เราอยู่ใน ‘โลกสมัยใหม่’ ซึ่งแง่หนึ่งของการเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่คือการเสพติดความใหม่ ตรงนี้ดูจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้เราแสนจะกลัวการถูก ‘สปอยล์’ กันเป็นอย่างยิ่ง เพราะความสนุกคือการได้รับรู้อะไรใหม่ๆ สดๆ เป็นครั้งแรก
แต่ก็มีบ้างเนอะที่เราจะย้อนกลับดูหนังโปรดเรื่องเดิมอีกซักรอบแม้ว่าจะดูมาแล้วสิบครั้งจนแทบจำทุกประโยคได้ บางครั้ง หนังบางเรื่องที่ทีวีเอามาฉายซ้ำวนไป เราก็ยังคงนั่งดูได้เพลินๆ ยิ่งถ้าเป็นหนังสืออย่าง Harry Potter งี้ เจ้าชายน้อยงี้ อ่านไปไม่รู้กี่ครั้งก็ยังอิ่มใจ หรือที่เที่ยวบางที่ ร้านบางร้าน สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ ต่อให้เราเคยไปแล้วก็ไปอีกได้ซ้ำๆ
ด้วยความที่โลกของเราไล่ตามความใหม่ บางทีเราอาจจะแปลกใจว่า เอ๊ะ ทำไมบางคนชอบทำอะไรซ้ำๆ ทั้งๆ ที่การทำซ้ำหรือเสพอะไรที่เรารู้อยู่แล้วจะยิ่งลดความสนุก หรือไม่ก็น่าเบื่อมากขึ้นไม่ใช่เหรอ แต่มีงานศึกษาพบว่า การทำอะไรซ้ำๆ หรือการมีประสบการณ์แบบเดิมซ้ำๆ อาจจะไม่ได้ลดความสุขสนุกสนานลง แถมยังมีโอกาสทำให้เราสนุกกับสิ่งนั้นได้มากขึ้น นอกจากการเจอกับสิ่งที่เราไม่เคยเจอแล้ว การกลับไปสู่อะไรที่เราพอจะรู้ พอจะเข้าใจอยู่แล้วก็ทำให้เราได้สนุกกับสิ่งนั้นมากขึ้นได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การกลับไปทำใหม่ ก็ไม่เชิงว่าเป็นแค่การกลับไปหาอดีต ไปหาเรื่องราวที่เรารู้เรื่องราวจะเป็นยังไงแน่ๆ แต่เปรียบเสมือนการที่เราได้ทบทวนตัวเราใหม่ การดูหนังเรื่องเดิม อ่านหนังสือเล่มเดิม อาจทำให้เราลองตั้งคำถามดูว่าตัวเรานั้นเปลี่ยนไปบ้างรึเปล่า
การ ‘ทำอีกครั้ง’ อาจทำให้ซึมซับได้มากขึ้น
นักวิจัยเองก็สงสัย และค้นพบคำตอบว่าบางทีความใหม่อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดในการแสวงหาความสุขสนุกสนาน แต่ในการทำซ้ำ ดูซ้ำ อาจจะทำให้เราเอ็นจอยกับสิ่งนั้นได้มากขึ้นได้ด้วย มีงานศึกษาชื่อ ‘Enjoy it again: Repeat experiences are less repetitive than people think’ พบว่าในบางประสบการณ์ การทำซ้ำ ดูซ้ำ เข้าใจมันอีกครั้ง ช่วยส่งเสริมให้เราสนุกหรือมีสุขกับสิ่งนั้นได้มากขึ้น
ตัวอย่างที่เด็ดมากๆ คือพิพิธภัณฑ์ Ed O’Brien เจ้าของงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเหล่าแฟนๆ ของพิพิธภัณฑ์จะรู้สึกสนุกกับพิพิธภัณฑ์นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้กลับมาซ้ำๆ ยิ่งรู้จักตัวพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกเอ็นจอยกับสิ่งของและเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์นั้นได้มากขึ้นเท่านั้น นึกภาพตอนเราไปพิพิธภัณฑ์ครั้งแรก เราก็ตื่นเต้นแหละที่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ แต่ความรู้จำนวนมากไปจนถึงการที่เราต้องเรียนรู้ตัวพื้นที่นั้นๆ ทำให้เรายังไม่สามารถเอ็นจอยกับเรื่องราวได้มากเท่าที่ควร การไปเยือนครั้งที่สอง—เมื่อเราเริ่มรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราจึงสามารถค่อยๆ ทำความเข้าใจ ซึมซับเรื่องราวพิพิธภัณฑ์นั้นได้ดีมากขึ้น ได้เห็นอะไรที่เคยมองข้ามไป
จากความคิดที่ว่าการเสพเรื่องเดิมซ้ำๆ ส่วนหนึ่งผู้วิจัยบอกว่า สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับความคิดและความคาดหวังของเราที่เรามักจะคาดหวังกับความใหม่ในฐานะความสนุก เราเลยคาดว่าถ้าเราเสพเรื่องเดิมซ้ำมันต้องจืดลงแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้จืดลงขนาดนั้น ในงานวิจัยมีการทดลองให้คนดู Netflix แล้วแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้ดูหนังเรื่องเดิมซ้ำในคืนถัดมาแล้วมีการให้ประเมินความรู้สึกสนุกกับหนังเรื่องนั้น กับกลุ่มที่ดูหนังรอบเดียวแล้วไม่ได้ดูในคืนต่อไป กลุ่มที่ดูรอบเดียวบอกว่าถ้าได้ดูน่าจะรู้สึกว่าสนุกลดลงเหลือแค่ 3.5 (เต็ม 7) คือคิดว่าต้องสนุกลดลงไปครี่งนึงแน่ๆ จากที่ดูครั้งแรกให้ไว้ 5.3 แต่ในกลุ่มตัวอย่างที่ได้ดูซ้ำ ประเมินความพอใจการดูครั้งที่สองไว้เฉลี่ยที่ 4.5 ซึ่งก็ถือว่าลดลงไม่ได้มากขนาดเท่าที่เราคาดเอาไว้—คือกลุ่มตัวอย่างที่ดูซ้ำจริงๆ กลับไม่รู้สึกว่าการดูซ้ำทำให้เราเบื่อขนาดที่คาดไว้
แม่น้ำสายเดิม เราคนใหม่
มีงานศึกษาร่วมของ American University และ University of Arizona ศึกษาในเชิงการตลาดว่าทำไมคนถึงได้บริโภคหนัง หนังสือ หรือไปในที่ท่องเที่ยวเดิมอีกครั้ง นักวิจัยใช้วิธีการสอบถามและเก็บบทสัมภาษณ์พบว่า กลุ่มตัวอย่างอธิบายว่าบางครั้งการทำซ้ำก็เพราะว่าเรารู้ว่าเรากำลังจะได้อะไร เช่นดูหนังเรื่องนี้มีฮาอยู่ตรงไหน ได้ร้องไห้ที่ตรงจุดไหน สมองของเรารู้ว่าจะได้ reward อยู่แน่ๆ โดยที่ไม่ต้องไปลุ้นเอาในหนังหรือสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปหรือไม่เคยดู
ในบทสัมภาษณ์ยังพบฟังก์ชั่นที่น่าสนใจในกระบวนการกลับไปทำซ้ำว่าแทนที่จะเป็นการไปเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ แต่การกลับไปรับรู้เรื่องเดิมในทางกลับกันคือการกลับไปเรียนรู้ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เช่นว่า เราดูหนังเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งเรากลับรู้สึกแปลกไปจากเดิมก็เพราะตัวเราเปลี่ยนไป เราอาจจะโตขึ้น มองโลกต่างออกไป หรืออาจเป็นการสำรวจว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหนแล้ว ในงานศึกษานั้นมีผู้หญิงที่ดูหนังรักเรื่องเดิมซ้ำๆ เพื่อเตือนตัวเองว่าความรักของเธอมันไม่เวิร์กแล้วได้เวลาที่เธอต้องก้าวต่อไปได้แล้ว
กลับมาที่เรื่องของการทำอะไรอีกครั้งและความน่าเบื่อในการทำซ้ำๆ นั้น จะว่าไป การ ‘ทำอีกครั้ง’ มันก็ไม่เชิงว่าจะเป็นการ ‘ซ้ำ’ โดยสมบูรณ์ซะทีเดียว มีคำกล่าวว่า เราไม่เคยข้ามแม่น้ำสายเดิมสองครั้ง เมื่อเราข้ามครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งต่อไปมันก็ไม่ใช่แม่น้ำเดิม ไม่ใช่ตัวเราคนเดิมอีกต่อไป
ในโลกของการแสวงหาความใหม่ บางครั้งการกลับไปสู่อะไรเดิมๆ บ้าง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีหาความสุขง่ายๆ นึกถึงตอนที่เราดูการ์ตูนเรื่องเดิมได้จนเทปยาน ตอนนั้นความสุขไม่จำเป็นต้องสดใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ และหายากเหมือนตอนนี้เนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก