ล็อกดาวน์ข้ามปี ผู้ประท้วงบุกรัฐสภาสหรัฐฯ วัคซีนเริ่มแจกจ่ายในหลายประเทศ ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา
เปิดปี 2021 มาก็มีประเด็น และเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นข้ามปี ส่งไม้ต่อมายังปีใหม่ ให้ปีนี้ดูจะเข้มข้นไม่น้อยหน้า 2020 ทั้งการเลือกตั้งผู้นำใหม่ที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ปัญหาโรคระบาด COVID-19 ที่หลายคนหวังให้จบในปีนี้ วัคซีนที่กลายมาเป็นความหวัง และการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไปถึงการบาดหมาง หรือสานสัมพันธ์ของเหล่าผู้นำโลกให้เราจับตาดู
ในปีนี้ แต่ละภูมิภาคมีอะไรที่ต้องน่าจับตาบ้าง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นที่ไหน จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง The MATTER ขออาสาพาไปดูแต่ละที่ว่ามีการเมืองอะไรที่เราควรต้องจับตา รวมถึงปีนี้ อาเซียน และไทย จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ?
เอเชีย
การคัมแบ็คของจีน ในปีที่ครบรอบ 1 ศตวรรษ พรรคคอมมิวนิสต์จีน
หลังจากเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก จีนเริ่มต้นปีด้วยการฟื้นตัวทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยปีนี้ คาดว่าจะเป็นปีที่จีนเล่นใหญ่ในหลายๆ เรื่อง เพราะถือเป็นปีสำคัญ กับการครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีละครโอเปร่า ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์เกือบ 100 เรื่อง และงานใหญ่ที่จะจัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองนี้ และปีนี้ถือเป็นปีสำคัญที่จีน จะประกาศชัยชนะ ‘ยุติความยากจนขั้นรุนแรงและการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับกลาง’
ปีนี้ จีนยังจะมีการประกาศใช้แผนห้าปีฉบับที่ 14 จะประกาศใช้ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ที่จะกำหนดวาระในการบรรลุความทะเยอทะยานของจีนที่จะเป็นอิสระทางเศรษฐกิจมากขึ้น ปรับปรุงอุตสาหกรรมให้ทันสมัย และพัฒนากลยุทธ์ด้านนวัตกรรม รวมถึงจะหันมาสนใจประเด็นสภาพอากาศ และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ถึงอย่างนั้น จีนก็จะถูกตั้งคำถามกับประเด็นสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติต่อไป ทั้งเรื่องซินเจียงอุยกูร์ ทิเบต ฮ่องกง และอื่นๆ ด้วย
ฮ่องกง ภายใต้กฎหมายความมั่นคง
เรียกได้ว่า ถ้า COVID-19 เป็นหนึ่งปัญหาที่จีนรีบจัดการเพื่อปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของพรรคแล้ว ประเด็นฮ่องกง ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกมองว่า จีนตั้งใจปราบปราม และใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่อจัดการผู้เห็นต่างก่อนพิธีนี้เช่นกัน โดยปี 2021 นี้ ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง ก็ยังจะเผชิญหน้ากับการถูกคุกคาม ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ เห็นได้จากการเริ่มต้นปี ด้วยการกวาดจับนักเคลื่อนไหว และนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (กันยายน) ที่ถูกเลื่อนมาจากปีก่อน ก็มีฝ่ายค้าน และฝ่ายประชาธิปไตยหลายราย ที่ถูกตัดสิทธิ์จากการลงเลือกตั้ง ทำให้คาดว่าปีนี้ จะมีจำนวนชาวฮ่องกง ที่อพยพลี้ภัยออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
การเลือกผู้นำ และความหวังในการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่น
หลังจากที่ชินโซะ อาเบะ ลาออกอย่างไม่คาดคิดในปี 2020 ทำให้ญี่ปุ่นได้ โยชิฮิเดะ ซูงะ เป็นผู้นำคนใหม่แทน ในปีที่จะถึงนี้ ญี่ปุ่นก็จะมีการตัดสินเลือกผู้นำใหม่อีกครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าเลือกตั้งทั่วไปจะถูกกำหนดให้มีขึ้นช่วงตุลาคม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรคร่วมอย่าง LDP และ Komeito จะชิงยุบสภาให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ก่อน ในช่วงเดือนเมษายน ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก หรือจะรอให้มีการเลือกตั้งผู้นำพรรค LDP (กันยายน) ก่อน จึงจะมีเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งไม่ว่าจะทางไหน นักวิเคราะห์ก็มองว่าต่างก็มีความท้าทายทั้งคู่
ขณะที่ โอลิมปิก 2021 ซึ่งเป็นความหวังของญี่ปุ่น หลังถูกเลื่อนมา 1 ปีนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ หรือการเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติในเทศกาลนี้ ก็อาจเป็นความเสี่ยงในการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ ไปถึงแนวโน้มของประเทศต่างๆ ที่อาจถอนตัว เพราะไม่อยากเสี่ยงกับโรคระบาด ต่างก็เป็นงานใหญ่ของรัฐบาลญี่ปุ่นในปีนี้
อินเดียและความขัดแย้งภายใน
อีกหนึ่งประเทศใหญ่ ที่เจอวิกฤต COVID-19 อย่างหนัก และหวังฟื้นฟูตัวในปีนี้ ก็คืออินเดีย ซึ่งนอกจากโรคระบาดแล้ว อินเดียยังเจอกับการประท้วงของชาวนา ที่เกษตรกรซึ่งหลายแสนคน ตั้งแคมป์รอบนิวเดลีโดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเกษตรฉบับใหม่ ซึ่งมีการชุมนุมข้ามมายังปีนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาต่างก็ล้มเหลว โดยคาดว่า เกษตรกรจะไม่ยุติการชุมนุม หากไม่ได้ผลเจรจากับรัฐบาล ที่พวกเขาพอใจด้วย
แต่แม้จะเผชิญกับการประท้วงจากเกษตรกร แต่คะแนนความนิยมของ นเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดียก็ยังสูงกว่า 70% ซึ่งทำให้พรรค BJP ของเขา ดำเนินการกระแสชาตินิยมฮินดูในอินเดียให้เพิ่มขึ้นได้ ทำให้ความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวมุสลิม มีเพิ่มขึ้นในบางรัฐ และอาจเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้
อเมริกา
ผู้นำใหม่ กับความท้าทายในประเทศ
ยังไม่ทันครบสัปดาห์แรกของปี 2021 เราก็พบกับข่าวการจลาจล บุกรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ต้นปีที่อลังการสำหรับการเมืองสหรัฐฯ และท้าทายค่านิยมประชาธิปไตย และธรรมเนียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจประธานาธิบดีอย่างสันติ ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทดสอบ โจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ ว่า จะสามารถฟื้นฟูจิตวิญญาณของอเมริกา ตามแคมเปญหาเสียงของเขาได้หรือไม่
รวมไปถึงปัญหาภายในที่รุมเร้า ทั้งจาก COVID-19 ที่สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของโลก ปัญหาเศรษฐกิจ คนว่างงานที่เพิ่มขึ้น ไปถึงปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ สีผิว ที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ซึ่งล้วนแต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไบเดนต้องพิสูจน์ฝีมือในช่วงปีแรกของตำแหน่ง
สหรัฐฯ และจีน ความสัมพันธ์แสนตึงเครียดที่ถูกยกเป็นความเสี่ยงระดับโลก
แม้ว่าจะเป็นผู้นำใหม่ แต่ก็คาดว่าความสัมพันธ์หมางเก่าของสหรัฐฯ กับจีน ก็ยังไม่อาจดีขึ้น โดยความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถูกยกเป็น 1 ใน Top 10 ความเสี่ยงในปี 2021 โดย Eurasia Group ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งคาดว่า ความอึมครึมนี้ จะขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจสร้างการแข่งขันในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น พลังงานสีเขียว
โดยมีการคาดว่า ไบเดน ที่มีแนวโน้มว่าจะใช้นโยบายการหาพันธมิตร และแนวร่วมพหุพาคี สู้กับจีน จะทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีน และพันธมิตรของสหรัฐฯ แย่ลง และนำไปสู่การต่อสู้ทางการทูต แต่ถึงอย่างนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็อาจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้ จากการร่วมมือกันในบางประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือด้านภาษี ที่ไบเดนอาจผ่อนปรนกว่าทรัมป์ แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องการแข่งขันทางเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะยังคงเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ จริงจังกับจีนด้วย
แคนาดา กับการเปิดกว้างรับผู้ย้ายถิ่นฐานในหลักล้าน
แคนาดา ได้กลายเป็นประเทศที่เปิดกว้าง พร้อมรับผู้ย้ายถิ่นฐานมากขึ้น โดยประเทศนี้มองว่าการต้องการขยายขนาดเศรษฐกิจ ท่ามกลางจำนวนประชากรเพียง 37.4 ล้านคนในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เรื่องที่ท้าทายมาก ทั้งแคนาดายังมีอัตราผู้สูงอายุ 18% ที่อายุมากกว่า 65 ปี ขณะที่มีอัตราการเกิดต่ำ จึงทำให้ประเทศได้ตั้งหมุดหมาย จะรับผู้อพยพกว่า 1.2 ล้านคน ในช่วงสามปีข้างหน้า (2021-2023) โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 4 แสนคน
ยุโรป
ความเป็นหนึ่งเดียวของ EU และท่าทีระหว่างมหาอำนาจ
2021 เรียกได้ว่าเป็นอีกปี ที่ความท้าทายทั้งใหม่ และเก่า รอคอย EU อยู่ จากทั้งวิกฤตหนี้สาธารณะ ผู้อพยพ ไปถึง COVID-19 ทำให้ความท้าทาย รวมไปถึง ความเป็นหนึ่งเดียวของ EU ที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะจากการคัดค้านของฮังการี และโปแลนด์ ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของของสภายุโรป ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเคารพหลักนิติธรรมทั้งเคารพประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นจะอาจถูกระงับเงินช่วยเหลือ ทำให้กว่า 6 เดือน ในปี 2020 EU คั่งค้าง และไม่สามารถ เจรจาเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ COVID-19 ได้
แม้ว่าปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศจะผ่านงบประมาณช่วยเหลือแล้ว แต่ประเด็นเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของ EU กลับถูกพูดถึง และถูกมองจากนักการเมืองขวาจัดบางส่วนว่า กลุ่มแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปมีโอกาสเติบโตมากขึ้น แม้ว่าการเจรจา Brexit จะบรรลุ และ ไบเดน ที่สนับสนุนการรวมกลุ่มของ EU มากกว่าทรัมป์ จะมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ
ทั้งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังมีแนวโน้มให้ EU ต้องระวังท่าทีอย่างละเอียดอ่อน ทั้งในด้านหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์ส่วนตน รวมถึงไม่วางตัวเป็นเบี้ยระหว่าง 2 มหาอำนาจ
เมื่อผู้นำที่ทรงพลังลงจากตำแหน่ง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตา และสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งใน EU และเยอรมนี คือการลงจากตำแหน่งของ อังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี ที่ครองตำแหน่งผู้นำมายาวนานถึง 15 ปี และมีอิทธิพลอย่างมากในยุโรป ซึ่งต้องจับตาดู การเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการเลือกตั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ที่อาจมีแนวโน้มจะมีการเจรจาร่วมกันต่ออีกหลายเดือน รวมถึงท่าทีของ EU หลังผู้นำคนสำคัญถูกเปลี่ยนแปลง
นอกจากเยอรมนีแล้ว อีกหนึ่งการเลือกตั้งที่น่าสนใจ คือ เนเธอร์แลนด์ (มีนาคม) ที่เข้ามามีบทบาทใน EU มากขึ้นหลังการจากไปของ Brexit โดยมี กีรต์ ไวลเดอร์ส หัวหน้าพรรค Party for Freedom ที่จะลงเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่ามีแนวโน้มว่าเขาอาจจะไม่ได้ชัยชนะ แต่ก็อาจปลุกกระแสขวาจัดในประเทศขึ้นมาได้ และอาจสร้างผลกระทบต่อ EU ในอนาคต
ขณะที่ รัสเซีย แม้จะไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้นำ แต่ก็มีการเลือกตั้งรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ (กันยายน) ท่ามกลางการครบรอบ 30 ปี การล่มสลายของโซเวียต ซึ่งจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ไปถึงการถูกวางยาพิษของอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย ในปีที่ผ่านมา และการผ่านกฎหมายใหม่ ที่จะควบคุมสื่อ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ ทำให้มีการคาดว่า ปี 2021 จะเป็นปีที่สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออกในรัสเซีย จะถูกคุกคามอย่างหนักอีกครั้ง ไปพร้อมๆ กับการจัดการผู้เห็นต่างด้วย
อเมริกาใต้
วิกฤตเศรษฐกิจ และความหวังจะฟื้นตัว
ถึงจะข้ามปีมา แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็จะยังคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลงประมาณ 8% ซึ่งจะทำให้ลาตินอเมริกาจะมี คนยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านคน และทำให้ภูมิภาคนี้ มีคนที่อยู่ในสถานะยากจนถึง 1 ใน 3 ของประชากร ที่แม้ว่าจะมีความหวังฟื้นเศรษฐกิจ นำโดยบราซิล ประเทศที่มีขนาดเศรษญกิจให้ที่สุดในอเมริกาใต้ แต่คาดว่าบางประเทศเอง ก็อาจจะฟื้นตัวได้ยาก และอาจต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจาก IMF ด้วย
ปัญหาการเมืองภายใน และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
บราซิล ได้กลายเป็นประเทศอันดับ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ซึ่งปีนี้ ปธน.ชาอีร์ โบลโซนาโร ก็ต้องเร่งจัดการกับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ เขายังถือว่ามีคะแนนนิยมสูงอยู่ที่ 37% จากการจ่ายเงินช่วยเหลือฉุกเฉินในสถานการณ์ COVID-19 แต่เดือนมกราคมนี้ จะมีการหยุดจ่ายเงินนี้ลง ทำให้เขาต้องเร่งหาทางจัดการวิกฤตนี้ ท่ามกลางปีที่จะไร้พันธมิตรอย่างโดนัลด์ ทรัมป์
ขณะที่ เวเนซุเอลา ซึ่งเป็นหนึ่งประเทศที่มีปัญหาทั้งการเมือง และเศรษฐกิจยืดเยื้อ ท่ามกลางการรับรองประธานาธิบดี 2 คน แต่นิโคลัส มาดูโร ก็ยังคงกุมอำนาจได้มากกว่า ฮวน กุยโด ประธานาธิบดีชั่วคราว ที่ EU เพิ่งยกเลิกการรับรองฐานะของเขาไปด้วย ทั้งการจากไปของทรัมป์ ยังทำให้เวเนฯ ภายใต้มาดูโรโล่งใจขึ้นได้ และคาดว่า ไบเดน จะเน้นการใช้พันธมิตร รวมถึงเจรจา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย มากกว่าการกดดันอย่างหนักแบบทรัมป์ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเวเนฯ ก็จะยังคงเผชิญกับปัญหาทั้งหนี้ เศรษฐกิจ และผู้ลี้ภัยที่พยายามอพยพออกนอกประเทศ
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคที่น่าสนใจ จะมีขึ้นใน เอกวาดอร์ (กุมภาพันธ์) เปรู (เมษายน) และชิลี (พฤศจิกายน) โดยคาดว่าฝั่งประชานิยมจะเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่ในนิคารากัว (พฤศจิกา) ถูกมองว่า เป็นการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของผู้นำเผด็จการ ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาต่างๆ ทั้งจากการเลือกตั้ง เศรษฐกิจ และการเมืองก็ทำให้มีการประท้วงในหลายประเทศ เกิดขึ้นในปีนี้ตามมาแน่นอน
ตะวันออกกลาง
ความขัดแย้ง ความสัมพันธ์หลายเส้า และปัญหาที่ยังไม่สิ้นสุด
เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กับความขัดแย้งของตะวันออกกลาง แต่ปี 2021 อาจจะเห็นการกำหนดนิยามความสัมพันธ์ของประเทศต่างๆ นี้ใหม่ จาก
- การเซ็นสัญญาสันติภาพของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน กับ อิสราเอล ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กลับสู่ในระดับปกติ และคาดว่าปีนี้ จะทำให้ประเทศต่างๆ หันมาสนใจ และร่วมมือกับอิสราเอล แทนปาเลสไตน์มากขึ้น
- ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรอาหรับ ทำสนธิสัญญา ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต และยุติการคว่ำบาตรการ์ตา หลังขัดแย้งกันในรอบนี้ ถึง 3 ปี
โดยการฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้ ล้วนมีสหรัฐฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ ก็จะยังคงมีอยู่ ทั้งรัฐอาหรับ ที่ก็ยังอาจขัดแย้งกับการ์ตาได้อีก จากประวัติศาสตร์ปัญหาที่มีระหว่างกันมายาวนาน รวมถึงความขัดแย้งอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สงครามในเยเมน ที่ยิ่งยืดเยื้อ และทำให้ประชาชนยากจน และอดอยากมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาในซีเรีย ที่ยังมีมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง และความขัดแย้งใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ระยะหลังมีความบาดหมางกันมากขึ้นด้วย
ทั้งบทบาทของสหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำใหม่ อย่างโจ ไบเดน ก็เป็นที่น่าจับตานโยบาย และท่าทีของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งการลาจากตำแหน่งของทรัมป์ ก็ทำให้นโยบายกับอิสราเอลเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
การเลือกตั้งที่น่าสนใจ
ตัวละครในตะวันออกกลาง ที่มีอิทธิพล และความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลาง อย่าง อิสราเอล (มีนาคม) และอิหร่าน (มิถุนายน) กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในปีนี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าทั้งคู่จะเลือกผู้นำที่แข็งกร้าวมากขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าต่อไป
โดยสำหรับอิสราเอลนั้น เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ คนปัจจุบันก็จะยังคงท้าชิงตำแหน่งเดิม แม้กำลังเผชิญกับคดี และข้อกล่าวหาเรื่องสินบน และฉ้อโกง แต่เขาก็หวังว่า การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ จะกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ยังทำให้อยู่ในอำนาจได้
แอฟริกา
วิกฤตหลัง COVID-19
COVID-19 ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงที่เศรษฐกิจให้กับประเทศในแถบแอฟริกาต่อเนื่องมาในปี 2021 โดยรายงานของธนาคารโลกชี้ว่า รายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง ได้กำหนดมาตรฐานการครองชีพเฉลี่ยของประชากรย้อนกลับไป 1 ทศวรรษ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอย่าง แอฟริกาใต้ และไนจีเรีย ก็มีรายได้ต่อหัวของประชากรลดลง และทำให้ประชากรหลายสิบล้าน ต้องตกอยู่ในสภาวะยากจนอย่างรุนแรง
ทั้งหลายประเทศ หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศแอฟริกาในแถบทะเลทรายซาฮาราก็มีความเสี่ยงเรื่องปัญหาหนี้สินต่างประเทศ ซึ่งช่วงปลายปีที่ผ่านมา แซมเบียก็ได้กลายเป็นประเทศแรกที่ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ ที่คาดว่าหากในปีนี้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่ร่ำรวย (กลุ่ม G20) มากขึ้น อาจมีหลายประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเรื่องหนี้มากขึ้นด้วย
อิทธิพลของจีนที่ยังอยู่ แม้ลดความช่วยเหลือบางด้าน แต่เพิ่มบ้างด้านแทน
เป็นเวลาหลายปีที่จีนเข้ามาสร้างอิทธิพลในแอฟริกา ซึ่งคาดว่าปีนี้ ในด้านการเงิน จีนจะให้ความช่วยเหลือแอฟริกาน้อยลง เช่นการปล่อยสินเชื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จะลดลง รวมถึงความต้องการทรัพยากรจากแอฟริกาที่อาจจะไม่มากขึ้น แต่จีนก็จะเข้ามาช่วยเหลือทางด้านวัคซีน COVID-19 และรุกหนักขึ้นในเรื่องของ Belt and Road กับพื้นที่การค้าเสรีใหม่ๆ ในแอฟริกาและเอเชีย
การเลือกตั้ง พลังการประท้วง และคนรุ่นใหม่
ประเทศที่มีการเลือกตั้งน่าจับตาในแอฟริกาในปีนี้ ได้แก่ แซมเบียม (สิงหาคม) , เอธิโอเปีย (สิงหาคม) , ลิเบีย (ธันวาคม) , ยูกันดา (มกราคม) และแกมเบีย (ธันวาคม) โดยบางประเทศก็คาดว่าจะได้ผู้นำคนเดิม แต่ที่น่าสนใจคือการต่อสู้ในยูกันดา ซึ่งเป็นการต่อสู้ของคนรุ่นเก่า อย่าง ปธน.โยเวริ มุสเซเวนิ ที่อยู่ในตำแหน่งมา 35 ปี กับ บ๊อบบี้ ไวน์ อดีตนักร้องเรกเก้ วัย 38 ปี ที่ถึงแม้จะถูกมองว่า ยังไงมุสเซเวนิก็จะชนะ ด้วยนโยบายการปราบคนเห็นต่าง แต่ก็สะท้อนเสียง และกระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคมากขึ้น
เช่นเดียวกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อย่างไนจีเรีย แซมเบีย ซิมบับเว ที่แม้ในหลายแห่ง รัฐบาลจะใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็แสดงถึงกระแสคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจมีภาพการประท้วงที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ให้เห็นด้วย
อาเซียน และไทย
COVID-19 และการรอคอยวัคซีน
แม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นภูมิภาคที่จัดการการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ และไม่ระบาดรุนแรงเท่าภูมิภาคอื่นๆ แต่หลายประเทศ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้บริหาร และการปกครอง ไม่ว่าจะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไปถึงไทยเอง ที่มีปัญหากับการออกมาตรการ และคำสั่งที่ไม่ตรงกันของผู้มีอำนาจ ซึ่งช่วงต้นปีนี้ หลายประเทศต่างก็ยังต้องรับมือกับการระบาดระลอกใหม่อยู่
โดยสำหรับความหวังอย่างวัคซีน ทุกประเทศเองก็ได้มีการทำข้อตกลงกับบริษัทต่างๆ ซึ่งมีทั้งการรอรับวัคซีนจากโปรแกรม COVAC, การดีลกับบริษัทจีน หรือรัสเซีย และการวิจัยจะผลิตวัคซีนเอง ในสิงคโปร์ หรือไทย ซึ่งคาดว่าทุกประเทศต่างก็ต้องรอช่วงต้น หรือกลางปี กว่าจะได้รับวัคซีน แต่มีสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนถ้วนหน้าก่อนประเทศอื่นๆ โดยสิงคโปร์กลายเป็นชาติแรกที่ได้รับวัคซีนก่อนใครในเอเชีย และเริ่มฉีดให้กับประชาชนแล้ว โดยในวันนี้เอง (8 มกรา 2021) ลี เซียนลุง นายกฯ ก็ได้เข้ารับวัคซีนเข็มแรก ของ Pfizer และ Biotech แล้วด้วย
เศรษฐกิจ – บางประเทศเตรียมกับมาเติบโต แต่บางประเทศก็ต้องรอเวลาฟื้นฟู
COVID-19 ที่กลายเป็นวิกฤตตลอดปี 2020 ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน ไม่มากก็น้อย แต่ถึงอย่างนั้น ความหวังจะฟื้นตัวในปี 2021 ก็เป็นโอกาสได้สำหรับแค่บางประเทศเท่านั้น โดย IMF ได้ประเมินว่า ประเทศที่จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ในอาเซียน มีเพียงเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่า ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น เวียดนาม ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า จะมี GDP ที่โตขึ้นในปีนี้ อีก 6% ขณะที่ S&P Global บริษัทด้านการค้าขายของสหรัฐฯ ยังมองว่า ศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตจริงประมาณ 10.9% ด้วย
ขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย และสิงคโปร์ ที่แม้อาจจะมีการจัดการ COVID-19 ได้ดี แต่กลับถูกมองว่า เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นฟูในปีนี้ โดยเฉพาะไทย ที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมไปถึงปัญหาการเมือง และเสถียรภาพ ที่ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้
เมื่ออาเซียนอยู่ตรงกลาง ในศึก จีน VS สหรัฐฯ
แน่นอนว่าหลังการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ จากทรัมป์ เป็นไบเดนแล้ว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ไบเดนจะหันกลับมาสนใจเอเชีย และอาเซียนมากขึ้น คล้ายกับในสมัยของโอบามา รวมถึงการหาพันธมิตร และสนับสนุนประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ แต่ถึงอย่างนั้น จีนก็กลายเป็นมหาอำนาจที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียดำเนินกิจการในเอเชียด้วยกันเอง และพยายามส่งสัญญาณว่า ตนเป็นพี่ใหญ่ในแถบนี้ให้กับประเทศอื่นๆ
โจทย์ใหญ่ของอาเซียนจึงอาจเป็น การหาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 ซึ่งปีนี้ คาดว่าจะขยายยุทธศาสตร์การแข่งขันทางทหาร และเศรษฐกิจมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งก็มีการมองจากนักรัฐศาสตร์ว่า สิ่งที่อาเซียนต้องทำ ควบคู่กับการหาสมดุล คือการหาพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้นด้วย
ประเด็นอื่นๆ ที่น่าจับตา
นอกจากเรื่องของ COVID-19 และเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตา ซึ่งจะเกิดขึ้นกับ 2 ประเทศคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อย่าง เวียดนาม กับลาว คือการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ (มกราคม) ที่จะมีการเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งแม้จะมีการมองว่า คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนักสำหรับในลาว แต่เวียดนามเอง ที่กำลังมาแรง และเศรษฐกิจกำลังโต กลับเป็นที่จับตามอง เพราะคาดว่าจะมีการอนุมัติพิมพ์เขียว 5 ปี รวมถึงท่าทีนโยบายที่จะมีต่อสหรัฐฯ และจีนด้วย
อ้างอิงจาก