1.
“มันไม่ใช่ว่าเขาดื้อที่จะไป แต่ตอนที่เขาไปสถานการณ์ยังไม่แรงขนาดนี้ และเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่บางคนจะหาโอกาสไปสหรัฐฯ ในราคาที่เขาพอจะจ่ายได้”
“หลายคนยืมเงินพ่อแม่มาจ่ายไว้ก่อน คิดว่าไปทำงานที่นั่นแล้วจะหาเงินมาใช้คืน แล้วได้ยินมาว่าบางบ้านเองก็ฐานะไม่ค่อยดี แต่ยอมจ่ายเงินให้ลูกได้ไปหาประสบการณ์ ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต”
“เราอยากใช้โอกาสนี้ไปเที่ยวให้สุดเหวี่ยงกับเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะแยกย้ายกันไปหางานทำ และตัวเองก็ตั้งใจจะเรียนต่ออยู่แล้ว จึงอยากไปลองดูว่า ถ้าต้องใช้ชีวิตที่นั่นสักช่วงหนึ่ง จะเป็นยังไงบ้าง”
ฯลฯ
‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นประเทศในฝันที่ใครหลายคนอยากไปเหยียบสักครั้งในชีวิต แต่การจะไปประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หนึ่งในตัวช่วยที่อาจทำให้ฝันเป็นจริงได้ ก็คือโครงการ Work and Travel ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปทำงานและท่องเที่ยวในสหรัฐฯ ได้สูงสุดถึงครึ่งปี!
แต่อย่างที่รู้ ในปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤต COVID-19 อย่างรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อเกิน 1 ล้านคน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สิ่งที่เกิดขึ้นก็กระทบต่อโครงการ Work and Travel แบบช่วยไม่ได้ และทำให้ผู้ที่จ่ายเงินก้อนใหญ่สมัครเข้าโครงการนี้ ต้องเผชิญวิบากกรรมนานัปการ
..บางคนยังไม่ชัดเจนว่าจะได้ไปหรือไม่ ตื่นเช้ามาต้องเช็คข่าวทุกวันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร
..บางคนตัดสินใจยกเลิกทริปนี้ด้วยความเสียดาย ก่อนจะมาเผชิญกับความวุ่นวายในการขอคืนเงินแทน
..บางคนบินไปก่อนที่วิกฤตจะบานปลาย ที่สุดก็หางานทำไม่ได้ และต้องไปขออาศัยอยู่ในวัดไทย
2.
ขออธิบายข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า ‘โครงการ Work and Travel’ ในแต่ละปีจะแบ่งช่วงเวลาเดินทางไปเป็น 2 ช่วง คือ Spring (ฤดูใบไม้ผลิ) ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และ Summer (ฤดูร้อน) ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นนักศึกษาระดับ ป.ตรี หรือ ป.โท และต้องขอ VISA เข้าสหรัฐฯ ประเภท J-1 เพื่อให้สามารถทำงานพิเศษที่นั่นได้ (ไม่ใช่ประเภท B-1/B-2 สำหรับการท่องเที่ยว) โดยจะสามารถอยู่เที่ยวต่อได้อีก 30 วัน นับจากสิ้นสุดโครงการ
ตามปกติแล้ว นักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ มักใช้บริการเอเจนซี่ไทยช่วยติดต่อประสานงานเรื่องธุรการต่างๆ ให้ ทั้งเรื่องหาที่พักและหางาน โดยการหางานในสหรัฐฯ จะทำผ่านเอเจนซี่ของที่นั่น ที่เรียกกันว่า US Sponsor
เอเจนซี่ไทยสำหรับโครงการ Work and Travel มีมากมายหลายสิบบริษัท แต่ละบริษัทมีวิธีเก็บค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่มักให้แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ มีค่าสมัคร/ค่าดำเนินการ ค่าโครงการ ค่าตั๋วเครื่องบิน (บางบริษัทบังคับให้ซื้อผ่านบริษัทโดนจ่ายค่ามัดจำ บางบริษัทให้ลูกค้าไปซื้อกันเอง) ค่า VISA ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด มักอยู่ระหว่าง 70,000 – 100,000 บาท
ทั้งนี้ บางบริษัทจะระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างตั้งแต่แรกเลยว่า หากมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่ได้ไป เช่น ลูกค้าขอยกเลิกไม่ไปเอง, US Sponsor ปฏิเสธงานที่ขอไป หรือสัมภาษณ์ VISA เข้าสหรัฐฯ ไม่ผ่าน จะคืนเงินให้กี่เปอร์เซ็นต์ๆ – แต่บางบริษัทก็ไม่ได้ระบุเงื่อนไขการคืนเงินไว้แต่แรก
ในตอนที่สมัคร พนักงานของบริษัทต่างๆ มักพูดจาดี ติดต่อง่าย และพยายามให้โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อพูดใจให้คนจ่ายเงินสมัครเข้าโครงการ
แต่เมื่อโลกกับเผชิญกับวิกฤตใหญ่ที่มากระทบกับโครงการ วิธีการที่บริษัทต่างๆ ใช้รับมือกับปัญหา กลายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าตัวตนของบริษัทนั้นๆ เป็นเช่นไร
ก. ปัดความรับผิดชอบ ติดต่อยาก ไม่เกี่ยวกับฉัน เป็นเรื่องสุดวิสัย
ข. พยายามช่วยเหลือลูกค้าอย่างถีงที่สุด แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้
เราไม่รู้ว่า เอเจนซี่ส่วนใหญ่อยู่ในประเภท ก. หรือ ข. แต่มีบางบริษัทที่ถูกตำหนิ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #Workandtravelthailand ขึ้นมา ใครอยากรู้ว่าเขาบ่นเรื่องอะไรกันบ้าง เข้าไปอ่านในทวิตเตอร์ได้ตามอัธยาศัย
3.
“หนูเข้าใจเอเจนซี่นะ พอมันมี COVID-19 ก็ไม่มีใครอยากไปอยู่แล้ว แต่ทางบริษัทก็บอกว่าจะคืนเงินให้ก้อนหนึ่งเท่านั้น ที่พอมาคำนวณดูทำให้หนูขาดทุนไปเกือบ 30,000 บาท เลยอยากให้ทางเขาชี้แจงว่า เอาเงินไปทำอะไรบ้าง ทำไมคืนให้เรามาแค่นี้”
เป็นคำพูดของนักศึกษาชั้นปี 4 คนหนึ่ง (สมมุติว่าชื่อ ‘เอ’) ที่สมัครเข้าโครงการ Work and Travel USA ปีนี้เป็นปีที่สอง หลังจากครั้งแรกไม่ได้ไป เพราะเอเจนซี่ทำเอกสารยื่นขอ VISA เข้าสหรัฐฯ ไม่ได้ และครั้งนี้ก็ไม่ได้ไปอีกจากวิกฤต COVID-19 ทั้งๆ ที่ได้งานทำที่รัฐฟลอริดาแล้ว
เธอแจกแจงให้เราฟังว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเธออยู่ที่ราว 75,000 บาท เพราะรีบจองตั้งแต่ปลายปีก่อน ทำให้ได้ราคาถูกกว่าคนอื่นๆ อยู่นิดหน่อย โดยค่าใช้จ่ายที่บริษัทแจกแจงมาให้แต่แรก จะมี 3 ก้อน
- ค่าดำเนินการ หรือค่าสมัคร 6,500 บาท
- ค่าโครงการ ประมาณ 58,000 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน)
- ค่าทำ VISA 9,000 บาท
ทว่ากลางเดือนมีนาคม หลังชัดเจนแล้วว่าสหรัฐฯ เผชิญวิกฤต COVID-19 แน่ๆ ทางบริษัทก็ส่งไลน์มาแจ้งกับผู้เข้าโครงการทุกคนว่า มีแค่ 2 ตัวเลือกที่จะทำต่อไปได้ หนึ่ง เก็บสิทธิ์ไว้ไปปีหน้าแทน (เธอตัดตัวเลือกนี้ทันที เพราะนอกจากจะเรียนใกล้จบแล้ว ยังต้องจ่ายเงินเพิ่ม) และสอง ยกเลิกโครงการและบริษัทจะ refund เงินคืนให้ 80% ของที่จ่ายมา แต่เฉพาะก้อนที่ 2. เท่านั้น ไม่รวมก้อนที่ 1. และ 3.
“คำถามก็คือ ทำไมคืนให้แค่ 80% ของก้อนที่ 2. ทั้งที่คุณน่าจะไม่ได้ใช้อะไรเลย เก็บไปแค่ก้อนที่ 1. ก็น่าจะพออยู่แล้ว แต่พอเราพยายามสอบถาม ก็ไม่ยอมให้คำตอบ บ่ายเบี่ยงบอกว่าเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปริ๊นต์เอกสาร บางคนก็ใช้คำพูดไม่ค่อยดี บอกว่าน้องเป็นเด็กจะไปรู้อะไร”
ผลจากความไม่พยายามแจกแจงให้ชัดเจนว่าเหตุใดพวกเธอจึงต้องเสียเงินก้อนใหญ่ให้บริษัท เอกับเพื่อนๆ ในโครงการเดียวกันที่ต้องยกเลิกทริปกว่า 40 คน จึงรวมตัวกันยื่นคำร้อง ขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้ามาช่วยกดดันให้บริษัทชี้แจงว่านำเงินไปทำอะไรบ้าง รวมถึงไกล่เกลี่ยให้คืนเงินเพิ่มมากกว่านี้
ปัจจุบันทาง สคบ.ส่งหนังสือมาว่า ได้เรียกให้เอเจนซี่ดังกล่าว มาเข้าสู่กระบวนการพูดคุยแล้ว
4.
นักศึกษาอีกคนที่เราได้พูดคุย (สมมุติว่าชื่อ ‘บี’) ความจริงในเดือนพฤษภาคมจะต้องไปทำงานในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดพร้อมกับแฟนในรัฐเล็กๆ รัฐหนึ่งของสหรัฐฯ แต่เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้สถานทูตไม่เปิดให้ยื่นขอ VISA สถานการณ์ตอนนี้ทำได้เพียง ตื่นเช้าเช็คข่าวและรอ ตื่นเช้าเช็คข่าวและรอ วนๆ ไปแบบนี้แทบทุกวัน
รอวันที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเปิดทำการ (ปิดชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม) และรอดูว่าวิกฤต COVID-19 จะทำให้ร้านอาหารที่ตอบรับเธอเข้าทำงานแล้ว จะยกเลิกงานของเธอไหม
ภายใต้ความหวังว่าจะยัง ‘ได้ไป’ อยู่
เอเจนซี่ที่เธอใช้เป็นคนละบริษัทกับนักศึกษารายแรก ถึงตอนนี้เธอเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วทั้งหมด 80,000 บาท แบ่งเป็นค่าสมัคร 5,000 บาท ค่าโครงการ 75,000 บาท ยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน และค่า VISA ที่เธอจะออกเอง – ถึงตอนนี้บริษัทยังไม่แจ้งยกเลิกทริป แต่ยื่นข้อเสนอมาว่า ใครไม่ไปปีนี้จะเก็บสิทธิ์ไว้ปีหน้าได้ ซึ่งเธอคงไม่ทำ เพราะตอนนี้ก็เรียน ป.ตรี ปี 4 แล้ว และไม่มีความคิดจะเรียนต่อ ป.โท แต่อย่างใด
อีกข้อแตกต่างสำคัญ ก็คือในหนังสือสัญญาที่เธอเซ็น มีการระบุไว้ล่วงหน้ากรณี ‘ไปไม่ได้’ ว่า จะคืนเงินค่าโครงการให้ 85%
แต่ทั้งๆ ที่ ยังไม่ถูกยกเลิกโครงการ แต่เธอเองกลับเป็นคนพยายามติดต่อให้สื่อต่างๆ หันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆ จากการที่ได้เห็นเพื่อนร่วมโครงการ Work and Travel USA 2020 ระบายความในใจหรือพูดถึงความทุกข์ ผ่านกรุ๊ปบนเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกอยู่ราว 2,000 คน ซึ่งบางส่วนถูกยกเลิกทริปไปแล้ว และต้องมีปัญหาในการทวงคืนเงินจากเอเจนซี่
ไม่รวมถึงบางคนไม่สามารถติดต่อเอเจนซี่ได้เลย ในช่วงเวลาเช่นนี้
“ที่ติดต่อไปยังสื่อต่างๆ เพราะอยากให้ปัญหานี้ถูกตีแผ่ว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เหมือนกัน กำลังถูกเอาเปรียบอยู่นะ และหวังจะเป็นแรงกดดันให้เอเจนซี่ต่างๆ หันมาคุยกับผู้ร่วมโครงการอย่างจริงจัง อธิบายถึงการใช้เงินอย่างละเอียด อย่าคิดว่าพวกเราเป็นแค่เด็กเท่านั้น เพราะบางคนก็เดือดร้อนจริงๆ ทางบ้านเขาไม่ได้มีเงินมาก คิดว่าไปทำงานแล้วจะเก็บเงินกลับมาให้ทางบ้านด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป” บีบอกกับเรา
5.
แต่สองกรณีแรก ถือว่าโชคดีหน่อย ที่ตัวยังอยู่ในเมืองไทยและมีสิทธิ์เรียกเงินคืนจากเอเจนซี่ได้
ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ไปถึงสหรัฐฯ แล้ว ปรากฎว่าไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ สุดท้ายต้องไปขออาศัยอยู่ที่วัด
ที่สำคัญคือเธอหมดสิทธิ์เรียกเงินคืนจากเอเจนซี่ เพราะถือว่า ‘เท้าเหยียบสหรัฐฯ’ แล้ว ไม่รวมถึงว่า ไทยปิดน่านฟ้าไม่ให้เครื่องบินจากต่างประเทศเข้า ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ด้วย
ขอสมมุติชื่อแหล่งข่าวรายที่สามว่า ‘ซี’ ซึ่งเป็นกรณีที่สาหัสที่สุด โดยเดินทางจากไทยไปในวันที่ 12 มีนาคม ในวันเดินทางมีคนจากเอเจนซี่ไปส่งด้วย ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น และเมื่อไปถึงสหรัฐฯ ก็เจอปัญหาจริงๆ ทำงานได้ไม่กี่วันก็ถูกเลิกจ้าง ต้องย้ายที่อยู่ ย้ายรัฐ ทั้งเอเจนซี่และ US Sponsor ก็ช่วยเหลือไม่ได้ ก่อนตัดสินใจประกาศขอที่อยู่จากคนไทยในสหรัฐฯ ในกลุ่มเฟซบุ๊กของคนไทยซึ่งอยู่ที่นั่น และได้พระจากวัดไทยแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซี่ มารับให้เธอและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 2 คน เข้าไปอยู่อาศัย
หลังจากซีเล่าสิ่งที่เจอผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ก็มีคนมาเข้าแสดงความเห็นมากมาย บางส่วนตำหนิว่ารู้ว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้วทำไมยังไปอยู่อีก บางส่วนก็แชร์ประสบการณ์การใช้บริการเอเจนซี่เจ้าเดียวกันมา Work and Travel เมื่อหลายปีก่อน แต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาแสดงความเป็นห่วงเป็นใยพร้อมให้กำลังใจให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
นี่คือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนช่วงเวลาที่จะได้ทำตามความฝัน กลับต้องมาเจอกับวิบากรรมอันไม่คาดคิด
เราหวังว่าสกู๊ปข่าวชิ้นนี้จะกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องลงมาช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหา ทั้งกรณีขอคืนเงินตามที่เห็นว่าสมควรจากเอเจนซี่ หรือกรณีถูกปล่อยให้ต้องหาวิธีเอาตัวรอดเองในต่างแดน รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่อาจตามมาอีกในอนาคต กับผู้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel USA 2020 ที่ตอนนี้หลายคนฝันสลายไปเรียบร้อยแล้ว