ด้วยบรรยากาศการเมืองอันอึมครึม ภาพของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ชุมนุมปะทะกัน การรัฐประหาร และการเลือกตั้งที่เลือนลาง ไม่เกิดขึ้นตามเวลาที่กำหนด ทำเอาใครหลายคนเลิกติดตามการเมือง ขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งคำถามว่า ‘คณะรัฐศาสตร์’ ที่เป็นเรียนเกี่ยวกับรัฐนั้น ยังมีเด็กๆ สนใจอยากเรียนไหม และทำไมในสภาวะที่การเมืองน่าเบื่อ แต่กลับมีเด็กๆ สนใจเรื่องนี้อยู่
ทั้งในโลกปัจจุบัน ที่มีสาขาวิชาเกิดใหม่ขึ้นมา ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับเครื่องกล กลไก ศาสตร์สังคมอย่าง รัฐศาสตร์ ยังจำเป็นอยู่ไหม
ในโอกาสที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดค่าย ‘นักรัฐศาสตร์รุ่นเยาว์’ แนะแนววิชา และคณะให้น้องๆ ม.ปลาย ที่สนใจอยากเรียนคณะนี้ The MATTER ได้มาพูดคุยกับน้องๆ ม.ปลายผู้เข้าร่วมค่ายบางส่วนถึงความคิดเห็นของน้องๆ ต่อคณะรัฐศาสตร์ เหตุผลที่อยากเรียน และการเมืองไทยในมุมมองของเด็กๆ กัน
รัฐศาสตร์เรียนอะไร ทำไมถึงอยากเรียน ?
มองภาพคณะรัฐศาสตร์แล้ว หลายๆ คนก็มองว่าจบคณะนี้ไป ต้องไปเป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกพรรค รอลงเล่นการเมือง ไม่ก็รับราชการแน่ๆ เราจึงเริ่มคุยกับน้องๆ ว่ารู้ไหมว่าคณะนี้เค้าเรียนอะไรกัน จบมาทำอะไร ซึ่งหลายคนมองคล้ายกันว่า รัฐศาสตร์เหมือนเรียนวิชาสังคม ไม่ใช่วิชาเรียนที่ตายตัว ไม่ได้มีกรอบ แต่เป็นศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับรัฐ ทั้งด้านการปกครอง การบริการ และการระหว่างประเทศ (แต่บางมหาวิทยาลัยจะมีสาขามากกว่านี้)
“รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่มีกรอบหรือขอบเขต เป็นการนำรายละเอียดของสังคมศาสตร์มาเรียนรวมๆ กัน หรือการเรียนศาสตร์แห่งรัฐให้มีการบริหารจัดการรัฐให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น รัฐศาสตร์เป็นการเรียนที่ทำให้คนทำงานหลายสาขามาก เพราะเป็นศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ ใช้งานได้จริง และสอนให้คนเปิดใจ ยอมรับที่จะปรับตัวกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น” นักเรียน ม.ปลายคนแรกเล่าให้เราฟัง
ขณะเดียวกัน คำตอบยอดฮิตที่น้องๆ มองว่าจบมาทำอะไรได้ คือ ‘ปลัด’ และ ‘นักการทูต’
“เป็นได้หลายอย่าง จบมาก็อาจจะเป็นปลัด นักการทูต องค์กรต่างๆ แต่ถ้าไม่ตรงสายก็เป็นครู เป็นแอร์โฮสเตสก็ได้”
บางคนก็ตอบว่านอกจาก 2 อาชีพนี้ ก็สามารถไปทำงานเป็นผู้นำทางการเมือง หรือทำงานเกี่ยวกับการใช้ความเป็นผู้นำ หรือจริงๆ แล้วก็ยังเป็นได้อีกหลากหลาย
“จบมาก็คิดว่าเป็นข้าราชการ แต่พอศึกษาเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่แค่ราชการ ยังมีอีกหลากหลายอาชีพที่จบมาทำได้ เหมือนที่อาจารย์บอกว่ามันเป็นเป็ด บินได้แต่บินไม่สูง ว่ายน้ำได้แต่ว่ายไม่ลึก ทำให้ถ้ามันอยู่ข้างบนก็ไม่ตาย อยู่ข้างล่างก็ไม่ตาย”
แน่นอนว่ารัฐศาสตร์เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับรัฐ และต้องหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง แต่ในสภาวะที่การเมืองบ้านเราอึมครึม หลายคนบอกเป็นเรื่องน่าเบื่อ พูดในที่สาธารณะก็ไม่ได้ แต่ทำไมเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมากับภาพการชุมนุมทางการเมือง การแบ่งฝักฝ่าย ถึงยังสนใจ อยากเรียนคณะนี้กันอยู่
นักเรียนบางคนเล่าว่า เค้าตามการเมืองมานาน ส่วนบางคนก็มีแรงผลักดันจากปัญหาบ้านเมืองที่วุ่นวายนี่แหละ “เนื่องด้วยมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เชื่อมโยงกันมากมาย และความขัดแย้ง ทำให้ผมเริ่มอิน และอยากเข้ามาศึกษาต่อ”
“ผมมองว่าปัญหาในสังคมไทยตอนนี้มันมีปัญหาเยอะ โครงสร้างสังคมในตอนนี้ไม่สมดุลกัน ผมมองว่ามันเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเป็นหลักที่ทำให้องค์ประกอบไม่เท่าเทียมกัน จนเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น”
อีกคนเล่าว่า “ผมเป็นคนชอบติดตามข่าวการเมืองตั้งแต่ ม.ต้น และก็อยากเห็นอนาคตการเมืองไทยที่ดีขึ้น เลยสนใจเข้ามาเรียนคณะนี้”
บ้างก็เสริมขึ้นมาว่า เพราะตัวเขาเองไม่ชอบวิชาสายคณิต-วิทย์ เลยค้นหาตัวเองในวิชาด้านสังคม และจากการเข้าค่าย การหาข้อมูลก็พบว่าคณะนี้คือที่อยากเรียน
“ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบวิชาการคำนวณ เพราะทำให้อึดอัด แต่การศึกษาทำให้ผมต้องเรียน เลยค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรกันแน่ และคิดว่าเป็นทางนี้”
“เป็นคนที่ชอบสังคม และภาษาอยู่แล้ว เลยคิดว่าความชอบจะทำให้อะไรดี และชอบความที่เป็นรัฐศาสตร์ ที่มันเป็นพื้นฐานของหลายๆ อาชีพ เป็นจุดกึ่งกลางด้วย”
เป็นมากกว่าวิชาชีพ คือการตั้งคำถามต่อสังคม
สำหรับในประเทศไทย สายสังคมมักไม่ถูกมองว่าไม่ได้สำคัญเท่าสายวิทย์ และมักมีความเชื่อว่าสายสังคมเรียนไปแล้วหางานได้ยากกว่า บางทีมีการบอกว่าให้ยุบคณะรัฐศาสตร์เพราะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย คนแตกแยกกันด้วย แต่น้องๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับประเด็นนี้ และมองว่าวิชาด้านสังคมศาสตร์ยังคงสำคัญอยู่
“ประเด็นนี้ไม่จริง เราเรียนสังคมไปเพื่อให้เรารับรู้สังคม เปิดโลกให้กว้างมากขึ้น นวัตกรรมที่เกิดขึ้นสมัยนี้ ผมว่าส่วนหนึ่งมันเกิดจากการที่เราเรียนรู้และพัฒนาสังคม ผมว่าสังคมมันเป็นจุดกำเนิดของอะไรหลายๆ อย่าง”
“มันเป็นสิ่งสำคัญที่มันต้องมีพวกนี้ ถ้ามันไม่มีมันก็ไม่มีอะไรแล้วที่จะมาควบคุมภาพรวมได้ แล้วเราต้องรักษาต้องช่วยกัน ให้เรื่องศาสตร์ของสังคมคงไว้อยู่”
ในอีกมุมนึงของคนรุ่นใหม่ก็มองว่า รัฐศาสตร์ไม่ใช่แค่การเรียนวิชาชีพ แต่เป็นการเรียนให้คิด วิเคราะห์ ให้เกิดการตั้งคำถามกับสังคม
“ผมว่ารัฐศาสตร์คือการตั้งคำถามกับสังคม ถ้าสังคมไม่มีการตั้งคำถามก็จะอยู่แบบเดียวเลย คือต้องมีข้อที่แย้งออกมา ให้สังคมดีเบตกัน หรือคิดแตกต่างกัน เพื่อเกิดการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”
“ผู้ใหญ่คงเห็นว่ารัฐศาสตร์ดีแต่พูด ดีแต่วิเคราะห์ วิจารณ์ ตั้งคำถามกับคนอื่น แต่ผมมองว่าการวิจารณ์และตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าไม่มีการทำผิด ไม่มีการวิจารณ์เลย มันก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลเรียนรู้ความผิดตัวเองได้ เหมือนอย่างตอนนี้”
เด็กรุ่นใหม่กับการเมืองไทยที่ใฝ่ฝัน
พูดถึงเรื่องการเมือง ก็มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กๆ ไม่ควรยุ่ง ทั้งความวุ่นวายที่เด็กๆ รุ่นนี้ เติบโตมากับภาพการเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือในตอนนี้ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เราเลยอยากรู้ว่า พวกเขาคิดเห็นกับการเมืองในปัจจุบันกันยังไง
ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การเมืองไทยตอนนี้ ปิดกั้นการแสดงออก และความคิดเห็นอยู่ และบางคนก็มองว่าทหารไม่ควรเข้ามามีส่วนปกครอง และอยากให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้
“ผมว่าประเทศไทยต้องการความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ไม่ควรปิดกั้นแสดงความคิดเห็นของคนอื่น”
“การเมืองในตอนนี้ ถ้าว่ากันตามตรงก็รัฐบาลยังปิดกั้นความคิดเห็น หรืออำนาจในการใช้สื่อ เราก็โดนปิดกั้น หรือการคอร์รัปชั่น ที่เห็นตามข่าว ถ้าเป็นพวกพ้องกันเอง ก็คือเราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะถ้าเป็นพรรคพวกกันก็จะรอด ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปอยู่ในคุก”
“มีปัญหาในหลายๆ ด้าน และประเทศไทยถูกมองว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ด้านเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น มันเป็นสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเราถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ และแม้ว่าจะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่รัฐบาลก็ไม่ควรเพิกเฉย เพราะต้องให้เป็นพื้นที่ที่คนได้บอกว่าต้องการอะไร และควรเป็นประเด็นที่หยิบยกมาถกเถียงในการพัฒนาประเทศ”
“เป็นการเมืองที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เพราะประเทศไทยปกครองด้วยระบบการเมืองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นี่คือทหารขึ้นปกครองมีอำนาจเหนือประชาชน ประชาชนไม่มีอำนาจ สิทธิ์ในการแสดงออกความคิดเห็น ทำให้ผมมองว่าการเมืองไทยสมัยนี้ เป็นการเมืองจอมปลอม ที่คุณให้ทหารปกครองประเทศ แต่ไม่ให้ประชาชนขึ้นมาเลือกกันเองเพื่อปกครอง”
ทั้งยังมีคนที่มองว่า การเมืองไทยไม่มีสเถียรภาพ และอาจจะเกิดรัฐประหารอีกก็ได้
“ผมว่าการปกครองรัฐบาลทหารนี่ รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นยังไง แต่ถ้าผมกลับไปคิดว่า ถ้าเราเกิดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรค เรากลับไปเป็นรัฐสภา ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะไทยเราตั้งแต่ 2475 มาเราเกิดรัฐประหารอย่างน้อย 20 ครั้ง มันไม่เสถียร”
ห่างหายจากการเลือกตั้งมานาน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยให้เด็กอายุถึง 18 ปี เลือกตั้งได้ แต่เด็กรุ่นใหม่ในรุ่น 20 ต้นๆ สมัยนี้ กลับยังไม่มีโอกาสเคยเข้าคูหา เลือกตั้งผู้นำของประเทศกันเลย เราเลยถามว่า แล้วพวกเขาหวังกับการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง
“สิ่งที่หลายๆ คนหวังคือการเลือกตั้ง ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น แต่ก็อยากให้มันเป็นไปตามระเบียบการของมัน ผมอยากได้นายกฯ หรือรัฐบาลที่สามารถแก้ไขได้ตรงจุด มีความคิดเหมือนคนรุ่นใหม่ ใครจะไปรู้คนรุ่นใหม่ได้เท่าคนรุ่นใหม่กันเอง ผมก็อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาจัดการอะไรตรงนี้มากขึ้น”
“พรรคการเมือง ควรจะเป็นสิ่งใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ มองเป็นส่วนรวมให้มากๆ ควรคำนึงส่วนรวม และคนที่มีอำนาจควรสนใจผลประโยชน์ตัวเองให้น้อยที่สุด ผมไม่เห็นด้วยถ้าลุงตู่อยู่ต่อ ควรเป็นคนที่มีความสามารถมากกว่านี้ หรือมีแนวคิดที่เป็นส่วนรวมเข้ามามากกว่า”
“อยากเลือกตั้ง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย อยากได้รัฐบาลที่มีชุดความคิดแตกต่าง เป็นคนรุ่นใหม่ และในการพัฒนาเราควรมีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่มีคำถามเดิม ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ แต่ควรมีคำถามใหม่ๆ พัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ดีขึ้น”
“อยากได้รัฐบาลที่เข้าใจความเป็นสมัยใหม่ เข้าใจคนรุ่นใหม่ ถ้าถามว่าอยากเลือกตั้งไหม ทุกคนก็คงอยากเลือกตั้งอยู่แล้ว”
“ผมอยากเลือก ถ้าอายุถึง และผมจะเลือกคนที่จริงใจกับการบริหาร ไม่ใช่ปากเอาแต่พูด แต่คุณต้องทำในสิ่งที่ต้องทำด้วย ผมขอแค่นี้”
การพูดคุยกันครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่เกือบทุกคน จะมีจุดร่วมที่ต้องการเหมือนกัน คือต้องการพรรคการเมืองใหม่ๆ คนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ และมีความเป็นสมัยใหม่
จึงน่าสนใจว่า เส้นทางสู่คณะรัฐศาสตร์ของคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นอย่างไร ความรู้ด้านการเมืองที่พวกเขากำลังจะได้รับนั้น จะช่วยเปลี่ยนการเมืองให้เป็นอย่างที่ใฝ่ฝันได้ไหม
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นเสียงสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ในวันนี้ ยังไม่หมดหวังกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่