เอาเข้าจริงแล้ว การที่จะเกิดเป็น ‘กาแฟ’ ทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสารอยู่ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ เพราะเอะอะๆ ใครต่อใครคิดจะจิกกัดอะไรกัน ก็ชอบที่จะเอาค่าหัวของกาแฟแต่ละแก้วนี่แหละ มาใช้สำหรับเป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อจะบอกเป็นนัยว่า
“สินค้าของฉันนั้นถูกและดีจะตายทำไมไม่ช่วยกันอุดหนุน ทีกาแฟไร้สาระอะไรก็ไม่รู้ ถ้วยละตั้งหลายอัฐนี่เห็นดื่มกันอยู่ได้ทุกวี่ ทุกวัน ฮึ!”
ดังนั้นจึงไม่ใช่กาแฟทุกแก้วที่จะน่าสงสารอย่างที่ผมหมายถึง แต่ต้องเป็นกาแฟราคาสูงๆ หน่อย ประเภทที่ราคาแก้วละร้อยสามสิบบาท (หรือจะยิ่งโคตรแพงหูฉี่กว่านั้นได้ก็จะยิ่งน่าวงวาร เวรี่น่าสงสารเข้าไปใหญ่) ประมาณนั้นนั่นแหละ
แต่กาแฟที่ไหนกันล่ะครับที่จะสามารถตั้งค่าหัวให้กับตัวเองได้? เป็นมนุษย์ผู้รู้จักจับเอากาแฟพวกนี้มาคัดเลือกสายพันธุ์ ผ่านกรรมวิธีการบ่ม, คั่ว และบด อย่างเป็นศาสตร์ แล้วก็อย่างเป็นศิลป์ ก่อนที่จะนำมาจัดวางและจำหน่ายอยู่ในร้านที่ดูอาร์ตๆ นั่งแล้วให้ความรู้สึกชิคบ้าง ชิลบ้าง แถมต่อให้ไม่นั่งในร้าน แต่สั่งเทค-อะเวย์ไปแล้ว แค่ถือแก้วกระดาษที่ปะติดยี่ห้อของกาแฟพวกนี้ไว้ ก็ยังชวนให้มโนว่าตัวเองดูคูล และความปลื้มปริ่มไปด้วยรสนิยมขึ้นมาบ้าง นั่นต่างหากที่เป็นคนตั้งค่าหัวให้กับเจ้ากาแฟเหล่านี้
อ้อ! แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะลุกขึ้นมาตั้งราคาขายกาแฟแต่ละแก้วให้ดูแพง ไปจนถึงกระทั่งแพงชิบหาย แล้วจะมีคนซื้อนะครับ มันจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ซื้อ ผู้เสพ รู้สึกคุ้มค่า (ไม่ว่าจะเป็นในแง่คุณภาพของกาแฟเอง หรือคุณภาพแบรนด์ที่ชวนให้บริโภคความชิค) ต่อเม็ดเงินที่ถูกควักออกมาละลายทิ้งลงไปในกาแฟแก้วนั้นด้วย
กาแฟของป้าที่โรงอาหารมหาวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงกาแฟถุงพลาสติกสุดคลาสสิก ที่อาแปะคนนั้นชงขายอยู่ที่รถเข็นของแกแถวๆ หน้าบริษัท จึงไม่สามารถขายในราคาเดียวกันกับกาแฟแสนแพงเหล่านั้นได้ เพราะไม่ว่าการดูดกาแฟรสเข้มๆ จากหลอดที่ยื่นโผล่ออกมาจากถุงพลาสติคของอาแปะจะชวนให้รู้สึกนอสตัลเจียขนาดไหน แต่มันก็ไม่ได้ชวนให้ใครคนที่กำลังดูดกาแฟถุงนั้นอยู่ รู้สึกชิคในสายตาของใครต่อใคร แม้กระทั่งตัวคนดูดเองเลยสักนิด
แน่นอนว่าทั้งกาแฟแก้วประจำจากร้านป้าที่โรงอาหาร และกาแฟสตรองๆ สไตล์โบราณ (เอิ่มม…ที่จริงแล้วไอ้ที่มักเรียกกันว่ากาแฟโบราณ ที่จริงมันก็ไม่ได้โบราณอย่างที่โม้กันนะ) ใส่ถุงจากรถเข็นของอาแปะ ถ้าขายเกินแก้ว/ถุงละ 20 บาท ก็โดนด่าว่า ‘แพงฉิบ’ กันไปทั้งบางแล้วนะครับ
ไอ้ที่แพงจึงไม่ใช่เป็นเพราะตัวของ ‘กาแฟ’ เองเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องคุณภาพของเมล็ดกาแฟ สายพันธุ์ สตอรี่ประเภทที่ว่า กว่าจะได้กาแฟแก้วละ 300 กว่าบาทนี้มา ต้องรอชะมดที่กินเมล็ดกาแฟนี่เข้าไปขี้ออกมาซะก่อน (แน่นอนว่า ต่อให้ป้าที่โรงอาหารจะพยายามนำกาแฟขี้ชะมดมาขาย น้องๆ นักศึกษาก็คงจะไม่ได้รู้สึกดื่มด่ำกับการดื่มกาแฟแก้วนั้นในโรงอาหารนัก พอๆ กับที่ถ้าอาแปะแกเกิดนึกคึกเป็นบาริสต้าข้างถนน แล้วเอากาแฟขี้ชะมดมาชงขายบ้าง ก็คงจะไม่มีใครเชื่อว่าในถุงพลาสติกของแกจะเป็นกาแฟขี้ชะมด แม้กระทั่งตัวอาแปะเองก็เถอะ) ทุนค่าใช้จ่ายในการทำร้านให้ชิค ค่าแบรนด์ และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดที่บวกลบคูณหารกันออกมาเป็นกาแฟแก้วนั้น
การที่ใครจะกล่าวโทษ หรือตัดพ้ออะไรในทำนองที่ผมจั่วหัวมาตั้งแต่ต้นว่า ทีกาแฟแก้วละร้อยสามสิบบาทนั้นเห็นซื้อดื่มกันไปทุกวันนั้น จึงเป็นการตัดพ้อที่โยนเอาต้นทุนที่ถูกทำทีเป็นมองไม่เห็นจำนวนมากของกาแฟแก้วนั้น ทิ้งลงชักโครก แล้วรีบกดน้ำตามในพลันอย่างไม่แยแส จนดูเหมือนว่าต้นทุนของกาแฟราคาขายแก้วละร้อยฝ่าๆ เหล่านั้น ไม่ได้มากกันไปกว่ากาแฟถุงของอาแปะเลยสักนิด พร้อมๆ กันกับที่ยกเอาอะไรก็ตามที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับกาแฟแก้วนั้นว่า ถูก ดี และชนะเลิศ!
สมมติว่า สินค้าที่ถูกนำมาเปรียบเทียบเป็น สิ่งพิมพ์อะไรสักเล่ม (เอ๊ะ! บอกว่าสมมติก็สมมติเส่ะ) คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ต้นทุนในการผลิตสิ่งพิมพ์เล่มนั้น (แน่นอนว่า ต้นทุนในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงเม็ดเงินเป็นการเฉพาะ มากเท่ากับกำลังกาย กำลังใจของทุกๆ ขั้นตอนการผลิต ชุดความรู้ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันเป็นที่มาของตัววัตถุที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกันทั้งสองชนิด) ตีเป็นมูลค่าแล้วสูงกว่ากาแฟดีๆ สักแก้ว?
เพราะผมไม่แน่ใจนักว่า ศิลปะในการจัดทำสิ่งพิมพ์จะสูงส่งไปกว่าศิลปะประเภทอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าในที่นี้ผมหมายถึงศิลปะในการชงกาแฟ (อย่างน้อย คนวางเลย์เอาท์สิ่งพิมพ์ก็ไม่ต้องไปนั่งรอให้ชะมดขี้)
น่าสนใจนะครับว่าทำไมเดี๋ยวนี้สังคมไทยถึงชอบเห็น ‘กาแฟ’ เป็น ‘แพะ’
ผมขออนุญาตสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า ‘เดา’) ว่า เป็นเพราะเราเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ให้ความสำคัญกับ ‘การดื่ม’ จนทำให้การดื่มเป็นอะไรที่ไกลตัว และฟุ่มเฟือย เสียจนไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ต่างจากในอีกหลายต่อหลายวัฒนธรรม
อารยธรรมใหญ่ๆ หลากหลายแห่งรอบโลก มีอยู่หลายวัฒนธรรมเลยทีเดียวที่ให้สำคัญกับการดื่ม ผู้ดีอังกฤษต้องดื่มชาในยามบ่าย หลังจากที่พวกเขาอิมพอร์ตเอาวัฒนธรรมการดื่มชาไปจากจีน ในขณะที่จีนเองก็พัฒนาการดื่มชาเสียจนเป็นศาสตร์ มีชาสารพัดประเภท สารพันชนิด และวิธีชง ส่วนญี่ปุ่นที่รับเอาวัฒนธรรมการดื่มชาจากจีนไปเหมือนกันกลับพัฒนาการการชงชาให้เป็นศิลปะ จนเพิ่มมูลค่าของชาในแก้วเนื้อดินหน้าตาประหลาดใบนั้นขึ้นไปอีกสูงลิบ
โกโก้ เป็นเครื่องดื่มสำหรับเทพเจ้า และชนชั้นสูง ใช้ประกอบในพิธีกรรมของวัฒนธรรมต่างๆ ในเมโสอเมริกา มาก่อนที่พวกฝรั่งที่เข้าไปรุกรานจะนำกลับมายุโรปแล้วกลายเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่างที่ยังเห็นได้ในโฆษณาทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท (ตระกูลเดียวกับเรานั่นแหละ!) ในเวียดนามเหนือ ที่มีระเบียบในการดื่มกินที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่นั่งในวง การยกแก้วขึ้นดื่มก่อน-หลัง หมดหรือไม่หมดแก้ว เป็นต้น
ผมไม่แน่ใจนักว่า เมื่อความลับของเครื่องดื่มกลิ่นกรุ่นอย่างกาแฟถูกส่งทอดออกจากโลกอาหรับ ไปยังยุโรป แล้วค่อยตีโค้งยูเทิร์นเข้ามาในไทยแลนด์แดนสยาม รวมถึงอาณาบริเวณรอบๆ ในภูมิภาคเดียวกันนี่แล้ว นอกจากการเป็นเครื่องดื่มนำเข้าราคาแพง ที่เพิ่มบารมีให้ผู้ดื่มดูมีราศีจับในระยะต้นแล้ว ยังมีการสร้างมูลค่าให้กับกาแฟในแง่อื่นๆ อีกหรือเปล่า? แต่ขอเดา (ศัพท์บ้านๆ ของคำว่า สันนิษฐาน) ว่าไม่มี หรืออย่างน้อยถ้ามีก็คงไม่ติดตลาด
เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด ในประเทศกรุงเทพฯ ก็ไม่มีวัฒนธรรมการนั่งดื่มกาแฟ เหมือนที่ผู้ดีอังกฤษจิบชากันในยามบ่าย ไม่มีพิธีชงชาอย่างเป็นศิลปะเหมือนในญี่ปุ่น ไม่นำกาแฟไปบูชาผีบ้านผีเรือนไปจนกระทั่งนางกวัก เหมือนที่พวกมายัน หรือแอซเท็กเอาโกโก้ หรือช็อกโกแลตไปถวายเทพเจ้า ฯลฯ แล้วจะให้ ‘กาแฟ’ กลายเป็นสิ่งของจำเป็น และไม่ใช่สิ่งของฟุ่มเฟือยในวัฒนธรรมของเราไปได้ยังไงล่ะครับ?
แน่นอนว่า กาแฟดีๆ ที่ราคาไม่แพงนักก็ยังมีเราเลือกเสพ กาแฟที่ดีไม่จำเป็นจะต้องเป็นกาแฟที่แพงเสมอไป แต่แม้จะมองในฐานะของคนที่เลือก (ที่จริงเลือกจากความแฟบสนิทของกระเป๋าสตางค์ T^T) จะดูดกาแฟจากถุงของอาแปะมากกว่ากาแฟชิคๆ ราคาแก้วละร้อยสามสิบบาทแล้ว ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่า เราควรจะโทษ และว่าร้ายต่อการที่ใครจะเลือกดื่มกาแฟแก้วแพงๆ อย่างนั้นหรือ?
บางทีหนังสือเรื่องเดียวกัน เราก็อยากจะซื้อเก็บที่เย็บเป็นปกแข็ง เพราะทนทาน และดูพรีเมี่ยมสวยงามเป็นที่สุดเมื่อถูกจัดวางอยู่บนชั้นหนังสือ ทั้งที่ต้องจ่ายแพงกว่าหนังสือปกอ่อนเรื่องเดียวกันอีกให้เพียบ ไม่ว่าใครจะอยากซื้อหนังสือปกแข็ง หรือดื่มกาแฟแก้วแพง ไม่ดูดกาแฟจากถุงพลาสติกก็อกแก็ก มันก็สิทธิ์ (เรื่อง) ของเขาไม่ใช่หรือครับ? ตราบใดที่เขาคนนั้นไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กระเป๋าสตางค์ใครคนอื่น แต่ถ้าสินค้าของตัวเองยอดตก แล้วตีโพยตีพายไปว่าคนเอาเงินไปซื้อกาแฟแพงๆ กันหมด ทั้งที่ เป็นสินค้าคนละไลน์กัน แบบที่มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ นี่มันก็แค่พาลแล้วโว้ยย! 😛