วันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาจไม่ใช่วันที่ต้องจดจำแต่เรื่องราวของความรักเสมอไป เพราะในวันนี้เมื่อปีค.ศ.1929 ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่อันโด่งดังที่ออกเป็นข่าวไปทั่วโลก หากเป็นคดีฆาตกรรมหมู่ธรรมดาอาจไม่เป็นเรื่องราวที่ต้องพูดถึงไปทั่วโลก แต่การสังหารนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับจอมโจรผู้เขย่าประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง อัล คาโปน
หากให้อธิบายง่ายๆ ถึงความเป็น อัล คาโปน เขาคือเจ้าพ่อต้นแบบแห่งการทำธุรกิจผิดกฎหมาย เฟื่องฟูในยุคที่เหล้าผิดกฎหมาย ด้วยการลอบนำเข้ามาจำหน่ายใต้ดิน รวมไปถึงธุรกิจสีดำอื่นๆ ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณี บ่อนพนัน หรือแม้แต่การไล่ยึดทรัพย์ขู่กรรโชกแสดงความเป็นเจ้าถิ่นให้คนหวาดกลัวไปทั่วโดยเฉพาะในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่มีใครสามารถเอาผิดอัล คาโปนได้ อำนาจเงินนั้นหอมหวาน ซื้อได้ทุกอย่างถ้ามันมากพอ อัล คาโปน มีเครือข่ายกับหน่วยงานพิทักษ์ความยุติธรรมทุกที่ ตำรวจ ผู้พิพากษา หรือแม้แต่ลูกขุน ล้วนได้รับสินบนมาแล้วมากมายและมากพอเพื่อให้ธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้ รายได้ของแก๊งอัล คาโปน จากกิจกรรมมืดดำเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1,960 ล้านบาท ในปีค.ศ.1927 คาดการณ์ว่าทรัพยสินของเขาที่ไม่นับรวมของคนในแก๊งจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,266 ล้านบาท
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1925 ถึง ค.ศ.1930 เมืองชิคาโกมีชื่อเสียง
ไปทั่วประเทศถึงความไร้กฎระเบียบและมีแต่ความรุนแรง
มันเกิดขึ้นหลังจาก อัล คาโปน ได้ทำหน้าที่เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าต่อจากเจ้านายของเขา จอห์นนี่ ทอร์ริโอ ในปีค.ศ.1925 เพราะ จอห์นนี่ ทอร์ริโอ ตัดสินใจเกษียณอายุตนเองหลังจากถูกลอบสังหารจนบาดเจ็บสาหัสในปีค.ศ.1924
แน่นอนว่า อัล คาโปน ไม่ได้มีเพียงแก๊งเดียวที่ปกครองท้องถนนชิคาโก พวกเขามีคู่อริแค้นเล็กใหญ่มากมาย แต่ที่ดูจะสมน้ำสมเนื้อสุดคงจะหนีไม่พ้น แก๊งชาวไอริชนามว่า จอร์จ “บักส์” มอแรน ถึงขั้นทั้งสองแก๊งได้แบ่งการปกครองชิคาโกเป็นสองส่วน ส่วนด้านบนเป็นของ North Side Gang หรือที่รู้จักในชื่อ North Side Mob ปกครองโดย จอร์จ มอแรน ส่วนด้านตอนใต้เป็นของ South Side Gang หรือที่รู้จักในชื่อ Chicago Outfit ปกครองโดย จอห์นนี่ ทอร์ริโอ และ อัล คาโปน
ทั้งสองฝ่ายเหนือใต้พยายามขยายอาณาเขตการปกครอง ตัดขากำจัดคู่แข่งการค้าขายเหล้าเถื่อน การพนัน และการค้าประเวณี เพื่อสิ่งที่ต้องการคืออำนาจเพียงฝ่ายเดียว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อัล คาโปน ได้กระทำทุกสิ่งที่เรียกว่าอาชญากรรมไว้ทุกรูปแบบในเมืองชิคาโก เขาสั่งยิงใส่คู่อริอย่างไร้ความปราณี ก่อคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับแก๊งหลายสิบคดีต่อปี เพียงแค่ปีค.ศ.1929 ปีเดียว มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นถึง 64 ครั้งซึ่งเป็นไปได้ว่าเกี่ยวโยงกับอัล คาโปน แต่อย่างที่รู้กัน เขาเล็ดลอดมาได้ทุกคดี กลิ่นหอมหวานของเงินมันกลบความยุติธรรมไปเสียหมด และในยุคนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง รวมถึงสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ ยังมีอำนาจในแต่ละเขตน้อยกว่าที่พวกเขามีในปัจจุบันเยอะ พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะเอาผิดคนเหล่านี้อย่างจริงจังได้
ความรุนแรงของทั้งสองแก๊งได้ลุกลามมาถึงจุดไคลแม็กซ์นองเลือด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1929 ที่เรียกกันว่า “การสังหารหมู่วันนักบุญวาเลนไทน์” (Saint Valentine’s Day Massacre) อัล คาโปน ต้องการปิดบัญชีหนึ่งในศัตรูเก่าแก่ของเขา นั่นคือ จอร์จ มอแรน อันธพาลชาวไอริชที่เคยลอบสังหารจอห์นนี่ ทอร์ริโอ เจ้านายเก่าของตนแต่ไม่สำเร็จ คาโปนได้สั่งให้ แจ็ค แมคเกิร์น หนึ่งในมือขวาของเขาดำเนินการวางแผนสังหาร ส่วนตนเองบินหนีไปเที่ยวที่ฟลอริดา เพื่อสร้างหลักฐานว่าตนนั้นไม่เกี่ยวข้อง
แจ็ค แมคเกิร์น พร้อมพรรคพวก วางแผนล่อซื้อเหล้าเถื่อนจากแก๊งจอร์จ มอแรน โดยนัดรับที่โกดังสินค้าที่ 2122 ถนนนอร์ธคลาร์ก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อถึงวันนัดหมาย สมาชิกของมอแรนจำนวน 7 คนที่ยืนรออยู่ ก็เห็นกลุ่มคนใส่เครื่องแบบตำรวจพร้อมอาวุธเดินปรี่เข้ามาออกคำสั่งขอตรวจค้น จากนั้นตำรวจได้สั่งให้ทุกคนในแก๊งหันหน้าเข้ากำแพงยืนเรียงเป็นหน้ากระดานพร้อมยกมือขึ้น ซึ่งหารู้ไม่ว่าตำรวจเหล่านั้นคือแจ็ค แมคเกิร์น พร้อมพรรคพวกที่ใส่ชุดตำรวจปลอมตัวมา
ไม่กี่เสี้ยววินาทีหลังจากที่แก๊งของมอแรนยกมือขึ้น
กระสุนปืนกลก็ดังสนั่นหวั่นไหว
ลูกกระสุนกว่า 70 นัดวิ่งทะลุร่างทั้ง 7 จนล้มลงแน่นิ่ง หลังจากนั้นมือขวาของคาโปนพร้อมพรรคพวกก็เดินจากไปโดยไม่มีท่าทีหวาดกลัวใดๆ ในกฎหมาย สมาชิกของมอแรนจำนวน 6 คนเสียชีวิตทันที เหลือเพียง แฟรงค์ กูเซนเบิร์ก หนึ่งในสมาชิกที่ยังคงหายใจอยู่ เมื่อเจ้าหน้าตำรวจชิคาโกมาถึงจุดเกิดเหตุ ก็ได้เห็นกูเซนเบิร์ก เพียงคนเดียวที่รอดชีวิตกระเสือกกระสนแทบมีชีวิตต่อไม่ไหว พวกเขาได้พยายามบีบคั้นเอาข้อมูลจากกูเซนเบิร์กว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาไม่ยอมปริปากแม้แต่คำเดียว และไม่กี่นาทีต่อจากนั้นกูเซนเบิร์กก็เสียชีวิตตามสมาชิกที่เหลือไป
ส่วน จอร์จ บักส์ มอแรน เป้าหมายอันดับหนึ่งของอัล คาโปน กลับรอดชีวิต เขาพลาดการถูกฆ่าตายเพียงไม่กี่นาทีก่อนที่เขาจะมาถึง เพียงเพราะว่าเขามานัดในวันนั้นสาย และแจ็ค แมคเกิร์น คิดว่าหนึ่งใน 7 คนนั้นมีมอแรนอยู่แล้ว จึงได้ทำการยิงสังหารทันที มอแรนที่ได้ยินเสียงปืนระหว่างการเดินทางจึงรีบหนีไปอีกทิศทางโดยทันที
เหตุการณ์ระทึกขวัญนี้สร้างความหวาดกลัว
ไปทั่วประเทศและกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก
ตำรวจพยายามสอบสวนอย่างเต็มที่ แต่พวกเขาพบผู้เห็นเหตุการณ์เพียงไม่กี่คน และสรุปได้เพียงว่ามือปืนนั้นแต่งตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินเข้าไปในโกดังและแกล้งทำเป็นจับกุมกลุ่มชายขายเหล้าเถื่อน จอร์จ มอแรน บอกกับนักข่าวว่า “มีเพียงคาโปนเท่านั้นที่ฆ่าแบบนั้น” ส่วน อัล คาโปน ที่กำลังอยู่ในบ้านที่ฟลอริดา ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้แก่นักข่าวว่า “คนเดียวที่ฆ่าแบบนั้นได้คือ จอร์จ มอแรน เขากำลังหักหลังลูกน้องตนเอง”
แม้ว่าทุกอย่างจะแน่ชัดว่าเป็นฝีมือการสั่งการของ อัล คาโปน แต่กลับเป็นว่าไม่เคยมีใครถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีฆาตกรรมครั้งนี้ และมันยังคงเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ยังไม่คลี่คลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์กลุ่มคนถูกสั่งหันหลัง ยกมือ และกราดยิงที่เขย่าขวัญประชาชนชาวอเมริกาและทั่วโลก ได้ถูกนำไปเป็นตัวอย่างของการสร้างฉากโหดเหี้ยมมากมายในภาพยนตร์
แม้ว่าการสังหารหมู่ในวันวาเลนไทน์จะเป็นจุดจบของอริศัตรูมากมายของคาโปนในเมืองชิคาโก แต่ก็กล่าวได้อีกว่ามันก็เป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะของเขาเช่นกัน คาโปนกลายเป็นนักเลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ องค์กรของเขาขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม บวกกับมีรายได้กำไรที่น่าตกใจ
หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศต่างประโคมข่าวเขา
และขนานนามเขาว่า “ศัตรูสาธารณะหมายเลข 1” (Public Enemy No.1)
แน่นอนว่าเหมือนเป็นการลูบคมเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางรวมไปถึงทำเนียบขาว พวกเขาหันมาเพ่งเล็งและเริ่มสืบสวนคาโปนทันทีหลังจากที่เขาไม่ยอมมาปรากฏตัวเป็นพยานต่อหน้าคณะลูกขุนใหญ่ของรัฐบาลกลางหลังจากถูกหมายศาลเรียกตัวเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1929 ถึงแม้จะอยากให้เข้าคุกนานเพียงใด แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางก็ทำได้แค่จับกุมเขาในข้อหาดูหมิ่นศาล ไม่กี่วันคาโปนก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา ต่อจากนั้นคาโปนก็ถูกเพ่งเล็งมาเรื่อยๆ และถูกจับกุมในฟิลาเดลเฟียข้อหาพกพาอาวุธแบบปกปิด คาโปนรับโทษจำคุก 9 เดือนและได้รับการปล่อยตัวออกมาเนื่องจากมีประพฤติตัวในคุกดี
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1931 ศาลรัฐบาลกลางพบว่าคาโปนมีความผิดในข้อหาดูหมิ่นและถูกตัดสินให้จำคุก 6 เดือน ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนการหลีกเลี่ยงภาษีของคาโปน ในที่สุด เดือนมิถุนายน ค.ศ.1931 แฟรงค์ วิลสัน เจ้าหน้าที่พิเศษสหรัฐฯ และสมาชิกหน่วยข่าวกรองของกรมสรรพากรก็สามารถรวบรวมหลักฐานทั้งหมดจนสามารถฟ้องคาโปนในข้อหาเลี่ยงภาษีเงินได้ของรัฐบาลกลาง อัล คาโปน ถูกตัดสินจำคุก 11 ปีในเดือนตุลาคม ค.ศ.1931 เขาจำคุกครั้งแรกที่แอตแลนต้าและต่อมาที่คุกอัลคาทราซอันโด่งดัง
อัล คาโปนได้การปล่อยตัวในปี ค.ศ.1939 และเสียชีวิตในปีค.ศ.1947 จากภาวะหัวใจหยุดเต้นหลังจากมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก จบสิ้นวายร้ายผู้อยู่เคยเหนือกฎหมายที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบันด้วยวัย 48 ปี เรื่องราวชีวิตของอัล คาโปน ถูกมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Untouchables” ในปีค.ศ.1987 โดย โรเบิร์ต เดอนิโร รับบทเป็นอัล คาโปน สร้างรายได้ไป 106 ล้านเหรียญทั่วโลก ได้เข้าชิงและได้รับรางวัลมากมาย
แหล่งข้อมูล :