“โลกขับเคลื่อนด้วยเงิน การจะทำให้ยั่งยืนได้ คือการทำให้เงินไหลไปในทางที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ”
คือคำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ จาก พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ซีอีโอองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย เรื่องนิยามของคำว่า sustainable finance หรือ ‘การเงินยั่งยืน’ ที่ The MATTER กับเจ้าตัวมานั่งคุยกัน จนเกิดเป็นสัมภาษณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา
ในอดีตเวลาเราจะรณรงค์ ให้คนหันมาให้ความสำคัญประเด็นทางสังคมเรื่องใด เรามักเรียกร้องไปที่การสร้าง ‘จิตสำนึก’ ของแต่ละบุคคล ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่การจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ แค่ความรู้สึกนึกคิดหรือเจตนาดีส่วนบุคคลอาจจะไม่เพียงพอ
หนึ่งในกลไกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงก็คือ ‘เงิน’ – ใครจะกล้าปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้บ้าง
แม้ในอดีต กลไกการหมุนไปของเงิน ที่เราเรียกรวมๆ ว่า กลไกทุนนิยม จะช่วยให้ประเทศพัฒนา ผู้คนมีทรัพย์สินเงินทองและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็นำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และโดยเฉพาะต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อยเลย
แต่ในเมื่อ ‘เงิน’ สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบได้ แล้วเราจะหาวิธีเอา ‘เงิน’ มาทำอะไรในด้านดีๆ ขึ้นมาบ้าง ไม่ได้เลยหรือ
บทสนทนากับซีอีโอของ WWF ประเทศไทย จะช่วยคลี่คลายความสงสัย พร้อมกับต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพใหญ่ว่า แล้ว ‘การเงิน’ จะเอามาช่วยสร้าง ‘ความยั่งยืน’ ได้อย่างไร
เราจะใช้ทุนนิยมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาโลกใบนี้เอาไว้ให้กับลูกหลานของเราได้อย่างไร
อยากให้อธิบายความหมายของคำว่า ‘การเงินยั่งยืน’
การเงินยั่งยืน หรือ sustainable finance พอเอาสองคำที่เป็นนามธรรมมารวมกัน ยิ่งฟังดูน่ากลัว และนามธรรมมากขึ้น ซึ่งใครที่ไม่ได้ศึกษา sustainability หรือ finance มาก็คงจะงงว่า มันคืออะไร แต่จริงๆ แล้ว อยากให้ภาพใหญ่เพื่อให้เข้าใจว่า ‘การเงิน’ มันเป็น backbone ของเศรษฐกิจของทุกประเทศ ของโลก โลกเดินได้ด้วยการเงิน ดังนั้น ถามว่ามันสำคัญกับคนทั่วไปยังไง ทุกคนอยู่ในระบบการเงินโลก การเงินประเทศ เราใช้เงินบาทในการทำกิจกรรม ในการดำรงชีวิต ฉะนั้นเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมของมนุษย์ ที่จะมีผลดี-ผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนคำว่า ‘ยั่งยืน’ คือทำยังไงให้ flow ของเงินไปทำให้เกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ
นี่คือ คำอธิบายง่ายๆ เพื่อรีเซ็ตความคิดของทุกๆ คนว่า ทำไมการเงินกับความยั่งยืนมาเชื่อมกันยังไง ในทางปฏิบัติ sustainable finance จะดึงเอาหลักการของธรรมาภิบาลที่ประกอบด้วย environment social governance หรือ ESG เข้ามาเป็น framework ในการไกด์ว่า เงินจะไปลงที่ไหน
ถ้าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานนี้แล้ว คำถามคือแล้วมันจะเกี่ยวกับเรายังไง? เชื่อว่าหลายคนเพิ่งเสียภาษีไป และปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ใช้กองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีได้ บางคนก็อาจจะไม่ดูรายละเอียดหลอกว่าในกองทุน LTF เขาไปลงทุนอะไรบ้าง แต่ก็อาจมีบางคนที่อยากลงทุนในสิ่งที่มันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ เขาก็ไปเลือกกองทุนที่เลือกจะลงทุนใน ‘ธุรกิจเขียว’ ได้ นี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเรา คือเราไม่รู้จะช่วยโลกนี้ยังไง แต่เราต้องการจะซื้องกองทุน LTF เพื่อเอาไปลดหย่อนภาษี เราก็ดูได้ว่ากองทุนที่จะซื้อมีธรรมาภิบาล หรือเน้น ESG ไหม ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่คนทั่วไปจะช่วยปฏิบัติตามหลัก sustainable finance หรือ ‘การเงินยั่งยืน’ ได้
แล้วคนทั่วไปจะรู้ได้ยังไงว่า บริษัทนี้ ‘สีเขียว’ หรือส่งเสริมความยั่งยืน
มันก็มีหลายวิธี ถ้าคนสนใจจริงๆ เขาก็คงจะตามข่าวว่า บริษัทนี้หรือสถาบันการเงินนี้มี track record ยังไง ซึ่งมันก็มีหลายเครื่องมือ เช่น WWF ก็จะใช้ SUSBA report ซึ่งเหมือนรวบรวมธนาคารหลักๆ ในอาเซียน 5 ประเทศ 38 ธนาคาร เพื่อไปดูว่าแต่ละธนาคารใช้หลักการ sustainable finance ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งก็เป็นอะไรที่ช่วยให้นักลงทุนหรือคนทั่วๆ ไปเข้าไปดูได้
อะไรคือ pain point ที่ทำให้ต้องมีคำว่า ‘การเงินยั่งยืน’ เป็นเพราะสมัยก่อน การเงินไม่ได้ทำอะไรที่ยั่งยืนใช่ไหม
ขออนุญาตย้อนกลับไป ช่วง COP21 (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ.2558) ที่เขาคุยกันที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เขาก็ตระหนักว่าการเงินเป็นกลไกหลักทำให้โลกหมุนไป และ flow ของการเงิน อาจจะหมุนไปสู่ธุรกิจที่อาจจะไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก และในข้อตกลงปารีส หลักการที่เขาถกเถียงกัน คือ 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียส คือทุกประเทศมาตกลงกันว่าจะไม่ให้โลกร้อนขึ้นกี่องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนยุคอุตสาหกรรม พอมีข้อตกลงนี้ เขาก็เลยบอกว่า ฉะนั้นการเงินต้องมาเป็นกลไกหลักในการสร้าง incentive ให้ลด เพราะถ้าคนยังมาลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงหรือธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิล มันก็จะไม่นำไปสู่เป้าหมายของข้อตกลงปารีส
นี่ก็คือ pain point ว่าทำไมถึงมีการนิยามคำๆ นี้ขึ้นมา
อยากให้ยกตัวอย่างรูปธรรม ‘การเงินยั่งยืน’ ที่บริษัทต่างๆ ได้ทำแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อมหรือโลกได้จริงๆ
คงจะไม่ยกตัวอย่างบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่อยากยกตัวอย่างรวมๆ ว่าภาวะโลกร้อน หรือภาวะการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ของธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ควบคู่มากับความเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ฉะนั้นมันจึงมาด้วยกัน แต่ 30-40 ปีหลัง อัตราการเสื่อมโทรมมันเร็วขึ้น อย่างรายงานของ WWF ที่เพิ่งเปิดเผยไปปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2563 มีข้อมูลบอกว่า สปีชีส์ของสัตว์หายไปมากกว่า 68% ภายในห้าสิบปี นี่คืออีกหนึ่ง pain point
บางบริษัทโดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะธุรกิจ reinsurance หรือบริษัทประกันที่รับประกันบริษัทประกันอีกที เสียเงินเยอะมากกับยอดเคลม เพราะภาวะโลกร้อนเป็นอีกปัจจัยที่เป็นชนวนกระตุ้นให้มีภัยธรรมชาติบ่อยขึ้น แรงขึ้น และคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ฉะนั้นค่าพรีเมียมเขาสูงขึ้น ต้นทุนของเขาสูงขึ้น มันมี direct business impact หลายคนไม่ตระหนัก แต่ภาวะโลกร้อนและการหลากหลายทางธรรมชาติที่ลดลง มีผลกระทบต่อ bottom line ฉะนั้นเขาก็เลยปรับ แล้วบริษัท reinsurance ก็ไปปรับค่าพรีเมียมกับบริษัทที่ยังมีความเสี่ยงในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้น
หลายอุตสาหกรรมเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พอมันมี business risk หรือ operational risk มันก็เป็นแรงกระตุ้นให้เขาปรับ เพราะที่สุดแล้ว เขารู้ว่าถ้าเขาลงทุนด้านนี้ ธุรกิจของเขาในอนาคตน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
เพราะเราคุยกันเรื่องวงการการเงิน ปี พ.ศ.2562 มีบริษัทยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับ mutual fund ซึ่งกองทุนเขาน่าจะหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกาศว่าต่อไป ฉันจะค่อยๆ ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล ก็เป็นอีกองค์กรขนาดยักษ์ที่ให้สัญญาณว่า ภาคธุรกิจเริ่มจะ commit มากขึ้น
ในฐานะที่ WWF ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนทั่วๆ ไป อาจมองว่ากระแสอนุรักษ์ธรรมชาจิมันมีมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติมีแนวโน้มดีขึ้นจริงๆ หรือไม่
จากรายงาน living planet report 2020 ของ WWF ใช่ เหมือนกับที่ถาม เหมือนกับเทรนด์จะมาทางว่า คนพร้อมรับแนวโน้มเขียวมากขึ้น เช่น มีการรณรงค์ให้ใช้แก้วพลาสติกหรือใช้ถุงผ้า ซึ่งพวกนี้เป็นเทรนด์ที่ดีว่า คนในสังคมเมืองและมีการศึกษา ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบ้าง บ้างนะคะ แต่ถ้าเราดูในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จริงๆ จาก Living planet report 2020 การเปลี่ยนแปลงของดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับลดลงอย่างน่ากลัว อย่างที่พูดไปคือ 68% ของสปีชีส์สัตว์ป่าหายไปภายในห้าสิบปี แล้วห้าสิบปี มันคือ 1 เจเนอเรชั่นเองนะ ตั้งแต่เราเกิด จนเรายังไม่ทันตายเลย มันลดลง 68% ซึ่งเยอะมาก อีกอย่างคือสปีชีส์ของสัตว์น้ำจืดลดลงมากว่า 70% ฉะนั้น มันน่าจะถึงจุดวิกฤตแล้ว และถึงจุดไหนมันจะย้อนกลับไม่ได้ เราก็ไม่รู้ ถ้ามันหมดแล้ว มันหมดเลย และไม่มีวันหวนกลับมา ฉะนั้น ถ้าดูทางสถิติแล้ว ความพยายามที่พวกเราทำกันอยู่มันอาจจะไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น ความเร่งด่วนก็คือ เราจะต้องทำมากขึ้นเร็วขนาดไหน เพื่อที่จะ balance ความสึกหรอ
เลยเป็นเหตุว่า ทำไมเราต้องมาทำเรื่อง sustainable finance เพราะมันมีเงินเป็นจำนวนมหาศาล เป็นกลไกสำคัญในการช่วยเขาปรับพฤติกรรม เพราะแค่ดิฉันงดใช้หลอดวันละ 3 หลอด ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก แม้ว่าใจอยากจะช่วย
แล้วเอกชนไทยได้ทำตามแนวคิด ‘การเงินยั่งยืน’ มากน้อยแค่ไหนยังไง เพราะที่ผ่านมา หลายฝ่ายมักวิจารณ์ว่า เอกชนไทยมักทำกิจกรรม CSR แต่ผลที่ออกมาก็ไม่ได้ยั่งยืนเท่าไร
ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมมันดีขึ้น ไม่ใช่แค่ประชาชนอย่างพวกเรา แต่ต้องรวมถึงบริษัทและภาครัฐ ระบบการศึกษาด้วย คือมิตินี้มันมากไปกว่าแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ทุกๆ คน อย่างภาคธุรกิจก็มีหลายกลุ่ม ในเมื่อเราพูดถึงเรื่องการเงิน ก็ขอพูดถึงภาคธนาคาร อย่าง SUSBA report ก็จะมีธนาคารของไทยร่วมอยู่ด้วย 7 ธนาคาร ซึ่งตามรายงานนี้ ธนาคารไทยค่อนข้างทำได้ดีในหลักเกณฑ์เรื่องการทำงานเชื่อมกับคนอื่น และธนาคารไทยค่อนข้างให้ความร่วมมือ และเน้นความสำคัญมากขึ้นใน ESG หรือระบบธรรมาภิบาล ดังนั้นหากดูจากรายงานนี้ ทางประเทศไทยก็เริ่มที่จะกระเตื้องมากขึ้นถ้าเทียบกับห้าปีในอดีต ความตระหนักหรือความอยากจะมีส่วนร่วมในการลดมันก็พุ่งสูงขึ้น
และถ้าพูดถึงในภาครัฐ อย่าง WWF ก็ทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทเป็น regulator ทำให้การควบคุมเรื่องธรรมาภิบาลให้มันแข็งแรงขึ้น มีการ apply ได้ดีขึ้น ฉะนั้นมันก็เป็นอีกแง่มุมที่ดี
ถ้าเรามองตรงนี้ด้านผู้บริโภคบ้าง ตรงนี้อาจจะต้องช่วยๆ กันผลักดัน อย่างที่พูดไปข้างต้นว่าความต้องการซื้อ financial tools ที่มีธรรมาภิบาลสูง ทำยังไงมันจะมีความต้องการตรงนี้ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่หลายคนอยากเห็นโลกที่ดีกว่านี้ ดิฉันเชื่อมว่านี่จะเป็นพลังสำคัญ เพราะธุรกิจจะถูกชี้นำโดยใคร ก็โดยตลาด แล้วใครคือตลาด ก็คือพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้นที่หลายๆ คนอาจคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวกับเรา จริงๆ แล้วเรามีพลังที่จะเปลี่ยนมัน ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด
จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เรื่องลดใช้ถุงพลาสติก ที่จริงๆ ก็รณรงค์กันมาหลายปี แต่กว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้จริงๆ ก็ต้องรอภาครัฐจับมือเอกชนประกาศงดแจกถุง อะไรจะเป็นแรงจูงใจ (incentive) ที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม
เรื่องแรงจูงใจเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างเช่น เวลาเราจะจ่ายภาษี เราก็จะหาวิธีในการลดภาระภาษีให้ได้มากที่สุด เข้าไปดูกองทุนต่างๆ แรงจูงใจส่วนใหญ่คือเงิน ในโลกนี้ นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องถามตัวเองว่า sustainable finance มันรวมถึง capital gain และ nature gain คนรุ่นใหม่กับนักลงทุนมีความตั้งใจแค่ไหน ที่จะคิดถึงผลประโยชน์ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่เพื่อโลกนี้ด้วย ถ้าสมมุติว่ากองทุนนี้ ที่เป็นกองทุนเขียว ไม่ได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในกองทุนระดับท็อปในการจัดอันดับใดๆ เราจะรับได้ไหม ถ้าเราได้ ก็อย่าไปคิดมาก เพราะยังไงก็ได้หักภาษีอยู่ดี ตลาดหุ้นก็ว่ากัน เพราะเราดูระยะยาวอยู่แล้ว อีกสิบปีข้างหน้าคุณอาจจะลืมด้วยซ้ำว่าเคยลงทุนกองทุนนี้ไป แต่อย่างไรก็ตาม มันก็สร้างประโยชน์แง่บวกให้กับโลก ซึ่งเขาไม่ได้นำมาคำนวณในดัชนีทั่วๆ ไป
นี่คือหนึ่งในวิธีการปรับมุมมองคน incentive เป็นเรื่องของมุมมองของคน ถ้าเราพยายามปรับมุมมอง ดิฉันคิดว่าคนรุ่นใหม่และคนรุ่นต่อๆ ไป น่าจะเป็นพลังร่วมกันในการเปลี่ยน market demand ว่า ถ้ามีกองทุนอะไรที่มันไปสนับสนุนธุรกิจที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมจริงๆ ชั้นไม่เอาเลย พลังของสิ่งเหล่านี้มันยิ่งใหญ่จริงๆ นะคะ
คุณพิมพ์ภาวดีหรือ WWF ประเทศไทย ทำไมถึงหันมาสนใจเรื่องการเงินยั่งยืน เป็นพันธกิจองค์กรอยู่แล้ว หรือเราสนใจเอง หรือเป็นสิ่งที่เราต้องการเติมจากพันธกิจเดิม
คงต้องย้อนกลับไป ยกตัวอย่างเดิม COP21 คือ WWF มีสาขาอยู่ทั่วโลก ดังนั้นเราก็มาคุยกันว่านโยบายขององค์กรเราในระดับโลกควรจะมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นแต่ละประเทศก็ไปปรับใช้ประเทศตัวเอง หลังคุยกันแล้วว่า การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม คือเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง ส่วน 2 องศาเซลเซียส คือยังไงก็ต้องทำ ฉะนั้น การเงินเป็นกลไกสำคัญ ทางองค์กรเราเลยคิดว่า ยังไง sustainable finance จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการขับเคลื่อนสิ่งนี้ด้วย และเราในฐานะนักอนุรักษ์ก็ต้องสนับสนุนเรื่องนี้ มันก็เชื่อมโยงกับการที่เรามีบทบาทใน COP21 ในฐานะเอ็นจีโอ
WWF มาตั้งสำนักงานในไทยกี่ปีแล้ว
ตั้งแต่ปี 1995 เราได้จดทะเบียนเป็นเอ็นจีโอในไทยตั้งแต่ปีนั้น แต่ในเชิงองค์กรใหญ่ เราจะครบรอบ 60 ปีในปีหน้า
25 ปีที่ WWF มาตั้งสำนักงานในไทย เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าบ้าง
ตอนที่เราเพิ่งเข้ามา ส่วนใหญ่จะเร่งจากโครงการเล็กๆ ที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะ แต่มาตอนนี้ เราจะทำโครงการใหญ่ขึ้น เช่นเรื่องการเงินยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้ว่า WWF เติบโตและพัฒนาไปตามสังคมไทย เพราะตอนแรก วงการคนอนุรักษ์ก็อาจจะเน้นบางเรื่อง เช่น ชมรมนก เสือ ช้าง เขาก็จะดูเป็นสายพันธุ์ๆ แต่ตอนนี้หลายคนตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน ปัญหา PM2.5 ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม คนไทยที่มีการศึกษา เขาจะเข้าใจ ตระหนัก และเป็นห่วงมากขึ้น ถ้าเทียบกับตอนที่เราก่อตั้ง
เพราะมันใกล้เราขึ้นหรือเปล่า อย่างปัญหาฝุ่น PM2.5 เอาเข้าจริง ก็มีที่ภาคอื่นๆ นานแล้ว คน กทม.ก็ยังเฉยๆ กระทั่งมาเกิดที่ กทม.เอง
ก็มีส่วนเป็นอย่างมาก พอมันใกล้ตัวเรา เราก็จะพอรู้แล้วว่าทำไมธรรมชาติสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นทุกวันนี้เราต้องซื้อน้ำขวดดื่ม จากสมัยก่อนเรารองน้ำฝนกินได้ แต่ตอนนี้น้ำฝนก็มีด่างสูง ดื่มไม่ได้ บางครั้งแค่โดนผิวก็ยังคัน และในอนาคต ไม่แน่นะว่า เราทุกคนอาจจะต้องต่างคนต่างมีถังอ็อกซิเจนเล็กๆ เพราะภาวะของธรรมชาติมันถดถอยมากขึ้น นี่น่าจะเป็น trigger point ที่ทำให้คนพยายามทำอะไรสักอย่าง
ให้ประเมินในฐานะซีอีโอ WWF ประเทศไทย หรือในฐานะส่วนตัวก็ได้ว่า การถดถอยของธรรมชาติ มันเลยจุดที่จะหวนกลับมาได้แล้วไหม หรือยังมีโอกาสที่จะดึงกราฟไม่ให้ตกลงไปมากกว่านี้ได้อยู่
สำหรับสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เราก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ยกเว้นถ้าเราเชื่อในศาสตร์ของการโคลนนิ่งหรือ genetic engineering แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น ฉะนั้นสายพันธุ์ที่ยังเหลืออยู่ ถ้าเราดูที่ใกล้สูญพันธุ์ ก็มีหลายๆ สายพันธุ์ที่ล่อแหลมมากๆ คือโมเม้นต์นี้คือช่วงเวลาสำคัญว่า เขาจะยังมีโอกาสไปต่อหรือต้องจุดธุป ไปแล้วไปเลย แล้วอย่างในเมืองไทย ทราบหรือไม่ว่าเสือโคร่งที่อยู่ในธรรมชาติ ตอนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในไทยที่เดียว ที่กัมพูชา ลาว เวียดนาม จุดธูปไปนานแล้ว ที่พม่า น่าจะเหลือประมาณ 20-40 ตัว ส่วนไทยน่าจะเหลือราว 130 ตัว เท่ากับร้อยปีก่อน ในทวีปเอเชียมีเสือโคร่งอยู่ในธรรมชาตินับแสนตัว เขาจะเดินตั้งแต่แถวบังคลาเทศลงมาพม่า ไทย ลาว กัมพูชา แล้วก็มีอีกสายพันธุ์ขึ้นไปจีน คือ เสือโคร่งไซบีเรียน (siberian tiger) ส่วนฝั่งเราจะเป็นเสือโคร่งอินโดจีน (indochinese tiger) พื้นที่เขาใหญ่มาก แต่ตอนนี้ ในไทยเหลือแค่ 130 ตัว เพราะมันมีแค่ผืนป่าตะวันตก แค่นั้นเอง
นี่คือคำตอบว่า บางสายพันธุ์ที่มันยังคงเหลืออยู่ ก็เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนจะต้องช่วยอนุรักษ์ไว้ ในสภาพธรรมชาติ ส่วนที่อยู่ในสวนสัตว์ก็อีกเรื่องหนึ่ง
นอกจากเสือโคร่ง ในไทย ยังมีสัตว์อื่นๆ อะไรที่น่าเป็นห่วงอีก
มีนะคะ อย่างสัตว์เลื้อยคลานหลายๆ สายพันธุ์ก็น่าเป็นห่วง เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ป่าลึกที่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมไปตามสภาพของการรุกราน หรือสัตว์น้ำในทะเลหลายๆ ตัวก็น่าเป็นห่วง เพราะภัยคุกคามทั้ง overfishing ขยะพลาสติก หรือการที่น้ำทะเลร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ
ที่ผ่านมา คิดว่าปัญหาการทำงานของ WWF ในการดึงคนให้หันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคืออะไร และเรากำลังทำอะไรเพิ่มเติมอยู่บ้าง
ทุกคนมีความสนใจ บางคนสนใจการอนุรักษ์ บางคนสนใจเรื่องการเงิน ฉะนั้นโจทย์ที่ยากคือคนกับ nature มี relationship ที่ห่างไกลกัน โดยเฉพาะคนเมือง audience ของ WWF คือคนเมือง คนที่อยู่ในป่า หรือทำมาหากินกับขอบป่า เขาก็รักป่าอยู่แล้ว แต่คนเมืองจะมอง nature แยกขาดออกจากกัน เขาจะมองว่า ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ แต่ไม่ใช่พวกเรา ไม่ได้มองว่า นี่คือธรรมชาติและพวกเรา ฉะนั้นประเด็นก็คือทำอย่างไรให้คนทั่วๆ ไป ให้เข้าใจว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ นี่คือโจทย์ที่ค่อนข้างยากในสังคมเมือง ที่เดินไปเร็วและวุ่นวาย ฉะนั้น ก็ไม่มีคำตอบที่ตอบได้ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ดิฉันคิดว่า การที่สื่อหลายๆ แห่งพยายามทำให้คนเข้าใจว่า ธรรมชาตินั้นเกี่ยวข้องกับเรา ซึ่ง WWF ก็มองคล้ายๆ กันว่า เราพยายามทำให้ make nature relevant เราก็เลยพยายามส่งข้อความไปว่า ทำอะไรที่ใกล้ตัว เช่น ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามใช้หลอดเหล็กหรือทำจากเยื่อไผ้ ใช้มันอาจดูลำบากและไม่แฟชั่น แต่มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เราก็จะเน้นอย่างนี้ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้บริโภค เพราะถ้าเรามัวแต่พูดกว้างๆ มันก็จะทำให้คนไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
ส่วนที่ WWF ชอบใช้คนดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เป็นเหมือนกันกระบอกเสียง เพื่อให้อย่างน้อยคนหันมาฟัง เป็นการสื่อสาร ก็คิดว่าการสื่อสารเป็นอะไรที่สำคัญมาก งานจะไม่สำเร็จ 100% ถ้าการสื่อสารไม่ดี
ฉะนั้น เราก็อยากจะพูดคุยกับสื่อให้มากขึ้นด้วย เพราะคิดว่าจะสามารถเข้าถึงผู้คนให้มากขึ้น โดยอาจจะมาแลกเปลี่ยนกัน ทางนี้สนับสนุนข้อมูล แล้วสื่อก็ไปหาวิธีเล่าให้ถึงคนอ่าน เพราะ WWF จะถนัดทางเทคนิค แต่ไม่ได้มีหน้าที่สื่อสารโดยตรง
ช่วงหลังมีเพจที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันแสดงให้เห็นเทรนด์ว่าสังคมไทยเริ่มตื่นตัว เริ่มตื่นตัวกับสิ่งนี้มากขึ้นไหม และนอกจากตื่นตัวแล้วมันสามารถผลักดันให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรมากขึ้นไหม
ดูเหมือนเทรนด์จะดีขึ้น แต่ในภาพรวมก็ยังไม่ดีถึงขนาดนั้น การที่มีเพจต่างๆ ออกมามากขึ้น มันสะท้อนว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่องนี้และอยากจะทำให้ดีขึ้น แต่ปัญหาหลักๆ ที่มันมีผลกระทบอย่างรุนแรง เรากำลังพูดถึงเรื่อง scale ถ้าคนๆ หนึ่งที่ใช้ชีวิตในป่าอยู่แล้ว footprint ทำลายธรรมชาติ เขาก็ไม่ได้เยอะอะไร เทียบกับธุรกิจที่มาทำลายผืนป่าเพื่อจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสักแสนไร่ คือมันต้องดู scale
ฉะนั้นคนที่เราเห็นออกมาทำกิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่ดีว่าเขาแคร์ แต่ถ้าไปเทียบกับ scale กับ speed ความเร็วในการทำลาย มันก็จะไม่สมดุลกัน เช่นปัญหาการทำลายป่าในแอมะซอน ซึ่งในภูมิภาคละตินอเมริกาอื่นๆ ก็มีปัญหานี้เช่นกัน
มองอนาคตเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติไปในทางไหน ระหว่างแย่สุดๆ ไปเลย หยุดยั้งไม่ได้แล้ว หรือมันน่าจะดีขึ้นนะ
ถ้าให้มอง อยากจะมองว่า โลกมันไม่มีอะไรง่าย The world is not just black and white, that the beauty of the world โลกนี้มีหลายเฉด ถ้าเราดูอย่าง Living planet report 2020 หรือรายการงานขององค์กรนานาชาติที่นำเสนอเรื่องภาพรวมสิ่งแวดล้อม เขาจะมีเรตติ้งโดยอ้างอิงจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าบาทวีป สถานการณ์มันค่อยๆ ดีขึ้น บางทวีปจะทรงๆ บางทวีปจะตกลงทันที ฉะนั้นมันต้องแยกเป็นพื้นที่ เป็นเคสๆ ไป
ตามรายงานอย่าง Living planet report 2020 ทวีปยุโรปเหนือจะทำได้ค่อนข้างดี กราฟจะค่อยๆ ขึ้น ทวีปอเมริกาเหนือ ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ว่าเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศรวมถึงข้อตกลงปารีสไหม ส่วนทวีปละตินอเมริกา แย่เลย เพราะมีการทำลายป่าแอมะซอน ส่วนทวีปเอเชียและแอฟริกา ก็ลดแต่ค่อยๆ ลดลง
อะไรที่น่าสนใจ ทวีปยุโรปเหนือก็ปล่อยเขาไปเลย เพราะประชาชนเขาสนใจมาก และระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของเขาค่อนข้างดี ทวีปละตินอเมริกา ยากที่จะแก้ให้ดีขึ้น แต่ถ้าเราพยายามไม่ให้มันดิ่งสุด มันก็อาจจะช่วยได้ ส่วนที่น่าสนใจและเป็นโอกาส คือที่ทวีปเอเชียและแอฟริกา น่าจะเป็นความหวังในการยั้บยังกราฟไม่ให้มันตกลงยังไง เพื่อให้มันกลับขึ้นมาได้ในท้ายที่สุด
นี่คือโอกาส เป็นสิ่งที่ดิฉันมองว่าน่าสนใจ และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำงานหนักมากในช่วงนี้ เพื่อจะพยายามดึงกราฟไม่ให้มันตกลงไปมากกว่านี้