1
ตอนเด็กๆ เวลาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมจะรู้สึกเหมือนเหตุการณ์นี้เป็น ‘ผี’ หรือเป็นสิ่งลี้ลับน่าสะพรึงกลัวที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูคร่ำคร่าบนห้องใต้หลังคาในบ้านผีสิง
ที่ผ่านมา เวลาถึงวาระครบรอบเหตุการณ์ตุลาคม (ไม่ว่าจะ 14 หรือ 6) หลายคนพบว่าคนมักจะให้ความสนใจน้อยลงเรื่อยๆ งานแต่ละครั้งหงอยลงๆ เหมือนสังคมนี้ไม่ใส่ใจ และกระบวนการ ‘ทำให้ลืม’ อย่างเป็นทางการนั้นประสบความสำเร็จ
แต่ 6 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ กลับเกิดความคึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ที่สำคัญ-ไม่ได้คึกคักเฉพาะในหมู่คนเดือนตุลาฯ เหมือนอย่างที่เคยเป็นในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังคึกคักในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วย!
มีคนทวีตตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ติดแท็ก #6ตุลาฯ ในทวิตเตอร์ ไม่ได้มีแค่นักข่าวหรือคอการเมืองเท่านั้น แม้แต่คนที่เคยถูกมองว่าเป็น ‘ติ่งเกาหลี’ (ซึ่งเป็นคำที่เหยียดๆ อยู่น่ะนะครับ) จำนวนมาก ก็พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย
สำหรับผม นี่คือปรากฏการณ์ที่สำคัญมากสำหรับสังคมนี้!
เป็นไปได้ไม่น้อยว่าในแง่หนึ่ง คนรุ่นก่อนหน้านี้ (โดยเฉพาะวัย 30s-40s ที่ไม่ได้พบพานเหตุการณ์โดยตรง หรือถ้าเกิดทันก็ยังเด็กเกินกว่าจะรู้เรื่อง) อาจมองเหตุการณ์ตุลาคมว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ เป็นเรื่องของพวก Octoberist หัวโบราณ พร่ำพูดกันแต่เรื่องอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับยุคสมัย
ที่สำคัญ คนรุ่นนี้เผชิญกับ ‘กระบวนการทำให้ลืม’ อย่างเป็นระบบจากรัฐ เช่น ไม่บรรจุเรื่อง 6 ตุลาฯ ไว้ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ หรือใส่ไว้ก็เพียงย่อหน้าเดียว ซึ่งไม่มีทางบรรจุความซับซ้อนทั้งหลายได้หมด ดังนั้นคนรุ่น 30s-40s ส่วนใหญ่ จึงไม่สนใจประวัติศาสตร์เหล่านี้ ที่สำคัญ ยังมักถูก ‘กำชับ’ (ด้วยวิธีการต่างๆ) เพื่อให้มองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเป็นเรื่องน่ากลัวที่ไม่ควรเข้าไปแตะต้อง อ่านเรื่องเหล่านี้แล้วจะจิตตก ฝันร้าย หลายคนจึงเลือกที่จะ ‘ฝัง’ เรื่องเหล่านี้เอาไว้ใต้พรม ซ่อนกระดูกไว้ในตู้ ไม่ขุดมันขึ้นมาดูให้กระจ่างแจ้ง จึงเข้าทางรัฐไทย,
คือทำให้คนทั้ง ‘ลืม’ และ ‘กลัว’ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้!
แต่กับคนรุ่น 20s ที่มีวิธีคิดวิธีมองโลกไม่เหมือนคนรุ่นก่อน หลายคนบอกผมว่า การที่สังคมเห็นว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเป็นสิ่งลี้ลับต้องห้าม (Taboo) นี่แหละ ที่ไป empower ความอยากรู้อยากเห็นในเหตุการณ์นี้ขึ้นมา คนรุ่นใหม่เกิดความ ‘อยากรู้จัก’ เหตุการณ์เหล่านั้น โดยต้องเป็นการรับรู้หรือมี perception ในแบบของพวกเขาเองด้วยนะครับ ไม่ใช่ให้ผู้อาวุโส (ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม) มาเป็นผู้บอกเล่า แล้วเด็กๆ รุ่นใหม่รับรู้แบบ passive เท่านั้น
ที่สำคัญ เด็กรุ่น 20s ต้องเติบโตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งยาวนานนับสิบๆ ปีของยุคปัจจุบันนั้น พวกเขารู้อยู่เต็มอก ว่าความขัดแย้งเหล่านี้มีที่มาจาก ‘คนรุ่นก่อน’ ทั้งนั้น แถมเกือบทั้งหมดยังเป็นความขัดแย้งที่มีคนรุ่น Octoberist เป็นตัวการขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง (ไม่ว่าจะฝ่ายไหน) เสียด้วย
คืออย่าคิดว่าคนรุ่น 20s เป็นพวกเด็กเจนวายเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออิ๊กนอแรนต์นะครับ เพราะเท่าที่ผมได้คุยกับน้องๆ เหล่านี้หลายคน จำนวนมากมีความรู้สึกสำคัญเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ‘รำคาญ’ พวกคนแก่ๆ ทั้งหลายที่ครองอำนาจและทะเลาะขัดแย้งเล่นลิ้นกันอยู่ตลอดเวลา ไม่นำ ‘ความจริง’ มาเปิดเผยกันเพราะเกรงจะ ‘เข้าตัว’ จึงมีเด็กรุ่นใหม่วัย 20s ไม่น้อยที่ลุกขึ้น ‘ขุดค้น’ เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง ผมเพิ่งรู้จักกับน้องคนหนึ่งที่ตามล่าหาเอกสารเก่าๆ มาเก็บสะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงงานศพของจอมพลสฤษดิ์ หรือหนังสือพระเครื่องที่สนับสนุนการฆ่าคนในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ‘หลักฐาน’ สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ในแง่หนึ่ง การถูก ‘ตัดขาด’ จากเรื่องตุลาคมไประยะหนึ่ง (ผมเข้าใจว่าอย่างน้อยๆ ก็เป็นสิบปี) ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ‘รับรู้’ (perceive) เหตุการณ์ตุลาคมว่าเป็น ‘ของใหม่ในชีวิต’ ซึ่งพูดได้ว่า ‘ใหม่เอี่ยม’ จริงๆ เพราะคนรุ่นก่อนแทบไม่ยอมให้คนรุ่นนี้ได้ทำความรู้จัก
ในอีกแง่หนึ่ง 6 ตุลาฯ ที่คนรุ่นผม ‘ถูกสั่ง’ จาก ‘ผู้ใหญ่’ ทั้งหลายว่าเป็นเรื่องลี้ลับแตะต้องไม่ได้ ก็ได้ถูก mentality ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจโครงสร้างอำนาจแนวดิ่งรื้อทำลายลง อย่างที่บอกว่า คนรุ่นผมอาจมอง 6 ตุลาฯ ว่าเป็นเหมือนประตูลึกลับในบ้านผีสิง-เลยไม่กล้าเปิด แต่เด็กรุ่นใหม่ดูหนังผีฝรั่งมาเยอะ พวกเด็กฝรั่งนี่ ถ้าเห็นประตูลึกลับในบ้านผีสิง ก็ต้อง ‘เปิด’ ออกมาดูให้รู้แจ้ง ว่ามันมีผีอยู่หลังประตูจริงหรือเปล่า ดังนั้น แทนที่จะเห็น 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องลี้ลับแตะต้องไม่ได้ ก็เลยเห็นว่า-ลี้ลับดีนักใช่ไหม, มาเปิดดูให้กระจะตากันเถอะ
ประจวบกับเกิดการก่อตัวขึ้นของเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้าไปพังทลายวิธีรับรู้ของผู้คนในแบบเก่าๆ ลง (เช่นสมัยก่อนปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้ หรือต้องรับรู้ผ่านสถาบันสื่อเท่านั้น-เลยทำให้เกิดการบิดเบือนได้ง่าย) คนสมัยนี้จึงสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้หลากหลาย และสามารถ ‘ตรวจสอบ’ ข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกันได้ในชั่วพริบตา
เอาเข้าจริงพวกเขาจึงอาจรู้ว่า ‘อะไรเป็นอะไร’ มากกว่าคนที่ผ่านพบเหตุการณ์มาด้วยตัวเองแต่เห็นเหตุการณ์เพียงเสี้ยวเดียวด้วยซ้ำ!
ปรากฏการณ์ติดแท็กหกตุลาฯ ในทวิตเตอร์ หรือความสนใจล้นหลามของเด็กรุ่น 20s ต่อเหตุการณ์นี้ จึงเหมือนประกายแห่งการกรุยทางไปสู่การเปิดเผย ‘ความซับซ้อนของความจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังประตูลึกลับในบ้านผีสิงหลังนั้น
ซึ่งเมื่อเปิดออกมาแล้ว จะเป็นผีหรือไม่ผี-ก็จะได้รู้กัน!
2
อย่างไรก็ตาม การเปิดประตูลึกลับก็อาจต้องใช้กุญแจไขด้วย มีหลายคนถามผมว่า ควรหา ‘กุญแจ’ ในรูปของหนังสือที่น่าอ่านเพื่อทำความเข้าใจในการเปิดประตูอย่างไรบ้าง พอนึกถึงหนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ขึ้นมาบางเล่ม ก็เลยคิดต่อไปอีกว่า ที่จริงเราไม่ควรอ่านแค่หนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เท่านั้น เพราะ 6 ตุลาฯ แม้จะเป็นบทเรียนสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์ทั้งปวงของสังคมการเมืองไทย มีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ เลยอยากใช้พื้นที่ตรงนี้แนะนำ ‘กุญแจ’ ไขประตูบานนั้นและบานอื่นๆ โดยอาจจะเริ่มต้นจากประตูที่ลี้ลับที่สุด คือเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก่อนก็ได้
หนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ที่ผมคิดว่าน่าจะทำให้เราได้ ‘รู้จัก’ กับความคิดโดยตรงของคนในยุคนั้นแบบง่ายๆ คือหนังสือประเภทที่เป็นบันทึกความทรงจำ เช่น ‘หยดหนึ่งในกระแสธาร’ ของ ฤดี เริงชัย ซึ่งเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนที่ประมวลความคิดเห็นต่อการเมืองไทยตั้งแต่ผู้เขียนยังเด็ก ผ่านการเป็น ‘จัดตั้ง’ ในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ มาจนถึง 6 ตุลาฯ การเข้าป่า การทำสถานีวิทยุ สปท. ที่คนในสังกัด พคท. ฟังกันทั้งประเทศ การพบเผชิญกับปมเงื่อนต่างๆ รวมถึงความขัดแย้งภายในขบวนการที่ซับซ้อนมาก
อีกเล่มหนึ่งคือ ‘น้ำป่า’ ของ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เป็นบันทึกการเข้าป่า เล่มนี้เล่าถึงชีวิตในป่าอย่างละเอียดละออน่าทึ่งกับความทรงจำของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะคล้ายนำเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยจริงๆ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เขียนคำนิยมเอาไว้ว่า “ช่วยให้เรารับรู้อารมณ์ความรู้สึก ความคิดความใฝ่ฝัน ความสมหวังผิดหวัง ความฮึกเหิมท้อแท้ ความสุขความเศร้า ความอ่อนด้อยความจัดเจน ความหาญกล้าขลาดเขลา ฯลฯ” ซึ่งเป็นอย่างนั้นเลย คือไม่ได้ทำให้เราแค่ ‘รู้เรื่อง’ เท่านั้น แต่ยัง ‘รู้สึก’ ไปกับความเป็นไปทั้งหลายด้วย
แต่ถ้าใครอยากได้ภาพรวมของ 6 ตุลาฯ หนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่จริงๆ แล้วเป็นงานวิจัยมาก่อน คือหนังสือชื่อ ‘หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ ของ ธิกานต์ ศรีนารา ซึ่งเก็บข้อมูลละเอียดยิบ และให้รายละเอียดรอบด้านมาก (น่าเสียดายที่พิมพ์แค่พันเล่ม) โดยมุ่งทำความเข้าใจกับเหตุการณ์หลังจากนั้น นอกจากนี้ อาจเป็นงานที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ทราบข่าวว่ากำลังจะพิมพ์ใหม่
อีกเล่มหนึ่งที่สำคัญมาก เดิมเป็นเพียง ‘บทความ’ เกี่ยวกับบริบทของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ (คือไม่ใช่หนังสือ) ชื่อ Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup ซึ่งมีการแปลเป็นไทยในชื่อ ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’ โดย เบ็น แอนเดอร์สัน แต่สำนักพิมพ์มติชนกำลังจะนำมาพิมพ์ใหม่เป็นเล่ม โดยมีผู้เขียนบทนำและบทตามที่น่าสนใจหลายคน หนังสือเล่มนี้พาเราไปสำรวจสภาพการณ์ทางสังคมที่เขม็งเกลียวจนปะทุขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
นอกจากหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้ว กุญแจดอกสำคัญยังมีอีกหลายดอก เช่น งานเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้า อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2616 ซึ่งมีมากมายหลายเล่ม โดยเล่มสำคัญที่ควรอ่านเป็นอันดับแรกๆ ก็คือ ‘และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ’ ของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ แต่ถ้าอยากทำความเข้าใจกับสังคมไทยย้อนกลับไปอีกนิด ก็มีงานชิ้นสำคัญว่าด้วยเรื่องของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับหนังสือ ‘การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ’ ของ อ.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่ไม่ได้ให้แค่ภาพของจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพรวมของสังคมไทยทั้งหมดในยุคนั้น (และต่อเนื่องมาถึงยุคนี้ด้วย!)
สำหรับคนที่อยากได้กุญแจดอกใหญ่ เอาไว้ไขเหตุการณ์ต่างๆ แทบทั้งหมด (แต่แน่นอนกว่ากุญแจแบบมาสเตอร์คีย์นี้อาจมีฟันกุญแจที่ไม่ได้ลงตัวเนียนกริ๊บกับประตูทุกบานหรอกนะครับ) อาจอยากได้หนังสือที่ให้ ‘ภาพรวม’ ใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย แนะนำ ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับอีกเล่มที่พูดถึง mentality ของสังคมการเมืองไทยได้ดี คือ ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษแต่รวมพลนักแปลไว้หลายคน เป็นหนังสือแนววิเคราะห์ น่าอ่านหลังจาก ‘เปิดประตู’ ไขดูความลี้ลับต่างๆ มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเมืองไทยยุคใหม่จริงๆ เป็นยุคที่ผู้คนรุ่น 20s ต้องพบเผชิญ คือหนังสือชื่อ ‘ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน : รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม’ ของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่จะทำให้เข้าใจได้เกิดอะไรขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้
3
เห็นประตูลี้ลับ อยากเปิด มีกุญแจแล้ว ก็ชวนไขเข้าไปกันได้เลยนะครับ แต่ก่อนจะไข ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคนรุ่นตัวเอง (โดยเฉพาะ 40s) คือผมพบว่าเรามีหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ตุลาคมเยอะมาก อาจเพราะคนที่อยู่กับมันส่วนใหญ่เป็นนักคิดนักเขียนนักศึกษา และเหตุการณ์ก็เข้มข้นรุนแรงมาก ส่วนงานการเมืองไทยสมัยใหม่ระยะหลังก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะที่เก็บอยู่ตามโลกดิจิทัลให้สืบค้นกันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งที่เป็นข้อเขียน หนังสือ และแม้กระทั่งความคิดเห็นตามเพจต่างๆ
แต่สังเกตไหมครับ ว่าถ้าเป็นงานเกี่ยวกับยุคพฤษภา 2535 นี่ เปรียบกับสองเหตุการณ์ข้างต้นแล้วต้องบอกว่าน้อยกว่าเยอะ ซึ่งก็น่าประหลาด เพราะคนรุ่น 40s (ที่ผ่านเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 มาด้วยตัวเอง) ทำงานเป็นนักคิดนักเขียนกันไม่น้อย แต่กลับไม่ค่อยมีงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเท่าไหร่
เป็นไปได้ว่า-หลังพฤษภาฯ 35 คนรุ่นนี้อาจไม่ค่อยให้ความสนใจกับ ‘การเมืองอย่างเป็นทางการ’ กัน เพราะคิดว่าได้ ‘จัดการ’ กับอำนาจเผด็จการต่างๆ จนบรรลุเป้าหมายไประดับหนึ่งแล้ว (อย่างที่หลายคนบอกว่า ไม่เชื่อเลยว่าหลังจากนั้นจะมีการทำรัฐประหารกันได้อีก) ก็เลยหันไปสนใจ ‘การเมืองที่ไม่เป็นทางการ’ กันมากขึ้น (เช่น การเมืองเรื่องเพศ ฯลฯ)
แต่ก็นั่นแหละครับ วงจรขวาหันที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กำลังบอกเราว่า ที่จริงบ้านผีสิงหลังนี้ยังมีประตูลี้ลับให้ต้องไข มีอีกหลายห้องที่ตอกไม้กระดานปิดงำเอาไว้มืดมิด กั้นม่านเกรอะใยแมงมุมเอาไว้อีกหลายชั้น ยังมีอะไรอีกมากให้ต้อง ‘เปิด’ เพื่อให้แสงส่องต้องลงไปอีกมาก การเมืองอย่างไม่เป็นทางการนั้นสำคัญ แต่การเมืองที่เป็นทางการก็เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน
อย่าฝากเรื่องเหล่านี้ไว้ในมือคนรุ่นใหม่แต่เพียงอย่างเดียวเลยครับ