เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ‘Anthropocene’ กันนะครับ
หากแปลอย่างตรงๆ Anthropocene เกิดจาก Anthropo – มนุษย์ + Cene – ใหม่ ให้ความหมายว่า ระยะเวลาหรือยุคสมัย ซึ่งมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอย่างมีนัยยะสำคัญ
มีการถกเถียง และข้อเสนอมากมายครับว่าแท้จริงแล้ว Anthropocene เกิดขึ้นเมื่อไร และเหตุการณ์ใดที่ควรถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยนี้ บ้างเสนอว่าคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป แต่บ้างก็บอกว่าเป็นการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ บนเกาะฮิโรชิม่า ในสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก ท่ามกลางข้อเสนอต่างๆ ที่ยังไม่หยุดนิ่ง และไม่อาจหาบทสรุปตายตัว
James C. Scott ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียน Against the Grains เล่มนี้เสนอว่า จุดเริ่มต้นของ Anthropocene นั้น เราอาจต้องย้อนเวลากลับไปไกลกว่าปัจจุบันสักหน่อย
สำหรับ Scott แล้ว Anthropocene ไม่ได้เริ่มต้นในสมัยที่อารยธรรมของมนุษย์ขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง แต่เป็นหลายหมื่นปีก่อนนั้น ที่มนุษย์ได้รู้จักและเรียนรู้จะควบคุมสิ่งที่เรียกว่า ‘ไฟ’ ครับ
ไฟไม่เพียงส่งผลกระทบระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ที่แม้อาจไม่ชัดเจน หรือรุนแรงเท่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือระเบิดนิวเคลียร์ แต่สำหรับ Scott เขาเห็นว่า นี่คือครั้งแรกที่มนุษย์สามารถจัดระเบียบ และควบคุมธรรมชาติได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
การปรุงอาหารเปลี่ยนแปลงร่างกายของเรา มนุษย์เรียนรู้ที่จะย่นระยะการย่อยอาหาร และพลังงานที่เผาผลาญได้ก็ส่งผลต่อการเติบโตของสมอง ไฟยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในฐานะของเชื้อเพลิง ความร้อนที่ให้ความอบอุ่น และแสงสว่างที่คอยให้ความปลอดภัย ซึ่งเรื่องราวต่อจากนี้ก็เป็นไปอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีครับว่า เมื่อมนุษย์รู้จักไฟ พวกเขาก็เริ่มจะเรียนรู้ในการเพาะปลูก การจัดสรรพื้นที่ เกิดเป็นการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งแรก ที่นำไปสู่การปรากฏตัวขึ้นของอารยธรรมแรกๆ ของมนุษย์
‘ไฟ’ นำเราไปสู่การมี ‘อารยธรรม’ และอย่างที่เราได้ยินซ้ำๆ ว่า ‘อารยธรรม’ นี่แหละครับ ที่ได้ปลดปล่อยมนุษย์จากวิถีชีวิตอันลำบากยากแค้น ชีวิตที่เร่ร่อน เก็บของป่าล่าสัตว์ (Hunter-Gatherer) ให้มนุษย์นั้นได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เริ่มลงหลักปักฐาน จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของเมือง ความเป็นรัฐ รวมถึงการมีเวลาว่าง (เพราะต้องรอพืชผักเติบโต)
นับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐคล้ายจะกลายเป็นความเป็นไปได้เดียวของการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่นกันที่การเกิดขึ้นของเมืองและอารยธรรม ก็ได้ขีดเส้นแบ่งให้กับสิ่งที่อยู่พ้นไปจากเมืองและอารยธรรมนั้นๆ ภายใต้นิยามของความป่าเถื่อน และไม่มีอารยะไปโดยปริยาย
แต่ผ่าน Against the Grain คำถามสำคัญที่ Scott ถามเราคือ ถ้าเกิดโครงสร้างของเรื่องเล่า (Narrative Structure) ทำนองนี้ ที่เราต่างคุ้นเคยกันดีมันผิดขึ้นมาล่ะ?
ถ้าการเกิดขึ้นของเกษตรกรรมไม่ได้หมายถึงการหลุดพ้นจากความแร้นแค้นใดๆ แต่เป็นแค่อีกรูปแบบหนึ่งของการหน่วงเหนี่ยวกักขัง? และแท้จริงแล้ว เหล่าอานารยชนและสังคมนอกการปกครองของรัฐไม่ได้มืดมิด สิ้นหวัง เผลอๆ จะดีกว่าการต้องทนอยู่ภายใต้รัฐด้วยซ้ำ?
อาจฟังดูเป็นเรื่องยากนะครับหากต้องจินตนาการถึงชีวิตที่ไม่ได้มีรัฐคอยปกครอง Scott ชี้ให้เห็นว่าในช่วงการก่อตัวขึ้นของรัฐกับอารยธรรมมนุษย์ จนปรากฏขึ้นเป็นเมืองต่างๆ นั้น จริงๆ แล้ว ในช่วงเวลานั้น ประชากรโลกอีกจำนวนมากกลับไม่ได้อาศัยอยู่ภายในเมืองด้วยซ้ำ พวกเขายังคงรอนแรมในผืนป่ากว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งสวนทางกับเรื่องเล่าที่ว่า มนุษย์ต่างบ่ายหน้าเข้าหาอารยธรรมอย่างเต็มใจ ราวกับว่าการยินยอมอยู่ใต้ปกการปกครองของรัฐคือปลายทางของพัฒนาการที่จะนำไปสู่ชีวิตอันสุขสันต์ แต่สาเหตุที่เราไม่ค่อยจะได้รู้เรื่องราวของเหล่าประชากรที่อยู่นอกการปกครองของรัฐ ก็เพราะว่าหลักฐานที่บ่งบอกถึงการมีอยู่และวิถีชีวิตอันระหกระเหเร่ร่อนของพวกเขานั้นมีอยู่น้อยเสียเหลือเกินนั่นเองครับ
จะพูดว่า ประวัติศาสตร์วางตัวอยู่ข้างเดียวกับรัฐก็คงได้ เพราะบันทึกและหลักฐานต่างๆ ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นภายในรัฐทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกภาษี จำนวนไพร่พล จำนวนของธัญพืช ซึ่งต่อมาก็ต่อยอดไปสู่ปฏิทิน ตำนาน และกฎหมายตามลำดับ
Scott ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรรมไม่ได้นำมาซึ่งผลดีต่อมนุษย์เสมอไป มนุษย์ที่พึ่งพิงธัญพืช หันมาเพาะปลูก และเริ่มปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนอยู่กับที่นั้นจะมีรูปร่างที่เล็กกว่า ทั้งยังได้รับสารอาหารที่น้อยลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคโลหิตจางมากขึ้น นี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาอ่อนแอลงเมื่อต้องรับมือกับโรคภัยต่างๆ ที่แพร่กระจายจากการอยู่ร่วมกันภายใต้พื้นที่หนึ่งๆ จนโรคระบาดเองก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายอารยธรรมในช่วงแรกเริ่มเป็นอันต้องล่มสลายลง เพียงเพราะประชาชนพากันล้มตายอย่างที่ไม่ค่อยจะพบเห็นในวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน
คำถามคือ แล้วทำไมมนุษย์ถึงยังคิดจะพาตัวเองมาอยู่ภายใต้ปกครองของรัฐอยู่อีกล่ะ Scott ชี้ว่า พื้นที่ระบบนิเวศที่ค่อนข้างสมบูรณ์นั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นเสียทีเดียวสำหรับการเกิดขึ้นของรัฐ แต่กลับกัน สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ต่างหากที่อาจกลายเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนคิดเปลี่ยนใจ และเลือกผละออกจากรัฐได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำในกรณีที่รัฐเกิดล้มเหลวในการเลี้ยงดูประชากร Scott ชี้ว่า การอยู่รอดของรัฐจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพที่ตัวรัฐจะหยุดการเคลื่อนที่ของประชากร (Immobolise) และลงทะเบียนประชากร เพื่อที่รัฐจะสามารถบันทึก ตรวจสอบจำนวน จัดเก็บภาษี กะเกณฑ์เป็นไพร่พล และผูกมัดเป็นทาสได้
ด้วยเหตุนี้รัฐจึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) เพราะนอกจากประโยชน์ในเรื่องเกษตรกรรมแล้ว พื้นที่ลักษณะนี้ยังง่ายต่อการจัดระเบียบประชากร และให้ความมั่นใจกับรัฐว่า ประชาชนของพวกเขาจะอยู่ใต้ปกครอง และไม่คิดแยกตัวกลับไปสู่ชีวิตเร่ร่อน เพราะพื้นที่รอบตัวไม่ดึงดูดให้พวกเขาสามารถมองเห็นหรือเข้าถึงความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตรูปแบบอื่น มีเพียงการต้องเพาะปลูกธัญพืชภายใต้ระบบเกษตรกรรมเท่านั้น
ว่าแต่ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงต้องชื่อ Against the Grain กันล่ะ Scott ชี้ให้เห็นว่า รัฐยุคแรกเริ่มไม่ว่าจะเป็นเมโสโปเตเมีย จีน หรืออียิปต์ ต่างถือกำเนิดขึ้นจากธัญพืช (Grain) นี่แหละครับ เพราะธัญพืชแตกต่างจากผักชนิดอื่นๆ ตรงที่ธัญพืชนั้นเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน (ต่างจากผักบางชนิดอย่างแครอท หรือหัวมันที่เติบโตภายในดินและมองเห็นผลผลิตได้ไม่ชัด) ทำให้เป็นประโยชน์ต่อคนเก็บภาษี เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะสามารถเห็นผลผลิตอย่างชัดเจน และกะเกณฑ์เวลาที่ต้องมาเก็บภาษี หรือสำรวจผลผลิตได้อย่างแน่นอนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการตรวจวัด บันทึก และควบคุมธัญพืชได้อย่างแน่นอน ที่ได้สร้างอำนาจให้รัฐเหนือประชาชน
พวกเขาสามารถสร้างระบบที่คอยตรวจสอบพฤติกรรมของผู้คนในปกครองได้ ผ่านการปลูกธัญพืชนี้เองครับที่ต่อมาได้ก่อให้เกิดระบบชนชั้น ทาส และการขูดรีดประชาชนขึ้น และภายใต้การกดขี่เช่นนี้เองที่ในทางกลับกันก็ได้ส่งให้ประชาชนหลายๆ คนในรัฐเลือกจะหลบหนีจากความเป็นอารยธรรม หันกลับไปหาชีวิตเร่ร่อนที่ไม่ต้องกลัวการถูกขู่เข็นบังคับ ไม่มีระบบวรรณะ ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจใดๆ
แน่นอนครับ Against the Grain เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งที่เผยให้เห็นถึงอีกรูปแบบหนึ่งของเรื่องเล่าการเกิดขึ้นของอารยธรรมมนุษย์ ที่ต่างไปจากเรื่องราวกระแสหลักที่เราคุ้นเคยกันดี และแน่นอนครับว่า หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้มีเจตนาปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐ หรือโน้มน้าวให้ผู้อ่านรู้สึกเกลียดชังอารยธรรม และสังคมเมืองแต่อย่างใด Scott ไม่ได้ต้องการจะสร้างน้ำเสียงประเภทคนดีกับผู้ร้าย แต่เป็นการหยิบยื่นอีกเครื่องมือหนึ่งสำหรับการพิจารณาความเป็นรัฐ และการเกิดขึ้นของอารยธรรมมนุษย์ อย่างรอบคอบ ระแวดระวัง และมีน้ำหนักมากขึ้นต่างหากล่ะครับ