เบอร์ตอง 111 จะกลายเป็นอายุครบรอบชาตกาลของ ‘ยาขอบ’ ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 (เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2450) เจ้าของนามปากกาผู้มีนามจริงว่า โชติ แพร่พันธุ์ คนนี้ นักอ่านชาวไทยน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่บ้าง ต่อให้มิใช่คอวรรณกรรมตัวยงก็ตามที
ยาขอบเขียนหนังสืออะไรบ้างหนอ? อันที่จริง เฉพาะผลงาน ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ชิ้นเดียวได้ส่งผลจนเขาครองสถานะนักประพันธ์อมตะโดดเด่นเคียงคู่บรรณพิภพทุกยุคสมัย เอาล่ะ ข้อมูลและถ้อยความที่ผมขยุ้มมาหว่านโปรยตัวอักษรให้ทุกท่านเลาะสายตาเพลิดเพลินอีกหลายบรรทัดถัดๆ ไป ขนาดแฟนคลับระดับคลั่งไคล้งานเขียนยาขอบยังแทบอุทาน โอ้โห! เพราะนักเขียนเยี่ยงเขาพัวพันกับนิทานโป๊ๆ แต่ถ้ามัวสาธยายแค่ชีวิตนักประพันธ์ล้วนๆ ผมนึกหวั่นเกรงคุณผู้อ่านไม่อิ่มหนำสาระ จึงขออนุญาตพิรี้พิไรปูพื้นประวัติศาสตร์นิทานสัปดนในสังคมไทยแถมเข้าด้วยงั้นเริ่มกันเลยครับ
เรื่องเพศและพฤติกรรมร่วมเพศหาได้เพียงปรากฏในวรรณคดีหรือวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรแบบที่เราเรียกว่า ‘บทอัศจรรย์’ เท่านั้น หากช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลับพบเห็นโลดแล่นอยู่ในรูปแบบ ‘เรื่องเล่า’ เช่นกัน อัมพร หาญนภา (อีกร่างทรงซึ่งปลอมน้ำเสียงผู้ชายของนักเขียนหญิงนามลาวัณย์ โชตามระ) บันทึกว่าสิ่งนี้มีในราชสำนักก่อนที่อื่น และถือเป็นของบันเทิงช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากหน้าที่การงาน
“วิธีเล่าเรื่องโป๊ในสมัยก่อนๆ นั้น จะกระทำกันก็ต่อเมื่อผู้ยิ่งใหญ่เสร็จจากราชการ หรือไม่ก็ยามพักผ่อน พวกบริพารใกล้ชิดก็จะห้อมล้อมเสนอนิยายประโลมใจเป็นเครื่องบันเทิงอารมณ์ อันการเล่านิทานให้กษัตริย์ฟังยามจะนอนนี้ จะเห็นได้จากนิทานอาหรับราตรี หรือนิยายตันไตรยของอินเดีย ไทยเรามีพวกอินเดีย พวกอาหรับ มาค้าขายอยู่เสมอ ก็ย่อมรับเอาอารยธรรมของพวกนี้ไว้บ้างไม่มากก็น้อย จนกระทั่งในพระราชานุกิจอันเป็นส่วนหนึ่งของกฎมณเฑียรบาลก็ได้มีระบุไว้ว่า “เวลาแปดทุ่มเบิกเสภาดนตรี” ดังนี้”
อัมพรจาระไนรายละเอียดเสริมต่อถึง ‘นิทานส่งเครื่อง’ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ว่า พวกข้าราชสำนักใกล้ชิดจะเล่านิทานสัปดนทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อนิทานแต่ละเรื่องจบลง ผู้เล่าต้องร้องเพลงทำนองเขมรพวงชั้นเดียวพร้อมสรุปเรื่องราวทั้งหมดที่ได้เล่ามา จากนั้นหันไปถวายบังคม พิณพาทย์บรรเลงรับจนหมดสิ้นทำนองเพลง จึงเป็นที่มาของคำเรียกนิทาน กล่าวคือ พอเล่าจบก็ร้องส่งให้เครื่องดนตรีบรรเลงเพลงรับ ครั้นสมัยรัชกาลที่ 3 นิทานดังกล่าวเล็ดรอดออกมาจากราชสำนักแล้วไปถูกเล่ากันตามวังเจ้านายหรือบ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่แทน เพราะพระราชนิยมในรัชกาลนี้เน้นการศาสนา ไม่โปรดเรื่องบันเทิงเฉกเช่นรัชกาลก่อน
ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 การเล่านิทานสัปดนกลายเป็นกิจกรรมยอดนิยม จำพวก ‘นิทานตาเถนยายชี’
แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ผู้ทุศีลแล้วจะแพร่หลายมากๆ พฤติกรรมหนึ่งของภิกษุที่ถ่ายทอดกันปากต่อปากมิพ้นเรื่องกามกิจอันไม่สมควรในพื้นที่วัด เฉกเช่นกรณีร่วมเพศระหว่างพระสงฆ์และนางชี มูลเหตุที่นิทานทำนองนี้แว่วยินดาษดื่นเนื่องจากปรากฏพระภิกษุไม่เคร่งครัดในศีลหรืองมงายในอาถรรพ์ต่างๆ จำนวนไม่น้อยซึ่งถูกเรียกขานว่า ‘ระยำเถน’
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงแบ่ง ‘เถน’ หรือ ‘เถร’ คือพระหรืออดีตพระออกเป็น 3 กลุ่ม พวกไม่ทำอะไรนอกจากกินกับนอนเรียก ‘งมเถร’ พวกโง่เขลา ดีแต่ประจบสอพลอเรียกว่า ‘ใหลเถร’ และพวกมีพฤติกรรมชอบยุ่งผู้หญิงเรียกว่า ‘ระยำเถร’
ทางด้าน ‘นิทานส่งเครื่อง’ ก็ใช่จะสูญหายไปเลยทีเดียว ยังตกทอดมาจวบจนสมัยรัชกาลที่ 6 ยุคนี้เองแหละครับที่ยาขอบได้ไปข้องแวะเรื่องเล่าสัปดน ดังเขาเปิดเผยไว้ผ่าน ‘เรื่องไม่เป็นเรื่อง’ เผยแพร่ครั้งแรกบนหน้ากระดาษนิตยสาร ‘ปิยะมิตรรายสัปดาห์’ แล้วภายหลังจึงนำลงพิมพ์หนังสือ ‘สินในหมึก’ และหนังสืองานฌาปนากิจศพผู้เขียน โดยเอ่ยอ้างถึงเจ้าของบ้านซึ่งให้การอุปการะตนช่วงเยาว์วัยคือพระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) หัวหน้าสารวัตรเสือป่าในฐานะตกที่นั่งเป็นนักเล่านิทานอย่างว่า ขณะเดียวกันผู้ออกสืบแสวงหา ‘เรื่องโป๊’ ให้กับท่านเจ้าคุณไม่แคล้วเด็กชายโชติ แพร่พันธุ์
แม้เขา“มิใช่จะได้รักความหยาบช้าสารเลวอยู่ในกระดูก คนไทยที่มิได้แวดล้อมอยู่ในแดนโป๊ดุจคนปาริเซียน แต่ก็ต้องเสาะหานิทานโป๊สุมหูเข้าไว้เพราะเป็นงานในหน้าที่” กระทั่งพระยาพิทักษ์ภูบาลเอง “…ใช่ท่านจะรักความหยาบคายอันใดอยู่ในกระดูกก็หามิได้เช่นกัน แต่หากก็เป็นงานประการหนึ่งของท่านที่จะต้องไปเล่าให้ใครคนหนึ่งฟังเหมือนกัน…” ส่วนแหล่งสำคัญที่ตระเวนแวะเวียนไปฟังเรื่องโป๊มาเสนอเจ้านายบ่อยๆ ระบุพิกัดว่า “…เมื่อมีเวลาก็ท่องไปตามหมู่บ้านไทยอิสลามตรงข้ามกรมศุลกากร ออกไปวัดสุวรรณทะลุไปจนแถวบางเสาธงปากคลองสาน…”
ในความรู้สึกของเด็กเกเรชื่อโชติ ท่านเจ้าคุณเป็นคนดุ ใบหน้าไม่มีรอยยิ้ม แต่คราวใดฟังเสียงกระซิบกระซาบนิทานโป๊ๆ เบาๆ จากเขาพลันกลับมักจะหัวเราะคิกขึ้นมาได้
ฝรั่งเศสถูกจัดวางไว้ด้วยภาพลักษณ์ดินแดนรุ่มรวย ‘เรื่องโป๊’ ตามห้วงนึกของชาวสยามนับแต่ก่อนและหลังมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีความเห็นแพร่สะพัดประมาณว่าพวก ‘นักเรียนนอกจากฝรั่งเศส’ มักรับเอาวัฒนธรรมลุ่มหลงความโป๊เปลือยติดตัวหวนย้อนคืนสู่เมืองไทย บางความเห็นไปไกลถึงขั้นอวลกลิ่นอายค่อนแคะกระแนะกระแหนทางการเมือง หากไม่เกียจคร้านค้นหลักฐานเก่าๆ คงพบร่องรอยเหมือนกัน มิได้ปราศจากเค้ามูลเสียทีเดียว สังเกตดีๆ ยาขอบก็พาดพิง ‘ปาริเซียน’ หรือชาวกรุงปารีสพ่วงกับความโป๊ ช่วงราวๆ ปลายทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480
ตอนนั้นเด็กชายโชติเติบโตเข้าวัยฉกาจฉกรรจ์และยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ เขาเองเข้าข่ายนักเล่านิทานโป๊ตัวลือเอกอุไม่เสียแรงที่ตอนอาศัยชายคาบ้านท่านเจ้าคุณพิทักษ์ภูบาลเคยทำหน้าที่นักล่าเรื่องราวสัปดน มิหนำซ้ำ เมื่อคราวงานเลี้ยงวันเกิดบุคคลท่านหนึ่งยาขอบยังแข่งขันเล่า ‘นิทานสกปรก’ กับทวี ตะเวทิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองผู้เป็นนักเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศส โดยทวีสอบคัดเลือกได้ทุนไปเรียนที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2478 จนสำเร็จเป็นด็อกเตอร์
เจ้าของนวนิยายอิงพงศาวดาร ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ สะท้อนบรรยากาศในวงสังสรรค์ว่า
“คุณทวีเป็นเนติบัณฑิตไทยและได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ฝรั่งเศสจนได้ดีกรียอดของวิชานั้น การใช้เวลาศึกษาอยู่ในดินแดนอันเป็นที่เลื่องลือถึงความรัญจวนใจในทางพิศวาทจำนวนมากปี ก็ทำให้ท่านหลีกนิยมพิศวาทขนาดหนักไปเสียทีเดียวไม่ได้ แม้จะมิได้สนอกสนใจกับมันก็ย่อมได้ยินได้ฟังมาตามวิสัยที่จะคุยได้ว่าเป็นสมบัติของนักเรียนฝรั่งเศสอยู่เอง ฉะนั้นท่านอาจารย์ทวีแห่ง ม.ธ.ก. จะมีนิทานเช่นนี้ขยายออกมาบ้าง (ในโอกาสอันไม่ผิดกาละ) ก็ใช่ของแปลกแก่ความเป็นนักเรียนฝรั่งเศสไม่ ควรจะแปลกก็ต่อเมื่อนักเรียนในเมืองไทยสักคนซึ่งถ้าไม่มีนิสัยสัปโดกสัปดนจริงๆ ก็คงจะขาดความลำพองใจถึงกับจะสู้กับนักเรียนฝรั่งเศสในทางนี้นั่นคือให้เกิดการต่อสู้กันด้วยการดวลโดยเล่านิทานสกปรก ผลัดเล่าคนละเรื่องจนกว่าใครจะหมดพุงก่อนกัน ระหว่างนักเรียนฝรั่งเศสกับนักเรียนไทยแท้- ท่านอาจารย์ทวีกับข้าพเจ้าท่ามกลางเสียงเฮ-ฮาของคนฟังที่ถือว่าทุกคนเป็นกรรมการ”
แม้ ดร.ทวี สามารถเรียกเสียงหัวเราะขบขันของใครต่อใครได้จากการเล่านิทานโป๊ๆ แต่จุดจบชีวิตของเขาสุดแสนเศร้าสลด ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2492 เขาถูกตำรวจยิงหน้าวัดธรรมนิมิตร สมุทรสงคราม และสิ้นชีพบนแพลูกบวบ ขณะกำลังจะหลบหนีจากแม่น้ำท่าจีนออกทะเลอ่าวไทย สืบเนื่องจากทางการได้ออกตามล่าเขาในฐานะผู้ก่อกบฏต่อรัฐบาล
ความนิยมคุยเรื่องสัปดนในวงสนทนาหรือวงสุราไม่แปลกเลยสำหรับบุรุษสมัยใหม่ที่ใช้ชีวิตประกอบกิจกรรมบันเทิงนอกบ้าน ยิ่งแวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ด้วย เรื่องเล่าทำนองนี้โลดแล่นเสมอ
พ.ศ. 2485 ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาขอบสร้างผลงานซึ่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเนื่องจากถูกกรมโฆษณาการเซ็นเซอร์ในฐานะ ‘เรื่องโป๊’ กล่าวคือตอนนั้น เขาจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันรายงานข่าวสงครามชื่อ ‘ข่าวสงครามตะวันออก’ มีเรื่องบันเทิงประจำฉบับอย่าง ‘กามเทวนิยาย’ แปลเรียบเรียงมาจากเรื่อง เดคาเมรอน (Decameron) ผลงานคลาสสิคของจีโอวานนี บอคคาซซิโอ (Giovanni Boccaccio) นักเขียนชาวอิตาเลียน แท้แล้ว วรรณกรรมฝรั่งเรื่องนี้ได้รับการแปลสู่สายตานักอ่านชาวสยามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2460 ภายใต้ผู้ใช้นามแฝง ‘นิรนาม’ ให้ชื่อหนังสือภาษาไทยว่า ‘บันเทิงทศวาร’ แต่กระนั้น หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ลงเรื่อง เดคาเมรอนฉบับยาขอบพากย์ไทย มักจะมีรอยขาวว่างโหวงอยู่เป็นตอนๆ เนื่องจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์พิจารณาแล้วเห็นว่าโป๊เกินไป
กระทั่งปีพ.ศ. 2488 ‘กามเทวนิยาย’ ได้จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ผู้แปลเรียบเรียงเปิดเผยประเด็นถูกเซ็นเซอร์ผ่านบทนำว่าเพราะ “เป็นเรื่องลามกอนาจารและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี” ส่วนความเห็นของยาขอบเองนั้น การที่กรมโฆษณาการเซ็นเซอร์งานหาใช่เนื้อหา เหตุผลแท้จริงคือเจ้าพนักงานเซ็นเซอร์จงใจกลั่นแกล้งเขาในฐานะนักหนังสือพิมพ์ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยาขอบยินดียอมรับว่าในเนื้อหางานข้างต้นมี “กระบวนความเชิงสังวาส หรือที่เรียกกันว่าโป๊อยู่บ้าง”
ก็ระยะสงครามโลกครั้งนี้อีกนั่นแหละ วงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง สมทบด้วยปัญหากระดาษขาดแคลน เพราะกระดาษจากต่างประเทศหรือ ‘กระดาษนอก’ อันเป็นวัตถุดิบในการผลิตหนังสือไม่สามารถเดินทางเข้ามาถึงเมืองไทย จึงต้องใช้กระดาษสาที่คนไทยทำขึ้นเอง ยาขอบตัดพ้อความตกอับผ่านคำนำหนังสือชุด ‘สามก๊กฉบับวณิพก’ หลายเล่มที่เผยแพร่ช่วงนั้น ว่าท่ามกลางกระดาษมูลค่าสูงกว่าแร่ดีบุก หากมิอาจสร้างงานเขียนให้ถูกใจนักอ่านแบบ ‘สัมมาชน’ ได้ คงต้องไปหากินด้วยการเขียน ‘วรรณกรรมพิมพ์ดีด’ (คำใช้เรียกหนังสือโป๊สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) ขายตามร้านตัดผมแทนการอดตาย
ไปๆ มาๆ เกร็ดชีวประวัติ ‘ยาขอบ’ ดูจะเชื่อมโยงคำว่า ‘โป๊’ จนน่าทึ่ง ช่างดีเหลือหลายที่ผมได้เขียนถึงนักประพันธ์คนโปรด แม้ลมหายใจของเขาปลิดปลิวผ่านเลยไปแล้ว 62 ปีทั้งยังสบโอกาสขยายความเรื่องราวประวัติศาสตร์นิทานสัปดน ซึ่งไม่ว่ายุคสมัยไหนก็มีอยู่จริงๆ และเป็นสิ่งเล่าลือต่อๆ กันเรื่อยมาไม่ขาดสายในสังคมไทย
พูดง่ายๆคือเราทุกคนอย่างน้อยที่สุดต้องมีสักครั้งที่บังเอิญยินฟังเรื่องเล่าอย่างว่า เพียงแต่อาจมองผาดเผินให้เป็นเรื่องโปกฮาไร้แก่นสาร แต่หากลองพินิจพิจารณาอีกแง่มุม บางที นิทานสัปดนนี้แหละครับคือวรรณกรรมเชิงมุขปาฐะที่สำคัญและไม่น่าพลาดต่อการศึกษาอย่างถ่องแท้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. พระบรมราชาธิบายอธิกมาศ อธิกวาร และปักขคณนาวิธี. พระนคร : มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย, 2511
- ฮัตเจสสัน, เจ. เอฟ และ ทวี ตะเวทิกุล. ลัทธิเศรษฐกิจ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 2518
- ธนาพล ลิ่มอภิชาต. ““โป๊”…หมายถึงแค่ไหน? : การก่อตัวของแนวคิดและการถกเถียงเรื่อง“ลามกอนาจาร” ในสังคมไทย (ปลายทศวรรษ 2460 ถึงต้นทศวรรษ 2490).” ใน ถกเถียงเรื่องคุณค่า. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2559, หน้า 511-564
- ยาขอบ (โชติ แพร่พันธ์). รวมนิยายรักของ“ยาขอบ” ชุดที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรบริการ, 2501.
- ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์). “เรื่องไม่เป็นเรื่อง,”ชีวประวัตินายโชติ แพร่พันธุ์ [ยาขอบ]. พิมพ์เป็นอภินันทนาการเนื่องในงานฌาปนกิจ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 25 พฤษภาคม 2500. (ม.ป.ท. : ม.ป.พ. ,2500)
- ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์). เล่าปี่ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น. พระนคร : อุดม, 2488
- ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์). สินในหมึก. พระนคร : เขษมบรรณกิจ, 2496
- ลาวัณย์ โชตามระ. ชีวิตชาวกรุงเมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว และชีวิตชาวกรุงสมัยสงคราม. กรุงเทพฯ, แพร่พิทยา, 2527
- สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือด ยุคอัศวินผยอง คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553
- อัมพร หาญนภา. ประกายพรึก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2506