14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 วันแห่งความรัก คนแห่ซื้อของโปสการ์ดเขียนข้อความสวยๆ มอบให้กัน ยังไม่มีการมอบกุหลาบเหมือนดังปัจจุบัน ในยุคนั้นสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ซึ่งมีผลในปี ค.ศ.1920 สังคมแห่งความดีพุ่งถึงจุดสูงสุด แต่สังคมมนุษย์มักปากว่าตาขยิบ แอลกอฮอลล์ยังคงเป็นสิ่งที่คนต้องการ เมื่อกฎหมายไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์ โอกาสทองจึงเกิดขึ้น
นั่นก็คือการแอบผลิตเหล้าเถื่อน
ธุรกิจสีเทานี้คือโอกาสของเหล่าอาชญากรมาเฟียทั้งหลาย มันสร้างรายได้มหาศาล มีการติดสินบาทคาดสินบนกับเจ้าหน้าที่ไปทั่ว การแข่งขันกันระหว่างธุรกิจดุเดือดเลือดพล่าน บางครามันจบลงที่กระสุนปืนและความตาย ประชาชนเป็นเพียงเบี้ยเล็กๆ กฎหมายไม่ทำงาน อันธพาลครองเมือง
แต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 กระสุนปืนและความตายได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของระบอบอันธพาลครองเมืองลงได้ด้วยเสียงเรียกร้องแห่งประชาชนคนธรรมดานี่เอง
1.
ที่เมืองชิคาโก ศูนย์กลางธุรกิจผลิตเหล้าเถื่อน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายและชายใส่สูทกับหมวก 2 คนเดินทางมาที่อู่รถแห่งหนึ่งบนถนนนอร์ธ คลากส์ พวกเขาขอตรวจค้นชายฉกรรจ์ 7 คนที่อยู่ในอู่รถ โดยให้ยืนหันหน้าเข้ากำแพงของอู่รถเพื่อให้ตำรวจตรวจค้น ด้วยเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คนทั้ง 7 จึงยอมทำตาม
เมื่อพวกเขายืนหันหน้ามือพิงกับกำแพง กระสุนจำนวนมากก็สาดใส่ร่างพวกเขาทันที เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ปืนหลายกระบอกกระหน่ำยิง ร่างทั้ง 7 ร่วงกองกับพื้น แต่การกระหน่ำยิงก็ยังไม่หยุด มีผู้เสียชีวิตคาที่ 6 ราย และมี 1 รายถูกยิงไป 14 นัดแต่ยังหายใจรวยริน หลังเกิดเหตุตำรวจ 2 นายและชายใส่สูทอีก 2 คนหลบหนีจากจุดเกิดเหตุ ไม่กี่นาทีต่อมาตำรวจชิคาโกตัวจริงก็มาถึงจุดเกิดเหตุ พวกเขาพาร่างของคนที่ถูกยิงแต่ยังไม่ขาดใจส่งโรงพยาบาล
แม้ผู้รอดชีวิตจะถูกยิงไปหลายนัด แต่ยังมีสติรู้เรื่องอย่างเหลือเชื่อ ตำรวจพยายามจะถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น ชายหนุ่มดวงแข็งปฏิเสธจะให้ความร่วมมือ โดยเขาเลือกกฎแห่งความเงียบ อันเป็นกฎศักดิ์สิทธิ์ของอาชญากรที่ยอมตายยอมหุบปากดีกว่าจะคุยกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเขาจึงตอบไปว่า “ไม่มีใครยิงผม….”
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เขาก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิต
ต่อมาสื่อมวลชนรายงานข่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 7 เป็นสมาชิกกลุ่มมาเฟียไอริช ซึ่งปกครองโดย จอร์จ “บักส์” โมแรน (George “Bugs” Moran) ซึ่งมีถิ่นฐานในตอนเหนือของชิคาโก เขาเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของ อัล คาโปน (Al Capone) หัวหน้ากลุ่มมาเฟียอิตาลีที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านเพื่อต้องการคุมธุรกิจเหล้าเถื่อนแต่เพียงกลุ่มเดียว
ทางเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานพบกระสุนในจุดเกิดเหตุกว่า 90 นัด มีทั้งจากปืนลูกซอง ปืนลูกโม่และปืนกลทอมป์สัน อาวุธหนักที่ผลิตมาในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกจัดสรรให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กัน แต่ต่อมามันก็ถูกใช้กันเกลื่อนโดยแก๊งอาชญากรต่างๆ ทั่วประเทศ
เหตุการณ์นี้สร้างความแตกตื่นให้กับสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก นี่คือเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ แม้ที่ผ่านมาจะมีการก่อเหตุยิงถล่มกัน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกิดการฆ่ากันแล้วมีผู้เสียชีวิตสูงขนาดนี้มาก่อน
นี่คือสงครามระหว่างแก๊งไอริชกับอิตาลีที่การฆาตกรรมในวันแห่งความรัก นำไปสู่การเรียกเหตุการณ์นี้โดยสื่อมวลชนว่า ‘การสังหารโหดวาเลนไทน์’
2.
หลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ชิคาโกเป็นเมืองที่ดึงดูดให้เกิดการลงทุน มีคนเข้ามาอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก มีการสร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โต เมื่อธุรกิจเติบโต นักธุรกิจก็สยายปีกเข้าควบคุมเจ้าหน้าที่ มันกลายเป็นดินแดนแห่งความร่ำรวยและการฉ้อฉล เส้นแบ่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์สาธารณะเลือนจาง ว่ากันว่าในยุคนั้นถนนของชิคาโกก็คือถนนของรัฐอิลลินอยส์ เศรษฐกิจขยายตัว นักการเมืองกอบโกยผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่รัฐกินกันเต็มคราบกับส่วนแบ่งจากธุรกิจสีเทา
นับตั้งแต่ผ่านสงครามกลางเมือง อาชญกรกับนักการเมืองกลายเป็นพันธมิตรกัน อาชญากรทำธุรกิจสีเทาส่งเงินให้กับนักการเมืองลงเลือกตั้ง แล้วเอื้อประโยชน์กลับมาหาอาชญากร ทั้งสองผูกพันแน่นแฟ้น อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี ค.ศ.1900 หลายเมือง หลายรัฐในอเมริกา มีคนหัวก้าวหน้ารวมตัวกันหยุดยั้งวงจรอุบาทว์นี้ นักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนให้เข้าไปรื้อยุติวงจรนี้ได้สำเร็จ
แต่ไม่ใช่ที่ชิคาโก วงจรอุบาทว์ยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
เมื่อถึงยุคห้ามจำหน่ายแอลกอฮอลล์ ปัญหาก็ยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก เมื่ออัล คาโปนทำธุรกิจร่วมกับกลุ่มมาเฟียอิตาลี เขาเห็นโอกาสในเรื่องการห้ามขายแอลกอฮอลล์ทันที การแอบผลิตเหล้าเถื่อนเกิดขึ้น ว่ากันว่าสมัยนั้นอัล คาโปนมีรายได้จากธุรกิจนอกกฎหมายปีละ 60 ล้านยูเอสดอลลาร์ โดยเคยทำเงินสูงสุดในปี ค.ศ.1927 ถึง 100 ล้านยูเอสดอลลาร์ด้วย
แต่ชิคาโกไม่ได้มีมาเฟียจากอิตาลีเท่านั้น เมืองที่รุ่มรวยด้วยโอกาสและรายได้มหาศาลดึงดูดคู่แข่งเสมอ ผู้อพยพจากไอร์แลนด์รวมกลุ่มเป็นคู่แข่งและศัตรูตัวฉกาจของอัล คาโปน
การสืบสวนพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 7 คนนั้นถูกหลอกให้เข้าไปในอู่รถ เพราะมีนัดหมายตกลงเจรจาธุรกิจซื้อขายเหล้าวิสกี้จากแคนาดา ซึ่งขโมยมาจากกลุ่มอัล คาโปน พวกเขาจึงเดินทางมา การสืบสวนเชื่อได้ว่าคนใกล้ชิด อัล คาโปนวางกับดักให้ตัวโมแรนเองเข้าไปในจุดสังหารด้วย
อย่างไรก็ดีตามแผนโมแรนต้องโดนยิงตายด้วย แต่มือสังหารของอัล คาโปน ดันจำโมแรนสลับกับคนอื่น เหล่ามือสังหารซึ่งปลอมตัวเป็นตำรวจจึงลั่นไกฆาตกรรมหมู่นี้ทันทีที่ให้ทั้ง 7 คนยืนหันหน้าเข้ากำแพง โดยที่ตัวโมแรนเองไม่ได้มาเจรจาซื้อขายในวันนั้น เพราะดันนอนเพลินจนตื่นสาย และเมื่อมาใกล้จุดเกิดเหตุ เขาก็เห็นตำรวจ 2 นายเดินเข้าไปในอู่ จึงตัดสินใจหลบหนีแทน เพราะคิดว่าทั้ง 7 คนคงจะถูกจับแน่นอน
โมแรนจึงรอดตายอย่างหวุดหวิด
อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะสังหารคู่อริรายสำคัญไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 กลายเป็นบันไดที่ทำให้อัล คาโปนขึ้นสู่จุดสูงสุด ชิคาโกอยู่ในอุ้งมือของพวกเขาเรียบร้อยแล้ว ความตายของทั้ง 7 คนได้ทำให้กลุ่มมาเฟียไอริชแหลกสลาย พวกเขาสูญเสียอำนาจทุกอย่างและต้องสยบยอมให้กับอัล คาโปนขึ้นครองบัลลังค์ราชันมาเฟียชิคาโกแต่เพียงผู้เดียว
เพราะความโลภอยากกินรวบแต่เพียงผู้เดียว ทำให้อัล คาโปนผู้ต้องการเป็นหนึ่งเดียวในปฐพียอมก่อเหตุสะเทือนขวัญ และนั่นทำให้เขาถูกจับตามองจากคนทั้งประเทศในบัดดล
เมื่อเหตุการณ์สังหารนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน การสังหารโหดวาเลนไทน์กลายเป็นประเด็นที่ปลุกสังคมให้ตื่นตาสว่างทันที
เหตุการณ์นี้รับรู้ไปถึงทำเนียบขาว อัล คาโปนกลายเป็นศัตรูของสาธารณชนหมายเลข 1 นั่นทำให้เจ้าหน้าที่รัฐจับตาเขายิ่งขึ้น หลังเกิดเหตุแม้จะมีหลักฐานว่าอัล คาโปนมีเอี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ตำรวจชิคาโกก็จับมือใครดมไม่ได้แม้แต่คนเดียว แม้แต่มือปืนก็จับไม่ได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสาวไปถึงผู้บงการ จึงเป็นเพียงเสียงกระซิบในสังคมว่า อัล คาโปนนี่เองคือผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้
สุดท้ายคดีนี้ยังคงเป็นคดีที่ปิดไม่ลงคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์
ภายหลังการสังหารโหด คนชิคาโกจำนวนมากไม่พอใจ คำว่า พอกันที! จึงอุบัติขึ้น สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนส่งผลต่อธุรกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นักธุรกิจในเมืองต่างลงขันกันสืบสวนคดีนี้ มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกระสุนมาตรวจสอบกระสุนปืนที่พบในจุดเกิดเหตุ นับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการสืบสวนแบบนี้จนระบุชนิดของปืนได้ แม้สุดท้ายจะจับใครไม่ได้ก็ตามที แต่ก็ทำให้องค์ความรู้ด้านกระสุนปืนได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น
การสังหารโหดครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่จุดจบของยุคอันธพาลครองเมืองชิคาโกในเวลาต่อมา
เมื่อประชาชนเรียกร้องมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ปกครองที่ดี
จึงต้องยอมสนองความต้องการของประชาชน
นั่นก็คือการลากเหล่ามาเฟียเข้าคุก
2 ปีหลังการสังหารโหด อัล คาโปนเป็นราชันย์ได้ไม่นาน สุดท้ายก็ถูกจับติดคุกจากการหลบเลี่ยงภาษี เขาติดคุกไป 7 ปี ถูกปล่อยตัวออกมาในปี ค.ศ.1939 ซึ่งเขาก็หมดสง่าราศีเสียแล้ว เพราะดันป่วยเป็นอัมพฤกษ์ต้องทรมานอย่างมาก ก่อนจะหัวใจวายในปี ค.ศ.1947
ด้านโมแรนหลังเหตุกราดยิง กลุ่มไอริชไม่เคยฟื้นอำนาจได้ดังเดิม เขานำแก๊งหากินกับการปล้นร้านค้าจนเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น จากคนที่ร่ำรวยสุดๆ ในเมืองชิคาโก สุดท้ายเขาตายในคุกด้วยโรคมะเร็งปอดในปี ค.ศ.1957
ปืนกลทอมป์สันถูกควบคุมกวาดล้างไม่ให้ใครครอบครอง นอกจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น มันทำให้การฆาตกรรมโหดๆ ลดลงไปมาก นับเป็นความสำเร็จในการควบคุมอาวุธปืนครั้งแรกๆ ของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะล้มเหลวจนถึงปัจจุบันที่นำมาซึ่งการสังหารหมู่มากมายดังที่เป็นข่าว
ยุคห้ามขายแอลกอฮอลล์สิ้นสุดลง เมื่อ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ชนะเลือกตั้งในปี ค.ศ.1932 หรือ 3 ปีหลังเหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดีได้ยกเลิกการแบนแอลกอฮอลล์ อเมริกากลับมากินเหล้ากันอย่างเสรีได้อีกครั้งโดยไม่ผิดกฎหมาย และทำให้ธุรกิจสีเทาล่มสลายเป็นการดิสรัปชั่นวิถีทำมาหากินของมาเฟียครั้งยิ่งใหญ่
ขณะที่เมืองชิคาโก นักการเมืองถูกกดดันจากสาธารณชน ไม่อาจจะอยู่ในวงจรอุบาทว์ได้อีกแล้ว พวกเขาตัดขาดกับมาเฟีย ผู้ว่าฯ คนใหม่มาแทนผู้ว่าฯ คนเก่าที่สนิทกับอัล คาโปน การจัดระเบียบเกิดขึ้นผ่านการเลือกตั้งของประชาชน ในที่สุดทุกภาคส่วนก็ทำหน้าที่ของตัวเองเสียที และนั่นนำไปสู่การกวาดล้างอันธพาลทั้งหลายและทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนกำแพงที่ทั้ง 7 คนถูกยิงทิ้งนั้นต่อมาโดนรื้อออกเพื่อสร้างโรงพยาบาล แต่มีนักธุรกิจแคนาดาซื้อกำแพงนี้เก็บรักษาไว้ ก่อนที่จะส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์มาเฟีย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลาส เวกัส
เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษารับรู้ถึงความรุนแรงในประวัติศาสตร์อเมริกา
4.
เหตุการณ์สังหารโหดวาเลนไทน์ ทำให้คนจำนวนมากเปิดตามาดูว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น วิธีการแก้ปัญหาเริ่มต้นจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน จนทำให้สาธารณชนร่วมมือกันผลักดันเปลี่ยนแปลงจนกดดันให้นักการเมืองเลิกพฤติกรรมคบหามาเฟีย ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเลิกเก็บผลประโยชน์สีเทา
โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงนำไปสู่หนทางที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม มันจึงเป็นเครื่องเตือนใจและให้แรงบันดาลใจว่าความรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอันใด และประชาชนคนธรรมดานี่แหละที่สามารถลุกมาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังที่สาธารณชนอเมริกันยุคนั้นร่วมกันกระทำจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนบ้านเมืองน่าอยู่มากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น และทำให้ถ้อยคำว่าที่ว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย
เป็นความจริงได้สำเร็จเสียที