บางครั้งผมก็สับสนตัวเองอยู่ไม่น้อยนะครับ
เป็นคุณ-คุณจะสับสนไหมครับ ถ้าตอนเช้ามีคนประกาศแนะนำตัวว่าคุณเป็น ‘นักเขียนรุ่นใหม่’ จากนั้นในบ่ายวันเดียวกัน อีกงานก็มีคนประกาศแนะนำตัวว่าคุณเป็น ‘นักเขียนรุ่นใหญ่’
นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผม!
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ-แล้วการต้องเป็นนักเขียนรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่อะไรนี่, มันมีปัญหาอย่างไรหรือ เพราะอย่างน้อยที่สุด คนก็ยังขนานนาม (คุณมึง) ว่าเป็น ‘นักเขียน’ ละน่า (บางทีก็พ่วงคำว่านักคิดเข้ามาด้วยอีกต่างหาก)
ที่จริงต้องตอบว่าไม่มีปัญหาอะไรนะครับ ใครจะเรียกผมว่าเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ นักคิด พิธีกร หรือจะเป็นสลิ่มลิเบอร่านหมูหมากาไก่อะไรก็ได้เสมอ เพราะการที่เราเรียกใครว่าเป็นอะไร บ่อยครั้งมันไม่ตรงกับสิ่งที่คนคนนั้นเป็นเท่ากับตรงกับ perceptions และ preconceptions ในตัวคนเรียกหรอกครับ
พูดอีกแบบก็คือ-เราเรียกใครว่าเป็นอะไร บ่อยครั้งเป็นเพราะเราอยากจะ shape (หรือ ‘ขึ้นรูป’) เขา ให้เป็นอะไรบางอย่าง (ซึ่งอาจคล้อยตามหรือตรงข้ามกับคำเรียกนั้นก็ได้-อย่างหลังนี้คือกรณีของคำด่าน่ะนะครับ)
ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากชวนคุยด้วยมากๆ ก็คือ สร้อย ‘รุ่นใหม่’ หรือ ‘รุ่นใหญ่’ มันสะท้อนให้เราเห็นถึงอะไรบ้าง
แน่นอน คนที่เรียกผมว่าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่นั้น โดยมากย่อมเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดานะครับ ที่คนวัยนั้นจะเห็นว่าคนเจนเอ็กซ์ปลายๆ (ที่มีอายุอ่อนกว่าตัวเองมากกว่ายี่สิบปี) จะเป็นคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ เหมือนที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ชอบพูดว่า-ลูกน่ะ, ถึงอย่างไรก็เป็นลูก พ่อกับแม่จะเห็นลูกเป็นเด็กเสมอ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่แล้ว ซึ่งเอาเข้าจริง ผมคิดว่า-คำว่า ‘ลูก’ มันได้ ‘ขยาย’ กว้างไปถึงคนอื่นๆนอกเหนือไปจากลูกของตัวเองด้วย ดังนั้น คนที่อายุอ่อนกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ราว 20 ปีอย่างผม จึงถูกมองว่าเป็น ‘รุ่นใหม่’ อยู่เสมอ
และเอาเข้าจริง-ต้องบอกว่าผมถูกขนานนามให้เป็น ‘นักเขียนรุ่นใหม่’ มาราวๆ 20 ปีแล้วนะครับ!
ในอีกด้าน คนที่เรียกผมว่า ‘นักเขียนรุ่นใหญ่’ ก็มักจะเป็นคนรุ่น ‘ใหม่กว่า’ ผมไปอีกขั้น (หรือหลายๆ ขั้น) เวลามองดูคนอายุราวๆ ผม (คือ 40 ปีกว่าๆ จนถึง 40 ปีปลายๆ) เลยมักรู้สึกว่าคนรุ่นนี้เป็นคน ‘รุ่นใหญ่’ ทีนี้พอใช้คำว่า ‘รุ่นใหญ่’ ก็เลยก่อให้เกิดอาการขึ้นมาหลายอย่างพ่วงมากับคำคำนี้
อาการที่ว่าก็คือ-ความรู้สึกเกร็งๆ กล้าๆ กลัวๆ คืออาจรู้สึกว่าพวก ‘รุ่นใหญ่’ นั้นมีความ ‘อาวุโส’ อะไรบางอย่างที่ต้องยกขึ้นไปไว้บนแท่นบูชาแห่งอายุ จัดวางมันไว้สูงส่ง แตะต้องไม่ได้ ไม่ควรจะไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรมาก แล้วก็มี ‘ธาตุแห่งความกลัว’ บางอย่างแฝงเร้นอยู่ในเวลาที่ต้องมามีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจเป็น ‘มรดก’ บางอย่างที่ตกทอดมาจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ก็ได้
ที่จริงแล้ว-อย่างที่บอก, คือไม่ว่าจะถูกขนานนามว่าเป็นรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่ ผมไม่สนใจกับ ‘ถ้อยคำ’ นักหรอกนะครับ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกบางอย่างกับสองคำนี้ ก็คือ ‘ปฏิกิริยา’ ที่มีตามมาจากการใช้คำ
คนที่เรียกผมว่าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ มักจะมีท่าทีบางอย่างเวลาเจอหน้ากัน เช่นมักจะบอกว่า-อ่านจากงานแล้วนึกว่าจะแก่กว่านี้ ซึ่งโดยส่วนตัวต้องขออนุญาตบอกตรงๆ นะครับ-ว่าเป็นคอมเมนต์ที่มักจะสร้างความ ‘ข่อนใจ’ ให้ตัวเองไม่น้อย เพราะมันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคิดเฉพาะตัวของคนคนนั้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงวิธีมอง ‘โครงสร้างประชากร’ ที่อิงแอบอยู่กับ ‘โครงสร้างความคิด’ ที่ไปแนบชิดอิงอยู่กับ ‘โครงสร้างยกย่องความอาวุโส’ อีกด้วย (รำคาญคำว่าโครงสร้างไหมครับ)
การพูดว่าอ่านจากงานแล้วนึกว่าจะแก่กว่านี้ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ สำหรับผม-มันคือการประกาศ (ถึงขั้นเป็น manifesto ด้วยซ้ำ!) ว่า มีแต่ผู้อาวุโสกว่า ผู้ผ่านประสบการณ์มากกว่าจนหน้าแก่-เท่านั้น ที่จะสามารถผลิตงานเขียนที่ (ผู้พูดเห็นว่า) ดี (ในความหมายของ arguably good น่ะนะครับ) ออกมาได้
คำพูดนี้ไม่ใช่แค่ ‘ข้อสังเกต’ เฉยๆ แต่เป็นคำพูดที่มาจากรากลึกของการฝังตัวอยู่ในโครงสร้างสังคมที่มี ‘ชนชั้น’ (class) ในแบบยกย่องวัยวุฒิมายาวนาน,
ซึ่งก็ต้องมาตั้งคำถามกันต่อนะครับ-ว่าแล้วเป็นอย่างนี้มันดีเลวอย่างไร หรือควรเป็นอย่างนั้นมากน้อยแค่ไหน
ถ้าเราย้อนกลับไปดูนักเขียนชั้นเยี่ยมๆ ของไทยในอดีต โดยเฉพาะนักเขียนที่ปัจจุบันเป็นนักเขียนอาวุโส ผมอยากบอกว่าผมชื่นชมหลายท่านมากที่สามารถผลิตงานชั้นครู งานอมตะ นิยายที่ผู้คนอ่านแล้วติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง ถูกนำมาสร้างเป็นละครหลังข่าวไม่รู้จักกี่ครั้งกี่หน-ในวัยไม่ถึง 20 ปี ด้วยซ้ำ
หรือหากจะดูวงการนิตยสารที่ดังๆ เป็นอมตะ (แม้ว่าในปัจจุบันจะถึงวาระร่วงโรย) เราจะพบว่าเหล่าผู้ก่อตั้งนิตยสารทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารที่เก่าแก่แค่ไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ก่อร่างสร้างกิจการกันมาตั้งแต่อายุ 20 ปลายๆ ถึง 30 ต้นๆ กันทั้งนั้น
แต่เหมือนคนเหล่านี้จะลืมไปแล้ว ว่าคนวัย 20-30 ปี นั้น มี ‘พลังสร้างสรรค์’ ล้นเหลือขนาดไหน!
ไม่มีใครรอจน ‘อาวุโส’ ก่อน แล้วถึงจะลงมือทำสิ่งเหล่านี้หรอกนะครับ แต่การ ‘ฝังตัว’ อยู่ในแวดวงคนวัยเดียวกัน ทำให้โลกที่ห่อหุ้มคนวัยเดียวกัน ‘ดูเหมือน’ เคลื่อนไปแบบนั้น ทุกวันนี้คนเบบี้บูมเมอร์ (ที่ยังทรงอำนาจและอิทธิพลอยู่ เพราะวิทยาการทางการแพทย์ทำให้คนเหล่านี้ยังทำงานได้อย่างแข็งขันกระตือรือร้น-ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) จึงมักไม่อาจทำใจจ้างคนวัยสามสิบปีมาเริ่มงานสำคัญๆ ได้ เนื่องจากถ้าคนเหล่านี้เห็นว่าคนรุ่นผมเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ก็แล้วคนวัยยี่สิบสามสิบจะเป็นรุ่นอะไรไปได้เล่า นอกจากวัยเบบี๋มากๆ แถมยังมีโลกทัศน์ชีวทัศน์ไลฟ์สไตล์ทัศน์ที่แตกต่างยากจะเข้าใจกันได้อีกต่างหาก จึงไม่น่าประหลาดใจหรอกนะครับ ที่คนรุ่นเอ็กซ์ตร้าใหม่เหล่านี้ จะ ‘ถูกผลัก’ ให้หันไปหาธุรกิจแบบ startup (คือกูเริ่มใหม่ของกูเองก็ได้วะ) กันเป็นจำนวนมหาศาล (โดยที่ยังบอกไม่ได้แน่นอนหรอกนะครับว่าจะ ‘รอด’ กันสักกี่เปอร์เซ็นต์) และทำให้ ‘ช่องว่าง’ ของคนที่อยู่ในวัยแตกต่างกันถ่างออกไปเรื่อยๆ
นี่คือ ‘ปัญหา’ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเรียกผมว่า ‘นักเขียนรุ่นใหม่’ นะครับ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเรียกผมว่า ‘นักเขียนรุ่นใหญ่’ ก็มีไม่น้อย
และเอาเข้าจริง-อาจเป็นปัญหาเดียวกันก็ได้!
ต้องบอกก่อนนะครับว่าผมไม่ได้มีปัญหากับการ ‘แบ่ง’ (categorize) คนออกเป็นกลุ่มต่างๆ นะครับ เพราะคนเราก็แตกต่างกันจริงๆ นั่นแหละ เช่น เป็นคนผิวดำผิวขาวหรือเป็นเพศต่างๆ (โดยต้องตระหนักถึงคนที่อยู่ตรง ‘พรมแดน’ ของการแบ่งด้วยนะครับ) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแบ่งคนเหล่านี้ก็คือ เรามักจะติดนิสัยการ ‘เหยียด’ คนที่ไม่เหมือนเรามาด้วยนี่สิครับ
พอเราแบ่งคนปุ๊บ เราก็ต้องเหยียดกันทันที เช่น พอเห็นว่าไอ้นี่เป็นคนรุ่นใหม่หน้าไม่แก่ ก็แปลว่ามันจะต้องด้อยประสบการณ์ หรือพอเห็นว่าไอ้นี่เป็นพวกรุ่นใหญ่-ก็แปลว่ามันต้องมีความคร่ำครึบางอย่างที่เราไม่ควรจะไปชวนมันมาเข้าพวกด้วย…น่ากลั๊วน่ากลัว
การ ‘แบ่ง’ ก็เลยกลายเป็นการ ‘แบ่งแยก’ ไปโดยอัตโนมัติ!
เมื่อเป็นเช่นนี้ การถูกมองว่าเป็น ‘นักเขียนรุ่นใหญ่’ ก็เลยมีปัญหาบางอย่างตามมา นั่นคือผมไม่สามารถเลยจริงๆ ที่จะฝ่าด่านอคติบางอย่างเข้าไป ‘ทำความเข้าใจ’ กับคนเอ็กซ์ตร้ารุ่นใหม่ได้อย่างถ่องแท้ เช่นกับคนวัยยี่สิบสามสิบกว่าๆ หรือต่ำกว่านั้น พูดให้ถึงที่สุด ผมพบว่าคนรุ่นนี้ (จำนวนหนึ่งนะครับ คือไม่ใช่ทุกคนหรอก) ก็คล้ายคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์นั่นแหละครับ นั่นคือชอบ ‘ขัง’ ตัวเองอยู่แต่กับคนรุ่นเดียวกัน คิดว่าโลกที่ห่อหุ้มคนวัยเดียวกันกับตัวเองเคลื่อนไปคล้ายกับว่าทั้งหมดนี้คือความจริง จึงขาดความสามารถที่จะเปิดรับความหลากหลายของคนรุ่นต่างๆ ซึ่งซอรี่นะครับนะครับ ที่จะต้องบอกไว้ตรงนี้ว่า-หากคนรุ่นเอ็กซ์ตร้าใหม่เป็นแบบนี้ ก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เท่าไหร่
[อย่างไรก็ตาม ต้องโน้ตไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ ว่านี่เป็นการพูดแบบ stereotypical มากๆ คือเหมารวมและแบ่งกลุ่ม ซึ่งในตัวของมันเอง ผมก็กำลัง ‘เหยียด’ คนที่ถูกผมแบ่งอยู่ด้วย ซึ่งจะติดแท็ก #inceptionไหมล่ะมึง ก็คงได้นะครับ]
แล้วทั้งหมดนี้คืออะไร?
สำหรับผม คำตอบก็คือสิ่งที่เรียกว่า Ageism หรืออาการ ‘เหยียดวัย’ นั่นแหละครับ
Ageism คือการเหมารวมและเลือกปฏิบัติต่อคน โดยการดู ‘อายุ’ ของคนคนนั้นเป็นหลัก คิดว่าถ้าอายุเท่านี้จะต้องเป็นแบบนี้ ต้องคบกับคนอายุเท่ากัน ไม่ควรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฯลฯ คำนี้เดิมทีเดียว Robert Neil Butler คิดขึ้น (ในปี 1969 อันเป็นปีที่ผมเกิด!) เพื่อเรียกการเลือกปฏิบัติต่อคนแก่ ซึ่งก็มีประเภทที่แยกย่อยออกไปอีกหลายอย่าง เช่น Jeunism คือการเลือกปฏิบัติต่อคนแก่โดยมีฉันทาคติต่อคนอ่อนวัยกว่า Adultism คือการเลือกปฏิบัติหรือเหยียดคนที่อยู่ในวัยเด็ก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบัน ผมพบว่า Ageism นั้นซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะมันมีการเหยียดซ้ำหยามซ้อนจนไม่รู้จักกี่ชั้นระหว่างคนที่อยู่ใน generations ต่างๆ และไม่ได้มาในรูปแบบของการเหยียดตรงๆ ด้วยซ้ำ บางรูปแบบก็ถูกเคลือบด้วยน้ำตาลหวานสวยจนกระทั่งคนเหยียดเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังเหยียดคนอื่นอยู่ เช่นอาจมาในรูปของ ‘ความเมตตา’ จากคนแก่ต่อเด็ก คือเมตตาสงสารที่เด็กนั้นอ่อนด้อยประสบการณ์กว่าตัวเอง (แต่ในเวลาเดียวกันก็พานคิดไปว่าเพราะไร้ประสบการณ์จึงทำงานไม่ได้) อะไรทำนองนั้น
ดังนั้น การ ‘ถูกเรียก’ ว่านักเขียนรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่อะไรนี่ จึงไม่ใช่ปัญหาของ ‘คำ’ โดยตรงหรอกนะครับ (คือใครอยากเรียกผมว่าอะไรก็เชิญเรียกได้เลย) แต่ถ้าเรียกโดย ‘ตระหนัก’ ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดอยู่นั้นมันมี ‘ความหมายแฝง’ (implications) โดยเฉพาะความหมายในทางวัฒนธรรมและอำนาจอะไรเร้นอยู่บ้าง-ก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นการตรวจสอบตัวเองไปในตัวด้วย
ผมมักชอบบอกเพื่อนรุ่นน้องว่า-สิ่งที่ผมไม่ชอบมากๆ ก็คือเรื่องของการ ‘แบ่งแยก’ ซึ่งมีนัยถึงการ ‘เหยียด’ (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที) อย่างที่ว่ามาทั้งหมด ดังนั้น รุ่นน้องทั้งหลายไม่ต้องมานบนอบน้อมค้อมกาย จะเถียงอะไรก็เถียงมา ไม่เห็นด้วยก็บอก แต่ในเวลาเดียวกัน พอรุ่นน้องเถียงเยอะๆ หรือไม่ยกย่องเชิดชูบูชามากพอ ก็จะเกิดความรู้สึกย้อนแย้งขึ้นมาบางอย่าง จนต้องยอมรับตัวเองด้วยว่า ต่อให้พยายามมากแค่ไหน ‘ตัวกู’ ของผมเอง-ก็ยังเป็นผลผลิตของสังคมที่มี ‘โครงสร้าง’ แบบอิงแอบแนบชิดความอาวุโส ทำให้สามารถโกรธขึ้งกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ปีนเกลียว’ ได้ด้วยเหมือนกัน และในเวลาเดียวกัน ก็ไร้ความสามารถที่จะบอกคนอาวุโสกว่าไปตรงๆ ว่า-เลิกเรียกผมว่านักเขียนรุ่นใหม่ได้แล้ว
ทั้งหมดนี้คือความซับซ้อนของ ‘อำนาจ’ แบบหนึ่ง เป็นอำนาจที่มองไม่เห็น แต่กระทำกับเราเสมอในทุกวินาทีที่มีชีวิตอยู่,
นั่นเอง

โตมร ศุขปรีชา