่ากัน
ผลที่ได้ออกมาเป็นแผนภาพที่น่าสนใจนะครับ เพราะว่ารัฐที่นิยมเลี้ยงแมวมากกว่า โดยทั่วไปแล้วจะเป็นรัฐที่นิยมเลือกพรรคเดโมแครตมากกว่า (Blue States) โดยเฉพาะรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสิบอันดับแรกของรัฐที่ชอบเลี้ยงแมวมากที่สุด ได้แก่แมสซาชูเสทส์, แมรี่แลนด์, เมน, เวอร์มอนต์, คอนเนกติกัต, ดิสทริกต์ออฟโคลัมเบีย, นิวแฮมพ์เชียร์, เพนซิลวาเนีย, นิวยอร์ก แล้วตบท้ายด้วยโอไฮโอ
ส่วนรัฐที่นิยมเลี้ยงหมามากที่สุดสิบอันดับ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าส่วนใหญ่เป็นรัฐที่นิยมเลือกพรรครีพับลิกัน ได้แก่ อาร์คันซอ, นิวเม็กซิโก, เท็กซัส, โอคลาโฮมา, หลุยเซียนา, มิสซิสซิปปี้, แอริโซนา, เทนเนสซี, มิสซูรี และจอร์เจีย
วอชิงตันโพสต์ ถึงกับออกมาบอกเลยว่า รัฐที่ชอบแมวมากกว่านั้น เรียกได้ว่าเป็นรัฐ Demo-Cats (คือเล่นคำกับคำว่าเดโมแครต) ในขณะที่รัฐที่เลี้ยงหมามากกว่าคือ Re-pup-licans (คือเล่นกับคำว่า Pup ที่หมายถึงลูกหมา) โดยเขานำข้อมูลจาก AVMA ทำเป็น Cat Rank หรือความนิยมในแมว มาไขว้เทียบกับ Liberal Rank หรืออันดับความเป็นเสรีนิยม (โดยใช้ข้อมูลของสำนักโพล Gallup) แล้วก็ไขว้ไปเทียบกับ Urban Rank หรือความเป็นเมืองด้วย พบว่ารัฐที่นิยมเลี้ยงแมว 6 รัฐ อยู่ในท็อปเทนของรัฐที่เป็นเสรีนิยม ในขณะที่รัฐที่นิยมเลี้ยงหมานั้น 12 ใน 13 รัฐ เป็นรัฐที่นิยมเลือกพรรครีพับลิกัน
แน่นอนครับ ว่าการดูแบบนี้ยังบอกเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอกว่าคนชอบแมวเป็นเสรีนิยมมากกว่าคนชอบหมา (หรือกลับกัน) เพราะจะเป็นการตีขลุมคลุมถุงชนมากเกินไปโดยไร้ความรัดกุม
ก็เลยอยากชวนคุณมาดูการสำรวจอีกการสำรวจหนึ่ง คราวนี้เป็นของนิตยสารไทม์ ซึ่งเขาทำแบบสอบถาม 12 ข้อขึ้นมา แบบสอบถามนี้มีจุดประสงค์จะดูว่า คุณมีความคิดทางการเมืองแบบไหน โดยดูจากความชอบในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมือง ซึ่งก็มีตั้งแต่ชอบดูหนังสารคดีมากกว่าหนังแอ็คชั่นผจญภัยหรือเปล่า, คิดว่าเด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ไหม, เชื่อในการแสดงออกของตัวตนหรือเชื่อในการควบคุมตัวตนมากกว่ากัน, ถ้าแฟนของคุณไม่ได้มีเซ็กซ์กับคุณแต่ว่าดูหนังโป๊เพื่อช่วยตัวเองนี่ คุณคิดว่าโอเคไหม, ควรมีเส้นเขตแดนแบ่งประเทศหรือเปล่า, ชอบไปจัตุรัสไทม์สแควร์หรือชอบไปพิพิธภัณฑ์ Meteropolitan Museum มากกว่ากัน, ใช้บราวเซอร์อะไร ฯลฯ รวมไปถึงข้อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องหมาๆ แมวๆ ด้วย นั่นก็คือ – ชอบหมาหรือแมวมากกว่ากัน
ไทม์ได้ข้อมูลจากผู้อ่าน 220,192 ราย ซึ่งไม่น้อยทีเดียวนะครับ เขาเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ แล้วเทียบกับความคิดทางการเมืองของคนเหล่านี้ พบว่าทั้ง 12 เรื่องที่ถามไปนั้น สามารถนำมาทำนายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในกลุ่มที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างค่อนข้างถูกต้อง
เขาพบว่า คนที่เป็นลิเบอรัลกับคอนเซอร์เวทีฟ จะมีความชอบในเรื่องต่างๆ ไปในแนวทางเดียวกัน (หมายถึงกลุ่มลิเบอรัลก็ชอบแบบเดียวกับลิเบอรัล คอนเซอร์เวทีฟก็ชอบแบบคอนเซอร์เวทีฟ) แต่ถ้าเป็นคนกลุ่ม Libertarians (ซึ่งมีคนแปลว่า ‘อิสรนิยม’) จะมีลักษณะที่อยู่กลางๆ และในหลายเรื่องก็เหวี่ยงไปมาระหว่างลิเบอรัลกับคอนเซอร์เวทีฟ เขาก็เลยทำชาร์ตออกมาเฉพาะลิเบอรัลกับคอนเซอร์เวทีฟ พบว่าข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนี้สามารถนำมาทำนายอุดมการณ์ทางการเมืองของคนสองกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) อยู่ที่ 0.682 ซึ่งค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์นี้ จะมีค่าอยู่ระหว่าง -1.0 กับ 1.0 ถ้าค่าเข้าใกล้ 1.0 มากเท่าไหร่ ก็แปลว่ามีความสัมพันธ์กันโดยตรงมากเท่านั้น (ถ้าค่าเป็น -1.0 แปลว่ามีความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกัน แต่ถ้าค่าเป็น 0 คือไม่มีความสัมพันธ์กันเลย) โดยถ้าดูเฉพาะเรื่องหมากับแมว ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จะอยู่ที่ 0.124 ซึ่งแม้จะน้อยกว่าค่าอื่นๆ แต่ก็ยังพอพูดได้ว่ามีความสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่
นอกจากนี้ ยังเคยมีการสำรวจของ Public Policy Polling Group ซึ่งเป็นบริษัทจากเมืองราลีห์ในสหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจเกี่ยวกับนักการเมือง องค์กรทางการเมือง สหภาพแรงงาน และด้านธุรกิจต่างๆ เขาได้ทำสำรวจเรื่องสัตว์เลี้ยงกับการเมืองเอาไว้ด้วย โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 603 คน
เขารายงานว่า หกในสิบคนที่อยู่ในกลุ่มสำรวจนี้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง โดยถ้าเจาะลงไปที่เรื่องหมากับแมว พบว่า 52% ชอบหมา มีเพียง 21% เท่านั้นที่บอกว่าชอบแมว (ที่เหลือไม่ตัดสินใจว่าชอบอะไร) แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนที่บอกว่าตัวเองเป็นลิเบอรัล มีอยู่ 27% ที่ชอบแมว ในขณะที่คนที่บอกว่าตัวเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟ มีอยู่เพียง 17% ที่บอกว่าชอบแมว นอกจากนี้ กลุ่มลิเบอรัลที่บอกว่าชอบหมามากกว่าแมวมีเพียง 49% น้อยกว่ากลุ่มคอนเซอร์เวทีฟที่บอกว่าชอบหมา (คือ 57%)
ทำให้ได้ข้อสรุปว่า แม้จะมีแนวโน้มไปในทาง ‘ลิเบอรัลชอบแมว – คอนเซอร์เวทีฟชอบหมา’ แต่ตัวเลขก็ไม่ได้แตกต่างถึงขนาดนั้น
ทีนี้ถ้าขยับมาดูในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาบ้าง มีการสำรวจของ Euromonitor International ซึ่งเป็นองค์กรทำสำรวจด้านการตลาด เขาไปสำรวจสิ่งที่เรียกว่า Cat-Dog Ratio หรืออัตราส่วนระหว่างหมากับแมว โดยดูจากประชากรหมาแมวใน 54 ประเทศ
พบว่าในบางประเทศ อัตราส่วนหมาแมวโดดเด้งแตกต่างกันมาก เช่นในอินเดีย อัตราส่วนระหว่างหมากับแมวคือ 10 ต่อ 1 คือมีการเลี้ยงหมามากกว่าแมว 10 เท่า หรือในจีน อัตราส่วนหมาต่อแมวคือ 2.5 ต่อ 1 ส่วนประเทศที่นิยมเลี้ยงแมวมากกว่าหมา ทำให้อัตราส่วนแมวต่อหมาสูงในระดับ 3 ต่อ 1 ก็คือสวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย และตุรกี
ถ้าดูในภาพรวม กลุ่มประเทศที่นิยมเลี้ยงแมวเป็นสัตว์ตัวโปรดคือประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก (ยกเว้นสเปน โปรตุเกส และไอร์แลนด์) ในขณะที่กลุ่มประเทศในแถบอเมริกาใต้และเอเชียส่วนใหญ่จะนิยมเลี้ยงหมามากกว่า ส่วนประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประวัติการเลี้ยงแมวมายาวนาน ก็คือกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและในแอฟริกาบางส่วน น่าเสียดายที่การสำรวจนี้ไม่มีประเทศไทย
นอกจากนี้ จาเร็ด เคอร์เทน (Jared Koerten) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของ Euromonitor เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า มีสหสัมพันธ์ (Correlation) บางอย่างระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ กับ ‘สมดุล’ ของสัดส่วนระหว่างหมากับแมว เขาบอกว่า ประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ มักจะมีสมดุลของประชากรหมาแมวมากกว่าประเทศที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศที่ร่ำรวยและเจริญแล้วส่วนใหญ่จะเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวในอัตราส่วนเท่าๆ กัน
ข้อสรุปจาก AVMA, วอชิงตันโพสต์, นิตยสารไทม์, Public Policy Polling Group หรือ Euromonitor ทำให้เราพอเห็นภาพอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองกับความรักชอบในหมาแมวนั้น มันมี ‘สหสัมพันธ์’ กันอยู่บ้าง (ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันเป็นเหตุเป็นผล หรือมี Causation ต่อกันนะครับ) แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาใช้ ‘ฟันธง’ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าคนชอบสัตว์เลี้ยงชนิดนี้จะต้องมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบนี้เสมอไป
แต่กระนั้น ผมก็ยังแอบสงสัยอยู่ว่า แล้วประเทศไทยของเราเล่า อยู่ตรงแห่งหนตำบลไหนในสเปคตรัมหมาแมวเหล่านี้ ก็เลยต้องไปดูข้อมูลในเว็บชื่อ iknowwhereyourcatlives.com ซึ่งหาข้อมูลแมวด้วยการนำภาพถ่ายสาธารณะ (คือภาพมาจากเว็บแชร์ภาพที่เปิดสาธารณะ เช่นภาพจาก Google Map ฯลฯ) หนึ่งล้านภาพ แล้วนำมา ‘หา’ (Locate) ดูว่ามีแมวอยู่ในภาพพวกนั้นกี่ตัว
จากนั้นก็เอามาแยกแยะว่าในแต่ละประเทศมีแมวอยู่เท่าไหร่ โดยใช้อัลกอริธึมหลายอย่างเพื่อประมวลข้อมูลมหาศาลเหล่านี้
พบว่าประเทศที่มีแมวมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา คือ 236,040 ตัว คิดเป็น 23.3% ของแมวทั้งโลก (ตามที่เก็บข้อมูลมาได้จากภาพ) ตามมาด้วยรัสเซีย, สหราชอาณาจักร, บราซิล, อิตาลี, ตุรกี, แคนาดา แล้วก็ไทยแลนด์ของเราอยู่ที่อันดับ 8 โดยมีแมวมากถึง 36,579 ตัว คิดเป็น 3.6% ของทั้งโลก
พอเอาข้อมูลนี้มาประกอบกับที่ว่ามาทั้งหมด หลายคนอาจคิดว่า นี่ไง – ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้นสุดแสนจะลิเบอรัล อย่างน้อยก็มี ‘ดัชนีแมว’ เอามาชี้วัดได้ว่าเราอยู่อันดับแปดของโลกทีเดียวเชียวนะ
แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งไปตีขลุมแบบนั้นนะครับ เพราะข้อมูลจาก iknowwhereyourcatlives นั้น ไม่ใช่ข้อมูลของ ‘แมวเลี้ยง’
แต่คือ ‘แมวที่เห็นในภาพ’ ซึ่งหมายรวมถึงแมวจรจัดด้วย เพราะเป็นภาพถ่ายสาธารณะตามท้องถนนหรือหลังคาบ้าน ซึ่งก็น่าจะพอบอกได้ว่าแมวพวกนี้น่าจะเป็นแมวจรจัดมากกว่าแมวเลี้ยงแน่ๆ ดังนั้น การจะบอกว่าแมวในไทยมีเยอะแปลว่าคนไทยเป็นลิเบอรัลมาก จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่
ที่จริงการเมืองเรื่องหมาแมวนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ เพราะมันคือการนำปัจจัยแวดล้อมอย่างหนึ่งไปทำนายความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์
อ่านจบแล้วลองสำรวจตัวเองดูก็ได้นะครับ ว่าคุณเป็นลิเบอรัลหรือคอนเซอร์เวทีฟที่รักหมาหรือชอบแมวมากกว่ากัน
อ้างอิงข้อมูลจาก