แน่นอนว่า 8 มีนาคมของทุกปี ก็คือวันสตรีสากลที่คนทั่วโลก (และแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ออกมาพูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ในปีนี้พวกเขามีแคมเปญ #BalanceforBetter เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียม ที่ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องของหญิง-ชายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง LGBTQ+ ที่ยังเจอปัญหานี้ด้วย
หนึ่งในวิธีที่จะเข้าใจปัญหาเหล่านี้ เราอาจจะต้องลองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของกันและกัน อาจจะช่วยทำให้ได้ยินเสียงเรียกร้องที่อีกฝ่ายอยากบอก การเอาใจเขามาใส่ใจเราอาจจะช่วยให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น
แล้วก็เพราะว่าเป็นวันสตรีสากลนี่เอง เราเลยอยากหันกลับมาสำรวจงาน ‘วรรณกรรมของผู้หญิง’ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้เห็นว่าพวกเธอกำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังสร้างบทสนทนาอะไรขึ้นมา หรือว่ากำลังบอกอะไรผ่านตัวอักษรบ้าง
ถ้าลองกวาดตามองไปบนชั้นในร้านหนังสือ ชื่อของนักเขียนหญิงก็เริ่มมีพื้นที่มากขึ้นในหลากหลายประเภท คือไม่ได้อยู่ในชั้นของนิยายโรแมนซ์ (นิยายพาฝันอย่างที่ใครหลายๆ คนเรียก) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป นอกจากนี้ ในพื้นที่ของงานรางวัล โดยเฉพาะซีไรต์ ซึ่งเป็นรางวัลที่ถูกจับตามองและได้รับการพูดถึงมากที่สุด ชื่อของนักเขียนหญิงก็เข้ามายืนบนแท่นรับรางวัลมากขึ้นไปด้วย
ถ้าลองเทียบดู ซีไรต์เคยประกาศผลมาแล้ว 40 ครั้ง แต่จำนวนของนักเขียนหญิงที่ได้รางวัลนี้มีเพียงแค่ 8 คนเท่านั้น คิดเป็น 1 ใน 5 เลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
อย่างรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด มีนักเขียนหญิงเข้ารอบ short list ถึง
4 คน จากทั้งหมด 8 เรื่อง ก็เป็นจำนวนครึ่ง-ครึ่งพอดี
พอลองมาไล่เรียงดู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 วีรพร นิติประภา คว้ารางวัลซีไรต์ได้จากเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ก็ต้องยอมรับว่าการมาของวีรพรในครั้งนี้เหมือนปลุกกระแสซีไรต์ให้กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมาดูจะเงียบๆ ไป แม้กระแสที่ว่าอาจจะมีทั้งดีและไม่ดีอย่างที่งานรางวัลหลายๆ ที่เป็น แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นข้อดีคือการทำให้คนหันกลับมาสนใจวงการหนังสือกันมากขึ้น
เมื่อกระแสไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตผ่านพ้นไป ในปี 2560 จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ก็ได้รับรางวัลจากรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก กลายเป็นนักเขียนซีไรต์ ‘ผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุด’ ไปครอง (ซึ่งก็เป็นมีประเด็นเรื่องอายุไปอีกนั่นแหละ)
ส่วนรางวัลซีไรต์รอบล่าสุดนี้ วีรพร นิติประภา ก็กลับมาคว้ารางวัลอีกครั้งจาก พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวที่ผู้หญิงก้าวเข้ามาอยู่บนพื้นที่รางวัลติดต่อกันรัวๆ มากกว่าแต่ก่อน
เมื่อนักเขียนหญิงมีพื้นที่มากขึ้น เสียงของตัวละครหญิงก็ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในช่วงก่อนหน้า ถ้าพูดถึงการออกมาพูดถึงปัญหาหรือความคับข้องใจอะไรบางอย่าง ประเด็นใหญ่ๆ ที่มักจะพูดถึงคือการถูกกดทับผ่านการเป็นเมียหรือแม่ในสังคมชายเป็นใหญ่ หรือบทสนทนาที่ตัวละครหญิงชวนคุยด้วยก็จะเป็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมบางอย่างที่เหมือนกดดันให้ผู้หญิงต้องเป็นคนรักษาเอาไว้
ซึ่งเอาจริงๆ ประเด็นนี้ก็น่าจะยังพูดกันต่อไปจนกว่า
สังคมจะเลิกแปะป้ายการเป็นเมียหรือแม่ที่ดีใส่เข้ามาในตัวของผู้หญิง
ปีที่ผ่านมา วรรณกรรมที่พูดถึง ‘ความเป็นผู้หญิง’ ได้หนักแน่นและหนักหน่วงมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ ผุดเกิดมาลาร่ำ ของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ที่เข้า shortlist ของซีไรต์ในปี 2560 ด้วย เป็นวรรณกรรมที่ชวนเราตั้งคำถามและถกเถียงในหลายประเด็น ตั้งแต่ความคาบเกี่ยวระหว่างนวนิยายกับอัตชีวประวัติ การเป็นเมตาฟิกชั่นที่มีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า รวมไปถึงภาษาและการบรรยายที่ไม่ต้องสนใจไวยากรณ์ใดๆ แต่เต็มไปด้วยชั้นเชิง หรือความเกี่ยวโยงของศิลปะหลากลายแขนงที่ผสมผสานเข้ามาในงานเขียน
แต่ไม่ว่ายังไง อารยาก็ยังคงใส่ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงมาเป็นระยะๆ การเป็น ‘ลูก’ ที่ไม่ได้รับความรักเพียงเพราะเป็น ‘ผู้หญิง’ การเป็น ‘ศิลปินหญิง’ ที่แวดล้อมไปด้วยวงการที่มีแต่ผู้ชาย และหลากหลายการวิพากษ์ที่แทรกเข้าไประหว่างบรรทัด เรียกได้ว่ามันก็คือเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ คนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตาย มันบอกเล่าการมองโลก ทัศนคติของผู้หญิงคนหนึ่งที่มองออกไปและได้ยินเข้ามาจากคำพูดของคนรอบตัว
ก็อาจจะบอกได้ว่า ‘ความเป็นผู้หญิง’ ยังคงได้รับการพูดถึงผ่านตัวละครหญิงในวรรณกรรมบ้าง แต่จะมากหรือน้อยก็ต่างกันไป แต่ไม่ว่ายังไงก็เคยหายไปจากบทสนทนาของพวกเธอเลย
นอกจากเรื่องบทบาทที่คนพยายามใส่ลงไปในตัวผู้หญิงแล้ว เมื่อมองเข้าไปในเรื่องของ ‘คาแรคเตอร์’ ของตัวละครหญิงก็จะเห็นการพยายามทำลายกรอบเดิมๆ เพิ่มความหลากหลายเข้ามามากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่การตั้งประเด็นขึ้นมาตรงๆ เพื่อต่อสู้กับค่านิยมเดิมๆ แต่เป็นการบอกเล่าอย่างเป็นธรรมชาติที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่านิสัยของผู้หญิงก็ไม่ใช่แค่อ่อนหวาน เรียบร้อย เชื่อฟัง อะไรแบบนั้น
นักเขียนหญิงจากสำนักพิมพ์ P.S. คือตัวอย่างที่น่าหยิบยกมาพูดถึงกัน ในปีก่อนมีรวมเรื่องสั้น Sweet and Sad หวานเศร้าคาเฟ่ รวมถึง Bubble Gum และเรื่องสั้นอื่นๆ ผลงานของ โบนิตา อาดา ที่ยังคงพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คน แต่หากคั้นออกมาดีๆ แล้วจะเห็นคาแรคเตอร์ของตัวละครหญิงที่ได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
นอกจากการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครแล้ว ยังมีการพูดถึงเรื่องต่างๆ ภายใต้ความสัมพันธ์ อย่างเรื่องสั้น ‘ช็อคโกแลตหวานน้อย’ ที่พูดถึงการเป็นผู้หญิงที่พยายามทำให้ผู้ชายรัก ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยการไม่เป็นตัวของตัวเอง อย่างการห้ามทำตัวฉลาดเกินไป ต้องดูอ่อนแอ ต้องพึ่งพาคนอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดกับสิ่งที่เธอเป็นเสมอจนท้ายที่สุดความสัมพันธ์นั้นก็ไปไม่รอด เป็นเรื่องสั้นง่ายๆ บทสนทนาธรรมดาๆ แต่ได้ซ่อนนำ้เสียงและข้อความบางอย่างลงไป ก็เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของนักเขียนหญิงในสำนักพิมพ์นี้อยู่เหมือนกัน
นอกจากการพยายามสั่นคลอนนิสัยของผู้หญิงที่ถูกสังคมคาดหวัง อีกสิ่งที่นักเขียนหญิงบอกผ่านตัวละครคือ
เธอไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สำนวน ‘รักนวลสงวนตัว’ อีกต่อไป
เธอสามารถต่อรอง แลกเปลี่ยน หรือเลือกทำในสิ่งที่พวกเธอต้องการได้ เซ็กส์ บุหรี่ การเป็นฝ่ายเริ่มต้นเดินหน้าเรื่องความสัมพันธ์ ถูกใส่เข้ามาในตัวละครหญิงมากขึ้น จนเรียกได้ว่าในบางเรื่องก็แทบจะเป็นการพูดถึงการเมืองเรื่องความสัมพันธ์กันไปเลยทีเดียว อย่างเช่น เรื่องสั้นจากหนังสือ ความสั่นสะเทือนระหว่างเรา ของ อรุณี ศรีสุข ที่ตัวละครหญิงบางคนสามารถนำบทสนทนา เป็นฝ่ายเริ่ม ความสัมพันธ์ได้ก่อนโดยไม่ต้องมัวสงวนท่าทีแบบเดิมๆ ดังนั้นความรักและความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องความเท่าเทียมของทั้งสองฝ่ายแล้วในงานของนักเขียนหญิง
ประเด็นที่น่าพูดถึงเพิ่มเติมในเรื่องความสัมพันธ์ (ที่ดูจะเป็นธีมหลักที่นักเขียนหญิงหลายคนเขียนถึง) ไม่ได้ตายตัวอยู่เรื่องของ ชาย-หญิง แต่ขยายออกไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สองคน เป็นการเปิดกว้างความหลากหลายทางเพศที่ได้เห็นมากขึ้นในงานเขียน (ที่นอกเหนือไปจากนิยายวายด้วย) อย่างเช่นเรื่องสั้น ‘คำรักมาช้า’ ของ อุรุดา โควินท์ ที่พูดถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของผู้หญิงสองคนที่เป็นเพื่อนสนิท เป็นที่ปรึกษา เป็นทุกอย่าง แต่ไม่ได้เป็นคนรัก
โดยรวมแล้วตัวละครหญิงจึงเน้นพูดถึงอำนาจหรือการเมืองผ่านความสัมพันธ์ในชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้เข้าถึงคนอ่านได้ง่ายแต่ก็มีพลังไปด้วย เพราะยังไงเราทุกคนล้วนต้องอยู่ในความสัมพันธ์ใดความสัมพันธ์หนึ่งเสมอ
กาญจนา แก้วเทพ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “การเขียนแบบผู้หญิงมีจุดเด่นอยู่ที่วิธีการประสมสิ่งที่เคยถูกแยกออกจากกันหรือสิ่งที่ไม่น่าจะมาอยู่ร่วมกันได้ให้เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืน” ซึ่งก็พอจะมองเห็นผ่านงานเขียนของนักเขียนหญิงหลายๆ คนที่สามารพูดเรื่องส่วนตัวรวมเข้ากับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นไปด้วยกันได้ เหมือนที่มีคำพูดว่า ‘The Personal is Politics’ ของกลุ่มเฟมิสต์คลื่นที่ 2 ที่พยายามออกมาบอกว่าเรื่องส่วนตัวในชีวิตคนเราก็คือการเมืองและการแย่งอำนาจกันอย่างหนึ่ง
ตัวละครหญิงที่สร้างขึ้นผ่านปลายปากกาของนักเขียนหญิงจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะคอยติดตามอยู่ตลอด เพราะหากมองในฐานะที่นักเขียนจะบอกเล่าความคิดผ่านตัวงานแล้ว ก็ยิ่งทำให้ตัวละครหญิงที่ปรากฏในเรื่องเป็นเสียงสะท้อนจากผู้หญิงด้วยกันเอง อาจทำให้เราเข้าใจและมองเห็นโลกของผู้หญิงได้มากขึ้น
สิ่งที่สะท้อนออกมาอาจไม่ได้เป็นผลลัพท์ที่สะท้อนได้ตรงเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้อ่านความคิดของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ต้องการออกมาส่งเสียงจากสิ่งที่พวกเขาเป็น จากปัญหาที่พวกเธอต้องเจอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
พิเชฐ แสงทอง. (2558). การเขียนแบบผู้หญิง และเพศของวรรณกรรม. วารสารรูสมิแล, 36(1), (91 – 95).
www.internationalwomensday.com