ตั้งแต่มีการปรับรูปแบบการทำงานเป็นทางไกล เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 การประชุมออนไลน์ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่หลายบริษัทต้องเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ในช่วงนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่นอกจากปัญหาด้านเทคนิคหลายอย่างที่ส่งผลให้ผู้คนเกิด ‘ความเหนื่อยล้า’ ที่เรียกว่า Zoom Fatigue แล้ว การประชุมออนไลน์ยังทำให้ผู้คนเกิดปัญหาต่อ ‘รูปลักษณ์’ ของตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
มีมนุษย์วัยทำงานคนไหนไม่ชอบการประชุมออนไลน์ เพียงเพราะไม่อยากเห็นหน้าตัวเองในนั้นบ้าง? ไหนจะสิวขึ้น หน้าเบี้ยว ผมบาง ฟันไม่เป็นระเบียบ ทั้งที่ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เราแทบไม่สังเกตเห็นหรือมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามาก่อนในชีวิต แต่พอต้องเปิดกล้องประชุมออนไลน์เท่านั้นแหละ กลับทำเราหมกมุ่นและฟุ้งซ่านไปทั้งวัน จนรู้สึกเกลียดรูปร่างหน้าตาของตัวเองไปเลย
อาการดังกล่าวมีศัพท์ที่ใช้เรียกว่า ‘ซูม ดิสมอร์เฟีย’ (Zoom Dysmorphia) เป็นอาการที่แพร่หลายในช่วงโรคระบาด คล้ายกับอาการ Zoom Fatigue หรือความเหนื่อยล้าจากการประชุมทางไกล เนื่องจากรูปแบบการทำงานหลายอย่างถูกปรับมาอยู่บนโลกออนไลน์ ที่แม้จะเอื้อให้มนุษย์สื่อสารและทำงานทางไกลสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
แต่ซูม ดิสมอร์เฟียที่ว่านี้ คือผลกระทบของการประชุมออนไลน์ที่มีต่อ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ ของผู้ใช้งาน หรือทำให้เกิดการมองภาพตัวเอง (Self-image) ในเชิงลบ เนื่องจากพวกเขาต้องเห็นหน้าตัวเองนานๆ ในวิดีโอคอล จนสังเกตเห็น ‘จุดบกพร่อง’ บางอย่างบนร่างกายตัวเองซ้ำๆ ทุกวันจนเสียความมั่นใจ เมื่อเทียบกับการประชุมในรูปแบบปกติ ที่การพูดคุยตัวต่อตัวทำให้พวกเขาไม่ได้โฟกัสที่รูปลักษณ์ของตัวเองเท่าไหร่นัก
ด้วยการใช้งานวิดีโอคอลที่เพิ่มขึ้นนี้
ก็ได้ทำให้เราเกิดการจ้องมองตัวเองเป็นเวลานาน
และเกิดการตอบสนอง ‘เชิงเปรียบเทียบ’
ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งได้มาประชุมออนไลน์
แอเรียน โครอช (Arianne Kourosh) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโรคผิวหนังที่ Harvard Medical School อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เนื่องจากสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการทำงานอย่างรวดเร็วในช่วงโรคระบาด ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ต้องสื่อสารผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก ด้วยการใช้งานวิดีโอคอลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราจ้องมองตัวเองเป็นเวลานาน และเกิดการตอบสนอง ‘เชิงเปรียบเทียบ’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งได้มาประชุมออนไลน์
หรืออธิบายได้อีกอย่างก็คือ ปกติเรามักจะรู้มุมกล้องของตัวเอง เพื่อให้ถ่ายเซลฟี่ออกมาดูดีที่สุด แต่พอเป็น zoom, line, discord หรือ google meet เรากลับเห็นตัวเองในอีกเวอร์ชันหนึ่ง ด้วยท่าทาง มุมกล้อง และระยะห่างของอุปกรณ์ที่แตกต่างไป ทำให้ภาพที่ปรากฏในซูม กลายเป็นเราในเวอร์ชันที่ไม่เพอร์เฟ็กต์เหมือนในเซลฟี่ ยิ่งมองมากเท่าไหร่ ความมั่นใจในตัวเองก็ยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ นั่นเอง
ต้นเหตุของการศัลยกรรมที่เพิ่มขึ้น
เมื่อการซูมทำให้เรามองเห็นตัวเองราวกับว่ากำลังส่องกระจกอยู่ตลอดเวลา และจุดบกพร่องบนใบหน้าหรือร่างกายก็ปรากฏชัดขึ้น แม้จะไม่อยากเห็นก็ตาม แต่การได้เห็นไปแล้วก็ทำให้บางคนถึงขึ้นหมกมุ่นกับจุดบกพร่องนั้น จนเกิดความเกลียดชังในตัวเอง และอยากทำทุกวิถีทางเพื่อปรับเปลี่ยนหรือปกปิดมันให้หายไป จึงไม่แปลกใจเลย หากซูมดิสมอร์เฟียจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เปอร์เซ็นต์ของ ‘การทำศัลยกรรม’ เพิ่มมากขึ้นด้วย
“พวกเขารู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด จึงต้องการซ่อนตัวจากคนอื่นๆ และไม่ต้องให้ใครสังเกตจุดบกพร่องที่ตัวเองเห็น ซึ่งพวกเขาพยายามมองหาวิธีใดก็ตามที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของตัวเองได้ เช่น การทำศัลยกรรม” ฟูเกน เนซีโรกลู (Fugen Neziroglu) ผู้อำนวยการศูนย์บำบัดและวิจัยในลองไอส์แลนด์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้กล่าวเอาไว้ถึงประเด็นนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับบทความในสำนักข่าว BBC ปี ค.ศ.2020 โดยสมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งอังกฤษ ที่แพทย์หลายคนได้รายงานยอดของผู้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องศัลยกรรม โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วงโรคระบาดนี้
ซามา ทลาดี (Zama Tladi) หัวหน้าคลินิกความงามทางการแพทย์ในแอฟริกาใต้ เผยว่า เธอสังเกตเห็นว่าลูกค้าที่เข้ามาร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวกระตุ้นหลักที่ทำให้เกิดความไม่พอใจดังกล่าว นั่นก็คือการได้เห็นตัวเองผ่านการประชุมออนไลน์ทุกวัน
แต่ถึงแม้ทุกวันนี้ การเพิ่มขึ้นของฟิลเตอร์หรือแอพพลิเคชันแต่งรูป จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนหรือปกปิดจุดบกพร่องบนใบหน้า ให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากกว่าเดิมก็ตาม ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียการรับรู้ลักษณะและสัดส่วนของใบหน้าตามธรรมชาติไปด้วย และก่อนหน้าที่จะมีซูมดิสมอร์เฟีย สมัยที่สแนปแชทกำลังเป็นที่นิยม ผู้คนจำนวนมากก็มีอาการ ‘สแนปแชทดิสมอร์เฟีย’ (Snapchat Dysmorphia) ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสแนปแชทมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้หลากหลาย และส่วนมากก็ทำให้รูปลักษณ์ของพวกเขาต่างไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้น เช่น ใบหน้าเรียวขึ้น สันจมูกโด่งขึ้น ตาโตขึ้น ปากเป็นกระจับ ปรับผิวสีได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า “คงจะดีหากเรามีหน้าตาแบบนั้นจริงๆ” และส่งผลให้เกิดการศัลยกรรมเพิ่มขึ้นตามมา
ก้าวออกจากความเกลียดชังตัวเอง
แม้ซูมดิสมอร์เฟียจะเป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคทำงานแบบทางไกล แต่สำหรับคนที่เดิมเป็น ‘โรคไม่ชอบร่างกายตัวเอง’ หรือ Body Dysmorphic Disorder (BDD) อยู่แล้วนั้น นี่ไม่ใช่ความคิดหรือพฤติกรรมที่ใหม่อะไรนัก เพียงแต่โรคระบาดและการใช้ซูมบ่อยครั้ง ทำให้อาการของพวกเขาถูกกระตุ้นได้ง่ายขึ้น จากการที่ต้องอยู่บ้านและได้ส่องกระจกบ่อยๆ หรือเห็นรูปลักษณ์ตัวเองซ้ำๆ ผ่านจอแล็ปท็อป ซึ่งถ้าหากเราไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อสอบถามว่าตัวเองเป็นอะไร การวินิจฉัยที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็น BDD นั่นเอง เนื่องจากเบื้องต้นของอาการ BDD ก็คือการหมกมุ่นกับรูปลักษณ์ใดๆ ของตัวเองที่เราเห็น แม้ว่าจะเป็นเพียงเงาสะท้อนลางๆ จากวัตถุ หรือการปรากฏในช่องเล็กๆ ของซูมก็ตาม
แต่ในที่สุด ทั้ง BDD และซูมดิสมอร์เฟียก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เสียสมาธิ ผลการเรียนตก ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากออกไปเจอผู้คน อยากเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เพราะฉะนั้น หากใครสังเกตเห็นว่าช่วงนี้ตัวเองเดินไปส่องกระจกบ่อยๆ แล้วเกิดอารมณ์ที่ขุ่นมัวหรือไม่พอใจในรูปร่างตัวเอง หรือรู้สึกแย่มากๆ หลังประชุมออนไลน์จบ ก็จะเป็นเรื่องดีมาก เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ก่อนจะรู้สึกติดลบกับตัวเองไปมากกว่านี้
โดยปกติการรักษาอาการ BDD มักจะเป็นการบำบัดโดยนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเป็นหลัก แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถึงขั้นเกลียดชังตัวเองขั้นรุนแรงนัก เพียงแค่ไม่พอใจที่ต้องเห็นภาพตัวเองในซูม หรือหมกมุ่นกับจุดบกพร่องของตัวเองจนเสียสมาธิประชุม ก็สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการเซ็ตก่อนเปิดกล้อง เช่น เช็คสภาพของตัวเองเป็นยังไง หน้าซีดไปมั้ย ผมยุ่งหรือเปล่า หรือนั่งในระยะที่ห่างจากกล้องพอประมาณ โดยที่ผู้อื่นและตัวเองจะได้สังเกตเห็นจุดบกพร่องบนใบหน้าได้น้อยลง
แต่ในขณะที่ประชุม หากเราจำเป็นจะต้องนั่งใกล้เพื่อมองข้อมูลในหน้าจอ การจัดแสงก็ช่วยได้เหมือนกัน เช่น นั่งที่ที่แสงกระทบใบหน้าน้อยๆ หรือนั่งตรงที่แสงกระทบกับมุมใบหน้าที่ตัวเองรู้สึกมั่นใจมากที่สุดก็ได้ จากนั้นระหว่างประชุมก็พยายามปรับโฟกัสไปยังคนอื่นๆ หรือพยายามตั้งใจฟังคนอื่นพูดมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราสนใจและหมกมุ่นกับตัวเองน้อยลงเช่นกัน
สุดท้ายก็คือวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งจะช่วยเรื่องการเปรียบเทียบหรือการมองตัวเองในแง่ลบ ทั้งในกรณีที่ประชุมออนไลน์หรือส่องกระจกในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ ‘ลดการใช้โซเชียลมีเดีย’ โดยเฉพาะอินสตาแกรม ซึ่งเรามักจะได้เห็นชีวิตด้านดีๆ ของผู้อื่น จนเผลอนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองอยู่เสมอ เพราะผลการวิจัยหลายชิ้นก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ยิ่งเราใช้เวลากับโซเชียลมากเท่าไหร่ ความไม่พึงพอใจต่อตัวชีวิตของตัวเองก็จะเพิ่มระดับมากขึ้นเท่านั้น เราอาจ ‘เสพติดความสมบูรณ์แบบ’ ของผู้อื่นมากเกินไป จนลืมคิดว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาคัดสรรมาอย่างดีแล้ว ก่อนที่จะอัปโหลดให้สังคมเห็น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะทุกคนล้วนแต่อยากเห็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุดทั้งนั้น
ซูมดิสมอร์เฟียก็เหมือนกับความวิตกกังวลในเรื่องอื่นๆ ที่สุดท้ายแล้วเราจะต้องก้าวต่อไป และพยายามอยู่ร่วมกับมันให้ได้ในที่สุด หรือถ้าใครรู้สึกว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยากจะผ่านไปได้ด้วยตัวเอง การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีและมีประสิทธิภาพเช่นกัน
การทำศัลยกรรมยังคงเป็นวิธีเสริมสร้างความมั่นใจให้กับใครหลายคนได้ แต่ถ้าจุดบกพร่องที่เราไม่เคยสนใจ จู่ๆ ก็กลายเป็นปัญหาเพียงเพราะประชุมออนไลน์ ก็อยากให้ลองชั่งใจดูสักนิดว่าเราสามารถปล่อยผ่านไปได้หรือเปล่า เพราะการทำศัลยกรรมก็ถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตเหมือนกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก