วันนี้จู่ๆ ก็มีความรู้สึกอยากชวนคุยเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ว่าด้วยการเป็น ‘บุคคลที่มิพึงไปข้องเกี่ยวด้วย’ โดยคำสั่งของรัฐหรือองค์กรที่มีอำนาจเสมือนรัฐขึ้นมาเฉยๆ เลยครับ โดยไม่ได้เกี่ยวกับประกาศกระทรวงที่ห้ามไปติดตามหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคล 3 คนเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ก็ แหมมม ผมออกจะเป็นประชากรที่แสนจะเชื่อฟังท่านผู้นำนี่ครับ จะมาเขียนเรื่องนี้เพราะความสนใจไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาต่อบุคคลเหล่านั้นไปได้อย่างไร…เป็นไปไม่ได้ ใครหลงไปคิดแบบนั้นนี่ก็ขอติเตียนไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ
คอนเซ็ปต์ 3 อย่างที่อยากจะพูดถึงสัปดาห์นี้ มีตั้งแต่คอนเซ็ปต์ยุคโบราณอย่าง Homo Sacer มาถึงยุคกลางอย่างเรื่อง Excommunication และจนมาถึงยุคใหม่อย่าง Persona non grata ทั้ง 3 แนวคิดมีทั้งจุดร่วมบางประการที่แชร์กันอยู่ และมีความต่างเฉพาะตัวบางประการที่ปรับเปลี่ยนตามบริบทของยุคสมัย ลองมาดูกันครับว่าแบบไหนที่อาจจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเราๆ ได้เหมาะที่สุด
แนวคิดเรื่อง Homo Sacer (อ่านว่า ‘โฮโม ซาเค่อร์’) เป็นแนวคิดที่มีมาเนิ่นนานแล้วตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ แต่ช่วงราวๆ สองทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดนี้ก็กลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งในวงวิชาการ โดยเฉพาะสายปรัชญาและกฎหมาย จากผลงานการสำรวจประวัติศาสตร์ทางความคิดและกฎหมายของโลกตะวันตกโดย Giorgio Agamben ในผลงานของเค้าชื่อว่า Homo Sacer : Sovereign Power and Bare Life (ตีพิมพ์ปี 1998)
คำว่า Homo Sacer นี้ ในยุคโรมันโบราณใช้อธิบายถึง “ชีวิตซึ่งถูกกีดกันออกไปจากการรับรู้ของสังคม” ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘ถูกแบน’ นั่นเอง
โดยบุคคลเหล่านี้ตามกฎหมายของโรมันแล้วเป็นบุคคลที่ “จะถูกฆ่าตายเมื่อไหร่ โดยใครก็ได้ แต่ไม่มีค่าพอสำหรับการบูชายัญ (sacrifice) ในพิธีกรรมทางศาสนา” ท่อนหลังเรื่องการมีคุณค่าเพียงพอต่อการบูชายัญอะไรนั่นมันหมายความว่ายังไง? คือ ด้วยเงื่อนไขของสังคมโบราณในยุคนั้นมันยังมีความเชื่อในบทบาทอิทธิพลของเหล่าทวยเทพสารพัดแห่งเทือกเขาโอลิมปัสอยู่น่ะครับ แนวคิดเรื่องการบูชายัญชีวิตหรือผลผลิตอันมีค่าต่างๆ เพื่อบวงสรวงแก่เทพเจ้า เพื่อให้เทพเจ้าหายโกรธหรือประทานพรตามปราถนายังคงปรากฏอยู่ ฉะนั้นการบอกว่าชีวิตซึ่งเป็น Homo Sacer นั้น ไม่มีค่าแม่แต่จะบูชายัญ จึงหมายถึงการเป็นชีวิตที่ไร้คุณค่าใดๆ โดยสิ้นเชิง เป็นชีวิตที่ไม่มีค่าพอที่จะถวายแก่ทวยเทพได้
ว่าง่ายๆ ก็คือ พวก “อยู่ไปก็หนักแผ่นดิน จะตายไปก็ไม่มีใครเสียดาย” นั่นเอง
จริงๆ คำว่า Homo Sacer นั้น หากแปลตามตัวแล้วจะแปลว่า Sacred Man ซึ่ง Sacred เนี่ย โดยปกติเราจะแปลมันว่า ‘ได้รับการเคารพบูชา หรือ ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งดูจะแปลกๆ เมื่อเทียบกับคำอธิบายข้างต้น นั่นเป็นเพราะความหมายของคำว่า Sacred แบบที่เราคุ้นชินนั้นเป็นความหมายซึ่งได้รับการนิยามใหม่ (redefine) หลังจากเกิดกระแสอิทธิพลคริสต์ครอบงำ (Christianization) แล้ว เดิมทีคำนี้เป็นคำฮิบรูว์ แปลว่า ‘แยกขาด/แยกส่วนออกไป’ (set apart) หรือแปลว่า ‘ต้องความผิด (accused)’ ก็พอได้ ฉะนั้นคำว่า Sacred Man หรือ Homo Sacer ในความหมายโรมันโบราณจึงแปลได้ว่า ‘มนุษย์ผู้ซึ่งถูกแยกขาดออกจากสังคม’
ความน่าสนใจของมันก็คือ การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเป็น Homo Sacer หรือไม่นั้น ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของสังคมเอง แต่เป็นคำสั่งหรืออำนาจของรัฐ (Sovereign power) ที่สั่งหรือประกาศให้คนเหล่านั้นเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดขาดออกจากสังคมไป อำนาจรัฐคือตัวกำหนดเงื่อนไขทางความคิดว่าคนเหล่านี้เป็นชีวิตที่ไร้ค่า
ต่อมา Agamben นำแนวคิดนี้มาพัฒนาเพื่อมองภาพอำนาจของรัฐและกฎหมายในปัจจุบัน โดยเรียกชีวิตลักษณะนี้ว่า Bare Life หรือชีวิตที่กลวงเปล่า (เปลือยเปล่าก็ได้) Agamben ยังได้อธิบายต่อไปอย่างพิศดารถึงสภาวะความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นของเหล่า Bare Life เหล่านี้ด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้อยู่ในสถานะ “ในและนอกอำนาจทางการเมืองและกฎหมายในเวลาเดียวกัน” (in and out of politics at the same time) ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกลายเป็นบุคคลนอกกฎหมายหรือแยก/ตัดขาดจากรัฐได้นั้น มันก็ต้องมาจากคำสั่งของกฎหมายหรืออำนาจของตัวรัฐเองเป็นผู้ใช้อำนาจ กล่าวก็คือ การจะออกไปเป็นบุคคล ‘นอก(อำนาจ)รัฐ’ ก็เกิดขึ้นได้เฉพาะจากการที่รัฐใช้อำนาจนั้นสั่งให้บุคคลคนนั้นนอกกฎหมายเท่านั้นนั่นเอง ก็เป็นสภาวะย้อนแย้งประหลาดๆ ไป อาจจะดูเข้าใจยาก แต่นี่คือการอธิบายแบบลดทอนความซับซ้อนมากๆ แล้วนะครับ ขนาดที่แฟนๆ Agamben อาจจะรุมด่าผมอยู่ได้
คำต่อมาคือ Excommunication ครับ แปลตรงๆ ตัวก็คงแปลได้ว่าการตัดขาดจากศาสนา เพราะเป็นคำที่ใช้มากโดยคริสตจักรโรมันคาธอลิกในยุคกลาง (จริงๆ ก็ใช้เรื่อยมาจนตอนนี้แต่ ‘ผลลัพธ์’ มันต่างกัน เพราะอิทธิพลของคริสตจักรในยุคกลางกับตอนนี้มันคนละเรื่อง)
เอาเข้าจริงๆ แนวคิดนี้มันมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 แล้วนะครับ แต่มาพีคจริงๆ ในช่วงยุคกลาง จุดนี้เราต้องเข้าใจกันก่อนนิดนึงว่าในยุคกลางนั้นคริสตจักรนั้นมีอิทธิพลและการใช้อำนาจเสมือนอาณาจักร (จริงๆ เหนือกว่าอาณาจักรด้วย) ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงตาแก่คนหนึ่งที่ออกมายืนยันในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับกันมาเป็นศตวรรษแล้วว่า “มันจริงนะ เชื่อวิทยาศาสตร์เขาเถอะ” แบบปัจจุบัน
เมื่อคริสตจักรมีอำนาจมาก นานๆ ปีเข้าก็เริ่มนิสัยเสียโผล่ ระเริงในอำนาจตัวเองครับ ใครพูดอะไรที่ไม่เข้าหู หรือขัดแข้งขัดขาทิศทางที่ตนอยากให้เป็น ต่อให้สิ่งที่พูดนั้นมันเมกเซนส์ มันมีเหตุผล มันถูกต้องปานใดก็ตาม คนเหล่านั้นก็อาจโดนลากขึ้นศาลศาสนา และสามารถโดนประกาศตัดขาดจากศาสนาได้ในที่สุด จุดนี้เองที่ผมบอกว่าเราต้องเข้าใจบริบทของยุคกลาง คือ การโดนตัดขาดจากศาสนาในยุโรปยุคกลาง มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แบบการเป็นคนไม่นับถือศาสนาในตอนนี้นะครับ สมมติคุณโดนตีตราประกาศเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดขาดจากศาสนาแล้ว นั่นหมายความว่า ทุกคนจะไม่แยแส ไม่สนใจ และจะต้องไม่ข้องเกี่ยวกับคุณจริงๆ เพราะการให้การสนับสนุน ช่วยเหลือหรือติดต่อกับคุณและโดนจับได้หรือพบเห็น มันเท่ากับการประกาศตัวเป็นศัตรูกับศาสนจักรได้
โดยมากบุคคลดังๆ ที่โดนประกาศ ‘ตัดขาดจากศาสนา’ มักจะเป็นกษัตริย์ในยุคนั้นๆ ที่ดันไม่ฟังคำสั่งพระสันตะปาปาในการไปออกรบบ้างหรือรับรองนิกายคริสต์อื่นนอกเหนือจากคาธอลิกบ้าง กับอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะโดนก็คือผู้ซึ่งตั้งใจแยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งในกรณีหลังนี้ก็อาจจะโอเคกันทั้งสองฝ่าย เพราะฝ่ายที่แยกตัวก็ตั้งใจจะขาดกันกับคาธอลิกอยู่แล้ว แต่ในกรณีแรกนั้นในบางครั้งก็เกิดจากการใช้คำสั่งนี้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง (มีบางเคสถูกประกาศตัดขาดและคืนดีวนไปวนมาสามสี่รอบ) แต่คนซึ่งจะอยู่ในสถานะที่ถูกการใช้คำประกาศตัดขาดในลักษณะนี้ได้ก็คือคนที่มีอำนาจหรือทรัพยากรทางกำลังมากพอจะต่อรองกับศาสนจักรได้บ้างอย่างกษัตริย์ของอาณาจักรต่างๆ นั่นเอง แต่ในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วๆ ไป โดยเฉพาะเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่คำประกาศนี้มีไว้ขู่ให้เลิกพูดในสิ่งที่พวกเขาค้นพบหรือพิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริง และขัดกับผลประโยชน์หรือคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น
ศาสนาคริสต์ในยุคกลางนั้นวางตัวเป็นสถาบันสถาปนาทางการเมืองที่มีหน้าที่สั่งสอน ให้โอวาท และควบคุมกระแสความคิดของสังคมแต่เพียงฝั่งเดียว ว่าง่ายๆ ก็คือ “พวกคนทั่วๆ ไป ฟัง และเชื่อ และเชิดชูคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้าก็พอ” ใครที่คิดต่าง อธิบายเป็นอื่น หรือเห็นค้านก็จะถูกใช้คำประกาศตัดขาดนี้เป็นเครื่องมือข่มขู่ในศาลศาสนาไป โดยมากก็จะยอมยุติและหุบปากของตัวเองไว้ เพราะหากโดนลงโทษด้วยคำตัดสินนี้เท่ากับไม่มีที่จะยืนในสังคม ไม่สามารถจะใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ได้อีกต่อไป อีกทั้งหากยืนยันจะอธิบายความคิดในจุดยืนที่ตนคิดว่าถูกต้องหรือเป็นจริง ก็อาจต้องโดนจำคุกลืมหรือเผลอๆ อาจถึงขั้นโดนเผาทั้งเป็นกลางเมืองได้
ก็ต้องลองคิดดูนะครับว่า หากโลกเราไม่โดนปิดปากด้วยความกลัว จากการถูกสั่งให้เป็นบุคคลไม่พึงปราถนาแบบนี้แล้ว ป่านนี้โลกจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ขนาดไหน หรือความรู้และความจริงถูกแช่แข็งไว้ด้วยอำนาจแห่งความกลัวมากแค่ไหนแล้ว
ประเด็นสุดท้ายคือคำว่า Persona non grata เป็นคำละตินอ่านว่า ‘เพอร์ซอนน่า นอน กราต้า’ แปลว่า ‘บุคคลซึ่งมิพึงปราถนา’ ตรงๆ ตัวเลย
คอนเซ็ปต์นี้เรียกได้ว่ามีการใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1961 ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต (Vienna Convention on Diplomatic Relations) จากชื่ออนุสัญญามันก็บอกอยู่แล้วว่าแนวคิดนี้เชื่อมโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง
โดยหลักๆ แล้วการประกาศว่าบุคคลใดเป็น Persona non grata นั้น เกิดจาก ‘รัฐอันเป็นที่พำนัก’ ไม่ยอมรับการมีตัวตนอยู่ของผู้พำนักอยู่คนนั้น (โดยมากมักเป็นคนต่างสัญชาติแต่ไม่จำเป็น) แต่รัฐอันเป็นที่พำนักนั้นไม่สามารถทำอะไรกับบุคคลผู้นั้นได้ อาจจะเพราะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหรือความคุ้มครองทางการทูต รัฐที่พำนักก็สามารถประกาศให้บุคคลคนนั้นเป็น Persona non grata ได้ทันที ซึ่งเป็นคำประกาศความจงเกลียดจงชังระดับสูงสุดในทางการทูตนั่นเอง และโดยมากคนที่จะโดนประกาศแบบนี้ก็มักจะเป็นบุคคลในคณะทูตของประเทศอื่นที่ประจำอยู่ในประเทศอันเป็นที่พำนักนั้นๆ
โดยปกติแล้วหากรัฐอันเป็นที่พำนักประกาศว่าใครเป็น Persona non grata แล้ว โดยมารยาททางการทูต รัฐต้นทางก็มักจะเรียกตัวบุคคลผู้โดนประกาศว่า ‘มิพึงปราถนา’ นี้ออกจากรัฐอันเป็นที่พำนักแต่โดยเร็ว แต่บางครั้งคำประกาศนี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในเกมการทูตได้ด้วย (คือ ไล่ทูตกันไปมา เป็นต้น)
การกลายเป็น Persona non grata นั้นมันส่งผลอย่างไร? มันเป็นการบอกว่า (แม้จะอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐนั้นๆ ในการเข้าไปจับกุม หรือลงโทษอะไรได้) รัฐนั้นๆ ไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวตนบุคคลคนนั้นอีกต่อไป ว่าง่ายๆ ก็คือ เสมือนหายไปจากโลกในทางนิตินัยนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไม่ได้อยู่ในการรับรู้ในฐานะ ‘ตัวตนหนึ่ง’ อีกต่อไป ก็ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถทำอะไรในพื้นที่รัฐอันเป็นที่พำนักนั้นได้อีกในทางกฎหมายนั่นเอง
ทั้งสามประการนี้ เป็นไอเดียหลักๆ ในการอธิบายการประกาศให้บุคคลหนึ่งๆ เป็นบุคคลอันไม่พึงปราถนาครับ และสิ่งที่ผมอยากให้สังเกตก็คือ ทั้งหมดนั้นล้วนมาจากการใช้อำนาจของรัฐหรือเสมือนรัฐในการจัดการกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พูดอีกแบบก็คือ นี่คือการใช้กำลังอำนาจของรัฐทั้งรัฐมาเพื่อกำจัดตัวตนของปัจเจกหนึ่งๆ เป็นการเฉพาะนั่นเอง แน่นอนในเบื้องต้นคงจะพอมองได้ว่ารัฐคงจะรังเกียจบุคคลเหล่านั้นมากทีเดียว แต่พร้อมๆ กันไป มันก็บ่งบอกถึงความสำคัญหรือพลังทางอิทธิพลของคนเหล่านี้ในสายตารัฐนั้นๆ ได้ด้วย ว่ารัฐเองก็ดูจะหวั่นไหวกับการกระทำหรือข้อมูลที่สวนทางกระแสความคิดแบบที่รัฐต้องการให้เชื่อน่ะครับ