เราอาจเคยมีภาพครอบครัวที่เป็นอุดมคติ ผ่านสื่อหรือแบบเรียนที่ครอบครัวมักเป็นที่พึ่งพาของทุกคนได้เสมอ แต่หากมองกลับมายังความเป็นจริง สถาบันครอบครัวได้กลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยของใครหลายๆ คน ด้วยปัจจัยที่หลากหลายและความแตกต่างทาง ‘Generation’ จากปัญหาที่กำลังลามสู่วงกว้างของการทำความเข้าใจระหว่างความต้องการของเด็กและผู้ปกครองสวนทางกัน
Young Matter ชวนพูดคุยกับ บุณฑริกา แซ่ตั้ง ผู้ก่อตั้งเพจ “ไม่อยากกลับบ้าน” ที่ออกมาเป็นกระบอกเสียงสื่อสารเรื่องราวของคนที่ ครอบครัว ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัย บ้านไม่ใช่ที่ที่อยากกลับไปอีกแล้ว ถึงการพยายามทำให้คนทั่วไปเห็น่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากกลับ และไม่ใช่ทุกคนที่มีบ้านพร้อมให้กลับไปหา
จุดเริ่มต้นของการทำเพจไม่อยากกลับบ้าน
จริงๆ มันเป็น painpoint ของเราและคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ที่เวลาเล่าเรื่องปัญหาในครอบครัว แล้วเราจะโดนไล่กลับไปคุยว่าทำไมถึงไม่กลับไปคุยกันล่ะ ยังไงเค้าก็เป็นพ่อแม่เรานะ หรือยังไงเค้าเป็นผู้ปกครองเรา เค้าเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เกิดนะ อะไรอย่างนี้ แต่ในบางปัญหามันเป็นปัญหาที่มันแก้ไขไม่ได้แล้ว การแก้ปัญหามันไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการให้หันกลับไปคุยกันอย่างเดียว บางปัญหามันรุนแรงมากกว่านั้น อย่างที่เราเห็นได้จากรอบด้าน ว่ามีคนที่โดนพ่อแม่ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนมันสุดๆ แล้ว สังคมยังให้กลับไปเผชิญหน้ากับพ่อแม่อีกเหรอ
เราอยากให้สังคมเข้าใจว่า ปัญหาของครอบครัวมันมีความหลากหลาย มันไม่ใช่แค่เราเถียงกับพ่อแม่ แล้วเรากลับไปคุยกัน ไปขอโทษพ่อแม่แล้วจบ บางคนมันไม่ได้จบแค่นั้น เราอยากเสนอว่าสังคมมันมีปัญหาแบบนี้อยู่ ครอบครัวมันมีปัญหาแบบนี้อยู่ แล้วทุกคนก็ควรจะมองเห็นมันว่า มันเป็นเรื่องของปัจเจก มันเป็นปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์ที่ควรได้รับการแก้ไข โดยที่สิทธิ์ของการแก้ไขมันเป็นของคนๆนั้นเองด้วย
แล้วมองว่าสถาบันครอบครัวที่เป็นอุดมคติควรเป็นแบบไหน
อันนี้เราตอบไม่ได้ มันก็ปัจเจกเหมือนกัน อย่างครอบครัวเรา เราต้องการคนที่รับฟังเรา จริงๆมันคือ เราถูกเลี้ยงดูมายังไง เราขาดอะไร สิ่งที่เราอยากได้ก็คืออย่างนั้น เราอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้ฟังเรามาตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้รับการเลี้ยงดูในแบบที่เราต้องการ ถ้าในมุมมองคนอื่นมันอาจจะพอดีแต่สำหรับเราเราไม่โอเค เราไม่พอใจในสิ่งที่เราได้ ครอบครัวที่เราต้องการคือครอบครัว ที่ใส่ใจในปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกบ้านของเรา
สำหรับตัวเราเองความหมายของครอบครัวของเราคือ ‘ที่พักใจ’ หรือว่าคนที่คอยอยู่ข้างๆ ซึ่งในบางคนก็อาจจะไม่ได้ต้องการแบบเรา เราไม่สามารถให้คำนิยามหรืออุดมคติของครอบครัวกับใครได้ และสังคมก็ให้ไม่ได้ด้วย เพราะว่าคนที่บอกว่าครอบครัวคืออะไร คือคนที่อยู่ในครอบครัวนั้นเอง
พูดง่ายๆ คือ สถาบันครอบครัวมีความหลากหลายแตกต่างกันไปและขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ชีวิตและการเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นๆ การแก้ไขปัญหาหรือความต้องการของตัวบุคคลมันก็คือเรื่องของปัจเจกบุคคลว่ามีความต้องการอะไร ขาดอะไรไปบ้าง คอยปรับแก้ปรับจูนกันไป ซึ่งบางครอบครัวอาจจะมีลักษณะนิสัยในตัวบุคคลที่แตกต่างกัน จึงต้องหาวิธีเข้าหากันให้เจอ
คิดว่าสถาบันครอบครัวในปัจจุบันขาดความเข้าใจอะไรบ้าง เป็นเพราะความแตกต่างทาง Generation หรือเปล่า
เราคิดว่าประเทศเราไม่ให้พื้นที่กับความผิดพลาด แล้วก็ไม่ให้พื้นที่กับความเป็นเด็ก เวลาที่เราโตขึ้นมามันก็ต้องเรียนรู้ และในการเรียนรู้แล้วมันไม่พลาดเลยมันก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่พอพลาดแล้วมันกลับไม่มีอะไรมารองรับตรงนี้ อย่างเช่นเรื่องทำแท้ง เรื่องซิ่ว เรื่องสุขภาพจิต สังคมไม่ให้โอกาสตรงนี้เลย มีแต่จะซ้ำเติมคนๆนั้น แล้วทุกอย่างมัน Shape กลับไปว่า แม้แต่สังคมยังให้ไม่ได้ แล้วครอบครัวก็ไม่ให้เหมือนกัน มันก็เลยหนักไปใหญ่
ปัญหาครอบครัวถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงนี้ เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า
เป็นไปได้ค่ะ จริงๆ ปัญหาในครอบครัวที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หลักๆ แล้วมันก็ shape มาจากสังคมเรื่องบริบทภายนอกทั้งนั้น จริงๆ ทั้งสองอย่างมัน Relate กัน ทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องสังคม กฎหมายข้อบังคับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลอะไร มันก็ Shape ให้ครอบครัวดูแลบุตรยังไง สุดท้ายแล้ว บุตรก็คือบุคลากรที่ออกไปเติบโตออกไปสู่สังคมเหมือนกัน
ถ้าสมมติว่า ประเทศมีนโยบาย ที่มองเห็นได้ชัดคือเรื่องรัฐสวัสดิการ มันก็จะถูกกดดันมาที่ตัวของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ส่งความกดดันนี้ไปให้ลูก ลูกก็เกิดความเครียด กลายเป็นว่าทั้งครอบครัวไม่ Happy กับการมีชีวิตอยู่ และก็จะออกไปเป็นบุคลากรที่ดีไปพัฒนาประเทศต่อไปได้ยังไง สังคมเราตอนนี้ไม่ได้ยอมรับว่ามันมีปัญหา การที่พ่อแม่เป็นอย่างนี้ การที่ครอบครัวเป็นอย่างนี้ ทุกครอบครัวมีปัญหาอย่างนี้ มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ปกติ ก็ต้องยอมรับว่ามันมีปัญหาจริงๆ แล้วมันเกิดที่อะไร มันเกิดที่เรื่องค่าใช้จ่ายรึเปล่า มันเกิดเรื่องเวลารึเปล่า
แปลว่ามาตรการหรือนโยบายของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัวด้วย?
เกี่ยวค่ะ จริงๆ แล้ว เราว่ามันเป็นเพราะประเทศของเรา ย้อนไปตั้งแต่ก่อนมีรัฐบาล ก่อนประชาธิปไตยด้วยซ้ำ มันเป็นปัญหาที่มีมายาวนานแล้ว มันเป็นเรื่องของค่านิยม เรื่องของความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยของสังคม ทุกอย่างมี Seniority ถูกบังคับโดยให้ความสำคัญจากบนลงล่าง
ด้วยความเป็นเป็นครอบครัวเอเชีย มันจะมีลำดับชั้นของมัน อย่างเช่นต้องเป็นพ่อก่อน พ่อเป็นแม่ แม่แล้วมาเป็นเรา ครอบครัวเลยไม่มีความเท่าเทียม ถูกครอบงำด้วยปิตาธิปไตยอีก หากมองจริงๆ แล้วครอบครัวเป็นบ่อเกิดของทุกปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
ปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาใหญ่ แล้วประเทศไทยมันติดหล่มกับปัญหานี้มานานแล้ว แต่ประเทศกลับไม่ได้เรียนรู้กับมันเลย ไม่พัฒนาเรื่องนี้สักที เราอยู่บ้านก็อยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่ ไปอยู่โรงเรียนก็เจอโซตัส ออกจากโซตัสมหาลัยไปเจอโซตัสในที่ทำงานอีก ชีวิตมันย่ำอยู่แค่นี้
อย่างเรื่องปัญหาครอบครัว อำนาจในการต่อรอง มันอยู่ที่อำนาจทางการเงินด้วย เพราะถ้าใครมีเงินเยอะ ถ้าใครสามารถขับเคลื่อนครอบครัวได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ อำนาจมันไปอยู่ที่คนคนนั้นหมดเลย แต่ว่ามันไม่ได้เป็นอำนาจที่อยู่ในเรื่องของการปกครอบแบบนั้นอย่างเดียว มันเป็นการปกครองที่ปกครองไปถึงจิตใจด้วย มันเลยทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันมากขึ้น
เราต้องมองดูว่าโลกรอบตัวมันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ยุคพ่อแม่เรายังเขียนจดหมายกันอยู่เลย แต่ยุคเราตอนนี้คือส่ง Text ส่งอะไรกันได้แล้ว มันมีการพัฒนาของเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาด้วย เรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่คนรุ่นเก่ามีการเข้าถึงข้อมูลที่ยากกว่ายุคเรา ยุคเรามันเข้าง่ายกว่า โลกกว้างขึ้น แล้วมุมมองเราก็ไม่เหมือนกับเขาแล้ว แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าเค้าเป็นผู้สูงอายุแล้ว ไม่ได้เชื่อมั่นว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่ารุ่นเค้าก็ถูกให้ Shape มาเป็นแบบนั้น เรื่อง Generation Gap มันก็สำคัญเหมือนกัน
เป้าหมายที่เปิดเพจนี้ขึ้นมาคืออะไร
ตอนนี้กระบวนการของเรา ให้คนตระหนักว่า ครอบครัวมันมีปัญหาแบบนี้อยู่ สังคมของเรายังมีปัญหาแบบนี้ เราอยากผลักดันให้มันเห็นว่าปัญหาครอบครัวมันเป็นเรื่องของปัจเจกมากๆ อยากให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่จุดมุ่งหมายของเราคือถ้ามันมองในเรื่องของระดับใหญ่ๆนะ มันคือเรื่องของกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน”
อย่างคดีต่างๆ หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเราว่าหน่วยงานหรือสังคมควรใส่ใจกับเด็กมากกว่านี้ ถึงแม้จะต้องใช้บุคลากรเยอะ สิ้นเปลืองพลังงานแต่ก็ไม่ควรทอดทิ้งเค้าให้รู้สึกไม่มีใคร ไหนๆ ก็ชอบพูดกันว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ทำไมถึงทำให้เสียงของเขาเบาที่สุด
เราแค่อยากชูประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะว่าเราคิดว่าคนไม่ค่อยเอาเรื่องนี้มาพูดในที่แจ้ง เป็นเพราะบาปกรรมหรือยังไงไม่รู้ เราว่าถ้ากลัวขนาดนั้น เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่ต้องลืมตาอ้าปากกันพอดี ประเทศเราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด จริงๆปัญหานี้มีมาตลอดเลยไม่ได้ใหม่ แต่ก็ไม่ควรถูกมองข้าม ไม่อยากให้มองว่าลูกเป็นหน่วยลงทุนเรื่องความกตัญญู อยากให้สังคมลองคิดดีๆว่า จริงๆแล้วเรามีลูกไว้ทำไมกันแน่