ช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคมปีก่อน สำนักพิมพ์ openworlds ได้ตีพิมพ์หนังสือ A Little History of Religion ผมประทับใจหนังสือเล่มนั้นมากทีเดียว ในฐานะหนังสือที่ฉายภาพกว้างของการถือกำเนิด และพัฒนาการของศาสนาได้ค่อนข้างครอบคลุม ไม่โอนเอียงน้ำหนักไปทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากจนเกินไป
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ bookscape ได้วางจำหน่าย A Little History of Literature เล่มนี้ ซึ่งถือเป็นหนังสือชุด ‘ประวัติศาสตร์เล็กๆ’ เช่นเดียวกับศาสนาที่จุดประสงค์ของมันคือการแสดงให้เห็นความเป็นมาและพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรม’ เป็นเรื่องน่ายินดี ที่สำหรับผม หนังสือชุดนี้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง ‘วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ’ ได้บอกเล่าความเป็นมาและเป็นไปของวรรณกรรมได้สนุก ซับซ้อน และมีชั้นเชิง
John Sutherland ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม และปัจจุบันคือศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษสมัยใหม่ ประจำ University College London เขาเริ่มต้นด้วยการโยนคำถามใส่คนอ่านว่า วรรณกรรมคืออะไร? แน่นอนครับ แม้ว่าคำนี้จะมีความหมายที่ระบุไว้ในดิกชันนารีอย่างชัดเจน และเราก็อาจแค่เปิดพจนานุกรมค้นหานิยามเพียงเพื่อจะตอบคำถามของ Sutherland แต่เจตนาจริงๆ ของเขาไม่ได้มีเพื่อให้เรานิยาม ‘วรรณกรรม’ อย่างตรงๆ ด้วยความหมายที่ใครก็ต่างเห็นพ้องต้องกัน
Sutherland ต้องการชี้ชวนให้เราพิจารณาลึกลงไปข้างในต่างหาก หวนย้อนไปยังอดีตและค่อยๆ ทบทวนว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเราข้องเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าวรรณกรรมในระดับไหน และผูกพันกับสิ่งเหล่านั้นในระดับใด
ตัวอย่างที่น่าจะแจ่มชัด และมนุษย์ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่น่าจะมีประสบการณ์ร่วมกันย่อมเป็นวรรณกรรมเด็ก ในฐานะของประตูบานแรกที่เชื้อเชิญให้เราเข้าสู่โลกของเรื่องเล่าและจินตนาการ จำได้ไหมครับว่าตอนเด็กๆ พ่อแม่เคยอ่านอะไรให้เราฟังบ้าง คุณคงเคยได้ยินนิทานเรื่องสุนัขกับก้อนเนื้อของอีสป หรือ Hansel and Gretel ของพี่น้องกริมม์กันมาแล้วทั้งนั้น และผ่านเรื่องเล่าที่เติมเต็มความฝันในวัยเด็กนี่เอง ที่ผลักพาหลายๆ คนเข้าสู่โลกของการอ่าน ลุ่มหลงกับการจดจ้องตัวอักษรเล็กๆ ที่เรียงร้อยกันเป็นเรื่องราว
ตรงนี้เองที่ Sutherland ได้ขยายความหมายของวรรณกรรมให้เชื่อมโยงกับความเข้าใจและประสบการณ์ร่วมของใครหลายๆ คน นั่นคือ
“…วรรณกรรมเป็นจิตวิญญาณของมนุษย์ที่แสดงศักยภาพสูงสุดในการถ่ายทอดและตีความโลกรอบตัวเรา วรรณกรรมที่ดีเลิศไม่ได้ทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น แต่มันช่วยขยายขอบเขตของจิตใจและความรู้สึกอันละเอียดอ่อน จนมาถึงจุดที่เราสามารถจัดการกับความซับซ้อนต่างๆ ได้ดีขึ้น แม้ว่าบ่อยครั้งเราอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราอ่านเสียทีเดียว…”
จากคำอธิบายนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กับวรรณกรรม นั่นคือการหยิบยื่นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า ‘กล่องเครื่องมือ’ ในการพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัวในระดับที่ซับซ้อนและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม วรรณกรรมปลูกสร้างจินตนาการตั้งแต่เด็กๆ ให้พวกเราไม่ได้มองโลกแบบแบนราบ หรือเรียบนิ่ง แต่เต็มไปด้วยรายละเอียด และความเป็นไปได้ที่หลบซ่อนจากการมองเห็นของสายตาเพียงอย่างเดียว
เราอ่านวรรณกรรมเพื่อเติมเต็มสีสันและความรุ่มรวยให้กับชีวิต หรืออย่างที่ Sutherland กล่าวไว้ในหนังสือว่า “วรรณกรรมช่วยให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น” นั่นเอง เราไม่ได้อ่านวรรณกรรมเพื่อที่จะเชื่อตามสิ่งที่ผู้ประพันธ์หยิบยื่นไปเสียหมด แต่เพื่อที่ในจุดหนึ่งเราจะแยกแยะ พิจารณา ตีความ และหยิบฉวยเฉพาะในสิ่งที่เราเห็นว่าสอดรับกับชีวิต ช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม และเข้าใจมันในระดับที่ซับซ้อนพอ ซึ่งอาจถือเป็นพันธกิจหนึ่งในฐานะมนุษย์มากขึ้น
Sutherland จับจูงเราเข้าสู่โลกวรรณกรรมผ่านนักเขียนคนสำคัญ วรรณกรรมเล่มดัง และเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ ด้วยภาษาง่ายๆ สบายๆ อย่างที่คนอ่านจะไม่รู้สึกน่าเบื่อ หรือกำลังนั่งฟังเลกเชอร์จากอาจารย์ แต่คล้ายฟังนิทานหรือเรื่องเล่าจากผู้รู้ ที่รู้ตัวเองดีว่าต้องเล่าด้วยสำนวนและการลำดับเรื่องแบบไหน ผู้ฟังถึงจะไม่ม่อยหลับหรือปิดหนังสือทิ้งไปก่อน และแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกับ a short introduction ซึ่งผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญในด้านวรรณกรรมมาก่อน แต่ A Little History of Literature ก็ไม่ได้วางตัวเองให้ง่าย หรือดูถูกคนอ่านจนเกินไป ผู้อ่านที่พอจะมีความรู้ด้านวรรณกรรมมาก่อนแล้วก็สามารถอ่านและค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ได้ไม่ต่างกัน
จุดน่าสนใจอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ คือความพยายามที่จะไม่วางตัวเองอยู่แค่ในฝั่งของวรรณกรรมตะวันตกอย่างเดียว แต่เลือกจะสำรวจวรรณกรรมในมุมอื่นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน (แม้สุดท้ายจะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของวรรณกรรมตะวันตก) Gabriel Garcia Marquez และ Salman Rushdie คือชื่อของนักเขียนที่ปรากฏอยู่เคียงคู่กับนักเขียนอย่าง William Shakespear, Virginia Woolf และ Franz Kafka ซึ่ง Sutherland ก็ชี้ให้เราเห็นถึงนักเขียนเหล่านี้ในฐานะของหมุดหมายสำคัญภายใต้พัฒนาการของประวัติศาสตร์วรรณกรรมได้อย่างชัดเจน
สำหรับใครที่สนใจวงการวรรณกรรม หรือสงสัยว่าเราอ่านวรรณกรรมไปทำไม เพราะสุดท้ายแล้วมันก็แค่เรื่องแต่งไม่ใช่เหรอ? หนังสือเล่มนี้น่าจะให้คำตอบที่คุณกำลังมองหาอยู่ได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว วรรณกรรมอาจไม่ใช่หนทางที่บางคนมองว่าเป็นการหลบหนีจากโลกแห่งความจริงเสียทีเดียว แต่เป็นกุญแจที่จะเปิดผนึกอีกดวงตาหนึ่ง ให้เราสามารถหันกลับมาจ้องมองโลกใบเดิมๆ ของเราอย่างสนใจ มองเห็นได้ถึงมิติอันซับซ้อน และเข้าใจความสับสน ความไม่สมเหตุสมผล และความเปราะบางในฐานะมนุษย์มากขึ้นนั่นเองครับ