เรานับถือศาสนาไปเพื่ออะไร?
คำตอบดั้งเดิมที่เราได้ยินมาแต่เด็กคือ ‘ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ’ ซึ่งมีความหมายว่าศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเมื่อมนุษย์มีความรู้สึกกลัว กังวล ทุกข์ใจ และแล้วแต่ความเชื่อ ศาสนาจะมีคำตอบให้แก่ปัญหาทางใจเหล่านั้น
แต่ใน ค.ศ.2021 งานวิจัยโดย Pew Research Center พบว่าในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนคนที่นับตัวเองเป็นคริสต์ศาสนิกชนลดลงเหลือ 63% จาก 75% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และในระยะเวลาเดียวกันคนที่นับตัวเองว่าไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นเป็น 29% จาก 16% โดยผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ คงตัวอยู่ที่ราวๆ 5-6% ของประชากรในเวลา 10 ปีนั้น
อะไรกันถึงทำให้คนเลิกนับถือศาสนา? ไม่ใช่เพราะคนทุกข์ใจน้อยลงเพราะสถิติจากโควิด 19 ชี้ชัดว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาต้นๆ ของคนทั่วโลก และไม่ใช่เพราะผู้คนเลิกเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติแล้วหันเข้าหาวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทั้งหมด ดูได้จากความนิยมของโหราศาสตร์และความ ‘มู’ ต่างๆ ที่พุ่งสูงแปลว่าผู้คนไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อทางจิตวิญญาณอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่พวกเขาออกห่างจากศาสนากระแสหลัก
ฉะนั้นอะไรกันที่ก่อช่องว่างระหว่างศาสนาและผู้คน? เป็นไปได้หรือเปล่าว่าช่องว่างนั้นเกิดจากทิศทางที่ไม่ไปด้วยกันระหว่างค่านิยมผู้คนในปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงกับความไม่เปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วนของศาสนา?
ไม่ว่าจะการเปิดเผยทรัพย์สินของพระ เงินบริจาคมหาศาลที่ผู้คนให้วัดและโบสถ์ ตลาดพระเครื่อง ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาในปัจจุบันในทุกๆ ระดับ และสำหรับผู้นับถือจำนวนมากตั้งคำถามกับความขัดกันของเม็ดเงินเหล่านั้นกับแก่นของศาสนา
ในงานวิจัยโดย Pew Research Center เกี่ยวกับเหตุผลที่คนอเมริกันเลิกนับถือศาสนา พบว่าเหตุผลที่ไม่นับถือมาจากความไม่เชื่อ ไม่ชอบศาสนาองค์กร ไม่ได้สนใจเลือกศาสนา และไม่ได้เชื่อถึงในระดับที่ต้องแสดงออก
โดยตัวอย่างของคำตอบที่ได้ข้อสรุปเหล่านี้มามีตัวอย่างเช่น ‘เพราะฉันไม่คิดว่าศาสนาเป็นศาสนาอีกต่อไป มันเป็นธุรกิจ มันเกี่ยวกับเงิน’ หรือ ‘คนคริสต์จำนวนมากมีพฤติกรรมไม่เป็นคริสเตียนสุดๆ’ โดยหากให้ยกตัวอย่างคนที่มีพฤติกรรมที่ใช้ศาสนาในการสร้างเงินนั้นอาจยกตัวอย่างเป็นนักเทศน์อย่าง ปีเตอร์ พ็อปออฟ (Peter Popoff)ใช้สื่อและเวทีของตัวเองในการสร้างความเชื่อว่าเขามีความสามารถรักษาโรคอะไรก็ได้โดยไม่ต้องพึ่งแพทย์ แต่ด้วยพลังของพระเจ้า พร้อมกับขายน้ำศักดิ์สิทธิรักษาทุกโรคไปพร้อมๆ กับบอกให้ผู้ติดตามทิ้งการใช้ยารักษาโรคใดๆ ทั้งปวงทิ้ง
หนึ่งในเหตุผลที่คนนับถือศาสนาคือการขจัดทุกข์ และในบริบทของพุทธศาสนาสิ่งที่สร้างทุกข์เรียกว่ากิเลส โดยหนึ่งในกิเลสคือโลภะ หรือความอยากได้ ที่สร้างความทะเยอทะยาน ความดิ้นรนที่จะให้อยากได้สิ่งที่อยากได้เหล่านั้นมา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่อยากได้ ความทะเยอทะยานนั้นอาจนำไปสู่การทุจริตและการขโมยได้ ซึ่งเป็นคำสอนที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผลและไม่จำเป็นต้องกังขาอะไร
แต่ข่าวที่เราเห็นเกี่ยวกับศาสนาพุทธไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นเห็นภิกษุผู้ที่ว่ากันว่าเป็นกลุ่มคนที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดที่สุดมีข่าวการขโมยเงินบริจาค ยักยอกทรัพย์ ครอบครองสินค้าแบรนด์เนม แนวคิดการยิ่งจ่ายเยอะแปลว่ายิ่งได้บุญเยอะที่บางชุมชนพุทธเชื่อ ไปจนการตีค่าเครื่องรางของขลังในวงการการ ‘เช่า’ พระเครื่อง
นอกจากโลภะแล้ว กิเลสใหญ่อีก 2 อย่างคือโทสะ หรือความโกรธ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีความถือตัวแล้วความถือตัวนั้นถูกกระทบ ซึ่งมักนำไปสู่การทำร้าย ความหวาดระแวง ความขัดแย้ง อย่างสุดท้ายคือโมหะ คือความเขลา ความไม่รู้ถูกรู้ผิด ไม่ใช้ปัญญาในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมักนำให้เกิดความทุกข์จากทุกๆ ข้อก่อนหน้า และหลายๆ ครั้งที่เหล่านักบวชที่เรามักพบบนหน้าข่าวในปัจจุบันขัดกับคำสอนเหล่านี้
อย่างเช่น อดีตพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท พระที่ใช้พื้นที่การสื่อสารของตัวเองเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในไทยเช่นเดียวกันกับที่เกิดต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมาเนื่องจากเขามองว่าชาวอิสลามเป็นศัตรูของพุทธศาสนา หรือจะเป็นไชยบูลย์ สุทธิผลหรือที่รู้จักกันในนามพระธัมมชโยที่เป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน และกรณีล่าสุดของทิตกาโตะพระผู้มีชื่อเสียงบนโซเชี่ยลมีเดียที่สึกเนื่องจากกรณีการเสพเมถุน
แม้ว่านักบวชเหล่านั้นจะกำลังอยู่ในกระบวนการหรือถูกดำเนินการให้สึกออกจากสมณเพศไปแล้ว องค์กรและระบบภายในแบบใดกันที่ก่อให้เกิดพระภิกษุรูปแบบนี้ออกมา? และคำถามมักเกิดขึ้นว่ามันหมายความว่าอะไร เมื่อพฤติกรรมที่เรียกว่าการทุ่มเทให้แก่ศาสนานั้นขัดกับหลักสำคัญของมัน?
เมื่อมองออกมาจากหลักคำสอน อีกสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญของศาสนาคือการตีความหลักคำสอนเหล่านั้น ในการอ่านและทำความเข้าใจอะไรสักอย่างสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการตีความไม่ว่าจะคำสอนจากนักบวชที่มีผู้ติดตามมากๆ หรือจากคนทั่วไปที่อ่านเอาเองจากอินเทอร์เน็ต และธรรมชาติของการตีความนั้นมักแตกต่างกันออกไประหว่างผู้คนด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานะ วัย เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ
และหากมองไปที่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เราเห็นกันในปัจจุบันไม่ว่าจะที่ไหน มักมีแนวคิดเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ การเคลื่อนไหว Pro-Choice แนวคิดเฟมินิสต์ การต่อต้านปิตาธิปไดย ฯลฯ เกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่การตีความศาสนากระแสหลักต่อต้าน สังเกตได้จากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยองค์กรทางศาสนาบางแห่งเมื่อร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตผุดขึ้นมาเมื่อกลางปี พ.ศ.2020 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมและขัดต่อศีลธรรมอันดี
ในบทความ เพราะ LGBTQ และมุสลิมไม่ได้มีอัตลักษณ์เดียว : ว่าด้วยศาสนาอิสลามกับการรักเพศเดียวกัน ของชานันท์ ยอดหงษ์ โดยบทความว่าด้วยการตีความศาสนาที่คับแคบขององค์กรศาสนาอิสลามใหญ่ๆ ในปัจจุบันนั้นเกิดมาจากความต้องการรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และเขาเสนอว่าศาสนาสามารถเปิดรับผู้คนได้หลายแบบขึ้นได้หากมองมันในฐานะอารยธรรมและตีความมันด้วยมุมมองที่พัฒนาไปตามกระแสของโลก
เมื่อพูดถึงการตีความที่คับแคบ ไม่เป็นไปตามกระแสของโลก ไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่ม และไม่มองว่าคนทุกกลุ่มมีความสำคัญเท่าๆ กันแล้ว เราพูดได้หรือไม่ว่าไม่ใช่เพียงคนเท่านั้นที่เดินออกจากศาสนา แต่เป็นศาสนาเองที่ทอดทิ้งคนหลายๆ กลุ่มคน? ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ หรือผู้หญิงที่ไม่ได้มองว่าตัวเองต้องทำหน้าที่ปรนนิบัติ ผู้ชายที่ไม่ต้องการเป็นผู้ปกป้อง
แล้วหากผู้คนรู้สึกถูกทอดทิ้งโดยศาสนาแล้วนั้นพวกเขาจะไปที่ใดต่อ? ในโลกปัจจุบันที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้วนั้นคนสามารถเลือกความเชื่อของพวกเขาเองได้ และเทคโนโลยีสามารถทำให้พวกเขาสามารถไปถึงข้อมูลที่จำเป็นในการเรียนรู้เรื่องเหล่านั้น ความสบายใจของพวกเขาอาจอยู่ที่การเรียนรู้ปรัชญาสักแขนงที่ตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขา เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มีการตั้งคำถามไม่รู้จบในจักรวาล ความเชื่อทางจิตวิญญาณอย่างอื่นที่เปิดรับใครก็ตามโดยไร้ข้อจำกัด
หรือหลายๆ ครั้งสิ่งมายึดเหนี่ยวใจของพวกเขาอาจเป็นศาสนาเหมือนเดิม โดยตัดกรอบที่คับแคบต่างๆ ออก เก็บไว้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา
อ้างอิงข้อมูลจาก