ถึงบ้านเราจะไม่ได้มีฤดูใบไม้เปลี่ยนสี แต่เราชาวไทยก็ดูจะคุ้นเคยกับเจ้าเทศกาลใบไม้แดง ที่ส่วนใหญ่มักจะวางแพลนไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยมองว่า เอ๊ะ ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมนี่แหละเป็นช่วงที่หลายที่กำลังทยอยเข้าสู่หน้าหนาว เหล่าพืชพรรณกำลังเปลี่ยนสีเพื่อเตรียมผลัดใบรับห้วงเวลาแห่งความหนาวเหน็บ
ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกเนอะที่จะชอบบรรยากาศ ‘ก่อนหน้าหนาว’ อย่างช่วงฤดูใบไม้ร่วง ด้วยตัวมันเองก็เหมือนเป็นช่วงซ้อมใหญ่ ก่อนที่มวลมนุษยชาติจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเต็มตัวช่วงปลายปี ยิ่งบรรยากาศของธรรมมชาติโดยรอบที่จากต้นไม้สีเขียวๆ กลับกลายเป็นสีสันฉูดฉาดด้วยสีแดง สีส้ม และสีเหลือง นักคิดเช่น อัลแบร์ กามู ยังบอกว่าช่วงใบไม้ร่วงเป็นช่วงเวลาพิเศษ เพราะใบไม้ทั้งหมดกลายเป็นดอกไม้ ฟังดูเหมือนกับว่า โลกแห่งธรรมชาติกำลังผลิดอกผ่านใบ ก่อนที่มันจะทิ้งใบและเข้าสู่การหลับใหล
นอกจากความสวยงาม บรรยากาศก่อนเฉลิมฉลอง และสภาพอากาศที่เหมาะควรแล้ว เจ้าฤดูใบไม้เปลี่ยนสียังมีความพิเศษในจิตใจและจิตวิญญาณประกอบด้วย แน่นอนว่าเรามักเปรียบเทียบปีเป็นวงจร เป็นเสมือนตัวแทนของวงจรและความหมายของชีวิต ในมุมมองแบบจีนจึงมองว่ารอยต่อระหว่างความอุดมสมบูรณ์ ช่วงเวลาหลังการเก็บเกี่ยวก่อนความเหน็บหนาวจะมาเยือนนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับความเศร้า ในขณะเดียวกันก็โยงกับความกล้าหาญไปพร้อมกัน ในยุคหลังที่เราอาจจะไม่กลัวฤดูหนาวเท่าไหร่ และฤดูใบไม้แดงเป็นช่วงเวลาของการท่องเที่ยว มีงานศึกษาทางจิตวิทยาบอกว่า บรรยากาศอลังการของใบไม้แดงส่งผลดีกับสภาพใจ ด้านหนึ่งคือความสดใส ในอีกด้านคือทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน
‘อารมณ์’ และปฏิกิริยาของฤดูใบไม้ร่วง
จริงๆ แค่ชื่อก็บอกว่าใบไม้มัน ‘ร่วง’ ในมุมมองเก่าแก่เช่นมุมมองของจีน ใบไม้ร่วงก่อนความแร้นแค้น ช่วงเวลาก่อนความมืดและความหนาวจะมาจึงเชื่อมโยงกับอารมณ์เศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็เจือไปด้วยการปลุกความหาญกล้าเพื่อรอรับมือกับช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงความรู้สึก ในทางวิทยาศาสตร์ เมื่อโลกเริ่มจะใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงเวลากลางวันเริ่มมีจำนวนชั่วโมงน้อยลง อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลง พอแสงสว่างน้อยลง การสังเคราะห์แสงก็ลดลง คลอโรฟิลล์ที่พืชผลิตขึ้นมาเยอะๆ ช่วงหน้าร้อนและใบไม้ผลิเพื่อเร่งการสะสมอาหารจึงค่อยๆ น้อยลงตามฤดูกาล ใบไม้ที่เราเห็นว่าเขียวๆ เพราะคลอโลฟิลล์ก็เริ่มคืนสู่สีของตัวมันเอง ไม่ว่าเหลือง ส้ม หรือแดง
ในปรัชญาจีน ฤดูต่างๆ มีตัวตน มีความหมาย บรรยากาศ และเชื่อมโยงกับอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป มองคร่าวๆ อาจพอเข้าใจว่าเป็นความรู้สึกของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ฤดูร้อนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกแจ่มใส สนุกสนาน ในช่วงเวลากลางวันค่อยๆ ลดลง พืชพรรณแห้งเหี่ยวลง ฤดูใบไม้ร่วงจึงเป็นตัวแทนของความเศร้า (sadness) แต่เป็นความเศร้าที่เจือด้วยความกล้าหาญ คือนึกภาพผู้คนในยุคโบราณที่ เอ้อ เดี๋ยวหนาวจะมาแล้ว ถึงจะเศร้าแต่ก็ยืดอกรับมือ
ความเศร้าในปรัชญาของจีนจึงไม่ใช่อารมณ์ที่เราหลีกเลี่ยง แต่เป็นสภาวะตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าก่อนที่จะฟันฝ่าหรือปล่อยให้ผ่านล่วงไป เป็นคาบหนึ่งอันเป็นรสชาติของชีวิต
สดใสและยิ่งใหญ่ นัยของใบไม้แดง
เราอยู่ยุคที่เริ่มต่อรองกับธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง น้ำท่าและอาหารอุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้นทนในหน้าหนาวอีกต่อไป ใบไม้แดงๆ จึงเริ่มส่งผลกับความรู้สึกเราไปอีกแบบ กลายเป็นช่วงเวลาสนุกๆ ถ่ายรูปสวย เป็นบรรยากาศเกือบจะหนาวที่เดินจับมือแล้วอุ่นกำลังพอสบายทั้งกายและใจ
ในทางจิตวิทยาเองก็บอกว่าฤดูใบไม้ร่วงนอกจากจะเป็นฤดูรักแล้ว ยังเป็นฤดูที่ดีต่อสุขภาพใจและสุขภาพจิตวิญญาณของเราด้วย นักจิตวิทยาบอกว่า การที่อยู่ๆ ใบไม้เขียวๆ นิ่งๆ กลายเป็นสีโทนเจิดจ้าส่งผลต่อการกระตุ้นสมองด้วยสีสว่างตามโทนธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน ความ ‘เจิดจ้า’ ของพืชนี้ก็ส่งผลให้เราลดอัตตาลงไปได้ด้วย
เจสัน บรันต์ (Jason Brunt) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากแคลิฟอเนียบอกว่า ความสำคัญและอิทธิพลของฤดูใบไม้ร่วงที่ส่งต่อความสดใสให้เรา อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน คือก่อนหน้านี้ ใบไม้ทั้งหลายมันก็เขียวๆ เป็นโทนเย็น ก็อาจจะส่งผลนิ่งๆ กับเรา แต่ปรากฏการณ์ใบไม้เปลี่ยนสี ค่อนข้างมีลักษณะที่ฉับพลัน ไม่กี่วัน หรือกระทั่งข้ามคืนที่สีเขียวๆ กลายเป็นสีร้อนแรง ภูมิทัศน์ที่เจิดจ้านี้ทำให้สมองเรามีการรับรู้ที่ต่างออกไป เจสันอธิบายว่าเหมือนเราฟังเพลงนิ่งๆ แล้วอยู่ๆ ตู้ม สดใสขึ้นมาซะงั้น ในความเจิดจ้านี้เองสมองของเราก็เลยมีการรับรู้ไปในทางบวก เห็นว่ามันมีความหมายพิเศษอะไรบางอย่างจากธรรมชาติ
นอกจากการสาดสีใส่สายตาเราแล้ว ตรงนี้ฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าแหม่ อาจารย์จิตวิทยาช่างควบวิชาปรัชญาไปด้วย เขาอธิบายว่า ให้นึกภาพเวลาเรามองทิวเขาที่กลายเป็นสีทอง เรามองเห็นความยิ่งใหญ่ ในการรับรู้ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้น บางครั้งทำให้เรากลับมาตระหนักถึงความกระจิดกระจ้อยร่อยของตัวเราเอง อารมณ์แบบ โอ นี่แหละโลก จักรวาลช่างกว้างใหญ่ ตัวตนของเราที่เคยคิดว่าแสนสำคัญมันช่างเล็กน้อยนัก ในทางจิตวิทยาบอกว่าความรู้สึกแบบนี้ส่งผลเชิงบวก ทำให้อัตตาน้อยลง และเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นๆ กับคนอื่นๆ ได้มากขึ้น
วนกลับมตอนท้ายๆ กลายเป็นเรื่องปรัชญา แต่หลายครั้งที่เราพูดถึงธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างเราและธรรมชาติก็มักลงเอยที่ว่า มนุษย์เราก็ได้รับอิทธิพลจากสิ่งรอบๆ ตัว ปัญหาสำคัญของเราก็มักจะมาจากการสำคัญตัว ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าเราอาจจะก้าวและต่อรองกับธรรมชาติไปได้มากน้อยแค่ไหน เราเองก็ยังคงเป็นจุดน้อยๆ ในห้วงจักรวาลและกาลเวลาอันไม่รู้จบนี้
ในระดับเรียบง่ายที่สุด ธรรมชาติไม่ว่าจะในห้วงเลาไหนก็ดูจะมีความงดงามในตัวของมันเองอยู่ ใครที่เศร้าๆ เหงาๆ ช่วงปลายปีก็อาจจะถือเป็นขัออ้างเก็บกระเป๋า ใช้วันลาส่งท้ายปีกันซะหน่อย
อ้างอิงข้อมูลจาก