ในช่วงโรคระบาดใหญ่ เราทุกคนรู้ดีว่ามันเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราไปมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนไปถึงชีวิตการทำงาน ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากเดิม ไม่ว่าจะการทำงานแบบ Hybird, Remote, Flexible คำเหล่านี้ล้วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการทำงานแบบใหม่ จนกลายเป็นสิ่งคุ้นเคยที่เราได้ยินกันมาตลอดในช่วงปีที่ผ่านมา
โลกของการทำงานที่ยังคงต้องปรับตัวให้เข้าสังคมและการใช้ชีวิต ก็ยังคงต้องหมุนเวียนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง เพื่อให้การทำงานที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องปากท้อง ยังคงดำเนินต่อไปได้แบบไม่สร้างความลำบากเพิ่มขึ้น ให้ผู้คนยังคงโฟกัสที่การทำงานเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับช่วงก่อน pandemic
การลองผิดลองถูกในปีก่อน จึงตกตะกอนมาเป็นเทรนด์ของปีนี้ จากคำบอกเล่าของเหล่าผู้บริหารจากรอบโลก ที่ยังคงเชื่อว่า COVID-19 จะยังคงส่งผลกับรูปแบบของการทำงานต่อไปและยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด มาอัปเดตเทรนด์การทำงานสำหรับปี 2022 ปีนี้เราต้องเจอกับอะไร เทรนด์ไหนกำลังมาแรง ออฟฟิศและรูปแบบการทำงาน จะเปลี่ยนไปหรือคงอยู่ในด้านไหนบ้าง มาสำรวจเทรนด์เหล่านี้ไปพร้อมกัน
การทำงานแบบ Hybrid จะกลายเป็นนโยบายพื้นฐาน
ก่อนหน้าที่โลกการทำงานต้องขยับย้ายตัวเองจากออฟฟิศมาสู่บ้าน อาศัยการทำงานแบบ remote คอบขับเคลื่อนให้การทำงานเป็นไปได้ในทุกที่ นโยบายการทำงานจากแห่งหนใดก็ได้ (ขอแค่คงประสิทธิภาพในการทำงานไว้) ก็ไม่ใช่ของใหม่สักเท่าไหร่นัก บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งอย่าง Google, Facebook, Airbnb ก็เคยมีการทำงานที่แสนยืดหยุ่นนี้ไว้สำหรับพนักงานบางส่วน
เราเลยรู้สึกว่า การทำงานที่เลือกวันเข้าออฟฟิศได้ หรือไม่จำเป็นต้องเข้าเลยนั้น ถือเป็นเรื่องพิเศษ จะมีความสุขแค่ไหนกันนะ ถ้าหลังจอคอมพิวเตอร์ เป็นวิวทะเลแสนสวย หรือจะประหยัดเวลาไปกี่ชั่วโมงกัน หากไม่ต้องฝ่าการจราจรอันหนาแน่นในช่วงเข้างานและเลิกงาน ตื่นมาก็เปิดคอมพิวเตอร์ทำงานจากที่บ้านได้เลย นโยบายนี้จึงเป็นเหมือนของขวัญชิ้นพิเศษ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเหยื่อล่อ candidate ในการสัมภาษณ์งาน หรือมีไว้สำหรับพนักงานที่ทำงานได้เข้าตาจนบริษัทเชื่อว่า เขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้
แต่แล้ว pandemic ก็บังคับให้นโยบายนี้กลายมาเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกแห่งต้องใช้ ทั้งการทำงานที่บ้านในช่วงที่การแพร่ระบาดยังคงเข้มข้น ไปจนถึงการทำงานแบบไฮบริด ในช่วงที่สถานการณ์คลี่คลาย กลายเป็นว่านโยบายนี้ไม่ใช่ไม้เด็ดดึงดูดคนเข้าทำงาน ของรางวัลพิเศษที่พิจารณาให้รายคนอีกต่อไปแล้ว
โดยเฉพาะในปีค.ศ. 2022 การทำงานแบบไฮบริด จะกลายมาเป็นนโยบายพื้นฐานเหมือนกับสวัสดิการอื่นๆ ที่ต้องเริ่มต้นดีลกันตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์งาน ว่าที่นี่ให้เราไฮบริด ในรูปแบบใด มีความยืดหยุ่นแค่ไหน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บริษัทต้องเสนอให้ และฝ่าย candidate ก็ยึดเอามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วยเช่นกัน
โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เริ่มต้นใช้รูปแบบไฮบริด แบบเต็มรูปแบบกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Apple, Adobe, Citigroup และอื่นๆ อีกมาก รวมถึงการทำงานแบบ remote เต็มอัตรา ของ Twitter, Dropbox และ Amazon ก็เริ่มต้นขึ้นแล้วเช่นกัน
ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและเท่าเทียม
ผลสำรวจจาก Glassdoor พบว่า กว่า 72% ของผู้หางานใน UK นำความหลากหลายและความเท่าเทียมมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาในการทำงาน หลังจากกระแส Black Lives Matter ในปี 2020 ก็ปลุกให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายและความเท่าเทียมอื่นๆ ตามมาด้วย รวมถึงในพื้นที่การทำงานที่เราใช้ชีวิตกว่าครึ่งของสัปดาห์ไปกับมันด้วยเช่นกัน
Chief Executive Officer จาก Glassdoor ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังหางานหรือพนักงานบริษัทเอง ทุกวันนี้ พวกเขาต่างให้ความสำคัญและสนใจในความเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมา พวกเขาไม่สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับบริษัทได้” สิ่งที่ตัวองค์กรทำได้ คือการเพิ่มความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำงาน โดยที่ Glassdoor เอง มีการประเมินความพึงพอใจของพนักงานต่อนโยบายความหลากหลายทุกๆ 6 เดือน
สิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้จากเรื่องเล็กๆ อย่างการเข้าใจในเงื่อนไขที่ต่างกันในการทำงานของพนักงานแต่ละคน โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน ไปจนถึงเรื่องพื้นฐานอย่างการได้รับทรัพยากรที่เท่ากัน ได้รับโอกาสในการการทำงานที่เท่ากัน
คนที่มีสกิลจะเป็นที่จับตาและโดดเด่นมากขึ้น
การทำงานแบบไม่เจอหน้ากันในออฟฟิศทุกวันอย่างเคย กลายมาเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่ใครๆ ก็ยึดเอาเป็นรูปแบบหลักนั้น ทำให้วิธีการทำงานต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ตอนอยู่ออฟฟิศ หัวหน้าสามารถมองเห็นได้ว่าใครมาสาย ใครอู้งาน ใครขยันไฟลุก รวมถึงพฤติกรรมในการทำงานอื่นๆ ที่สามารถมองเห็นกันได้ด้วยตา แต่พอต้องย้ายมาทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่แล้ว หัวหน้าเองก็ไม่อาจเดาสุ่มเอาจากอคติได้ ว่าใครกำลังทำอะไร จึงต้องยึดเอาผลงานและสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นหลัก
แต่การจะมีผลงานอันโดดเด่นในสภาวะที่ต่างออกไปนี้ ก็ถือเป็นอีกด่านที่ยากสำหรับตัวพนักงานเองเช่นกัน การเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานแบบ Hybrid เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของพนักงาน มีการคาดการจาก PricewaterhouseCoopers ว่า จะมีการ reskill ครั้งใหญ่ กว่า 40% ของคนทำงานในปี 2025 เพื่อรองรับการรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป
ไม่ว่าจะ hard skill อย่างทักษะด้านเทคโนโลยี หรือ soft skill อย่างทักษะด้านการสื่อสารด้วยดิจิทัล ความฉลาดทางอารมณ์ ไปจนถึงการบริหารทีม ล้วนจำเป็นในโลกการทำงานในอนาคต ทักษะเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการและพนักงานก็ต้องปรับตัว คอยเพิ่มพูนทักษะเหล่านี้ให้กับตัวเอง บริษัทจึงมักหันมาโฟกัสที่สกิลต่างๆ ในการทำงาน หากทำงานตามหน้าที่อย่างเคยในทุกวัน แต่ไม่ได้ปรับตัวเพื่อรองรับสกิลใหม่ๆ อาจทำให้เราตามไม่ทันโลกของการทำงาน
หน้าที่ของเรานั้นอาจช่วยกำหนดขอบเขตของการทำงาน แต่ทักษะของเราจะช่วยแสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถ มีประสิทธิภาพในการทำงานแค่ไหน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม
สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ
ในช่วงของการทำงานที่บ้านในช่วงแรก หลายคนประสบกับปัญหาของการปรับตัว บางคนไม่สามารถปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่นี้ได้ บางคนถึงกับเผชิญภาวะ Burnout ความเครียด ความกังวล จนปัญหาเรื่องสุขภาพใจของพนักงาน กลายมาเป็นสิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ
แม้ว่าเวลาผ่านไป สถานการณ์ต่างๆ จะดูเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น แต่ความตระหนักถึงเรื่องสุขภาพของพนักงานจะไม่ยิ่งหย่อนลง กลับต้องเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยในปีนี้ เพราะโรคระบาดจะยังไม่หายไปแบบ 100% การเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศหรือทำงานที่บ้าน สุขอนามัย ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน จะกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของสถานที่ รวมทั้งสุขภาพส่วนตัวของพนักงานอีกด้วย
รับฟังความต้องการของพนักงานให้มากขึ้น
ความคิดเห็นและความต้องการของพนักงาน จะถูกนำมาพิจารณามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสวัสดิการ อย่างวันลาสำหรับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดได้ง่ายขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพใจ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ออฟฟิศ อย่างการจัดพื้นที่ส่วนการ นโยบายการทำความสะอาด ก็ต้องสะท้อนจากเสียงของผู้ใช้งานจริงเองด้วย
รวมถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน ที่ไม่ใช่ว่าทำงานที่บ้านก็ถือว่ายืดหยุ่น แต่กลับถูกจับตามองมากกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศ จนเกิดความเครียด ความกังวล และไม่ส่งผลดีกับการทำงานเสียเท่าไหร่ จนรู้สึกว่าหากกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศอาจจะรู้สึกดีกว่า
ผลสำรวจจาก global EY พบว่า 54% ของพนักงาน อาจพิจารณาไม่ไปต่อกับงานที่ไม่ยื่นข้อเสนอให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งสถานที่หรือเวลาการทำงานก็ตาม
ความยืดหยุ่นตามความต้องการของพนักงาน จึงมาเป็นอีกเสียงสะท้อนของพนักงานที่องค์กรอาจจะต้องรับฟังมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะกับความต้องการของผู้ทำงานจริง
อ้างอิงข้อมูลจาก