เนื่องจากแต่ก่อนไม่ได้มีพื้นที่สาธารณะให้ผู้หญิงรวมตัวกันเป็นสถาบันมากเท่าผู้ชาย ถึงพอจะมีบ้างก็ไม่ได้ถูกให้คุณค่าความหมายมากนัก ‘ความเป็นพวกพ้อง’ จึงมีเพศของมัน มีความหมายเดียวกับ ‘ภารดรภาพ’ เหมือนกับที่ ‘fraternity’ ที่ Frater ภาษาละตินที่แปลว่าพี่น้องชาย ก็ความหมายคล้ายกับคำว่า ‘brotherhood’ และเป็นคำที่คุ้นหูคุ้นชินอย่างมากในพื้นที่การเมืองการปกครอง
ภารดรภาพจึงสัมพันธ์กับการปกครองของรัฐรูปแบบใหม่ในโลกชายเป็นใหญ่และ male state เช่นคำขวัญของเสรีนิยมประชาธิปไตยจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ‘Liberté, égalité, fraternité’ ที่เขี่ยผู้หญิงกระเด็นออกไปจากพื้นที่การเมืองการปกครอง
แม้จะมีผู้หญิงหลุดเข้าไปบ้างในพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐ พวกเธอเริ่มมีความเป็นพวกพ้องด้วย แต่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวสมัครสมานสามัคคีอย่างเท่าเทียมก็ยังคงเป็น ‘ภารดรภาพ’ อยู่ดี เพียงแต่เหมารวมผู้หญิงเข้าไปด้วยแค่นั้น
ขณะที่ความเป็นพวกพ้องน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้หญิง มีความเอื้อยกับอี่ เพื่อนหญิงพลังหญิงเป็น ‘sisterhood’ นั้น เป็นคำที่สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 สาย radical feminism นิยมใช้ เพื่อสร้างพื้นที่หญิงล้วน เป็นมุมกลับของ brotherhood และ fraternity เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกดขี่กดทับจากพวกผู้ชาย ผู้หญิงด้วยกันมีความเข้าอกเข้าใจกัน อยู่รวมกันถ้อยทีถ้อยอาศัย
ด้วยเหตุนี้ radical feminism จึงตั้งองค์กรสตรี สถาบันเพื่อผู้หญิงโดยผู้หญิงผุดพรายจำนวนมากเพื่อปลดแอกผู้หญิงออกจากปิตาธิปไตยตั้งแต่ 1960’s และในปี ค.ศ.1970 ในช่วงกระแสเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 บรรดาเฟมินิสต์จากสำนัก radical feminism ก็ได้ร่วมกันเขียนบทความรวมเล่มเป็นหนังสือ Sisterhood Is Powerful: An Anthology of Writings from the Women’s Liberation Movement มี โรบิน มอร์แกน (Robin Morgan) เป็นบก. ซึ่งเป็นการสืบสานรักษาต่อยอดจาก เคธี่ ซาราชิลด์ (Kathie Sarachild) ผู้ตั้งสโลแกนการเคลื่อนไหวว่า “Sisterhood is powerful” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 และเพื่อต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงานนอกบ้านและรวมไปถึงในกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งสมกับเป็น radical feminism ที่ต้องการถอนรากถอนโคนโครงสร้างชายเป็นใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่คุ้นชินกันจนลืมไปว่ามีการเมืองเรื่องเพศอยู่ โรบินได้เริ่มใช้คำว่า ‘herstory’ ในความหมายประวัติศาสตร์ ในหนังสือเล่มนี้
แม้ว่า ‘history’ ไม่ได้มาจาก His-story แต่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณของภาษาท้องถิ่นไอโอเนียน historie ทั้งคำกรีก istor ที่หมายถึงพยาน ผู้ซึ่งได้พบรู้เห็น และได้กลายมาเป็นกรอบมโนทัศน์ให้กับความหมายของแหล่งความรู้ istorein ที่หมายถึง แสวงหาเรียนรู้และแจ้งให้ทราบ ความรู้ที่เกิดจากการสืบเสาะ หรือวัตถุที่มนุษย์ค้นพบ[1] แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประวัติศาสตร์ที่ถูกเลือกบันทึกขึ้น มักเป็นเรื่องเล่าของผู้ชายโดยผู้ชาย
กลับมาที่คอนเซปต์ ‘ภคินีภาพ’ (sisterhood) ที่เป็นการรวมตัวหาแนวร่วมของลูกผู้หญิง เพื่อผนึกกำลังให้ผู้หญิงแข็งแกร่งอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้และปลดแอกจากอำนาจของปิตาธิปไตย
เพราะเกิดมาเป็นผู้หญิงและถูกทำให้มีเพศสภาพหญิง
ก็ต่างต้องเผชิญประสบการณ์ความรุนแรง ถูกกดทับเลือกปฏิบัติอย่างเลี่ยงไม่ได้
ผู้หญิงทุกคนในโลกชายเป็นใหญ่ใบนี้จึงเสมือนพี่น้องกัน[2]
อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ก็ถูกตั้งคำถามโดยสตรีนิยมสำนักต่างๆ เช่น post-colonial feminist และ black feminist เช่น เบลล์ ฮุกส์ (Bell Hooks) นักสตรีนิยมสาย black feminism กล่าวว่า ประสบการณ์ความรุนแรงของผู้หญิงก็แตกต่างกันออกไป เหมือนกับที่โครงสร้างปิตาธิปไตยในแต่ละที่ก็ต่างกัน ประสบการณ์หญิงคริสเตียนชาวตะวันตกผิวขาวชนชั้นกลาง ก็ย่อมมีประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศต่างจากหญิงผิวดำกรรมาชีพใช้แรงงาน ซ้ำไม่เพียงแต่ถูกผู้ชายกดขี่ ยังถูกผู้หญิงผิวขาวอย่างพวกเธอกดขี่อีกต่างหากเจ้าค่ะ ผู้หญิงทั่วโลกจึงไม่ได้มีความเป็นพี่เป็นน้องซึ่งกันและกันหมด ผู้หญิงบางกลุ่มบางคน ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อแค่ปิตาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังตกเป็นเหยื่อความจน สถานะทางเศรษฐกิจ และลัทธิเหยียดสีผิว (racism) ทำให้ประสบการณ์การถูกกดทับเลือกปฏิบัติความรุนแรงต่างกัน การเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกของพวกเธอก็แตกต่างกัน การพยายามจะให้ผู้หญิงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมด เป็นแต่เพียงการเอาบรรทัดฐานของหญิงคริสเตียนผิวขาวกระฏุมพีมาตัดสิน กำหนดความหมายร่วมเท่านั้น แล้วละเลยประสบการณ์ผู้หญิงกลุ่มอื่นไป[3]
sisterhood ที่พวกผู้หญิงรวมกลุ่มกันเพื่อหลบภัยและต่อรองกับอำนาจผู้ชาย ยังถูกมองว่าเป็นการคัดเลือกคัดออกและนิยามว่าใครควรจะมีสมาชิกภาพไปในตัว แยกตัวเองเป็นเอกเทศ กีดกันผู้ชายและเพศอื่นๆ ที่ก็อยากต่อสู้กับปิตาธิปไตยร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำถึงโครงสร้างสังคมแบบคู่ขั้วตรงข้าม ในเมื่อ ‘ความเป็นหญิง’ เป็นสิ่งสมมติในโลกชายเป็นใหญ่อย่างไร sisterhood ก็สมมติขึ้นมาเช่นกัน ‘friendship’ หรือ ‘มิตรภาพ’ จึงเป็นคำที่สมจริงกว่า เปิดกว้างให้กับพหุนิยมกว่า ถูกเสนอให้ใช้แทน sisterhood ที่เป็นสัญลักษณ์และอุปลักษณ์ เพราะที่รวมกลุ่มกันก็คนละพ่อคนละแม่กันทั้งนั้น[4]
อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภคีนีภาพ’ ก็ยังคงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ การเคลื่อนไหวประเด็นผู้หญิงหลายแห่งทั่วโลกยังคงใช้ sisterhood ในการต่อสู้รวมพลังของผู้หญิงหัวอกเดียวกัน ซึ่งแต่ละบริบทสังคมก็ต่างมีการกดทับกดขี่ทางเพศที่แตกต่างกัน sisterhood จึงหลากหลาย แต่ไม่ว่าอย่างไรการข่มขืนก็เป็นความรุนแรงทางเพศและผลผลิตของปิตาธิปไตยที่เกิดขึ้นทุกที่ ที่ผู้หญิงและเฟมินิสต์ไม่ว่าจะบริบทไหนกุกขึ้นมาต่อสู้
มันจึงมี sisterhood อย่าง ‘Garneau Sisterhood’
ที่เป็นการรวมตัวของผู้หญิงในการต่อสู้ต่อต้านวัฒนธรรมการข่มขืน
อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ข่มขืนบ่อยขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.2008 ย่านชุมชน Garneau ในเมืองของ Edmonton ประเทศแคนาดา สมาชิกภาพเป็นนิรนามทั้งหมด และเคลื่อนไหว แบบ guerrilla warfare ที่เปรี้ยวซ่าก๋ากั่นในที มีกลิ่นไอแบบเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 ประวัติที่มาขององค์กรก็ใช้ herstory แทน history[5]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ประชาชนหญิงระมัดระวังตัวเองด้วยการให้ผู้หญิงอยู่บ้าน ล็อกบ้านให้แน่นหนาเพื่อความปลอดภัยของพวกเธอเอง ที่ไม่เพียงเป็นการวางประเด็นปัญหาข่มขืนไว้บนตัวผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังไม่เข้าใจด้วยว่า ประเด็นการข่มขืนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดต่อผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยในการอยู่บ้าน ที่ยังคงมีสำนึกที่ผู้หญิงต้องอยู่ติดบ้าน และการปิดบ้านมิดชิดไม่ได้ช่วยหยุดการข่มขืนโดยสมาชิกภายในบ้าน คนใกล้ตัว คนรัก คู่เดต
เนื่องจากการข่มขืนคือความรุนแรงทางเพศที่รุนแรงเลวร้ายกว่าความรุนแรงทางเพศอื่นๆ เหยื่อต้องได้รับการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ ไม่ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องโดดเดี่ยวและเป็นเสียงเงียบ ปล่อยให้รักษาเยียวยากันเองในระดับปัจเจกแบบมธุสรกับลูกผึ้ง
เมื่อการข่มขืนไม่ใช่เรื่องปัจเจกแต่เป็นเรื่องส่วนรวมที่ต้องหวาดกลัว Garneau Sisterhood จึงนำความตระหนักถึงปัญหาและหวาดกลัวในระดับชุมชนสร้างความเป็นปึกแผ่น ดึงพลเมืองมาเข้าร่วมเป็นหูเป็นตาระแวดระวังให้แก่กัน และลุกขึ้นสู้กับวัฒนธรรมการข่มขืน หรือ rape culture ซึ่งเคลื่อนไหวในเชิงโต้กลับผ่านโปสเตอร์ใบปลิวที่มีข้อความฟาดๆ เฟียซๆ ที่กระแทกความรู้สึกสังคม แปะตามที่สาธารณะ เสาไฟ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ป้ายรถขนส่งมวลชน ซึ่งสื่อสารได้ง่ายและกว้างขวาง พวกเธอติดต่อสื่อสารอัพเดทข้อมูลกันทางอีเมลซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารขั้นพื้นฐานที่ผู้ใช้รู้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนได้
Garneau Sisterhood ไม่เพียงเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยให้กับชุมชน ยังรับจิตอาสาให้ความรู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ยินยอมพร้อมใจ ให้ความรู้แนวคิดเกี่ยวกับเฟมินิสต์ เพราะการหยุดวัฒนธรรมข่มขืนไม่ใช่มาควบคุมจัดระเบียบกับผู้ที่มีแนวโน้มจะตกเป็นเหยื่อ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับทุกคนว่าอะไรคือการข่มขืน อะไรคือการใช้อำนาจในทางที่ผิดต่อผู้หญิง และสำนึกของสตรีนิยม สร้างความเข้าใจในประเด็นละเอียดอ่อนนี้ให้กับทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ไต่สวนของศาลยุติธรรมและตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงชนชั้นแรงงานรากหญ้าที่มักตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ และไม่ค่อยได้รับการเป็นธรรม[6]
Sisterhood จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์ของขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ที่สำคัญอย่างมากต่อการทำลายล้างวัฒนธรรมข่มขืนในโลกชายเป็นใหญ่
แต่มันก็ไม่เสมอไปที่ยุทธศาสตร์ sisterhood นี้จะใช้ได้ผลกับอีกบริบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมแบบไทยๆ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดลำดับอาวุโส ช่วงชั้นสถานะทางสังคม จนนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นายกับบ่าว หัวหน้าลูกน้อง ครูนักเรียน แม่กับลูก จะมาเหิมเกริมนิยามเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นพี่เป็นน้องกันเป็นเอื้อยเป็นอี่กันไม่ได้ ซ้ำสำนึก ‘ความเป็นพี่น้อง’ แบบไทยๆ ก็คือการจัดลำดับอำนาจความอาวุโสและการสยมยอม เป็นโซตัส คนละคอนเซปต์กับ Brotherhood หรือ Fraternity ภราดรภาพอะไร
แล้วยิ่งจะมานิยามให้เป็น ‘friendship’ ‘มิตรภาพ’ ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ไม่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ไม่มีสัมมาคารวะ เพื่อนเล่นหรอ?
ดังนั้น sisterhood ที่มีความเสมอภาคอยู่ในความเป็นพวกพ้องมันจึงเจือจาง คนไม่อิน ไม่ทรงพลังพอที่จะนำมาสู้กับวัฒนธรรมข่มขืนในไทย ที่ไม่เพียงมีระบอบปิตาธิปไตยเป็นพื้นฐาน แต่ยังมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมเป็นท่อน้ำเลี้ยง
การล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืนหรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ยินยอมพร้อมใจ ส่วนใหญ่จึงมาเกิดจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากระทำต่อผู้น้อยกว่า ผู้ใหญ่ข่มขืนเด็ก ผอ.ลวนลามลูกน้องเด็กฝึกงาน อาจารย์กับนักเรียน และด้วย sisterhood ที่ไม่มีน้ำหนักเท่าสถานภาพทางสังคม เวลานักเรียนหญิงโดนครูชำเราล่อลวง มันถึงมีเพื่อนครูที่เป็นผู้หญิงเสนอหน้าออกมาให้กำลังใจปกป้องครูด้วยกันมากกว่าลูกศิษย์ที่เป็นเพศหญิงด้วยกันเอง แถมยังไปเห็นอกเห็นใจเมียของครูผู้กระทำชำเรามากกว่านักเรียนหญิงด้วยซ้ำ
เพราะถ้ายึดหลัก sisterhood ที่มีนัยยะของความเสมอภาคแล้ว ครูกับนักเรียนก็จะมีคุณค่าเท่ากันทันที ในฐานะลูกผู้หญิงเหมือนกันไม่ใช่ผู้มีบุญคุณ เป็นพระคุณที่สามงดงามแจ่มใส ต้องจัดพิธีถวายพานพุ่มธูปเทียนกราบแทบเท้า มีอำนาจนำและความศักดิ์สิทธิ์ด้วยสำนึกอำนาจนิยม
และด้วยบริบทสังคมเช่นนี้แหละ เมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาการข่มขืนชำเรา มันถึงทำได้แค่เพียงออกมาพูดพล่อยๆ ตื้นๆ ว่าข่มขืนเท่ากับประหาร ฉีดอวัยวะเพศให้ฝ่อ ลงโทษตาต่อตาฟันต่อฟัน ใช้ยาแรงสไตล์อำนาจนิยม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Le Goff, Jacques; Rendall, Steven; Claman, Elizabeth. (c1992). History and Memory. New York : Columbia University Press, pp. 101-102.
[2] Gamble, Sarah. (1998). The Routledge companion to feminism and postfeminism. London : Routledge, pp. 298.
[3] Hooks, B. (1986). Sisterhood: Political Solidarity between Women. Feminist Review, (23), 125-138.
[4] Lugones, M. (1995). Sisterhood and Friendship as Feminist Models. In Rosezelle P. (Author) & Weiss P. & Friedman M. (Eds.), Feminism and Community (pp. 135-146).
[5] https://garneausisterhood.weebly.com/
[6] Gotell, L. (2012). Third-Wave Anti-rape Activism on Neoliberal Terrain: The Garneau Sisterhood. In Sheehy E. (Ed.), Sexual Assault in Canada: Law, Legal Practice and Women’s Activism (pp. 243-266).; Johnston, M. (2012). Sisterhood Will Get Ya: Anti-rape Activism and the Criminal Justice System. In Sheehy E. (Ed.), Sexual Assault in Canada: Law, Legal Practice and Women’s Activism (pp. 267-300).; Viczko, M., & McClean, A. (2009). “The Sisterhood is watching”: Challenging identity and agency in citizenship. Journal of Contemporary Issues in Education, 4(2), 29-41.