หัวข้อที่ผมอยากจะนำมาพูดถึงในวันนี้ มี 2 เรื่องครับ เป็นสองเรื่องที่หากดูเผินๆ แล้วอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากดูเข้าไปลึกๆ สักหน่อยแล้ว มันคือเรื่องเดียวกันเลย และผมคิดว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสทั้งคู่ด้วย เรื่องแรกก็คือ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกปากยอมรับอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าตนพร้อมจะเป็นนายกต่อและรอพรรคต่างๆ มาทาบทามอยู่ อันนำมาซึ่งคำถาม ‘ในเชิงหลักการ’ (ที่ต้องว่า ‘ในทางหลักการ’ เพราะในทางปฏิบัติคงยากจะไปสู้อะไรได้ แกถือปืนเถื่อนอยู่) ว่า “ที่ทางของพลเอกประยุทธ์ในทางหลักการประชาธิปไตยแล้วนั้น ควรจะลงสมัครหรือกระทั่งเป็นตัวเลือกในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศได้ไหม?”
และประเด็นที่สองที่ร้อนแรงไม่แพ้กันก็คือ กรณีที่วิษณุ เครืองาม ออกมาประกาศยอมรับอย่างชัดเจนแล้วว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น ไม่ต้องได้รับการตรวจสอบทรัพย์สิน” เพราะหากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เกรงว่าหลายคนจะแห่กันลาออกได้ [1]
ตำแหน่งแห่งที่ของพลเอกประยุทธ์ในฐานะตัวเลือกนายกรัฐมนตรีตามหลักการประชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกันกับการไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างไรนั้น ผมคงต้องอธิบายให้เข้าใจถึงสภาวะอันถือเป็น ‘มาตรฐานขั้นพื้นฐาน’ ของความคิดในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะ ‘กลไกในการขับเคลื่อนสังคม’ เสียก่อนครับ และอาจจะขอเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นเลย เพื่อนำพาให้นึกภาพกันตามได้ถูก
ผมอยากเริ่มต้นจากคำถามแบบง่ายๆ ก่อนครับว่า
“ทำไมทุกวันนี้ท่านถึงกล้าเดินออกจากบ้านท่านได้?”
ท่านอาจจะคิดว่าผมบ้าที่ถามคำถามอะไรแบบนี้? กะอีแค่ก้าวเดินออกจากบ้าน ถ้าไม่ใช่คนเป็นโรคเก็บตัวหรือฮิคิโคโมริก็ต้องทำได้กันทั้งนั้นสิวะ! แต่คำถามง่ายๆ ดูประสาทแดกของผมนี้มันมีที่มาที่ไปที่มากไปกว่านั้นนะครับ มันหมายถึงว่า ไยท่านถึงพร้อมที่จะสาวเท้าออกมาในที่ชุมชนที่มีคนมากมายโดยไม่กลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย หรือมีคนทำให้ท่านเป็นอันตรายจนบาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน หรือกระทั่งสูญเสียชีวิต ถึงขนาดไม่กล้าก้าวออกจากบ้าน? ท่านเอาอะไรมาทำให้ท่าน ‘ชั่งน้ำหนักแล้ว’ ว่าท่านมีโอกาสสูงกว่าที่ชีวิตในพื้นที่ชุมชนทางการเมืองของท่าน อย่างน้อยๆ ก็มีโอกาสที่จะสามารถมีชีวิตรอดกลับมาได้โดยปลอดภัย มากกว่าจะประสบกับอันตราย?
พอผมถามให้ชัดขึ้นแบบนี้แล้ว ท่านก็น่าจะเริ่มพอจะรู้สึกขึ้นมาได้ว่า “เออ เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีอะไรที่รับประกันได้เลยว่าการก้าวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีคนมากมาย สับสนอลหม่านนั้นจะทำให้เราปลอดภัย” แต่พร้อมๆ กันไป เราก็รู้สึกเช่นเดียวกันจากการใช้ชีวิตทุกวันๆ ของเราว่า เรานั้นมีโอกาสที่จะ ‘ไม่เป็นอะไร’ มากกว่า ‘เป็นอะไร’ หรือโดนกระทำรุนแรงบางอย่าง ว่าอีกแบบก็คือ ‘ความไม่เป็นอะไร’ นี้มีสถานะเป็น ‘ความปกติ’ ในการดำเนินชีวิตของเรา (ในทำนองเดียวกัน การโดนกระทำรุนแรงบางอย่าง ก็กลายเป็นวิถีอัน ‘ไม่ปกติ’ ไป)
อย่างไรก็ตามการมีความรู้สึกถึงความมั่นคง (sense of security) ว่าจะไม่เป็นอะไร และได้มาซึ่ง ‘ความเป็นปกติ’ นี้ไม่ใช่ว่าจะได้มาแบบโดดๆ ลอยมาเฉยๆ นะครับ
มันไม่ได้ไร้ซึ่งแบคกราวน์แต่อย่างใดเลย ‘การกระทำอันเป็นปกติของเราในพื้นที่ชุมชนทางการเมือง’ ตามระบอบประชาธิปไตยและขับเคลื่อนด้วยนิติรัฐนั้น มันสร้างฐานของ ‘ความเชื่อร่วมหมู่’ ขึ้นมาครับ มันไม่ใช่การเชื่อใจกันอะไรในระดับปัจเจกนะครับ ว่าไอ้คนแปลกหน้าคนนั้นคนนี้ จะไม่มีความรู้สึกหื่นกระหายต่อหุ่นสวยสะพรึงของฉัน หรือคนหน้าตาข้นแค้นคนนั้นจะไม่รู้สึกอยากได้ทรัพย์สินเงินทองในกระเป๋าสตางค์หรือสร้อยเพชรที่ล้อมคออวบอ้วนของชั้นอยู่… เปล่าเลยครับ อาจจะมีคนที่มองดูคุณอยู่ แล้วรู้สึกเช่นนั้นจริงก็ได้
แต่ความเชื่อร่วมหมู่ที่ว่านี้ก็คือ ความเชื่อว่า “บุคคลใดๆ ก็ตามที่ได้ลงมือกระทำการอันใดลงไปนั้น ย่อมต้องรับผิดชอบต่อตัวการกระทำและผลพวงของการกระทำที่ตนได้ทำลงไปด้วย” ซึ่งเป็นฐานร่วมของชุมชนการเมืองทั้งหมด ฉะนั้นแม้มันจะมีคนที่รู้สึกเงี่ยนจากการเห็นหุ่นเซ็กซี่ของคุณ หรือความใคร่อยากได้ทรัพย์สินของคุณ เราก็ ‘เชื่อมั่น/เชื่อใจ’ (Trust) ว่าคนเหล่านี้ “โดยปกติแล้วคงจะเลือกไม่กระทำอย่างที่พวกเขาปรารถนาในหัวของเขา” เพราะหากเขาได้กระทำออกมาแล้ว เขาย่อมต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ได้ทำลงไป ซึ่งนั่นก็คือ เขาจะโดนลงโทษ เพราะฉะนั้นแล้วตราบใดที่ระบบกฎหมายยังควบคุมอยู่ และบังคับให้คนนั้นต้องเกรงกลัวต่อ ‘การลงโทษ’ ซึ่งจะตามมาจากการกระทำของตน ความเชื่อร่วมก็จะยังคงทำงานได้อยู่ และเมื่อความเชื่อร่วมยังคงทำงาน ไอ้ ‘ความเป็นปกติของวิถีชีวิต’ มันก็จะยังดำเนินต่อไปได้นั่นเอง
หลักการที่ว่านี้เป็นหลักการระดับพื้นฐานมากๆ ของประชาธิปไตยและนิติรัฐเลยครับ ที่เราเรียกว่า Power with Accountability (อำนาจที่มาพร้อมสำนึกรับผิดชอบ) หรือจะเรียกว่า Action with Accountability (การกระทำที่มาพร้อมสำนึกรับผิดชอบ) ก็ได้ และไอ้ Accountability หรือสำนึกรับผิดชอบในเชิงระบอบการปกครองนี่แหละ ที่หมายถึงความสำนึกเข้าใจต่อการกระทำและผลพวงของอำนาจของตนแล้ว ยังหมายรวมถึงการสามารถตรวจสอบที่มาของอำนาจและการกระทำนั้นๆ ได้ด้วย เพราะหากเราตรวจสอบไม่ได้ เราก็ไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดว่าการกระทำและผลพวงนั้นกระทำโดยใคร และ/หรืออย่างไร และเมื่อเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถจะ ‘ลงโทษ’ ได้โดยปริยายไป
จากจุดนี้หากผมกลับไปอธิบายคำถามของผมในตอนแรกที่ว่า “ทำไมทุกวันนี้ท่านถึงกล้าเดินออกจากบ้านได้?” แบบสุดทางที่สุดแล้ว เราจะพบว่าการกล้าเดินออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของเรานั้นเป็นเรื่องปกติ แต่พร้อมๆ กันไปหากเราถามในลักษณะเดียวกัน กับคนเดียวกันว่า “ให้ไปเดินเล่นคนเดียวในป่าแอมะซอน, กลางป่าดิบชื้นในแทนซาเนีย หรือกลางหญ้าสะวันนาที่เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ เราจะกล้าไปไหม?” (มีแผนที่กับจีพีเอสแถมให้ด้วยเอ้า กันหลงทาง) แน่นอนครับ คงมีบ้างแหละที่จะตอบว่ากล้าไป แต่ผมเชื่อว่าคนโดยมาก ให้ไปเดินเองคนเดียวในพื้นที่แบบนี้ ก็คงจะไม่กล้าไปเดิน ไม่เหมือนการเดินออกจากบ้านไปจ่ายตลาด ช้อปปิ้ง ดูหนัง เจอเพื่อน หรือทำงานอีกต่อไป เพราะอะไรครับ? เพราะว่าเราไม่มี ‘ความเชื่อใจ’ หรือ trust ต่อสิงสาราสัตว์ต่างๆ ในป่าทึบหรือทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เหล่านั้น พวกมันไม่ได้มี Accountability ต่อบทลงโทษทางกฎหมายเหมือนกับคนในชุมชนทางการเมืองของเรา และนั่นทำให้มันไม่เกิด ‘ความเชื่อใจร่วมหมู่’ ระหว่างกันและกันมาได้นั่นเอง ฉะนั้นต่อให้แม้แต่กับคนที่กล้าไปเดินคนเดียว ก็อาจจะต้องขอเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ อาจจะต้องขอพกอาวุธติดตัวไป ไม่ว่าจะเป็นปืนผาหน้าไม้ หรือมีดดาบ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมันไม่มี Sense of Security หรือความรู้สึกปลอดภัยมั่นคงอันมาจาก Accountability นั่นเอง
ในตัวอย่างที่อาจจะสุดทางน้อยลงบ้าง แต่อยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือ ให้เราไปเดินเที่ยวเล่นในพื้นที่เขตสงคราม (War Zone) ในอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, ฯลฯ ที่กลิ่นอายของความรุนแรงยังฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไป และแน่นอนว่าอำนาจของกฎหมายกับบทลงโทษที่มีต่อการกระทำ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงนั้นแทบจะไม่เหลืออยู่ เพราะในพื้นที่เขตสงครามนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่ในสภาวะที่ถูกเรียกว่า ‘สภาวะยกเว้น’ (State of Exception) ที่ยกเว้นอำนาจการทำงานในลักษณะปกติของกฎหมายไป พื้นที่ที่ Accountability ต่อตัวการกระทำมันต่อเหล่านี้ เราก็จะไม่กล้าออกไปเดินเล่นคนเดียว เช่นกันกับผืนป่าทึบหรือทุ่งหญ้าที่เต็มไปสัตว์ป่าดุร้าย เผลอๆ หลายคนอาจจะเลือกไปเดินในถิ่นของสัตว์ป่ามากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะเราต่างทราบกันดีว่า มนุษย์ที่ได้รับอนุญาติให้ใช้ความรุนแรงได้โดยไร้ซึ่นพันธนาการนั้น สามารถสร้างความฉิบหายได้มากกว่าสัตว์ป่าใดๆ มากนัก
ลักษณะเดียวกันนี้ ก็ลดหย่อนกันไปเรื่อยๆ แหละครับ ประเทศไหนที่อำนาจนิติรัฐเข้มแข็งน้อย Accountability ไม่ทำงานเท่าที่ควร เราก็ต้องระวังตัวมากหน่อย อย่างไปเดินเที่ยวในบราซิล อินเดีย กระทั่งสหรัฐอเมริกา เราก็อาจจะรู้สึกว่าต้องระมัดระวังตัวในการเดินทางท่องเที่ยวสักหน่อย แต่ในพื้นที่ที่ Accountability สูง มีกลไกนิติรัฐที่แข็งแรง เราก็จะรู้สึกปลอดภัย หรือมี Sense of Security มากขึ้นตามมา ก็จะรู้สึกไม่กดดันมากเท่า และอาจเดินได้โดยรู้สึกสบายใจกว่ามาก เช่น การเดินเล่นในญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย ไต้หวัน เราก็จะรู้สึกต้องระวังตัวน้อยกว่า และทำตัว ‘เป็นปกติ’ ได้มากกว่านั่นเอง นั่นแหละครับคือความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำถามเริ่มแรกของผมว่า “ทำไมทุกวันนี้ท่านจึงกล้าเดินออกจากบ้าน?”
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ Accountability เนี่ย มีความสำคัญสูงมากในการประกัน ‘ความเป็นปกติวิถีที่จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัยของการดำเนินชีวิตในชุมชนได้’ นั่นเองครับ
หากไม่มีมันแล้ว อำนาจและการกระทำก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับผิดอีกต่อไป และเมื่อไม่มีการรับผิด การลงโทษก็จะกลายเป็น ‘บทบัญญัติลอย’ ที่ไร้ซึ่งแก่นสารหรือมาตรฐานโดยตัวมันเอง ที่จะถูกใช้หรือไม่ใช้อย่างไรก็ได้ ซึ่งมันเป็นอันตรายมากนะครับ ไอ้การเป็นบทบัญญัติลอยโต้งเต้งของตัว ‘การลงโทษ’ เนี่ย เพราะมันจะกลับตาลปัตรวิถีอันเป็นปกติของชุมชนการเมืองนั้นๆ ลงทันที
กลับตาลปัตรความเป็นปกติวิถีคือยังไง? มันหมายความว่า สิ่งที่เคยกระทำได้โดยเป็นปกตินั้น ก็จะไม่ได้เป็นปกติอีกต่อไป เพราะตัวการกระทำ กับการลงโทษ ที่เดิมเคยยึดเชื่อมกันอยู่กลับแยกขาดจากกัน การกระทำที่ ‘ผิด’ และต้องโดนลงโทษในสภาพอันเป็นปกติวิถีนั้นก็อาจจะไม่ต้องโดนลงโทษอีกต่อไป อย่างเช่น การรัฐประหาร GT200 นาฬิกาเพื่อน เฮลิคอปเตอร์บินไม่ขึ้นคุณภาพดี การสังหารคนนับร้อยกลางเมือง ฯลฯ และพร้อมๆ กันไป การกระทำซึ่งเคยเป็นเรื่องปกติ ก็อาจจะถูกทำให้ ‘ไม่ปกติ’ และโดนลงโทษได้ เช่น การยืนนิ่งๆ อ่านนิยายในที่สาธารณะ การชูสามนิ้ว การกินแซนวิช หรือการคลิกแชร์โพสต์ข่าวในเฟซบุ๊ก เป็นต้น นี่แหละครับคือ ‘ความกลับตาลปัตรของความเป็นปกติวิถี’ ที่ว่า
แน่นอนครับว่า ผมไม่ได้บอกว่าเมื่อมันเกิดการกลับตาลปัตรแล้ว ทุกอย่างจะต้องพังพินาศย่อยยับในทันที หรือทุกๆ เรื่องที่เคยทำได้ จะกลายเป็นผิดเสียทั้งหมด ‘เปล่าเลยครับ’ เพียงแค่ว่า การกระทำที่ทำได้โดยเป็นปกติ ‘หลังการกลับตาลปัตร’ นั้น ไม่ได้ผูกโยงกับความรับผิดชอบต่อการกระทำอีกต่อไป แต่เป็นความปกติที่ ‘ถูกบังคับเลือก’ โดยผู้มีอำนาจหรือก็คือผู้กลับตาลปัตรความปกติในระบอบกติกาแทนนั่นเอง การกระทำได้จึงเป็นเพียงการ ‘อนุญาตชั่วคราว’ ที่ความแน่นอนของการโดนลงโทษหรือต้องรับผิดชอบต่อตัวการกระทำนั้นไม่แน่ไม่นอนอีกต่อไป มันสามารถถูกต้องในบางครั้ง และก็ผิดมหันต์ไปได้พร้อมๆ กัน แม้จะเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกัน โดยไอ้ขอบเขตของ ‘ความปกติที่โดนบังคับเลือกให้ทำได้’ นี้ก็มากน้อยลดหย่อนกันไป ตามแต่ระดับความเข้มข้นของความไร้นิติรัฐของรัฐนั้นๆ อย่างเกาหลีเหนือก็ระดับหนึ่ง จีนก็ระดับหนึ่ง ไทยก็ระดับหนึ่ง เป็นต้น
ทีนี้ไอ้ที่ว่ามาทั้งหมดนี่เกี่ยวอะไรกับสองประเด็นที่ผมเกริ่นไว้แต่ต้น? คือ หากว่ากันตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว การกลับเข้าสู่การเมืองแบบที่มีการเลือกตั้ง หรือ Electoral Politics โดยบอกว่าจะให้มีการแข่งขันทางการเมืองได้อย่างเสรี มีรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสูงสุดนั้น มันเท่ากับเป็นการเปลี่ยนกลับจาก ‘ปกติวิถีที่โดนกลับตาลปัตร’ ที่ไม่ยึดโยงกับความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ ให้เข้าสู่ ‘ปกติวิถี’ ตามที่ควรจะเป็นอีกครั้ง และนั่นหมายความว่าอำนาจและการกระทำใดๆ ย่อมมีผลผูกพันธ์กับความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ด้วย
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกบังคับตามกฎหมายให้มีผลผูกพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และยาวนานต่อเนื่อง 20 ปี การจะปรับแก้กฎหมายให้ยกเลิกข้อบังคับส่วนนี้ได้ก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะโดนเขียนเงื่อนไขป้องกันไว้มากมายนั้น มันจึง ‘จำเป็น’ ที่ตัวผู้ร่างและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ จะต้องอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวด้วย ไม่เช่นนั้น ‘ความเชื่อร่วมหมู่’ อันเป็นฐานกลางของ ‘ปกติวิถีในสังคมประชาธิปไตย’ ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และเมื่อตัดขาดจากความรับผิดชอบและการตรวจสอบ ตามหลักการของระบอบประชธิปไตยแล้ว มันต้องกลายเป็นสิ่งซึ่ง “ใช้ไม่ได้ หรือไม่ควรมีผลบังคับใช้” ใดๆ (No enforcement power) เพราะทุกๆ อำนาจ (power) ต้องมี accountability หากจะไม่มี accountability มันก็ต้องเลือกที่จะไม่มี power ก็เท่านั้นเองครับ
อย่างสมาชิกวุฒิสภาของอังกฤษ (House of Lords) ที่ไม่ได้มี Enforcement power ใดๆ เป็นเพียง ‘สภาที่ปรึกษา’ แต่ไร้อำนาจในการบังคับ ตัดสินใจ หรือบริหารใดๆ ก็สามารถที่จะสืบทอดโดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้ จะสืบทอดผ่านทางสายเลือดก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะว่า ‘มันไร้ซึ่งอำนาจ’ หรือตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง ที่มีลักษณะเป็นแผนแม่บท แผนนำร่อง ที่มีลักษณะเป็น ‘ข้อเสนอแนะ/แนวทาง’ แต่ไม่ใช่ข้อบังคับว่าต้องกระทำและไม่ได้มีอำนาจบังคับ ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบก็ยังถือว่าพอจะเข้าใจได้ในทางหลักการอยู่
แต่กับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มี ‘อำนาจจริงๆ มีการกระทำจริงๆ มีผลผูกมัดจริงๆ’ ทำแบบนี้ไม่ได้ บอกตรงๆ ครับว่าทุเรศ!
เช่นเดียวกันกับตำแหน่งแห่งที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากคิดจะเป็นตัวเลือกในระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐได้ ก่อนนั้นก็ต้อง ‘รับผิดชอบต่อการกระทำทางการเมือง ได้รับการตรวจสอบการใช้อำนาจ’ เสียก่อน และต้องทำในระบบยุติธรรมและเกณฑ์การตัดสินอันเป็นมาตรฐานในระบอบประชาธิปไตยด้วยนะครับ เพราะอย่างที่บอกไป หากทำในช่วงที่เป็นเป็นประชาธิปไตย ก็เท่ากับ “ทำในช่วงที่ความเป็นปกติวิถีถูกกลับตาลปัตรอยู่” ซึ่งความถูกผิดไม่ได้อิงอยู่บนฐานของความรับผิดชอบและการตรวจสอบ แต่ตามอำนาจในมือของตัวพวกท่านเอง พูดกันเป็นภาษาชาวบ้านๆ ก็คือ หากพลเอกประยุทธ์คิดจะเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างถูกต้องตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ก็ต้องขึ้นศาลที่ดำเนินการตามกรอบประชาธิปไตย และผ่านคดีการรัฐประหารและยึดอำนาจทางการเมืองให้เรียบร้อยตามกลไกของระบอบได้ก่อนครับจึงจะถูก โดนตัดสินว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น แล้วจากนั้นจึงจะอยู่ในสถานะที่ ‘ถูกนับเป็นตัวเลือก’ ได้จริงๆ ไม่เช่นนั้น ท่านก็เป็นเพียง ‘ตัวแทนของความไม่ปกติ ในระบอบไม่ปกติที่พยายามจะเรียกแทนตัวเองว่าปกติ’ เท่านั้น
ฉะนั้นแล้ว ถ้ายังพูดคำว่าหลักการประชาธิปไตยอยู่ ก็รอขึ้นศาล ผ่านสู้คดี ชดใช้ความผิดให้เรียบร้อยก่อนครับ จะโดนจำคุกไปนานกี่ปี ถ้ายังไม่ตายคาคุก แล้วออกมาลงสมัครเลือกตั้ง นั่นต่างหากครับที่จะเป็นประยุทธ์ที่สมบูรณ์ชอบธรรมในฐานะแคนดิเดตนายกในการเมืองประชาธิปไตย และนั่นแหละครับ ผมถึงเน้นย้ำว่านี่พูดเฉพาะในเชิง ‘หลักการ’ เพราะถ้าเรามีน้ำยาทำอะไรกับปืนเถื่อน ก็คงไม่อยู่มากันแบบนี้ ยันเวลานี้หรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th