แม้จะเป็นความจริงที่ว่าโลกออนไลน์เข้ามาเติมเต็มความสะดวกสบายให้กับชีวิตผู้คน แต่ในขณะเดียวกันก็พรากบางอย่างไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อาจจะเป็นเวลา ความสุข ความสัมพันธ์ สุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต
มากกว่าทศวรรษแล้วที่การเช็กโทรศัพท์กลายเป็นกิจวัตรหลังตื่นนอนของผู้คน ไม่จะว่าเช็กเพื่ออัพเดตข่าวสาร ดูฟีดแบ็กในโซเชียลมีเดีย ติดต่อพูดคุย เลื่อนดูเฉยๆ เพราะความเคยชิน หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม โลกออนไลน์ได้เข้ามาทับซ้อนโลกความเป็นจริงอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ จนไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลกระทบเชิงลบจากการใช้โซเชียลมีเดีย ได้กลายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลวิจัยและการศึกษามากมายที่ชี้ให้เห็นว่า โซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ของผู้คนในปัจจุบัน
แม้เราพอจะรู้ข้อเสียกันดีอยู่แก่ใจ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะยับยั้งตัวเองไม่ให้คล้อยตามสิ่งที่เห็นในโซเชียลมีเดีย เมื่อหลายอย่างในชีวิตประจำวัน มีอิทธิพลมาจากการโพสต์ การแชร์ และการทำการตลาดออนไลน์ จนรู้สึกว่าถ้าหากเราไม่มีโซเชียลมีเดีย อาจจะถูกมองว่าเป็นคนแปลกประหลาดในสังคมเลยก็ว่าได้
ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้เรา ‘เหนื่อยล้า’ จนอยากหายไปหรือ ‘ไร้ตัวตน’ อยู่บ่อยๆ เหมือนกัน
เป็นไปได้มั้ยที่จะไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์?
เคยรู้สึกอึดอัดหรือเหนื่อยขึ้นมาทันที เพียงแค่เปิดเข้าไปในโซเชียลมีเดียอันใดอันหนึ่งหรือเปล่า? หรือเคยไม่อยากแม้แต่จะกดเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกออนไลน์บ้างมั้ย?
มีหลายสาเหตุมากที่ทำให้ผู้คนเกิดอาการ social media fatigue หรือเหนื่อยล้าจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย จนอยากที่จะถอนตัวออกมา กลายเป็นบุคคล ‘ไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์’ (zero online presence) ยกตัวอย่างเช่น อ่านหรือเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบมากเกินไป ไม่มีเวลาที่อัปเดตหรือเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย สับสนจากการอ่านเฟกนิวส์หรือข้อมูลที่บิดเบือน กดดันจากการเห็นชีวิตที่เพอร์เฟ็กต์ของผู้คน เหน็ดเหนื่อยที่จะแข่งขันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในโซเชียลมีเดีย กลัวข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล กลัวว่าจะตามข่าวสารไม่ทัน หรืออาการที่รู้จักกันในชื่อ fear of missing out (FOMO)
เมื่อเอ่อล้นไปด้วยความรู้สึกดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากท่ามกลางการรับรู้ถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดีย จะมีบางคนที่อยากเลิกใช้งาน ปล่อยทิ้งไว้แบบไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งโพสต์ แชร์ ไลก์ หรือคอมเมนต์ หรือกระทั่งปิดบัญชี เพื่อลบตัวตนการมีอยู่ของตัวเองในนั้น ไม่ให้ผู้อื่นสามารถพูดถึงหรือค้นหาตัวตนของเราได้อีกตลอดไป
ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อเราเคยมีตัวตนบนโลกออนไลน์ แม้จะเพียงระยะเวลาสั้นๆ ล้วนแล้วแต่หลงเหลือร่องรอยดิจิทัล (digital footprint) เอาไว้ทั้งนั้น หรือต่อให้ลบบัญชีเฟซบุ๊กทิ้งไปแบบถาวร แต่ชื่อหรือรูปภาพของเราอาจปรากฏอยู่ที่ไหนสักแห่ง เพียงแค่ลองเสิร์ชชื่อใน Google ดู ก็ปรากฏข้อมูลมากมายแบบที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน จนสามารถพูดได้ว่า อดีตของเราไม่มีทางหายไปจากโลกออนไลน์หรือโลกดิจิทัล แม้จะผ่านช่วงเวลาไปนานแค่ไหนก็ตาม
แต่…เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกประเด็นหนึ่งที่มาควบคู่กับเรื่องผลกระทบเชิงลบของโซเชียลมีเดีย ก็คือ ‘สิทธิความเป็นส่วนตัว’ ของผู้ใช้งาน ซึ่งถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายรองรับสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่มารองรับ
แต่…(อีกแล้ว) เคยได้ยินคำว่า ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ (Right to be forgotten) หรือ ‘สิทธิที่จะถูกลบทิ้ง’ (Right to (data) erasure) กันบ้างหรือเปล่า? แม้ว่าชื่อจะดูหดหู่ แต่สิทธิดังกล่าวกลับมีประโยชน์อย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการ ‘เป็นอิสระ’ จากโลกออนไลน์ เพราะเป็นสิทธิที่ปัจเจกบุคคลหรือองค์กรต่างๆ สามารถขอให้ตัวเองถูกลบทิ้ง จนไม่สามารถค้นหาข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาได้อีกในอินเทอร์เน็ตหรือระบบสารสนเทศต่างๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการที่จะถูกตีตราจากผลแห่งการกระทำใดการกระทำหนึ่งในอดีต หรือถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ เพื่อผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งของบุคคลอื่น
โดยสิทธิที่จะถูกลืม เริ่มเป็นประเด็นสำคัญในสหภาพยุโรปจนถูกบังคับใช้ในเวลาต่อมา ตั้งแต่เกิดข้อพิพาทในปี ค.ศ.2014 ระหว่าง Google กับผู้เสียหายชาวสเปนรายหนึ่ง ซึ่งข่าวเกี่ยวกับหนี้สินของเขาถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ แม้ว่าปัจจุบันหนี้สินของเขาจะหมดไปแล้วก็ตาม แต่ Google กลับไม่ยอมลบข้อมูลเหล่านั้นออกตามคำร้องของเขา ทำให้สหภาพยุโรปปรับ Google เป็นจำนวนเงิน 1 แสนยูโร จนในที่สุด แม้ข่าวเกี่ยวกับหนี้สินของเขาจะไม่ได้ถูกลบจนหายไป แต่ลิงก์ที่นำไปสู่ข้อมูลของเขาก็ไม่ปรากฏใน Search engine ของ Google เพื่อลดการเข้าถึงข่าวดังกล่าวให้น้อยที่สุด ตามคำตัดสินของศาลที่ยังคงให้ความสำคัญกับสิทธิที่จะรู้ (Right to know) และเข้าถึงข้อมูลทั่วไปของประชาชนอยู่
นับตั้งแต่นั้นมา Google ก็ได้รับคำร้องกว่า 854,000 คำร้องจากพลเมืองของสหภาพยุโรป ขอให้ลบข้อมูลส่วนบุคคลหรือละเอียดอ่อนในโลกออนไลน์ออกไป เช่น ประวัติการก่อคดีอาชญากรรม หรือการมีความสัมพันธ์นอกสมรส โดยประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของลิงก์เหล่านั้น ได้ถูกลบออกไปอย่างถาวร รวมถึงผลจากการสืบค้นข้อมูลทางเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ประเทศไทยนั้นยังดูเป็นเรื่องที่ห่างไกล เพราะเรายังคงให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นส่วนตัวไม่มากพอ มิหนำซ้ำ ตัวรัฐบาลเองก็ยังมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนแบบไม่ได้รับอนุญาตอยู่บ่อยครั้ง
แล้วแบบนี้ จะให้สบายใจกับการใช้แพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้ยังไงนะ?
ชีวิตจะเป็นยังไงถ้าไม่มีโซเชียลมีเดีย?
จากที่ได้กล่าวมา ทั้งความเหนื่อยล้าและความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ยิ่งตอกย้ำให้ใครบางคนไม่อยากมีตัวตนบนโลกออนไลน์เพื่อความสบายใจที่มากขึ้น แม้ลึกๆ จะรู้ดีว่า digital footprint ของเราคงไม่หายไปทั้งหมด แต่อย่างน้อย ก็ขอตัดขาดด้วยการปิดบัญชีโซเชียลมีเดียที่มีอยู่ก็พอ
แน่นอนว่าเมื่อใครสักคนได้รับผลกระทบเชิงลบจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย การปิดบัญชีหรือการพักจากการใช้งานคือวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาผลกระทบนั้น แต่การไม่มีโซเชียลมีเดียเลย ไม่เล่นเฟซบุ๊ก ไม่เล่นอินสตาแกรม ไม่เล่นทวิตเตอร์ ไม่เล่นทินเดอร์ เราสามารถทำได้จริงๆ มั้ยนะ?
หรือถ้าไม่มีแล้ว เราจะใช้ชีวิตได้ยากลำบากขึ้น พลาดบางอย่างไป หรือสูญเสียอะไรหรือเปล่า? เพื่อตอบคำถามนี้ ก่อนเข้า setting แล้วกดปุ่ม deactivate บัญชีต่างๆ เตรียมลาลับดับตัวตนบนโลกออนไลน์ อยากให้ลองทบทวน ‘เงื่อนไข’ ชีวิตในหลายๆ แง่มุมดูว่า มีพาร์ตไหนบ้างที่เราต้องอาศัยการมีอยู่ของโซเชียลมีเดีย
อย่างเช่น ‘การรักษาความสัมพันธ์’ เพื่อนๆ หรือสังคมส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา ค่อนข้างเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียมากกว่าการโทรหาหรือนัดกันไปกินข้าวข้างนอกหรือเปล่า เพราะบางคนอาจจะนัดเจอหรือติดต่อกันยาก หากไม่เล่นโซเชียลมีเดียก็คงไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าชีวิตเขามีความเคลื่อนไหวยังไง ลาออกจากงานหรือยัง ยังคบกับแฟนคนเดิมมั้ย ซึ่งการไม่รับรู้อะไรเลยนั้น อาจทำให้ความสัมพันธ์จางลงเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะชวนคุยเรื่องอะไรดี หรือแม้แต่การ ‘หาคู่’ ในทุกวันนี้ ก็ยังต้องเริ่มจากการขอเฟซบุ๊ก ขออินสตาแกรม แล้วเนียนทักไปใน Direct message
หากเป็นเรื่องของ ‘การงาน’ การลบโซเชียลมีเดียทิ้งอาจกระทบกับงานบางสาย โดยเฉพาะงานที่ต้องติดตามกระแสสังคม ซึ่งอาจจะยากในยุคสมัยนี้ที่กระแสส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนไหวของผู้คนในโซเชียลมีเดีย ยิ่งถ้าเราทำอาชีพที่ต้องอาศัยเครดิตจากยอดติดตาม ยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือคอนเนกชัน เพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือในการจ้างงาน เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ดารา นางแบบ ธุรกิจส่วนตัว หรือนักเขียนบางคนที่สำนักพิมพ์อาจประเมินความนิยมในโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะตัดสินใจตีพิมพ์งานของเขา การปิดบัญชีโซเชียลมีเดียจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
ในกรณีที่เงื่อนไขชีวิตบางอย่าง ทำให้เราไม่สามารถละจากโซเชียลมีเดียได้อย่างสมบูรณ์ การใช้งานที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบมากเกินไป ก็คือวิธีง่ายๆ (แต่ทำยากมากกกกก) อย่างที่เราเคยได้ยินกันมาตลอด นั่นก็คือ ‘การจำกัด’ หรือลิมิตการใช้งานของเราเอง เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมความคิดหรือการเคลื่อนไหวของผู้คนในโซเชียลมีเดียได้ ได้แก่ ‘จำกัดช่วงเวลา’ ในการเสพข่าวสาร โดยเลือกเลื่อนหน้าฟีดในช่วงเวลาที่ว่างจริงๆ และไม่ใช่ก่อนนอน เพื่อที่จะได้ป้องกันการรับพลังงานลบที่ส่งผลให้คิดมากจนนอนไม่หลับ
และ ‘จำกัดเนื้อหา’ ที่จะเข้าถึง ซึ่งเราต้องตระหนักก่อนว่าอะไรที่ ‘กระตุ้น’ (trigger) ให้เราเกิดความรู้สึกไม่ดี เช่น เครียด กังวล เศร้า หรือกดดัน อาจจะเป็นข่าวอาชญากรรมบางอย่าง Hate speech ของคนบางกลุ่ม หรือภาพที่มีละเอียดอ่อนต่อสภาพจิตใจ แล้วมองหาวิธีในการซ่อนเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งบางโซเชียลมีเดียจะมีฟังก์ชัน ‘กรองเนื้อหา’ หรือ ‘ซ่อนเนื้อหา’ เหล่านั้นไม่ให้เรามองเห็น ทำให้สบายใจที่จะใช้งานมากยิ่งขึ้น
แต่หากทบทวนดูแล้ว พบว่าความสุขส่วนใหญ่อยู่นอกจอโทรศัพท์มากกว่า หรือหน้าที่การงานไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการมีตัวตนในโซเชียลมีเดียเท่าไหร่นัก การพักออกมาอยู่กับคนรอบข้างหรือดื่มด่ำกับโมเมนต์นอกจอบ้าง ก็ถือเป็นการชาร์จพลังจาก Social media fatigue ที่ดี แล้วค่อยกลับไปเปิดบัญชีใหม่ในตอนที่ความรู้สึกทุกอย่างพร้อมแล้วก็ได้ (แต่บางแอปฯ ก็ปิดถาวรหลังไม่แอคทีฟ 3 เดือนนะ เช็กดีๆ)
อ้างอิงข้อมูลจาก