วันที่ผมอายุครบ 30 ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ
ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวเหมือนที่ใครเขาขู่กัน ผมยังเป็นคนคนเดิม ยังไม่เอาไหนเหมือนเดิม ยังคงทำงานแบบเดิม ยังคงหัวเราะกับซีรีส์เรื่องเดิมและมุกตลกเหี้ยๆ เหมือนเดิม – จนกระทั่งผมอายุ 31 นั่นแหละ วันนั้นเอง ที่ความแพนิคก็เริ่มคืบคลานเข้ามาหา เราย้อนกลับไป 20 ไม่ได้แล้ว, ทางข้างหน้าคือ 32, 33, 34 และก็ต้องดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันหยุดยั้ง (นอกจากตาย) ตอนนั้นเองที่ผมรับรู้ความจริงว่าอย่างน้อยเราก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ได้ (บ้าง) แล้ว
30 แล้วไปไหน? จริงๆ ก็ไม่ได้ไปไหน แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นเลขที่ใครหลายคนตั้งไว้เป็นหลักไมล์สำคัญของชีวิต การตั้งไมล์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยมีนักจิตวิทยาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1890 นั่นเลยแหละครับ คุณ William James จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขาเขียนไว้ในหนังสือ “หลักการพื้นฐานของจิตวิทยา” ว่า “โดยส่วนมากแล้ว เมื่อพวกเราอายุสามสิบ บุคลิกของพวกเราก็จะคงที่เหมือนกับปูน และมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว”
ผมอายุเข้าเขตเลข 3 มาได้ไม่นาน (ตอนนี้อายุ 32 ย่าง 33 ปี – ก็สามปีเต็ม) ไม่นานพอที่จะรู้ได้ว่าตัวเองเปลี่ยนไปไหมอย่างไร (หรือหากเปลี่ยนก็คงไม่รู้) แต่ดูเหมือนว่าความคิดเรื่อง “30 แล้ว คุณจะเปลี่ยนไม่ได้อีกแล้ว” ก็ได้รับการยืนยันพอสมควรจากนักจิตวิทยาหลายๆ ท่าน หนังสือพิมพ์ The Independent เคยสัมภาษณ์นักจิตวิทยาสองสามคนถึงเรื่องนี้ ก็ได้รับความเห็นไปในทางเดียวกัน เช่น Kirsten Godfrey ให้ความเห็นว่า “เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าบุคลิกหรือลักษณะนิสัยจะมีความเซ็ตตัวในระดับหนึ่งในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงช่วง 20 กลางๆ ดังนั้นเมื่อคุณอายุ 30 บุคลิกของคุณก็จะเข้ารูปเต็มที่แล้ว” หรือ David Buss จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสก็แสดงความเห็นในแบบเดียวกันว่า “สรุปก็คือลักษณะนิสัยและบุคลิกนั้นจะคงที่มากขึ้นเรื่อยๆ ความคงที่นี้ก็เริ่มตั้งแต่อายุ 30 เป็นต้นไปนั่นแหละ”
หากวัดจากฐานบุคลิกภาพที่นักจิตวิทยาใช้กันทั่วไป บุคลิกของคนจะแบ่งได้เป็นห้าด้านคือ Openess (ความเปิดรับประสบการณ์) Extraversion (ความสนใจต่อสิ่งภายนอก) Conscientiousness (ความพิถีถิถัน) Agreeableness (ความยินยอมเห็นใจ) และ Neuroticism (ความไม่เสถียรทางอารมณ์) งานวิจัยบอกว่าระหว่างช่วงอายุ 18-30 คนเรามักจะเสถียรทางอารมณ์น้อยลง เก็บตัวมากขึ้น และเปิดรับประสบการณ์ต่างๆ น้อยลง แต่ในทางกลับกัน ก็จะยินยอมเห็นใจและมีความพิถีิพิถันมากขึ้น แต่เมื่อผ่านอายุ 30 ไปและแก่ตัวลงเรื่อยๆ เราก็จะเสถียรทางอารมณ์มากขึ้นไปเอง
ถึงจะบอกว่า “หลังอายุ 30 บุคลิกของภาพของเราจะคงที่” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย มันเปลี่ยนแปลงได้ในระดับละเอียดมากขึ้นต่างหาก คล้ายกับการขึ้นโครงรูปปั้นไว้ แล้วค่อยๆ สลักรายละเอียดลงไปด้วยประสบการณ์อย่างเช่นการได้งานใหม่ การแต่งงานหรือการมีลูก มีงานรีวิววิจัย 152 ชิ้นที่พบว่าถึงลักษณะนิสัยของเราจะเซตตัวในช่วงวัย 20 แต่ในวัย 30 ขึ้นไป เราก็ยังเปลี่ยนแปลงไปอยู่ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้าลงและหากอยากจะเปลี่ยนตัวเองจริงๆ ก็จะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
ไบรอัน ลิทเทิล เขียนไว้ในหนังสือ Me, Myself and Us: The Science of Personality and the Art of Well-being ว่า ถึงแม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ แต่เราก็เลือกเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ถ้าเราพยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้ต่างไปจากบุคลิกจิรงๆ มากเท่าไหร่ เราก็อาจต้องใช้แรงมากขึ้นเท่านั้น เขายกตัวอย่างว่าสมมติว่าคน Introvert พยายามที่จะร่าเริงและเข้าสังคมแบบ Extrovert ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย พวกเขาทำได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องกลับมา “ชาร์จแบต” ด้วยการอยู่กับตัวเองที่บ้านทีหลังเท่านั้นเอง เหมือนกัน คนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคนอื่น พยายามจะเห็นด้วยกับคนอื่น ฟังคนอื่นโดยไม่ขัด ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ พวกเขาทำได้ แค่ต้อง ‘ควบคุม’ ตัวเองให้มากหน่อย และอาจต้องกลับมาชาร์จตัวเองภายหลัง (เช่น อาจไปลงกับการต่อยมวย)
แล้วถ้าหากอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรืออยากทำอะไรที่ ‘สุดๆ’ ที่ต้องใช้แรงฮึบเยอะๆ ทำตอนไหนดี? Daniel H. Pink นักจิตวิทยาชื่อดัง เสนอไว้ว่า คนเรามักจะทำอะไรสุดๆ (extreme) ก็ตอนที่อายุลงท้ายด้วย -9 นั่นแหละ (ฟังแล้วนึกถึงเรื่องรักเจ็ดปีดีเจ็ดหนที่บอกว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกเจ็ดปี) เขาไปศึกษากลุ่มคนที่เรียกว่า ‘Nine-enders’ (หรือแปลตรงๆ ก็คือพวกอายุจบด้วยเลขเก้า) ว่ามีแนวโน้มจะฮึบขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ผมคิดว่าเหตุผลเห็นได้ชัดอยู่แล้ว ว่าเป็นเพราะคนกลุ่มนี้อาจรู้สึกว่า เฮ้ย อีกนิดนึงฉันจะขึ้น “เลข” ถัดไปแล้ว อีกปีนึงฉันจะ 30,40,50 แล้ว ฉันขอใช้เวลา “ฮึบสุดท้าย” ในการทำอะไรสุดๆ หน่อยละกัน แดเนียล พิงค์เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “พลังแห่งจุดจบ” (power of ending) โดยบอกว่า ยิ่งเรารู้สึกว่าสิ่งใดมีจุดจบที่เซตไว้ตายตัว เราก็ยิ่งให้คุณค่า/ทำ/ฮึบกับสิ่งนั้นมากเท่านั้น
แดเนียลอ้างคำพูดของนักจิตวิทยาสังคม Adam Atler และ Hal Hershfield ว่า:
“พวกเรามักจะประเมินคุณภาพหรือความสำคัญของตัวเองตามทศวรรษ คนที่อายุจบเลข 9 ก็อาจคำนึงถึงเรื่องที่ตัวเองแก่ตัวลงไปทุกวัน และคิดถึงความหมายของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามหาความหมายของชีวิตในทางอื่น”
สุดท้ายเรื่องนี้บอกอะไรกับเรา? มันกำลังบอกผมว่ายิ่งเวลาผ่านไป เราก็ยิ่งควรรู้สึกสบายใจกับการเป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แน่ล่ะครับ เราก็ต้องมีส่วนที่ไม่ชอบตัวเองและอยากเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งมันก็คงพอจะทำได้หากพยายามและใช้แรงมากหน่อย (อาจทำได้ผลมากๆ ในช่วงอายุจบด้วยเลข 9, ไว้รอผมอายุ 39 ละกันนะจะวิ่งรอบโลกให้ดู (บ้า)) แต่สุดท้าย หากเราพยายามแล้วเรารู้สึกว่าไม่ใช่ เราก็ต้องกลับบ้าน,
กลับมาเป็นตัวเองอยู่ดี
“I like getting older. I feel like I’m finally aging into my personality”
– Nick Miller, New Girl
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่_5_อย่าง
https://mic.com/articles/108792/something-amazing-happens-when-you-turn-30-says-science#.vxepUJyuk
https://www.thecut.com/2014/11/how-much-can-you-really-change-after-30.html
https://www.theatlantic.com/health/archive/2016/01/when-are-you-really-an-adult/422487/
https://www.theatlantic.com/health/archive/2018/01/the-end-is-near-time-to-run-faster/549014/