โทษประหารอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ไม่ใช่ในสังคมเกษตรด้วยนะครับ แต่อยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนเป็นนักล่าหาอาหารหรือ Hunters-Gatherers ด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ – อะไรก่อให้เกิดโทษประหารกันแน่
เรื่องนี้ คริสโตเฟอร์ โบเอห์ม (Christopher Boehm) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่สนใจเป็นพิเศษในเรื่อง Primatology หรือการศึกษาสัตว์ในกลุ่มไพรเมต (ซึ่งก็รวมทั้งมนุษย์เราตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย) (เขาเป็นผู้อำนวยการของ Goodall Research Center ที่ University of Southern California) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความชื่อ Prehistoric Capital Punishment and Parallel Evolutionary Effects (www.humansandnature.org) ซึ่งอาจแปลได้ประมาณว่า ‘โทษประหารยุคก่อนประวัติศาสตร์กับผลคู่ขนานในเชิงวิวัฒนาการ’ เอาไว้อย่างซับซ้อน และเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจมาก
เรารู้กันอยู่แล้วนะครับ ว่ามนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์กันมาได้ก็เพราะมีกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติหรือ Natural Selection แต่โบเอห์มตั้งคำถามต่อเนื่องสำหรับ ‘สัตว์ไพรเมต’ อย่างมนุษย์ว่า กระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติของเรา ไม่ได้แค่ถูกคัดเลือกไปตามเงื่อนไขธรรมชาติแบบเป็นภววิสัย คือเป็นกลางๆ ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการ น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลาไปเรื่อยเปื่อยอะไรทำนองนั้น แต่สัตว์ไพรเมตอย่างมนุษย์ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ชุดศีลธรรม (หรือ Morality) ซึ่งไปส่งผลต่อการคัดเลือกตามธรรมชาติ (และในทางกลับกัน การคัดเลือกตามธรรมชาติก็ส่งผลต่อชุดศีลธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่ต้น) ด้วย
เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน โบเอห์มตั้งข้อสังเกตว่า การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการจับมาขังเอาไว้ น่าจะเพิ่งเริ่มเกิดในราวห้าหรือหกพันปีที่ผ่านมา เมื่อเกิด ‘รัฐ’ ที่มีการเก็บภาษีขึ้นมา ทำให้รัฐหรือผู้ปกครองเห็นว่าต้อง ‘ไว้ชีวิต’ คนที่ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้เพื่อเป็นแรงงานของรัฐ แต่ก่อนหน้านั้น สังคมของสัตว์ไพรเมตอย่างมนุษย์ไม่น่าจะมี ‘วิธี’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ อื่นในการรับมือหรือจัดการกับสถานการณ์ในฝูง นอกจากการ ‘กำจัด’ กันและกันทางกายภาพ (Physical Elimination)
คำถามที่ลึกมากก็คือ แล้วแต่ละฝูงใช้อะไรมาเป็นบรรทัดฐานในการ ‘กำจัด’ กันและกันแบบนั้น?
คำตอบของโบเอห์มก็คือ ‘ชุดศีลธรรม’ นี่แหละครับ เขาบอกว่าในแต่ละฝูงจะมีชุดศีลธรรมของตัวเอง และชุดศีลธรรมนี้เอง คือเครื่องมือที่ใช้เพื่อควบคุม ‘ผู้มีความเบี่ยงเบนทางสังคม’ (Social Deviants) ในระดับต่างๆ โดยถ้าเป็นระดับรุนแรงยากจะทนทาน ก็จะถึงขั้นกำจัดสมาชิกในฝูงนั้นๆ ทิ้งไปเสีย
ในหนังสือชื่อ The Punisher’s Brain: The Evolution of Judge and Jury ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Cambridge Studies in Economics, Choice and Society เขียนโดยมอร์ริส ฮอฟฟ์แมน (Morris Hoffman) แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ก็พูดคล้ายๆ กันนะครับ
ถ้าเราไปดูสัตว์อื่นๆ ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง เราจะพบว่าสัตว์เหล่านั้นแม้จะมีการ ‘ลงโทษ’ กันอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นการลงโทษที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณมากกว่าเป็นการลงโทษที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ หรือเป็นการลงโทษเชิงสังคม ยิ่งลงโทษถึงตายยิ่งไม่ค่อยพบ ยกเว้นการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าฝูงที่อาจมีการฆ่ากันถึงตายเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นเรื่องเชิงสัญชาตญาณมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ฮอฟฟ์แมนนบอกว่า ในช่วง 100,000 ปีที่ผ่านมา สัตว์ไพรเมตอย่างมนุษย์นั้น ได้เกิด ‘วิวัฒนาการ’ เรื่อง Judge และ Jury ขึ้นมา เขาอธิบายว่า วิวัฒนาการของมนุษย์ทำให้เรา ‘ติดตั้ง’ ระบบพิพากษากันและกันจนฝังเข้าไปอยู่ในสมองของเราอย่างไรบ้าง
ฮอฟฟ์แมนพาเราย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของความเป็นมนุษย์ คือมีวิวัฒนาการจากการเป็นมนุษย์โบราณหรือ Hominid มาเป็นมนุษย์แบบปัจจุบัน โดยเขาเล่าถึง ‘ความขัดแย้ง’ (Conflict) สำคัญ ของการอยู่รวมกันเป็นฝูงของสัตว์ไพรเมตอย่างมนุษย์โบราณเอาไว้ว่า การ ‘รวมตัว’ กันเป็นกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญต่อการอยู่รอด
ดังนั้น มนุษย์จึง ‘ฝัง’ (Ingrain) แนวคิดเรื่องที่มนุษย์ต้องไม่ฆ่ามนุษย์เอาไว้ในกระบวนการวิวัฒนาการ เพราะถ้ามนุษย์ฆ่ามนุษย์ มนุษย์ย่อมไม่อยู่รอดมาได้ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต
โบเอห์มเองก็บอกคล้ายๆ กัน เขายกตัวอย่างว่า ถ้าเรากลับไปดูบัญญัติสิบประการที่โมเสสไปรับมาจากพระเจ้า (ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่โบราณนานนมแล้วกับอารยธรรมแรกๆ ของโลก) เราจะเห็นได้เลยว่าหลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานของหลายศาสนาหลักในโลกมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้วก็คือ Thou Shalt not Kill หรือมนุษย์ต้องไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง เพราะมันคือการทำลายทรัพยากรของฝูง
แต่ในเวลาเดียวกัน แต่ละ ‘ฝูง’ ก็ย่อมมี ‘กฎศีลธรรม’ (Moral Rules) ในแบบของตัวเอง แน่นอน เราย่อมมีแนวโน้มอยากร่วมมือกับคนอื่น เพราะการร่วมมือกันในฝูงย่อมทำให้ฝูงอยู่รอดได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ฮอฟฟ์แมนบอกว่า มนุษย์ก็เกิดมาเป็น ‘นักโกง’ (Cheaters) หรือนักทำร้ายคนอื่น (Bullier) ด้วยเหมือนกัน การร่วมมือกันในระดับฝูง ทำให้เราอยู่รอดในระยะยาว แต่การ ‘โกง’ หรือทำร้ายกันในบางสภาวะ ทำให้เราได้เปรียบและอยู่รอดได้ในระยะสั้น
นี่จึงเป็นความขัดแย้งของการ ‘ดำรงอยู่’ ของมนุษย์ เพราะด้านหนึ่งเราจะไม่ฆ่าใครแน่ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้า ‘นักโกง’ นั้น โกง ทำร้าย หรือทำอะไรที่ละเมิด ‘กฎศีลธรรม’ (Moral Rules) ของฝูงมากเข้า ก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอันตรายเพราะมีอาการ ‘เบี่ยงเบนทางสังคม’ (Social Deviants) ซึ่งถ้าเบี่ยงเบนมากเข้า ก็อาจถึงขั้นต้อง ‘กำจัด’ คนเหล่านี้ออกไป
รูปแบบการโกงทำร้ายคนอื่นที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง มักเกิดขึ้นจากภาวะทางจิตในแบบที่เรียกว่า Psychopath ซึ่งโบเอห์มบอกว่า เป็นภาวะที่เกิดจากความบกพร่องของสมองในส่วน Paralimbic System ทำให้ขาดความสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า Moral Emotions หรือสภาวะอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม (ซึ่งศีลธรรมที่ว่านี้ ก็เป็นเรื่องสัมพัทธ์นะครับ เลื่อนไหลไปมาได้ในแต่ละกลุ่ม)
โบเอห์มบอกว่า ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราประเมินกันแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Estimation) คือประเมินแบบเผื่อๆ ไว้ก่อนให้ได้ตัวเลขกลมๆ พบว่าในโลกปัจจุบัน จะมีประชากรที่เป็น ‘โรคจิต’ แบบที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือที่เรียกว่า Psychopath ราว 1% ถ้าเราใช้ตัวเลข 1% เดียวกันนี้ ไปประยุกต์กับคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมักจะอยู่กันเป็นกลุ่ม กลุ่มละราว 25 คน ก็แปลว่าในราวสี่กลุ่ม จะมีคนที่เป็น Psychopath ราว 1 คน และมีพฤติกรรมรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนอื่นในกลุ่ม พฤติกรรมอันตรายเหล่านี้มักจะคุกคาม ‘ชุดศีลธรรม’ ของกลุ่ม ทำให้ในที่สุด กลุ่มนั้นๆ ก็ต้อง ‘กำจัด’ สมาชิกที่ว่านี้ไป
มีผู้เสนอว่า สังคมของนักล่าหาอาหารเมื่อหมื่นปีที่แล้วนั้น เป็นสังคมที่ไม่ได้รู้หนังสือ คือไม่มีการจดจารอะไร ทำให้ไม่มี ‘ศาสนา’ เชิงสถาบันมากพอที่จะช่วยให้สังคมเหล่านั้นสร้างกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม (Moral Rules) ขึ้นมา แต่โบเอห์มแย้งว่า กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมพวกนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ และจำนวนมากก็เป็นกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อแบบเหนือธรรมชาติ (Supernatural Beliefs) ที่เข้ามาโยงใยเกี่ยวพันกับชุดศีลธรรมของฝูงนั้นๆ ด้วย โบเอห์มเสนอว่า ถ้าดูแค่เรื่อง Psychopath เรื่องเดียว เราน่าจะพอบอกได้ว่า มนุษย์เรามีการใช้ ‘โทษประหาร’ (Capital Phunishment) กันมานานอย่างน้อย 45,000 ถึง 80,000 ปีแล้ว ส่วนการลงโทษในแบบอื่นๆ ก็น่าจะมีมาก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่าแสนปี
ด้วยเหตุนี้ การดำรงอยู่ของมนุษย์ในฐานะฝูง กลุ่ม หรือสังคม จึงคือการดำรงอยู่บนสองหลักการที่ขัดแย้งกัน หลักการแรกก็คือ ‘ต้องไม่ฆ่า’ (ไม่ใช่เพราะว่ามีศีลธรรมแบบพระเจ้า แต่เพราะมีศีลธรรมแบบมนุษย์ คือการไม่ฆ่าทำให้ฝูงอยู่รอดในระยะยาว) กับ ‘ต้องฆ่า’ คนที่ละเมิดกฎศีลธรรมของกลุ่มหรือฝูงทิ้ง ซึ่งก็ด้วยเหตุผลเดียวกันอีกนั่นแหละครับ คือทำให้ฝูงอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็ทำให้เกิดการคานกันของอำนาจที่เกิดจากอุดมการณ์สองแบบขึ้นมา โดยการกำจัด (หรือ ‘โทษประหาร’) ที่เกิดขึ้น จะเกิดจาก ‘อำนาจร่วม’ ของคนในสังคมหนึ่งๆ เพื่อจะ ‘อนุมัติ’ ให้เกิดการฆ่าขึ้นมา ดังนั้น การฆ่านั้นจึงต้องมี ‘อำนาจที่ชอบธรรม’ เหนือหลักการ Thou Shalt not Kill จากพระเจ้า โดยสิ่งที่จะนำมาคัดง้างหลักการใหญ่นี้ได้ ต้องเป็นชุดศีลธรรมที่มี ‘ความชอบธรรม’ ในตัวเองมากเพียงพอ
คำถามก็คือ – แล้วอะไรคือชุดศีลธรรมที่ชอบธรรมล่ะครับ?
โบเอห์มบอกว่า ชุดศีลธรรมที่สัตว์ไพรเมตในฝูงเห็นว่าชอบธรรมนี้ อาจไปไกลถึงขั้นเป็น Righteous Morality หรือเป็นชุดศีลธรรมที่เห็นว่าตัวเองเที่ยงธรรมถูกต้องที่สุดก็ได้ ความ Righteous (หรือ Righteousness) จำเป็นต้องเกิดขึ้นในตัวมนุษย์ เพราะมันจะต้องเอาชนะหลักการ Thou Shalt not Kill ของพระเจ้า Righteousness (หรือ ‘ความเป็นคนดี’) ที่สร้างขึ้น จึงต้องสร้างให้ถึงที่สุด ถึงจะเอาชนะพระเจ้าและคัดง้างอำนาจที่พระเจ้าสั่งมา (และ ‘ฝัง’ อยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์) ได้
ปัญหาก็คือ Righteous Morality นั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามัน Righteous เกินระดับที่ควรเป็นไปแล้ว จนทำให้เกิดการ ‘ฆ่า’ (ในนามของโทษประหาร) ที่เกินจำเป็น เกินควร หรืออาจถึงขั้นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการ ‘กำจัด’ คนกลุ่มอื่นๆ ในฝูงหรือในสังคม – โดยใช้ชุดศีลธรรมที่ตัวเองสมาทานอยู่เป็นข้ออ้าง
ที่จริงต้องบอกด้วยนะครับ ว่าคนเรามีการตอบสนองต่อการกระทำของ ‘นักโกง’ (หรือนักทำร้าย) แตกต่างกัน บางคนอ่อนไหวต่อบางเรื่องมากกว่าบางคน บางคนถูกกระทำด้วยเรื่อง A ก็อยากลุกขึ้นไปฆ่า (หรือกำจัด) คนที่เป็นผู้กระทำให้ล้มตายหายสูญไป แต่บางคนก็แค่ยักไหล่ไม่ยี่หระ ต้องเป็นเรื่อง B ต่างหากที่ร้ายแรงกับตัวเองมากกว่า
ในโลกสมัยใหม่ เราจึงใช้วิธีจัดการกับคนที่เราพิพากษาว่าเป็น ‘นักโกง’ (หรือนักทำร้าย) ด้วยการ ‘กำจัด’ ไปจากสังคมแบบชั่วคราว วิธีการก็คือนำคนเหล่านี้ไปขังคุกไว้ให้พ้นหูพ้นตา แต่เป็นวิธีการแบบนี้นี่แหละครับ ที่ฮอฟฟ์แมน (และนักวิชาการอีกหลายคน) ชี้ว่าอาจทำให้เกิดปัญหา และเป็นปัญหาที่ ‘ลึก’ ลงไปในความเป็นมนุษย์ รวมถึงลึกลงไปในกระบวนการ ‘วิวัฒนาการ’ ของมนุษย์เราด้วย
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมนุษย์เราอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ มาเป็นแสนๆ ปี (เพิ่งจะมาอยู่รวมกันเป็นเมืองใหญ่หรือเป็นรัฐเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง) ดังนั้น สมองของเราจึงคุ้นเคยกับการ ‘เป็นพยาน’ และ ‘มองเห็น’ การลงโทษคนที่เป็นนักโกง นักทำร้าย หรือฆาตกรผู้ละเมิดหรือเบี่ยงเบนไปจากกฎศีลธรรมของสังคม แต่เมื่อการลงโทษแบบยุคใหม่คือการเก็บคนเหล่านี้ไปให้พ้นหูพ้นตา เหยื่อและสาธารณชนจึงมีโอกาสได้เห็นเพียงถ้อยคำพิพากษาว่าคนที่ทำผิดกฎศีลธรรมของสังคมนั้นๆ จะต้องถูกกำจัด (ชั่วคราว – ด้วยการขัง) ไปนานแค่ไหน หรือแม้กระทั่งถูกกำจัดถาวร (ด้วยโทษประหาร) อย่างไร แต่ไม่ได้ ‘เห็น’ ด้วยตาของตัวเองเหมือนที่เคยเป็นสมัยที่ยังเป็นสัตว์ไพรเมตหรือมนุษย์ยุคโบราณกันอยู่
การที่เหยื่อหรือสาธารณชนที่ได้อ่านเรื่องอาชญากรรมต่างๆ ไม่ได้ ‘เห็น’ การลงโทษด้วยตาตัวเองนี้ ฮอฟฟ์แมนบอกว่าทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้เติมเต็มความรู้สึกสาสมให้ตัวเอง จึงเกิดภาวะ ‘ตัดขาด’ (Disconnect) ระหว่างการกล่าวโทษ (Blame) กับการลงโทษ (Punishment) ขึ้นมา
ยิ่งถ้ากระบวนการยุติธรรมแบบนี้ถูกนำมา ‘วาง’ อยู่บนสังคมที่มีความยุติธรรมน้อยหรือไม่มีเลย เช่น ในชีวิตทั่วๆ ไป คนรวยทำผิดไม่ต้องได้รับโทษ หรือมีการตัดสินความผิดที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในคนแต่ละกลุ่มที่อาจมีสถานะแตกต่างกัน ฯลฯ ก็เป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เกิด ‘ความรู้สึกร่วม’ อัน ‘รุนแรง’ ขึ้นมาในระดับจิตใต้สำนึกร่วมที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการวิวัฒนาการอันยาวนาน ทำให้เกิดความปรารถนาจะ ‘ลงโทษ’ หรืออย่างน้อยก็ ‘เป็นพยาน’ ในการเห็นการลงโทษที่รุนแรงนั้นให้ ‘สาสม’ ที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นหลายระดับ ทั้งการถูกความไม่ยุติธรรมกดทับอยู่เป็นเวลานาน และการไม่มีโอกาสได้เห็นการลงโทษด้วยตาของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความอัดอั้นตันใจทั้งในทางสังคม ทางศีลธรรม และลึกลงไปกระทั่งถึงกระบวนการวิวัฒนาการที่ฝังอยู่ในสมองมาตั้งแต่เรายังเป็นสัตว์ไพรเมตและมนุษย์โบราณ
ประวัติศาสตร์ของโทษประหารกับวิวัฒนาการของความสาสม จึงเกี่ยวพันกันอย่างนี้เอง