ผมเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ศึกษาด้านการก่อการร้าย (Terrorism studies) โดยตรงมา แต่ก็ต้องสารภาพตามตรงว่าเน้นหนักด้านทฤษฎีที่มีต่อกระบวนการคิดของการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรง ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แต่อย่างใด ผมจึงมีความรู้เรื่องอาวุธเพียงน้อยนิด
อาวุธที่เก็บเสียงได้หรือเสียงเบานั้นนอกจากมีดดาบแล้ว ผมก็พอจะรู้จักแต่เพียงปืนที่ติดกระบอกเก็บเสียง (Silencer) เท่านั้น ผมไม่เคยรู้เลยว่ามันมีระเบิดที่ไร้ซึ่งเสียงใดๆ ด้วย เพราะระเบิดดูจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับความเงียบ จนกระทั่งวันนี้ (7 เมษายน) เองจากเหตุการณ์ที่ไทย ผมจึงทราบว่า “เออ! ระเบิดนี่มันเงียบเชียบเหลือเกิน”
เมื่อเวลาราวๆ 23.40 น. ของวันที่ 6 เมษายน ถึงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 7 เมษายน 2560 เกิดเหตุระเบิดราวกว่า 26 จุดขึ้นที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ตัวเลขแต่ละสำนักข่าวไม่ตรงกันนัก) เท่าที่ผมทราบข้อมูลมา โดยมากวางระเบิดไว้ใกล้เสาไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง[1] ผมทราบข่าวนี้ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุพอดี (ราวๆ ตี 1 ที่ประเทศไทย) และด้วยความที่ผมสนใจในเรื่องการก่อการร้ายตามสายวิชา แต่ด้วยว่าดึกมากแล้ว (ผมอยู่ญี่ปุ่นก็คือตี 3 กว่าๆ) ผมจึงตัดสินใจนอนก่อน แล้วตื่นมาหมายมั่นปั้นมือว่าจะตามข่าวโดยละเอียดต่อไป
ปรากฏว่าตื่นมาแล้ว …เงียบราวกับวัดเซน…
ความเงียบงันของการระเบิดในสเกลใหญ่กว่า 26 ลูก ทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจะเงียบเชียบได้ขนาดนี้ ความไม่สนใจไม่แยแสอย่างมีนัยยะสำคัญนี้ทั้งจากรัฐบาล สื่อมวลชน และสังคมโดยทั่วไปนั้นทำให้ผมคิดว่าคงต้องขอเขียนถึงสักหน่อย ว่ามันจะเป็นปัญหาอย่างไร และมันเป็นสัญญาณบ่งบอกท่าทีแบบไหน โดยเฉพาะกับทางรัฐบาล ที่ในตอนต้นทางแม่ทัพภาค 4 ถึงกับออกมาปฏิเสธเหตุการณ์ทั้งหมดเอาเสียเลยทีเดียว[2] จนต่อมาจึงเปลี่ยนท่าที และพลเอกประวิตรก็ยอมรับว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงในท้ายที่สุด พร้อมมองว่ามีลักษณะคล้ายเหตุการณ์ระเบิดในช่วงวันที่ 11 – 12 สิงหาคม 2559 ในส่วนจังหวัดภาคใต้ตอนกลางและบน[3]
การวิเคราะห์ลักษณะที่ว่ามาว่ามีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในวันที่ 11 – 12 สิงหาคม 2559 นั้นดูจะมีความเป็นไปได้อยู่ อย่างไรก็ดีด้วยความที่ข่าวทุกอย่างเงียบมาก และในฐานะคนที่ทำได้แต่ตามข่าวจากระยะไกล การจะอภิปรายโดยพิศดารอะไรไปมากกว่านี้ก็เป็นการจะลำบาก ในจุดนี้ผมเลยขออธิบายลักษณะภาพรวมของเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพื่อว่าหากมีการก่อเหตุอะไรต่อๆ ไปจะได้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการมองด้วย พร้อมทั้งอภิปรายต่อไปถึงปัญหาของความเงียบงันนี้
การมองการก่อเหตุความรุนแรง เหตุก่อการร้ายแบบนี้นั้น ก่อนที่จะเริ่มด่าไปเรื่อยว่ามันคือความเลวทรามต่ำช้าอะไรนั้น ผมคิดว่าเราควรมาเริ่มจากอะไร หรือมีจุดประสงค์ไปเพื่ออะไร?
การก่อการร้ายนั้นก่อเหตุหลักๆ โดยมากเพื่อ (1) ส่งสารบางประการให้สังคมรับรู้หรือรับฟังข้อเรียกร้อง หรือ (2) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเป้าหมายหลักบางประการที่คิดจะทำจริง โดยใช้เหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อขึ้น ไปเบี่ยงเบนการกระทำอื่นที่จะก่อหรือก่อขึ้นพร้อมๆ กัน
แล้วทำไมก่อการร้ายมันต้องใช้ความรุนแรง? จริงๆ ประเด็นนี้คงไม่สามารถพูดโดยสั้นๆ แล้วไม่ไปลดทอนความแนวคิดเบื้องหลังหลายประการได้ โดยคร่าวๆ ก็คือ โดยทั่วไปแล้ว ‘ศัตรูหลัก’ หรือผู้ซึ่งฝ่ายก่อการร้ายต้องการเรียกร้องหรือให้หันมาสนใจฟังข้อเรียกร้องหลักนั้นคือ ‘รัฐ’ ซึ่งหากว่ากันตามนิยามของ Max Weber แล้วก็คือ “ผู้ซึ่งรวมศูนย์การใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมในพื้นที่หนึ่งๆ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ตัวผู้ก่อการร้ายนั้นมีข้อเรียกร้องบางประการที่ต้องการจะสื่อสารหรือเรียกร้องจากรัฐ (หรือเหนือรัฐ) แต่ด้วยวิธีการปกติแล้วรัฐไม่มีทางรับฟังข้อเรียกร้อง (เช่น การขอแยกดินแดน, การต้องการล้มรัฐบาล, ฯลฯ) จึงต้องเรียกร้องด้วยการใช้กำลังแทน แต่ผู้ก่อการร้ายนั้นรู้ดีว่า “กำลังที่รัฐหรือศัตรูของพวกเขาถือครองนั้นเหนือกว่าพวกเขาเองมาก”
เพราะฉะนั้นการต่อสู้ด้วยการใช้สงครามเต็มรูปแบบ (Total war) จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รูปแบบของการก่อเหตุจึงเป็นการเน้นการสร้างความกลัวให้กับสังคมหรือชุมชนการเมือง เพื่อกดดันรัฐอีกต่อหนึ่ง ด้วยลักษณะเฉพาะว่าไม่รู้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ก่อเหตุ, จะเกิดเหตุเมื่อไหร่ หรือเกิดเหตุที่ไหน (ซึ่งเป็นความต่างจากสงครามเต็มรูปแบบที่มีลักษณะจำกัดพื้นที่แบบหลวมๆ อยู่ หรือหลีกเลี่ยงได้ในระดับหนึ่ง) กล่าวอีกอย่างก็คือ การก่อการร้ายคือการเปลี่ยนให้พื้นที่ทุกจุดกลายเป็นพื้นที่แห่งความกลัว (terrorized territory) ได้นั่นเอง
การใช้ความรุนแรงกับการก่อการร้ายนั้นเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ถึงขนาดที่มีการ ‘แบ่งยุคการก่อการร้าย’ โดยอิงตามรูปแบบการใช้ความรุนแรงเลยทีเดียว โดยการก่อการร้ายสมัยใหม่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ยุคหลักๆ (ตามกลุ่มสำนักคิดด้านก่อการร้ายกระแสหลัก) คือ การก่อการร้ายยุคก่อนสงครามเย็น (1930 – 1991) และการก่อการร้ายยุคหลังสงครามเย็น (1991 – ปัจจุบัน) บางครั้งเราเรียกการก่อการร้ายยุคก่อนสงครามเย็นว่า ‘การก่อการร้ายแบบเก่า’ (Old terrorism) และการก่อการร้ายยุคหลังสงครามเย็นว่า ‘การก่อการร้ายแบบใหม่’ (New terrorism)
ความแตกต่างสำคัญในการใช้ความรุนแรงของแบบเก่าและแบบใหม่นี้ก็คือ ‘การตั้งเป้าให้เกิดเหยื่อจำนวนมาก’ (Aim for massive Casualties) คือ การก่อการร้ายแบบเก่านั้นจะเน้นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เน้นให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของคนในสังคมเป็นหลัก (คือจะเกิดก็ได้ไม่ได้แคร์) ในขณะที่แบบใหม่นั้นนอกจากหวังผลในเชิงสัญลักษณ์แล้วยังมุ่งให้เกิดเหยื่อจำนวนมากด้วย อย่างเหตุการณ์ 9/11, Paris Attack, Brussels Attack, Nice, Orlando Pub, ทั่วตะวันออกกลาง หรือเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลพระพรหมราชดำริ ล้วนเป็นตัวอย่างของการก่อการร้ายแบบใหม่นี้ (แน่นอนว่านี่คือการพูดโดยละเลยบริบทสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง ‘รัฐในฐานะผู้ก่อการร้าย’ เองไปเลยนะครับ อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาทิ้งบอมบ์สารพัดรอบ หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่รัฐไทยสังหารประชาชนเกือบร้อย แต่ตอนก็เงียบงันไปอีกเรื่องเช่นกัน)
อย่างไรก็ดีนอกจากรูปแบบหลักๆ ที่ว่านี้แล้ว มันยังมีรูปแบบที่คาบเกี่ยวอยู่ ซึ่งผมมองว่าเป็นรูปแบบที่นับได้ว่าเหตุการณ์ระเบิดกว่า 26 ลูกในครั้งนี้ กับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 – 12 สิงหาคม 2559 รวมอยู่ด้วย
รูปแบบความรุนแรงนี้คาบเกี่ยวระหว่างการก่อการร้ายแบบเก่าและใหม่ บางครั้งเราเรียกกันว่าแบบ ‘จำกัดปริมาณเหยื่อ’ (Limited Casualties) รูปแบบที่ว่านี้มันเป็นอย่างไร?
การก่อเหตุแบบจำกัดปริมาณเหยื่อคือ การก่อเหตุในสเกลใหญ่ หรือในพื้นที่ที่ชัดเจนว่าหากจงใจจะให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็สามารถทำได้ แต่จงใจเลือกก่อเหตุในเงื่อนไขที่ไม่มีผู้เสียหายมากนัก อย่างหลายพื้นที่ในเหตุการณ์ 11 – 12 สิงหาคม 2559 เช่น ห้างเทสโก้โลตัส, ชายหาด, ฯลฯ ล้วนแต่เป็นพื้นที่ลักษณะดังกล่าว หรือในครั้งนี้ที่หลายจุดเป็นบริเวณเสาไฟฟ้าใกล้เขตชุมชน แต่ทั้งหมดล้วนก่อเหตุในช่วงเวลาดึก ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าเป็นช่วงที่คนไม่พลุกพล่านแล้ว ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณเหยื่อหรือกำหนดเงื่อนไขให้เกิดเหยื่อไม่มากนัก
ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากนี้ รวมถึงวิธีการเลือกวันเวลาก่อเหตุ กรณี 11 – 12 สิงหาคม 2559 คือ ไม่นานหลังการประกาศผลประชามติและช่วงวันแม่แห่งชาติ และในครั้งนี้คือคืนหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และวันจักรี เป็นแบบจำกัดปริมาณเหยื่อเหมือนกัน คำถามต่อมาคือ การก่อเหตุแบบจำกัดปริมาณเหยื่อนั้นมักจะทำไปเพื่ออะไร? โดยมากคือการพยายามเน้นการส่งสารโดยตรงว่า “หากคิดจะก่อเหตุสเกลใหญ่ หรือก่อเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียมากก็มีศักยภาพที่จะทำได้นะ แต่ตอนนี้ยังเลือกที่จะไม่ทำ” ซึ่งการก่อเหตุแบบนี้ มักเป็นการส่งสารโดยตรงว่า ให้ฟังข้อเรียกร้องของพวกเขาบ้าง และพร้อมเปิดพื้นที่พูดคุย
ปัญหาคือหลายคนไม่สนใจ ไม่คิดจะรับฟังอะไร ปล่อยผ่านเฉย จนการระเบิดครั้งนี้มันเงียบเชียบเสียเหลือเกิน ซ้ำร้ายบางคนอาจจะยังคิดไปถึงว่าควรจะยิงพวกนี้ให้มันตายๆ ไปเสียให้หมด ผมอยากอธิบายแบบนี้ครับว่า คนเหล่านี้คือคนที่พร้อมจะยอมตายแต่แรกอยู่แล้วในการก่อเหตุแบบนี้ เขารู้อยู่แล้วว่ากำลังอาวุธของเขาด้อยกว่าฝ่ายรัฐเห็นๆ พวกเขาไม่ได้กลัวตาย การส่งกระสุนผ่ากะโหลกคนหนึ่ง ก็มีแต่ไปสร้างความโกรธแค้นให้วงกว้างขึ้นเสียด้วยซ้ำ และลองคิดดูดีๆ เถิดคนเหล่านี้เขาทุ่มเทในระดับที่พร้อมจะทิ้งชีวิตตัวเองเพื่อส่งสาร อยากอภิปรายข้อเรียกร้องอย่างจริงจังและหวังผลได้เนี่ย คุณคิดว่าเขาจะหยุดเพียงเพราะสังคมเราเลือกที่จะ ‘นิ่งเฉย ไม่แยแส’ เล่นบทปล่อยผ่านกันแบบนี้หรือครับ?
ไม่เลย…การนิ่งเฉย การปล่อยผ่าน การเลือกจะลืมแล้วปัดทุกอย่างทิ้งไว้ใต้พรมนั้นมันมีราคาของมัน
การคิดแต่ว่าการแก้ปัญหาทำได้ด้วยกำลังคืออะไรที่ผิดมากๆ เพราะผ่านมา 13 ปีแล้วก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย ทั้งด้วยวิธีการก่อเหตุแบบนี้ เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนแล้วว่าพวกเขามีความสามารถที่จะขยับสเกลให้มากกว่านี้ได้ เพียงแค่เลือกจะยังไม่ทำ
จนถึงขนาดนี้แล้ว ความคิดที่จะเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยกันอย่างจริงจังและจริงใจยังไม่มีอีกหรือ? ที่เห็นมามีแต่ Peace Talk ที่ฝ่ายไทยไปแบบไม่ได้คิดจะเปิดรับฟังเงื่อนไขอะไรจริงจังเลยไม่ใช่หรือ? ไม่เพียงเท่านั้น การเสนอโมเดลทางออกที่ปฏิบัติได้จริงมีการเสนอออกมากันมากมายแล้ว และมีแนวโน้มจะสอดคล้องหรือทำให้เหตุการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ (อย่างข้อเสนอเรื่องเขตปกครองตัวเองพิเศษ หรือรูปแบบมลรัฐพิเศษ เป็นต้น) ก็ไม่เคยคิดจะทำหรือลองทำ ยืนยันอยู่ที่การใช้กำลังเข้าไป
ผมจำได้ว่าไอน์สไตน์เคยมีคำพูดไว้ว่า…การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ โดยคาดหวังให้ผลมันเปลี่ยนแปลงไปนั้น คือ ความโง่ และนี่เราทำซ้ำๆๆๆๆ มา 13 ปีกว่าแล้ว เรายังโง่ไม่พออีกหรือ ไม่ต้องนับการ ‘ทำซ้ำ’ ของที่อื่นที่เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นได้ก่อนจะโง่เองแล้วเสียด้วยซ้ำ ผมคิดว่าควรจะถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดโอกาสให้กับทางออกใหม่ๆ บ้าง นอกจากเส้นทางของกำลังและอาวุธ รวมไปถึงเลิกด้านชาเคยชินกับความรุนแรงเสียที เราทำราวกับว่าตราบเท่าที่ระเบิดยังไม่มาบอมบ์อยู่บนศีรษะเรา เราก็ยังคงตีมึนไม่สนใจมันต่อไปได้
และผมก็ไม่แปลกใจเลยหากรัฐบาลทหารจะยิ่งอยากให้ข่าวแบบนี้เงียบเป็นพิเศษกว่าปกติขึ้นไปอีก เพราะสิ่งเดียวที่สังคมทั่วไปคาดหวังจากรัฐบาลทหาร คงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องสงครามและความมั่นคง ซึ่งยิ่งทำยิ่งเลวร้ายลง จนน่าถามแบบอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์อีกสักรอบว่า มีทหารไว้ทำไม? และที่แน่ๆ เรือดำน้ำที่สั่งซื้อไปนั้นก็คงไม่ช่วยอะไร
เปิดพื้นที่คุยอยากจริงจังเถอะครับ ลองเปิดใจรับฟังเขาเถอะครับ และอย่าไปสู่โต๊ะเจรจาด้วยใจคิดจะเอาชนะอีกฝั่งอย่างเต็มที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนของโต๊ะเจรจา พูดคุยกันดูว่าขนาดไหนอยู่ในระดับที่ทำได้จริงในตอนนี้ แล้วก็เริ่มลงมือทำเถอะ อย่าย่ำอยู่กับความโง่งมต่อไปเลย
ผมเขียนมายาวแล้ว ขอจบลงแค่นี้แล้วกันครับ หากอยากอ่านละเอียดลองไปอ่านในงานของผมเองได้ชื่อ ‘Thou Shall Fear : เจ้าจงตื่นกลัว’ เพราะหากผมพูดมากไปกว่านี้เดี๋ยวผมจะโดนข้อหาว่าเอาสิ่งที่ตัวเองพูดเองคิดเองออกมาขายซ้ำได้ ช่วงนี้ยิ่งมีคนพูดเรื่องนี้กันเยอะอยู่…เฮ้อ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.isranews.org
[2] ดูเพิ่มเติมใน goo.gl/sXXAJh
[3] ดูเพิ่มเติมใน goo.gl/axdtjB