“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เพลงนี้ถูกเปิดครั้งแรกเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน เป็นเพลงว่าด้วยคำสัญญาต่างๆ มากมายว่าทุกอย่างจะกลับมาดีเหมือนเดิม อีกไม่นานเกินรอ หลังจากนั้นคำสัญญาอีกมากมายถูกกล่าวออกมาให้เรานั้นอุ่นใจ สบายใจและวางใจ
ล่าสุดคำสัญญาใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลั่นวาจาคือ อีก 120 วันต่อจากนี้ เราจะมีการเปิดประเทศกันแล้ว (อ่านได้ที่ : จะเปิดประเทศใน 120 วัน แล้วไทยพร้อมไหม? เมื่อเดลตากำลังระบาด และอาจต้องฉีดวัคซีน 3 เข็ม) ซึ่งถ้านับจากวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.2021 คือวันที่พูดครั้งแรก วันที่ไทยจะเปิดรับต่างชาติอีกครั้งคือวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.2021 นั่นเอง
แต่พูดอย่างเป็นกลางว่านักการเมืองนั้น ไม่ว่ายุคสมัยไหน น้อยบ้าง มากบ้าง มักออกแคมเปญหาเสียงหรือคำสัญญาสวยงามเต็มไปหมด สุดท้ายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง (ของรัฐบาลชุดนี้ เว็บไซต์ The Standard สรุปเอาไว้ตรงนี้อย่างน่าสนใจว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นยังไงบ้าง, อ่านได้ที่ : ‘เราจะทำตามสัญญา’ 7 ปีรัฐบาลประยุทธ์ 7 คำสัญญา ทำได้แค่ไหน? – THE STANDARD) ส่วนประชาชนเองระหว่างที่ยุ่งกับชีวิตการทำงาน ครอบครัว หรืออย่างยุคปัจจุบันที่อาจจะยุ่งกับการเอาตัวรอดมากกว่า หลายครั้งก็หลงลืมคำสัญญาเหล่านั้นระหว่างทางไปด้วย จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าบางทีตอนที่เลือกเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ (หรือไม่ได้เลือก) นักการเมืองเหล่านั้นสัญญาอะไรเอาไว้บ้าง และคงจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ามีเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ช่วยตรงนี้ได้
นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังของเจ้าเครื่องมือที่เรียกว่า “Promise Tracker” (Promise Tracker | Data Collection for Civic Action) ที่เริ่มต้นในประเทศบราซิล เพื่อจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้ว่ามีสัญญาไหนบ้างที่พูดไป ตอนนี้ทำไปถึงไหนแล้ว มีสัญญาไหนที่เริ่มแล้วบ้าง สัญญาไหนที่ยังค้างอยู่ในท่อ เพื่อจะเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของนักการเมืองหลังจากที่ถูกเลือกเข้ามารับตำแหน่ง
โดยเจ้า Promise Tracker ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันสอดส่องดูแล รายงานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ตนเองสนใจ และใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรภาครัฐในท้องถิ่น บริษัทหน่วยงาน หรือแม้แต่สื่อต่างๆ เองก็ด้วย มันเป็น web application แบบไม่ซับซ้อน ให้คนเข้ามาสร้างแบบสอบถาม ส่งไปให้คนในพื้นที่ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หลังจากนั้นก็เก็บรวบรวมข้อมูลผ่านแอพฯ บนมือถือ แสดงผลลัพธ์บนแผนที่ และใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
พวกเขาเริ่มต้นโดยการไปพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ในบราซิล เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายในการตรวจเช็กเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐและบริการพื้นฐานทั่วไป
Promise Tracker ไม่ใช่เพียงเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการทางสังคมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำเสนอและถกเถียงกันถึงเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่พวกเขาอยู่ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ นำไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ให้คนทั่วไปเห็นและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น มีส่วนรวมกับความเป็นไปและร่วมมือช่วยกันสร้างทางแก้ปัญหาในทางที่ดีขึ้น
ยกตัวอย่างถ้านักการเมืองสักคนหนึ่งสัญญาว่าเขาจะซ่อมถนนของเมือง ใครสักคนหนึ่งก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์แล้วสร้างแบบสอบถามเพื่อส่งไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่ตอบแบบสอบถามก็เปิดแอพฯ มือถือขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปหลุมบ่อต่างๆ และปักหมุดว่าตัวเองอยู่ตรงไหนตอนนี้
หน้าที่ของเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งในสังคมแบบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ไปกาบัตรออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่มันคือการติดตาม สอบถาม กระตุ้น หรือแม้แต่รวมตัวกันเพื่อบังคับให้คำสัญญาที่กล่าวไว้ ที่ตกลงกันไว้ เป็นจริงขึ้นมา ไม่ใช่สัญญาปากเปล่า และบอกว่าขอเวลาอีกไม่นานก็ตามที การเลือกตั้งเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
Promise Tracker เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญของสังคมประชาธิปไตยแห่งศตวรรษที่ 21 มันจะช่วยลดทอนความกังวลใจ ความไม่ไว้วางใจที่เป็นเหมือนกำแพงกั้นระหว่างรัฐบาลและประชาชนในสังคม ถ้าไม่มีอะไรต้องปิดก็ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว เมื่อสัญญาแล้วว่าจะทำก็ลงมือทำจริงๆ พร้อมกับมีเครื่องมือที่ช่วยวัดผลความสำเร็จไปด้วย ทำให้เป้าหมายที่อาจจะดูกว้างๆ (อย่างเปิดประเทศใน 120 วัน) นั้นถูกซอยย่อยลงมาให้เล็กลง มีตัวชี้วัดที่แน่นอน (เช่น ต้องฉีดวัคซีนเท่าไหร่ นำเข้ามาเท่าไหร่ ยี่ห้ออะไรบ้าง ประชาชนกลุ่มไหนได้ไปบ้างแล้ว) ทำให้ประชาชนเห็นไปเลยถึงความโปร่งใสของการทำงาน ให้รู้ว่ารัฐบาลที่เขาอุตส่าห์เลือกมานั้นกำลังทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนมากขนาดไหนแล้ว
ในระบบประชาธิปไตย การติดตามการทำงานเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลควรที่จะทำตามสิ่งที่สัญญาเอาไว้ก่อนเลือกตั้ง และ Promise Tracker ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การติดตามกระบวนการตรวจสอบโดยประชาชนนั้นสะดวกมากยิ่งขึ้น
Rahul Bhargava นักวิจัยเฉพาะทางที่ MIT’s Center for Civic Media ผู้ดูแลโปรเจกต์นี้กล่าวว่า
“สำหรับสังคมประชาธิปไตยแล้ว เราเก่งเรื่องการกระตุ้นให้คนออกไปโหวต ใช้สิทธิ์ใช้เสียงกันในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ว่าหลังจากที่การเลือกตั้งจบลง คนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มให้ความสนใจน้อยลงไปอย่างมาก”
โดยโปรเจกต์นี้ถูกปล่อยให้ทดสอบในเมือง São Paulo และ Belo Horizonte ประเทศบราซิล ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองแรกที่มีการผ่านกฎหมายว่า นายกเทศมนตรีต้องเขียนแคมเปญและเป้าหมายของการทำงาน (หรือสัญญา) ว่าจะทำอะไรบ้างระหว่างดำรงตำแหน่งภายใน 90 วัน หลังจากถูกเลือกมา
หลังจากนั้นอีกหลายเมืองในบราซิลก็เริ่มทำตามเช่นเดียวกัน Promise Tracker ก็จะถูกใช้เพื่อตรวจสอบการทำงานของนายกเทศมนตรีและทีมของเขาว่าทำงานกันเป็นยังไงบ้าง
เครือข่าย Our São Paulo Network ที่เป็นการรวมตัวกันของกว่า 700 องค์กร เพื่อโปรโมตการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กฎหมายข้อนี้ผ่านและก็จะทำหน้าที่เป็นคนดูแล Promise Tracker ของเมืองนี้ด้วย Oded Grajew ผู้ก่อตั้งเครือข่ายนี้บอกว่า ก่อนหน้านี้ผู้ชนะการเลือกตั้งคือคนที่สร้างผลประโยชน์ให้กับคนที่ให้เงินสนับสนุนแคมเปญ ไม่ใช่เรื่องผลงานเลย และนั่นก็เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน
“ในบราซิล ก็เหมือนประเทศอื่นๆ นักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกที่ให้เงินสนับสนุนแคมเปญของพวกเขา มันไม่ได้ช่วยทำให้การพัฒนาเกิดขึ้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือพัฒนาการบริการพื้นฐานในสังคม ซึ่งแย่มากๆ ที่นี่”
ทางทีมของ MIT เองก็เห็นว่า Promise Tracker นั้นได้รับความสนใจจากประเทศอื่นๆ และมีแผนที่จะสร้างระบบทั้งเป็นเว็บไซต์และแอพฯ บนสมาร์โฟน ให้กับเมืองต่างๆทั่วโลกเพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละสถานที่ด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่มักเป็นประเด็นถกเถียง คือ เรื่องของข้อมูลที่ผิดพลาด ทั้งจากการนำเสนอที่ไม่ครบถ้วน เกินจริง หรือการบิดเบือน (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) Promise Tracker เองเมื่อได้รับข้อมูลโดยตรงมาจากประชาชน ก็จะช่วยทำให้ข้อมูลเหล่านี้ที่มาจากหลายๆ แห่ง เอามารวมกันเพื่อสร้างฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และไม่เอนเอียง เป็นเครื่องมือที่ทำให้การกระจายข่าวปลอมนั้นลดน้อยลง สมมติเรื่องของถนนที่ภาครัฐบอกว่าจะซ่อม เราอาจจะได้ยินข่าวมาว่าซ่อมไปแล้ว แต่พอเข้าไปที่ Promise Tracker เห็นกันอยู่ว่ายังมีหลุมอยู่เลยเมื่อกี้นี้จากแหล่งข้อมูลหลายร้อยคน เราก็สามารถชั่งน้ำหนักความจริงของข่าวได้ไม่ยากนัก
แต่ความสำเร็จของ Promise Tracker ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันจะถูกนำไปใช้งานในวงกว้างรึเปล่า หรือคนที่เข้ามานั้นกระตือรือร้นที่จะช่วยแจ้งข่าวสารไหม บางคนอาจจะรู้สึกว่ายุ่งยากจนเกินไป แค่นี้ชีวิตก็เหนื่อยพออยู่แล้วจะต้องมาติดตามรายงานอะไรพวกนี้อีกเหรอ? โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับการเมือง ก็คงไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็น นี่อาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่เรายังไม่เห็นว่า Promise Tracker นั้นถูกใช้ในวงกว้างอย่างที่มันควรจะเป็น
Promise Tracker นั้นสามารถมอบความรู้และข้อมูลที่ชัดเจนให้กับประชาชนในสังคมได้ สามารถบังคับให้รัฐบาลที่ถูกเลือกมานั้นรับผิดชอบกับสัญญาที่ให้ไว้และต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดพลาด ในทางทฤษฎีแล้วแน่นอนฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่โลกเรานั้นก็หมุนอยู่ตลอดเวลา และสถานการณ์นั้นไม่เคยหยุดนิ่งอย่างที่เราคาดหวัง
พูดอีกอย่าหนึ่งก็คือ Promise Tracker นั้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้รัฐบาลนั้นต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง แต่ในบางครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ไม่ควรทำอย่างที่เคยสัญญาไว้ แต่ถึงอย่างนั้นไอเดียของ Promise Tracker ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรนำไปปรับใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เป้าหมายของ Promise Tracker ไม่ใช่เป็นการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่เป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนว่าตอนนี้คนที่พวกเขาเลือกให้มาเป็นผู้นำของท้องถิ่น พื้นที่ หรือระดับประเทศนั้นกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ช้าบ้าง เร็วบ้าง ไม่เกิดบ้าง เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาตัดสินใจว่าควรทำยังไงและอนาคตต่อจากนี้ควรฝากไว้กับคนอื่นที่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ดีกว่ารึเปล่า
มีอีกเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า PolitiFact ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนโลกออนไลน์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 พวกเขาจะมี Promise Tracker สำหรับรัฐบาลยุคต่างๆ ที่เข้ามาทำงานว่าผลออกมาเป็นยังไงบ้าง
- บารัก โอบามา ทำสำเร็จไปกว่า 47% เปลี่ยนแปลงไป 27% และผิดสัญญา 23% (Obameter: Tracking Obama’s promises | PolitiFact)
- โดนัลด์ ทรัมป์ ทำสำเร็จไปเพียง 23% เปลี่ยนแปลงไป 22% และ ผิดสัญญากว่า 53% (Trump-O-Meter: Tracking Trump’s Campaign Promises | PolitiFact)
- ส่วน โจ ไบเดน ที่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานก็ทำสำเร็จไปแล้วกว่า 12% และยังมีเวลาอีกสามปีกว่าที่จะทำที่เหลือให้สำเร็จ (Biden Promise Tracker | PolitiFact)
ไม่แน่ใจว่าถ้าประเทศเรามี “Prayut Promise Tracker” ตัวเลขมันจะออกมาแบบไหน จะสำเร็จเท่าไหร่ เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ หรือผิดสัญญาเท่าไหร่ เราคงได้เห็นการเคลื่อนไหวของสัญญา 120 วัน ที่ชัดเจนขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นไปแล้วบ้าง ทำได้จริงแค่ไหน แต่ข้อได้เปรียบของรัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนจะอยู่ที่เวลา เพราะก็คงคล้ายๆ กับที่ผ่านมาที่บอกว่า “จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart