บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
นี่คือครอบครัวเล็กๆในบ้านชนบทที่เงียบสงัด คุณพ่อเก่งกาจเรื่องการทำเกษตรและงานช่าง คุณแม่ที่กำลังท้องแก่มีความรู้เรื่องการแพทย์ ลูกสาวคนโตที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่นมีปัญหาเรื่องการได้ยิน และเริ่มต่อต้านพ่อแม่ ขณะที่ลูกชายคนกลางเป็นเด็กเรียบร้อยจนเกือบจะแหย ส่วนลูกชายคนเล็กนั้นเรียกได้ว่ายังเล็กอยู่มาก
ดูจะเป็นครอบครัวที่ดีถ้าไม่ใช่ว่าพวกเขาอยู่ในช่วงเวลาของวันสิ้นโลก
วันหนึ่งมีเอเลี่ยนบุกมา พวกมันตัวสูงใหญ่ แขนขาแข็งแกร่งเหมือนแมลงใบหน้าเป็นเหมือนกลีบดอกไม้น่าเกลียดที่แผ่บานออกเมื่อส่งเสียงคำราม พวกมันกระโดดได้ไกล วิ่งได้เร็ว แข็งแรงจนฉีกมนุษย์เป็นชิ้นๆ จากการวาดแขนเพียงครั้งเดียว พวกมันตาบอด หากสิ่งที่ชดเชยคือประสาทการได้ยินที่ว่องไวมาก และมันใช้เสียงนำทาง เพียงได้ยินเสียงเล็กน้อยพวกมันจะพุ่งเข้าใส่และทำลายทุกอย่างที่ทำให้เกิดเสียง
ผ่านไปเพียงปีเดียวโลกก็แทบถึงกาลอวสาน ครอบครัวนี้หลบอยู่ในบ้าน ใช้ชีวิตให้เงียบที่สุด ไม่สวมรองเท้า ปูทางเดินด้วยทราย พ่อป้ายสีตำแหน่งของพื้นที่เหยียบแล้วไม้จะไม่ลั่น เตรียมการเรื่องการมาถึงของทารกด้วยกล่องไม้สำหรับบรรจุพร้อมถังออกซิเจน เตรียมห้องใต้ดินเก็บเสียง ในห้องทำงานพ่อเฝ้าฟังสัญญาณจากวิทยุ พลางพยายามซ่อมเครื่องช่วยฟังให้ลูกสาว แต่ไม่ว่าทำยังไงมันก็มีเสียงจี่อยู่อย่างนั้น
วันนั้นพวกเขาเข้าไปตามหาอาหารในเมืองที่กลายเป็นเมืองร้าง น้องเล็กเผลอหยิบของเล่นที่ส่งเสียงได้ติดมือมา และด้วยความเป็นเด็ก เขาก็กดเปิดเสียง จากนั้นครอบครัวก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นี่คือเรื่องเล่าคร่าวๆ ในช่วงต้นของ A Quiet Place ภาคแรก ที่เหลือหลังจากนั้นคือการต้องพยายามเอาตัวรอดจากสัตว์ประหลาดในบริเวณที่น่าจะมีสามตัว พ่อที่ออกไปหาอาหารที่นำ้ตกกับลูกชาย แม่ที่อยู่คนเดียวแล้วเริ่มเจ็บท้องคลอด ลูกสาวที่ยังฝังใจกับอุบัติเหตุ จนหนีไปสงบใจคนเดียว ขณะที่สมาชิกในครอบครัวแยกย้ายกันไป พวกสัตว์ประหลาดก็บุกมาที่บ้าน อยู่กันในสวน หนังทั้งเรื่องคือฉากแล้วฉากเล่าของการพยายามเอาตัวรอดของมนุษย์ไร้ทางสู้ที่ไม่สามารถเปล่งเสียงได้ จนในที่สุดตัวละครพบว่าทางสู้ไม่ใช่อยู่ที่ความเงียบแต่คือการเปล่งเสียง เสียงที่ไม่มีความหมาย เสียงกรีดกรอที่จะเสียดแทงกลับไปยังการสอดแนมเสียเอง การเปล่งเสียงจึงกลายเป็นการต่อต้าน
หนังค่อยๆ ฉายภาพของโลกที่พูดไม่ได้ ซึ่งอาจเปรียบความอย่างตีขลุมไปยังโลกที่พูดไม่ได้ ไม่มีเสรีภาพในการพูดอีกต่อไป โลกแห่งการสอดแนมและจับจ้อง ทุกเสียงจะถูกได้ยินและถูกทำให้เงียบด้วยการกำจัด ภาพอุปมาทางการเมืองของหนังอาจเข้าที่เข้าทางเมื่อมองจากสายตาของคนในทวีปเอเชียที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในการพูดตั้งแต่ฮ่องกงไปจนถึงพม่าและแม้แต่ในไทย สัตว์ประหลาดที่เงี่ยหูฟังตลอดเวลาไม่ต่างจากเหล่าผเด็จการ บรรดานักสอดแนมอินเตอร์เนท ตำรวจทหารที่ใช้อำนาจในมือเพื่อกดให้เราเงียบเงียบเพื่อเอาตัวรอด
เอาเข้าจริงพล็อตของหนังมีเพียงน้อยนิด ไม่มีการอธิบายที่มาที่ไปของสัตว์ประหลาด หรือเป้าหมายของมัน ไม่มีพัฒนาการต่อสู้ของมนุษย์ ไม่มีการเอาคืน ไม่มีแม้แต่การที่ตัวละครสามารถฆ่าสัตว์เหล่านี้ได้สักตัวจนมาถึงฉากไคลแมกซ์ ตลอดทั้งเรื่องมันคือหนังว่าด้วยการซ่อนตัว การหลบหนี การพยายามที่จะเงียบ หนังเล่นกับเทคนิคเขย่าขวัญที่มีแต่ภาพยนตร์เท่านั้นที่จะทรงประสิทธิภาพที่สุดในการนำเสนอ
กล่าวคือนี่เป็นหนังที่เราไม่ได้ดูแค่ด้วยตา แต่ต้องใช้ทั้งร่างกายในการดูหนังไปด้วย หนังที่แทบไม่มีบทสนทนา มีแต่การเล่นกับเสียง เสียงดัง ความเงียบ (หนังมีดนตรีประกอบหลอนประสาท ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) ทำให้หูของเราทำหน้าที่แทนดวงตาในการเงี่ยฟังเสียงต่างๆ ในแง่นีเราจึงกลายเป็นสัตว์ประหลาดในเรื่องไปด้วยเพราะเมื่อมีเสียงดังมันจะมา เช่นเดียวกับที่บางครั้งเราจะไม่ได้ยินอะไรเลย เมื่อกล้องจ้องจับที่ลูกสาวราวกับเรากลายเป็นเด็กสาวหูหนวกไปด้วย
ในขณะเดียวกันหนังเล่นกับความหวาดเสียวทางเนื้อหนัง ความรู้สึกว่าจะสามารถถูกฆ่าทิ้งได้ทันที ความรู้สึกหวาดเสียวของการถูกเชือดเนื้อเสมือนว่ามันไม่ใช่เนื้อของตัวละครแต่เป็นเนื้อของผู้ชม ฉากที่ทรงพลังมากๆ ไม่ใช่ฉากการถูกฆ่าด้วยสัตว์ประหลาดแต่คือฉากที่ว่าด้วยตะปูตัวหนึ่งที่เผยอขึ้นมาบนขั้นบันได หนังใช้ภาพของตะปูเพื่อปักหมุดเหตุการณ์อันตรายที่ยังไม่ได้เกิด แต่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ปล่อยให้คนดูตระหนก หวั่นใจทุกครั้งที่ตัวละครเดินลงบันได ในแง่นี้ ผิวหนังของเรากลายเป็นดวงตาที่ซึมซับเอาความเจ็บปวดมาไว้กับตัว ความหวาดเสียวราวกับว่าตะปูจะทิ่มลงบนตัวเราเสียเองเมื่อไหร่ก็ได้ และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ในฉากนี้เราต้องใช้ทั้งตา หู (ในการที่จะไม่ปริปากร้องออกมา) และเนื้อหนังในการรับรู้ความเจ็บปวดของตัวละคร เช่นเดียวกันกับฉากการคลอดลูกที่จะส่งเสียงไม่ได้ ความรู้สึกถูกปิดกั้นทางเสียงทำให้ความรู้สึกระเบิดอกทางผิวหนังผ่านทางความรู้สึกร่วมเจ็บปวดทรมานไปกับตัวละครด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์เช่นนี้ หนังจึงล้อเล่นกับผัสสะทางกายของผู้ชมอย่างรุนแรง
ขณะที่แกนกลางของมันคือการเชิดชูไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามถึงครอบครัวเดี่ยวแบบ nuclear family อันประกอบด้วยพ่อแม่ลูก ซึ่งถูกโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ยกให้เป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ว่ามันจะดำรงคงอยู่อย่างไรในโลกหลังการล่มสลาย หนังฉายภาพครอบครัวที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งความสมัครสมานแน่นแฟ้น จนแม้แต่การสูญเสียสมาชิกก็กลับยิ่งทำให้มันแน่นแฟ้นมากขึ้น การแบ่งหน้าที่กันทำของพ่อแม่ลูก เมื่อใดที่หนังแยกตัวละครออกจากกัน เราก็จะเห็นพวกเขาปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน พ่อออกไปหาอาหาร แม่ดูแลบ้าน เมื่อถึงคราวจำเป็น ลูกสาวและลูกชายต้องเป็นหน่วยเสริมในสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่โอบอุ้มปกป้องลูกของตน การให้กำเนิดทารกคือความหวัง ความหวังเป็นเพียงหนทางเดียวในการต่อสู้กับโลกที่สิ้นหวังไปแล้ว ความรักของพ่อแม่จะส่งต่อไปยังลูกๆ
แน่นอนว่าเนื้อหาของมันออกจากอนุรักษ์นิยมอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันมันก็ตั้งคำถามอยู่กลายๆ ว่าเพียงครอบครัวที่สมบูรณ์แบบนี้มันเพียงพอต่อการต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอกแล้วหรือ ต่อให้ครอบครัวร่วมมือร่วมใจกันเพียงไหน ในหน่วยย่อยอันสมบูรณ์หากอยู่ท่ามกลางสังคมที่เลวร้าย ก็ไม่มีทางที่จะรอดไปได้ และสิ่งนี้ถูกผลักให้เข้มข้นขึ้นในภาคต่อมา
ภาคสองเริ่มต้นโดยต่อในทันทีจากภาคแรก หลังจากสูญเสียเสาหลักของครอบครัว และสัตว์ประหลาดบุกบ้านจนทุกอย่างพังพินาศแม่และลูกทั้งสามตัดสินใจออกเดินทางไปเรื่อยๆ พวกเขาหอบหิ้วลังบรรจุทารก ถังออกซิเจน ไมค์และลำโพงสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ พวกเขาออกเดินไปอย่างไม่รู้จุดหมาย เกือบจะตายเพราะเจอเข้ากับสัตว์ประหลาดระหว่างทาง ลูกชายโดนกับดักจนขาเป็นแผลเหวอะ แล้วในที่สุดเขาก็ได้พบกับเอมเมตต์ เพื่อนบ้านที่หลบมาอยู่ในชั้นใต้ดินของโรงงาน ชายหนุ่มที่หมดหวังหลังจากเสียเมียกับลูก เขาบอกว่าพวกเธออยู่ที่นี่ไม่ได้ เพราะอาหารไม่พอ ซ้ำมากคนก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ขอให้ไปเสีย
คืนนั้นเอง ลูกชายได้ยินเสียงเพลงในวิทยุราวกับเป็นสัญญาณว่ามีคนอื่นรอดอยู่อีก ลูกสาวค้นเจอรหัสบางอย่างในเสียงเพลงนั้น และเชื่อว่าเธอจะสามารถช่วยทุกคนได้จากเครื่องมือที่เธอมี แม้ทุกคนจะห้ามก็ไม่เป็นผล เธอหนีออกไปเงียบๆ แม่ขอร้องให้เอมเมตต์ตามไปช่วยพากลับ ขณะเดียวกัน แม่ก็พบว่าออกซิเจนในถังกำลังจะหมดลง เธอตัดสินใจฝากทารกไว้กับลูกชาย และออกลุยเดี่ยวไปหายาและออกซิเจนในเมือง ขณะที่ลูกชายที่ทั้งเจ็บป่วยและหวาดกลัวต้องคอยดูแลทารกที่จะร้องไห้ออกมาตอนไหนก็ได้ และเขาไม่มีออกซิเจนพอจะซ่อนน้องไว้ในลังไม้เก็บเสียงอีกต่อไป
ตัวละครถูกแยกเป็นสามทางและหนังเล่าสามเหตุการณ์ไปพร้อมๆ กันด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ที่เร้าอารมณ์กันสุดขีดเช่นเดียวกันกับภาคที่แล้ว
ในที่สุดภาคนี้หนังพาตัวละครออกนอกพ้นอาณาเขตบ้านของตนเอง ครอบครัวแบบเดิมได้ถูกท้าทายทำลายล้างจากสังคมสิ้นหวัง และดูเหมือนคราวนี้หนังยักย้ายถ่ายเทความหวังมาสู่คนรุ่นต่อไป มายังลูกสาวและลูกชายของบ้าน ที่จะไม่ทำเพียงปกป้องครอบครัวของตนเอง แต่จะกอบกู้โลกกลับคืน
สปิริตของหนังภายใต้โครงสร้างของโลกแห่งการไม่มีเสรีภาพในการพูด ยิ่งส่งเสริมกับภาพการต่อต้านที่ระเบิดออกไปทั่วภูมิภาคในช่วงเวลาครึ่งทศวรรษที่ผานมา แม้ว่าหนังจะไม่ได้ตั้งใจมันก็อดไม่ได้ที่เราจะเทียบเคียงภาพของเด็กสาวเด็กหนุ่มในเรื่องเข้ากับคนหนุ่มสาวของเราที่ออกไปต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะพูดทั้งในฮ่องกง ในไต้หวัน ในไทย และในพม่า การต่อสู้ของพวกเขาไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพื่อตัวเขา หรือเพื่อครอบครัวของเขา หากมันขยายออกไปสู่คนอื่นๆ ที่อาจจะทั้งชอบหรือไม่ชอบพวกเขา แผ่ขยายเป็นรูปแบบใหม่ของภราดรภาพข้ามพรมแดน
มันจึงเข้มข้นที่ตัวละครของ เอมเมตต์ ที่รับบทโดย คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) กลายเป็นภาพแทนของคนรุ่นก่อนหน้า ฉากหนึ่งที่จับใจมากคือฉากที่เขาบอกกับเรแกน เด็กสาวว่า ‘เชื่อฉันเถอะ คนที่รอดอยู่ไม่มีค่าพอให้ช่วยขนาดนั้น’ นี่กลายเป็นคำสารภาพของนักต่อสู้รุ่นก่อนที่พ่ายแพ้มาแล้ว ก่อนที่คำพูดของเขาจะถูกพิสูจน์เมื่อทั้งคู่มาถึงท่าเรือและพบกับ ‘ผู้รอดตาย’คนอื่นๆ ในขณะเดียวกันคำพูดของเขาก็ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริงเสมอไป เมื่อเขากลายเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อลูกสาวของเพื่อนบ้านอย่างสุดจิตใจ
สิ่งนี้จึงกลับไปอธิบายการแยกจากกันของตัวละครแต่ละตัวทั้งในภาคแรกและภาคสอง มันคือการแบ่งงานกันทำตามบทบาทหน้าที่ของตน เรแกนและมาร์คัสน้องชาย อาจจะเป็นผู้ลุกขึ้นสู้ แต่การสู้ของสองพี่น้องไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีซากศพของคนรุ่นก่อน การเสียสละของพ่อ การสนับสนุนของเอมเมตต์และการปกป้องลูกๆ แบบสู้ยิบตามของแม่
กล่าวให้ถูกต้อง หนังกลับไปหาคุณค่าของครอบครัวแบบดั้งเดิมในความหมายใหม่ คือมองครอบครัวนิวเคลียร์ในฐานะของหน่วยย่อยที่เชื่อมต่อกับหน่วยอื่นๆ ของสังคม และผู้คนในแต่ละรุ่นมีภาระหน้าที่ของตัวเอง คนรุ่นก่อนหน้าไม่ได้เป็นเพียงภาพฉายของความพ่ายแพ้ แต่คือคนที่ถากถางทางมาก่อน ในขณะเดียวกันหน้าที่ของคนรุ่นก่อนไม่ใช่การห้ามปรามความเปลี่ยนแปลงหรือการ ‘block up the hall’ อย่างในเพลงของ Bob Dylan แต่มันกลับเป็นเหมือนมอตโต้ของหนังอย่าง Better Days ที่บอกว่า ‘เธอก็ปกป้องโลกไป ส่วนฉันจะปกป้องเธอเอง’ พ่อแม่ปกป้องลูก สั่งสอนลูกและปล่อยให้ลูกๆ ออกไปปกป้องโลก ปกป้องพ่อแม่ การต่อสู้จึงเป็นสายใยที่ถักทอจากค่านิยมแบบเดิม ไม่ใช่แค่ความเกรี้ยวกราดไม่ทราบที่มา กระทั่งการระเบิดออกของการเลิกหลบหนี หรือการต่อต้านค่านิยมความเงียบของคนรุ่นพ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกส่งต่อมาจากพ่อแม่นั้นเอง
ในขณะเดียวกันในโลกแห่งความเงียบ มีแต่การเปล่งเสียงเท่านั้นที่จะเป็นการต่อต้าน และการเปล่งเสียงไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงเดิม วิธีการเดิม แต่อาจจะเป็นเสียงใหม่ๆ ซึ่งในหนังใช้เสียงหอนของลำโพง ราวกับจะบอกว่ากระทั่งเสียงที่เป็นเสียงรบกวน (noise) ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งเป็นเสียงที่ต้องถูกกำจัดออก เพราะมันรบกวนเสียงที่คนยุคหนึ่งเห็นว่าสำคัญกว่า หากการณ์กลายเป็นว่าเสียงรบกวนต่างหากที่จะเป็นอาวุธของเรา หนังจึงบอกกับเราว่าการต่อสู้ไม่ได้มีแบบเดียว และเราอาจต่อสู้ได้สำเร็จด้วยวิธีการที่เราคาดไม่ถึงด้วยเสียงที่เราคาดไม่ถึง ด้วยวิธีการที่ดูเหมือนไร้ความหมาย ไม่มีแก่นสาร สิ่งที่เราหรือปฏิเสธ ไม่ให้ค่า ปิดกั้นมาตลอดต่างหากที่สำคัญ