1.
19 กรกฎาคม ค.ศ.1976 ความโกลาหลเกือบจะเป็นหายนะเกิดขึ้นที่ธนาคารในเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส มันเป็นวันจันทร์หลังช่วงเทศกาลหยุดยาววันชาติ 14 กรกฎาคม ลูกค้ามารอถอนเงินสดจำนวนมาก หลายคนเริ่มหงุดหงิด พนักงานพร้อมบริการ แต่ปัญหาคือระบบตู้เซฟขนาดมหึมายากจะทำลาย กลับเปิดไม่ออก ทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าไปเอาเงินสดได้
10.00 น. ช่างตู้เซฟถูกตามตัวมาสำรวจปัญหา พวกเขาพบว่า มีอะไรบางอย่างเสียหายที่ประตูของตู้ มันเป็นความเสียหายที่เกิดจากภายใน ไม่สามารถเปิดตู้ได้ ในที่สุดก็ตกลงว่าจะใช้ค้อนทุบให้ตู้พังเป็นรู เพื่อเปิดประตูจากภายในได้
ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ตอนบ่ายสาม ก็เกิดรูเล็กๆ ที่ตู้ พอเพียงจะเปิดตู้ได้ ทางผู้จัดการธนาคารเดินเข้าไปภายใน ก่อนออกคำสั่งอย่างร้อนรนให้แจ้งตำรวจทันที
ที่ผนังกำแพงของตู้ ปรากฏถ้อยคำอันเป็นประวัติศาสตร์แห่งคดีที่จะถูกเรียกว่า การปล้นแห่งศตวรรษ
“ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
ไม่ต้องมีความเกลียดชัง”
นี่ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่คนร้ายทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า 15 นาทีหลังรับแจ้ง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้งหมดในเมืองนีซเดินทางมาที่เกิดเหตุ นักสืบที่ลาพักร้อนถูกสั่งให้ยกเลิกวันลาและกลับมาทำงานทันที
เจ้าหน้าที่พบขวดไวน์ถูกดื่มจนหมด ร่องรอยการทำอาหาร กระดาษชำระ ร่องรอยการรื้อค้นทรัพย์สินในตู้เซฟ และที่ด้านหลังผนังห้อง พวกเขาเจอรูโหว่ถูกเจาะเป็นอุโมงค์เชื่อมไปยังท่อระบายน้ำของเมือง ซึ่งตั้งอยู่หลังธนาคาร
อุโมงค์ถูกขุดอย่างสมบูรณ์แบบ มีการวางเสาค้ำกันถล่ม มีการทำท่อระบายอากาศ มันพอให้คนคลานเข้าไปได้ ความยาวกว่า 9 เมตร ถือเป็นผลงานที่ตำรวจไม่เคยพบเห็นโจรหน้าไหนทำมาก่อน
คนร้ายกวาดทรัพย์สินในตู้เซฟไปกว่า 18.5 ล้านดอลลาร์ ณ เวลานั้นมันคือการปล้นที่มากสุดในโลก เป็นการก่อเหตุสุดอัจฉริยะ และสมบูรณ์แบบ
นักสืบนับหมื่นถูกระดมมาทำคดีนี้ ด้วยคำสั่งว่า ไปเค้นมาให้หมดว่า ใครรู้เรื่องนี้บ้าง
2.
ตำรวจติดตามเบาะแสทุกอย่าง มีลูกค้าฝากของในตู้เซฟ 4 พันตู้ นั่นหมายความว่าจะต้องสอบพยาน 4 พันปาก พวกเขาดูความเป็นไปได้ทุกอย่าง เก็บลายนิ้วมือทุกอย่างในห้องนั้น ก่อนพบความจริงว่า ลายนิ้วมือที่ปรากฏเป็นลายนิ้วมือของพนักงานธนาคารเสียส่วนใหญ่
100 วันแรก ตำรวจไม่ได้เบาะแสอะไรเลย ทั้งที่พวกเขาตามเบาะแสทุกอย่างที่พบในห้องนิรภัย สื่อมวลชนไล่ตามข่าวนี้ สังคมเฮฮา การปล้นธนาคารที่ไม่มีใครเป็นอะไร เรียกรอยยิ้มให้คนทั้งประเทศ ยกเว้นตำรวจ นี่คือการปกป้องสิทธิของประชาชน ไม่ควรมีใครมาลักทรัพย์สินคนอื่นได้
สื่อมวลชนนอกจากเรียกเหตุการณ์นี้ว่าการปล้นแห่งศตวรรษแล้ว ยังเรียกกลุ่มผู้ก่อเหตุว่าแก๊งท่อระบายน้ำ ตามวิธีการก่อเหตุที่ขุดอุโมงค์มาตามท่อดังกล่าว
หลังควานหาเบาะแสมาหลายวัน ในที่สุดก็พอมีความคืบหน้าบ้าง เมื่อนักสืบรายหนึ่งรายงานว่าก่อนเกิดเหตุการปล้น เขาขับรถพบชายที่อยู่ในแฟ้มต้องจับตาตำรวจ นักสืบจำหน้าได้และเขาสงสัยชายในรถ 2 คนที่ไม่คุ้นหน้า จึงทำการเรียกตรวจ เขาทำการค้นรถ จดชื่อ จดทะเบียนทุกอย่าง ก่อนปล่อยตัวไป เมื่อเกิดเรื่อง นักสืบรายงานนายว่า เขาพบว่ารถคันที่ค้นก่อนวันปล้น มีสิ่วสีแดง ซึ่งคล้ายกับอันที่พบในจุดเกิดเหตุ
ผู้ต้องสงสัยรายนี้ปรากฏตัวในชื่อจองรีสอร์ทช่วงหยุดยาววันชาติอันเป็นช่วงเกิดเหตุ คราวนี้ตำรวจได้ชื่อผู้ที่พักอาศัย ไม่นานก็พบว่ามีชาย 2 คนนำทองที่มีรูปพรรณตรงกับที่หายไปในธนาคารเมืองนีซไปขาย เจ้าหน้าที่เข้าคุมตัว แม้ดูเหมือนจะมีความก้าวหน้า แต่ทุกอย่างก็ดูห่างไกลจากความสำเร็จ
ตำรวจยกระดับการสืบสวน พวกเขาหว่านจับคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาให้หมด เมีย กิ๊ก ชู้รัก ญาติพี่น้อง เอามาสอบคุมไว้ก่อน 48 ชั่วโมง แล้วค่อยปล่อยตัวคนที่ไม่เกี่ยวข้องออก เบาะแสบางอย่างคืบหน้า การปล้นธนาคารครั้งนี้เป็นงานใหญ่ หัวขโมยธรรมดาในเมืองนีซไม่น่าทำได้ องค์กรอาชญากรรมในปารีสก็ไม่น่าคิดแผนได้ขนาดนี้
ถ้าจะก่อเหตุขนาดนี้ได้ ก็ต้องเป็นองค์กรอาชญากรรมในมาร์เซยมากกว่า ในที่สุดผู้ต้องสงสัยคนแรกก็ถูกรวบตัว ขณะเอาของไปใส่ตู้เซฟธนาคารในเบลเยี่ยม เขาโดนจับพร้อมคู่ขาโสเภณีเมืองมาร์เซย์ที่ในกระเป๋าก็มีของที่ได้จากการปล้นธนาคารเมืองนีซด้วย
“ไอ้นี่ไม่น่าใช่คนวางแผนเรื่องทั้งหมด”
แล้วใครคือผู้วางแผนการแห่งศตวรรษ ผู้คิดปฏิบัติการให้กับแก๊งท่อระบายน้ำนี้ หลังจากสอบปากคำผู้ต้องหาอย่างยาวนาน คนเหล่านี้ก็ให้คำตอบแก่เจ้าหน้าที่ ในที่สุดก็ได้ชื่อคนที่วางแผนการปล้นแห่งศตวรรษนี้
3.
อัลแบร์ สปาจจารี่ (Albert Spaggiari) อายุ 44 ปี เป็นช่างภาพที่มีคิวถ่ายรูปงานแต่ง งานเลี้ยงมากมาย เขารู้จักกับนายกเทศมนตรีเมืองนีซเพราะไปถ่ายงานให้บ่อย มีภรรยาที่แต่งงานกันมากว่า 17 ปี ไม่มีลูก แต่ก็มีชีวิตปกติสุข
อย่างไรก็ดีอัลแบร์มีความหลังที่น่าสนใจ พ่อตายตั้งแต่เด็ก แม่เป็นเจ้าของร้านเสริมสวย อัลแบร์น้อยชอบลักขโมยของ ตอนอายุได้ 17 ปี เขาก่อเหตุลักเพชรไปให้แฟนสาวและโดนจับได้ แต่ด้วยความเป็นเยาวชนเลยรอดคุก หลังจากนั้นจึงได้สมัครเป็นทหารพลร่มรบในสงครามอินโดจีน
อัลแบร์เป็นทหารที่ดี รบอย่างกล้าหาญ แต่แล้วก็โดนจับข้อหาลักทรัพย์ ถูกส่งตัวไปรับโทษในฝรั่งเศสทันที พอถึงช่วงปี ค.ศ.1960 หลังออกจากคุก เขาเดินทางไปแอฟริกาเหนือ อยู่กับกลุ่มทหารฝ่ายขวาจัด เวลาต่อมา ดูเหมือนอัลแบร์จะกลับใจ เดินทางกลับฝรั่งเศส อพยพลงภาคใต้ แล้วแต่งงานกับพยาบาล ก่อนเปิดร้านถ่ายรูป
ตำรวจเข้าคุมตัวเขาหลังจากชายหนุ่มไปกินข้าวกับภรรยาและเพื่อน เขาบอกว่าช่วงนี้มีโทรศัพท์แปลกๆ โทร.มาที่ร้าน แล้วนัดคุยอะไรสักอย่าง ต่อมาภรรยาจะเห็นว่าสามีถูกคุมตัวขึ้นรถขับออกไป โดยมีรถขับตาม ทีแรกเธอคิดว่าสามีถูกลักพาตัว จึงไปแจ้งตำรวจ
“นี่คุณไม่รู้จริง ๆ เหรอว่า
สามีคุณคือคนวางแผนปล้นธนาคารที่นีซ”
เมื่อเธอปฏิเสธ ตำรวจก็หัวเราะลั่นด้วยความไม่เชื่อ
เจ้าหน้าที่สอบอัลแบร์อย่างเข้มข้น ให้อดบุหรี่ และกว่าเขาจะได้กินข้าวก็หลายชั่วโมง แถมต้องใช้เงินตัวเองซื้อด้วย การสอบหนักหน่วง เจ้าหน้าที่เอาลายนิ้วมืออัลแบร์ไปตรวจทุกอย่าง ข้อมูลจากผู้ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ และความเป็นไปได้ทุกอย่างชี้ว่านักสืบกำลังเผชิญหน้ากับผู้วางแผนปล้นอันยิ่งใหญ่นี้
ตำรวจนำหลักฐานทุกอย่างยัดใส่อัลแบร์ต่อเนื่อง ข้ออ้างทุกอย่างถูกลบล้างด้วยคำให้การของผู้ต้องสงสัยคนอื่น กินเวลา 36 ชั่วโมง อัลแบร์ก็เปิดปากรับสารภาพ
“ผมเองคือคนวางแผนทั้งหมด”
4.
อัลแบร์ให้การว่า เขามีโอกาสเข้าไปในธนาคารแห่งนี้ และได้ยลโฉมห้องนิรภัยเพื่อฝากเงิน แล้วเขาก็คิดแผนการณ์ออก ที่นี่ไม่มีสัญญาณนิรภัยกันขโมยแต่อย่างใด ด้วยความที่เป็นป้อมปราการ ตู้เซฟมหึมา ใครก็มั่นใจว่ายากจะก่อเหตุมีโจรมาปล้นได้
แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
ชายหนุ่มเริ่มสำรวจท่อระบายน้ำของเมืองอย่างใจเย็น เขาพบทางเชื่อมของท่อโยงเข้ากับห้องนิรภัยของธนาคาร ดังนั้นจึงนำข้อมูลไปแจ้งองค์กรอาชญากรรมของเมืองมาร์เซย เพื่อให้พวกเขาออกทุนค่าติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่าง นั่นจึงนำไปสู่รวมตัวกันระหว่างคนของอัลแบร์ 10 คน กับแก๊งโจรอีก 10 รวม 20 กว่าคน จับมือทำงานสุดอลังการ 2 เดือนก่อนออกปล้น ทั้งหมดเริ่มขุดอุโมงค์กัน
จอมวางแผนออกกฎให้ทุกคนปฏิบัติตาม นั่นก็คือห้ามกินกาแฟหรือแอลกอฮอล์ระหว่างทำงาน ทุกคนต้องพักผ่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพ พวกเขารู้ว่าจะมีช่วงหยุดยาววันชาติ ดังนั้นวันที่ 16 กรกฎาคม ทีมงานทั้งหมดจึงลอดอุโมงค์ที่ขุดทะลุห้องนิรภัย แล้วใช้เวลารื้อค้นตู้เซฟกว่า 371 ตู้ ก่อนจะเผ่นแน่บไปก่อนวันจันทร์
“2 วันครึ่งที่เราทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่ลงตัวสมบูรณ์ ระหว่างเราและพวกพ้องทุกคน ระหว่างเราและเหล่าโจรทั้งหลาย ทุกคนมีความสุข”
อัลแบร์อ้างว่าเงินที่ได้ เขาเอาไปบริจาคให้กับกลุ่มขวาจัดเรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่พบชื่อองค์กรนี้แต่อย่างใด
ในที่สุดคดีปล้นแห่งศตวรรษก็ปิดฉากลง พวกเขาพาตัวอัลแบร์คุมขัง ตำรวจผ่อนคลาย ในที่สุดก็มีอะไรชี้แจงต่อสังคมได้
10 มีนาคม ค.ศ.1977 ตำรวจคุมตัวอัลแบร์ไปศาล เขาขอพบผู้พิพากษาในห้องทำงาน พร้อมแจ้งว่ามีเอกสารที่อยากแสดงให้ดู โดยเฉพาะ มันเป็นเอกสารที่เข้ารหัสไว้ เจ้าหน้าที่ยินยอม อย่างน้อยก็อาจได้ข้อมูลอะไรเพิ่ม รวมถึงทรัพย์สินที่สูญหายไป
ในจังหวะนั้น จอมบงการบอกว่าร้อนและขอเปิดหน้าต่างหน่อย
“ลาก่อนนะ”
เสี้ยววินาทีนั้น! หลังคำพูดของอัลแบร์ ยอดโจรก็พุ่งตัวจากหน้าต่างลงพื้นที่ความสูงกว่า 2 เมตร โดยมีจักรยายนต์จอดสตาร์ทเครื่องรออยู่ อัลแบร์โดดขึ้นคร่อมรถ แล้วหนีหายไปทันที
กลายเป็นว่าเอกสารที่เขาจะให้ผู้พิพากษาดูนั้น เป็นกระดาษที่เขาทำปลอมขึ้นระหว่างติดคุกรอการขึ้นศาล เจ้าหน้าที่ไม่อาจจับตัวอัลแบร์ได้อีก คว้าตัวมาได้เพียงคนขับรถพาหนีเท่านั้น
ศาลมีคำพิพากษาลับหลัง สั่งจำคุกจอมวางแผนตลอดชีวิต มีผู้ต้องหาเพียง 6 คนเท่านั้นที่ถูกคุมตัวขึ้นศาล ที่เหลือลอยนวล แถม 3 คนที่จับมา ศาลตัดสินให้พ้นผิด ส่วนอีก 3 คนถูกตัดสินจำคุกเพียง 5-7 ปีเท่านั้น ตำรวจไม่เคยตามทรัพย์สินที่ถูกปล้นจากธนาคารมาได้ครบอีกเลย แน่นอนว่าตลอดเวลานั้นไม่มีใครเห็นตัวอัลแบร์อีกแล้ว (หมายถึงว่าคนที่ไม่เห็นคือเจ้าหน้าที่รัฐนะ)
อัลแบร์ย้ายไปอาศัยอยู่ในอาร์เจนตินา ซื้อที่ดินด้วยทรัพย์สินที่ได้จากการปล้นมา แต่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ตรงไหน เขาทำเอกสารปลอม บ้างก็ลือว่าทำศัลยกรรม และยังหมั่นเดินทางกลับฝรั่งเศส เพื่อไปเยี่ยมเมียและแม่อยู่หลายครั้ง แต่ไม่มีใครจับเขาได้
12 ปีแห่งการหลบหนี ในที่สุดจอมวางแผนผู้ยิ่งใหญ่ก็เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็งปอด ด้วยวัย 57 ปี ขณะอาศัยอยู่ที่อิตาลี ในชื่อปลอมและอยู่มาหลายปีแล้วด้วย เพื่อนฝูงคนรู้จักเป็นผู้แจ้งข่าวแก่ครอบครัวอัลแบร์ และพาศพเขากลับฝรั่งเศส ในฐานะจอมโจรผู้ยิ่งใหญ่
ในที่สุดเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้เห็นตัวอัลแบร์อีกครั้ง แม้จะเป็นในสภาพไร้ลมหายใจก็ตาม
ตำนานการขุดอุโมงค์ปล้น เป็นปฐมบทให้เกิดการก่อเหตุเลียนแบบเกือบทั้งโลก ทรัพย์สินที่ได้ก็มีมูลค่าสูงขึ้น ในปี ค.ศ.1980 เกิดเหตุปล้นธนาคารในกรุงปารีส โจรที่ก่อเหตุได้เขียนข้อความว่า
“ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่ต้องมีความเกลียดชัง”
“ขอบคุณนะ”
ตำรวจพยายามสืบหาว่าอัลแบร์ก่อเหตุปล้นครั้งนี้ไหม ก่อนจะพบว่าไม่ใช่
จอมวางแผนได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการก่อเหตุในครั้งนี้ด้วย คดีนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวสุดลือลั่นของการปล้นธนาคาร ผ่านไปหลายปีมีคนแอบอ้างว่าอัลแบร์ไม่ใช่คนวางแผนตัวจริง แค่ต้องการสร้างสีสันให้กับตัวเอง แต่คนวางแผนตัวจริง ใช้ชื่อว่า ‘อะมิโก’ เป็นสมาชิกของแก๊งโจรมาร์เซยมากกว่า
ทางเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าเรื่องนี้มีมูล แต่มีหลักฐานน้อยเกินกว่าจะปักใจเชื่อ
ดังนั้นอัลแบร์จึงยังคงเป็นจอมวางแผนอยู่จนถึงปัจจุบัน กับตำนานที่ถูกเล่าขานในหมู่โจร เป็นคนจริง ของแท้ ที่ได้ใช้ชีวิตหลังการปล้นในดินแดนอเมริกาใต้ อุดมคติที่โจรหลายคนใฝ่ฝัน
ตอนที่อัลแบร์ถูกจับกุม และพาตัวขึ้นรถ ขณะใส่เสื้อสูทอย่างดี ปากคาบซิการ์ ฝูงชนได้ตะโกนถามมาว่า “มีอะไรต้องเสียใจไหม”
จอมบงการหัวเราะออกมาด้วยความพอใจ ยิ้มออกมาเล็กน้อย ก่อนพูดออกมาว่า
“ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ”
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ The Crime Book สำนักพิมพ์ DK หน้า 44