‘ทำงาน 4 วัน’ นับเป็นเทรนด์ที่เหล่ามนุษย์ออฟฟิศถวิลหา ในวันที่แรงกดดันจากการทำงานออฟฟิศกดทับจนพนักงานจำนวนไม่น้อยหมดไฟก่อนเวลาอันควร บางคนไม่มีเวลาขยับแข้งขาหรือนอนพักผ่อนให้เพียงพอจนป่วยกาย บางคนเครียดหนักจนป่วยใจ ความเหนื่อยล้าจากการทำงานแต่ละวันชวนให้ตั้งคำถามดังๆ กับตัวเองว่า ‘เราทำงานไปทำไม?’
ช้าก่อน! อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าพวกเราคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่สู้งาน หากย้อนกลับไปพิจารณาชั่วโมงการทำงานในอดีตจะพบว่ามีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1880s ที่ลูกจ้างต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุดพักเฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 100 ชั่วโมง ก่อนเหล่าแรงงานจะต่อรองปรับลดลงมาเหลือทำงาน 6 วันวันละ 10 ชั่วโมงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1920s กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 1940s การหยุดงานสัปดาห์ละ 2 วันและทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ และหลายประเทศรวมถึงไทยยังยึดถือปฏิบัติมาจวบจนปัจจุบัน
แนวโน้มเวลาทำงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930s นักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์อย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) คาดว่าในศตวรรษหน้าเราจะทำงานกันแค่สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง แม้แต่คณะกรรมการวุฒิสภาของสหรัฐฯ ก็เคยมีรายงานในปี 1965 ที่คาดว่าเราจะทำงานเพียง 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ภายในปี 2000 โดยมีตัวช่วยสำคัญคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
แต่ทุกคนคงทราบดีว่าพวกเขาทายพลาด เพราะปัจจุบันแรงงานชาวไทยก็ยังต้องทำงานหลังขดหลังแข็งกันร่วม 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งก็เริ่มขยับปรับลดเวลาทำงานเหลือเพียงราว 32 – 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวก็ยังห่างไกลจาก 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
การระบาดของโควิด-19 เป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานอันยาวนานแสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน บางประเทศ เช่น เบลเยียม ออกกฎหมายเปิดทางให้พนักงานเลือกทำงาน 4 วันหรือ 5 วันก็ได้ตราบใดที่เวลาทำงานยังเท่าเดิม บางประเทศเช่นไอซ์แลนด์สนับสนุนเหล่าลูกจ้างลดเวลาทำงานเหลือสัปดาห์ละ 35 ถึง 36 ชั่วโมง บางบริษัทก็ทดลองให้พนักงานบางส่วนทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เช่น ไมโครซอฟต์ในญี่ปุ่น และยูนิลีเวอร์ในนิวซีแลนด์
แม้ผลลัพธ์จากการทดลองจะพบว่าพนักงานต่างพึงพอใจอย่างยิ่งต่อเวลาทำงานที่ลดลง (แหงสิ!) มีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ที่น่าประหลาดใจคือผลิตภาพกลับไม่ลดลงแต่อย่างใด กระนั้นหลายประเทศหลากบริษัทก็ยังไม่กล้าที่จะเสี่ยง ส่วนหนึ่งเพราะการทดลองส่วนใหญ่มักดำเนินการในระยะสั้นๆ นิยามการทำงาน 4 วันซึ่งแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมากนัก
ช่องว่างดังกล่าวนำไปสู่การก่อตั้งมูลนิธิ 4 Day Week Global โดยแอนดรูว์ บาร์นส์ (Andrew Barnes) และชาร์ล็อตต์ ล็อกฮาร์ท (Charlotte Lockhart) เพื่อมองหาอาสาสมัครบริษัทจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมโครงการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พร้อมกับส่งข้อมูลรายเดือนให้กับทีมวิจัย และเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้สัมภาษณ์พนักงานในบริษัท ปัจจุบันโครงการดังกล่าวนำร่องในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สำหรับใครที่สงสัยเรื่องผลลัพธ์ก็ไม่ต้องอดใจรออีกต่อไป เพราะรายงานการศึกษาฉบับเต็มของการทดลองในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวดำเนินการโดยสถาบันวิชาการที่เป็นอิสระ อาทิ บอสตันคอลเลจ (Boston College) มหาวิทยาลัยคอลเลจดับบลิน (University College Dublin) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)
ทำงานสี่วันด้วยสูตร 100-80-100
ลักษณะการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันออกไป บริษัทที่เข้าร่วมการทดลองจึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการลดเวลาการทำงานได้ตามความเหมาะสมตราบใดที่เป็นไปตามสูตร 100-80-100 ซึ่งหมายถึงจ่ายค่าจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ เวลาทำงานลดเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ และสร้างผลงานตามมาตรฐานแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าบริษัทจะหยุดอย่างพร้อมเพรียงกันเพิ่มอีกหนึ่งวันต่อสัปดาห์ หรือเปิดทำการห้าวันแต่ให้พนักงานสลับกันหยุดเพิ่มอีกหนึ่งวัน หรือเปิดทำการห้าวันแต่เวลาทำงานเหลือวันละ 6 ชั่วโมง ไม่ว่าแบบไหนก็เป็นไปตามสูตร 100-80-100 ทั้งสิ้น
การทดลองครั้งนี้มีบริษัทเข้าร่วมทั้งสิ้น 33 แห่งโดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จากตอนแรกบริษัทเหล่านี้มีพนักงานจำนวนรวม 903 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 969 คนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทำการทดลอง แต่ทีมวิจัยก็ไม่ได้ปล่อยให้บริษัทเหล่านี้ไปตายเอาดาบหน้า เพราะก่อนเริ่มทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ทีมวิจัยใช้เวลาสองเดือนในการจัดประชุมและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่เคยมีประสบการณ์ลดเวลาทำงานด้วยสูตร 100-80-100
เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน เวลาทำงานในแต่ละสัปดาห์เฉลี่ยลดลงจาก 40.83 ชั่วโมงเหลือ 34.83 ชั่วโมง แม้ว่าจะไม่ได้ลดเหลือ 32 ชั่วโมงอย่างที่คาดหวังแต่ก็เป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผลลัพธ์ในฝั่งพนักงานก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาด เพราะพนักงานรู้สึกพึงพอใจอย่างยิ่งกับระบบใหม่ (คะแนนความพึงพอใจ 9.1 จาก 10 คะแนน) โดย 96.9 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้บริษัทยึดนโยบายนี้ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังประเมินความสามารถในการทำงานของตนเองสูงขึ้น ทั้งนี้ไม่พบว่าเวลาทำงานที่น้อยลงจะส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นหรือบีบคั้นขึ้น หรือรู้สึกว่าตนเองสูญเสียความมั่นคงในหน้าที่การงานแต่อย่างใด ยังไม่นับเรื่องสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ความเครียดและความกังวลจากการทำงานที่ลดลง มีเวลาออกกำลังกายเพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์ และรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตตนเองมากขึ้นอีกด้วย
การลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ยังส่งผลที่หลายคนนึกไม่ถึง การมีวันหยุดเพิ่มอีกหนึ่งวันทำให้พนักงานมีเวลาทำงานบ้าน ดูแลคนที่เรารักในครอบครัวทั้งเด็กๆ และคนชรา ให้เวลากับตัวเอง หาเวลาทำงานอาสาสมัคร และงานอดิเรก ที่สำคัญคือยังช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนเพราะไม่ต้องเดินทางมาทำงานหนึ่งวันต่อสัปดาห์
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่านโยบายดังกล่าวส่งผลอย่างไรต่อผลประกอบการของบริษัท เพราะต่อให้พนักงานมีความสุขล้นเพียงใด แต่ถ้าบริษัทอยู่ไม่ได้ก็อาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาว
ตัวชี้วัดที่สำคัญอันดับต้นๆ ในโลกธุรกิจก็คงหนีไม่พ้นรายได้ งานวิจัยชิ้นนี้พบว่ารายได้ของบริษัทในช่วงทดลองเพิ่มขึ้นถึง 8.14 เปอร์เซ็นต์ แต่หากคำนึงถึงความผันผวนตามฤดูกาลแล้วนำช่วงเวลา 6 เดือนที่ทำให้การทดลองไปเทียบกับ 6 เดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะคิดเป็นสัดส่วนที่สูงลิ่วคือ 37.55 เปอร์เซ็นต์ บริษัทที่ทำงานสี่วันยังสามารถรับสมัครพนักงานใหม่ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ผลลัพธ์ที่เลิศลอยนี้ทำให้บริษัท 18 จาก 27 แห่งตัดสินใจว่าจะใช้ระบบทำงาน 4 วันต่อไป ขณะที่ 7 แห่งวางแผนว่าจะดำเนินการเช่นนี้ต่อแต่ปัจจุบันยังไม่ได้ตัดสินใจ ส่วนบริษัทที่เหลือก็ไม่มีแห่งใดเลยที่ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่ใช้ระบบนี้อย่างแน่นอน
เวลาทำงานน้อย แต่ได้ผลงานมาก
คำอธิบายผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับเวลาทำงานที่น้อยลงก็เพราะเหล่าพนักงานที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอและมีความสุขมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดียิ่งขึ้น เวลาที่จำกัดบีบบังคับให้พวกเขาต้องจัดลำดับความสำคัญ พร้อมกับทุ่มเทที่จะจัดการงานสำคัญให้สำเร็จ ไม่ใช่หมดเวลาไปกับเรื่องจิปาถะที่เหมือนจะสำคัญแต่ความจริงแล้วไม่ได้สลักสำคัญอะไร
สำหรับเหล่ามนุษย์ออฟฟิศ ยอมรับเถอะว่าน้อยคนที่จะทำงานแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย หลายต่อหลายครั้งที่ระหว่างวันเราก็จะนั่งว่างๆ หรือเนียนเข้าไปร่วมประชุมแบบที่ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ หากตัดเวลาว่างเหล่านี้ออกไปแล้วจูงใจด้วยการได้นอนเล่นที่บ้านเพิ่มอีกหนึ่งวัน คนจำนวนไม่น้อยอาจทำงานเสร็จภายใน 4 วันได้แบบไม่ลำบากยากเย็นนัก
ยังไม่นับเรื่องความป่วยไข้ที่มักนำไปสู่การลางาน หากพนักงานได้พักผ่อนเต็มที่และมีเวลาออกกำลังกายผ่อนคลายความเครียด สุขภาพใจและสุขภาพกายที่ดีขึ้นย่อมส่งผลให้จำนวนวันที่พนักงานลางานลดลง และไปสู่ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นในภาพรวมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้ทำงาน 4 วันก็เผชิญกับคำถามไม่น้อยเช่นกัน เพราะปัจจุบันงานนั้นมีหลากหลายรูปแบบและแต่ละงานมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน เช่น งานที่ต้องใช้ความรู้อย่างเหล่าพนักงานออฟฟิศ และงานที่ต้องใช้แรงงานอย่างการก่อสร้างหรือซ่อมแซมบำรุงอาคาร แน่นอนว่าการลดเวลาทำงานสำหรับแรงงานทั้งสองกลุ่มย่อมได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
บางงานก็ไม่จำเป็นต้องสร้างผลิตภาพอยู่ตลอดเวลา เช่น งานในเอเจนซีโฆษณาที่อาจต้องนั่งเฉยๆ เพื่อรอเวลาประชุมกับลูกค้า หรือพนักงานในร้านอาหารที่มีช่วงว่างเพราะไม่มีลูกค้าในร้าน การปรับเวลาทำงานเหลือ 4 วันสำหรับแรงงานบางกลุ่มจึงเป็นการเพิ่มเวลาว่างให้กับพวกเขาและเธอ แต่สำหรับแรงงานอีกกลุ่มหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มเงื่อนไขข้อบังคับที่ทำให้ใช้ชีวิตยากกว่าเดิม
ความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวทำให้เราอาจไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบว่าเราควรทำงานสัปดาห์ละกี่วันหรือวันละกี่ชั่วโมง แต่หากการงานในปัจจุบันสร้างปัญหาทั้งกายและใจต่อเหล่าแรงงานส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ การกลับมาทบทวนเพื่อลดเวลาการทำงานให้เหมาะสมกับยุคสมัยอาจเป็นบทสนทนาสำคัญที่เราต่างละเลยกันมาเนิ่นนาน
ส่วนนายจ้างคนไหนที่กังวลว่าเวลาทำงานที่น้อยลงจะเป็นปัญหา ผมอยากให้เปิดใจแล้วพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าเวลาทำงานที่น้อยลงไม่ได้สร้างปัญหา แต่การบีบคั้นให้พนักงานทำงานยาวนานต่างหากที่อาจทำลายผลิตภาพของบริษัทในระยะยาว
อ้างอิงข้อมูลจาก
4 Day Week Global – US/Ireland Pilot Program Results
Our World in Data – Working Hours
These companies ran an experiment: Pay workers their full salary to work fewer days
Four-day week: Which countries have embraced it and how’s it going so far?