*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง*
เริ่มจากภาพของชายเฒ่าบนเตียง และหญิงชราคู่ชีวิตที่คอยดูแล ชายเฒ่าหลับใหลไร้สติ หญิงชราคลำหารอยนูนตรงขา เธอคว้ามีดออกมา กรีดลงไปและควักเอาลูกกระสุนออกมา ปราศจาการตอบสนองราวกับว่าร่างกายนั้นคือศพที่ไร้เลือด
ไกลออกไปในอดีต เรือนร่างของเขามีกระสุนฝังอยู่ในต้นขา มันเกิดขึ้นจากภารกิจที่เขาซ่อนตัวไปเป็นสายลับในขบวนการของพวกคอมมิวนิสต์ ในภารกิจนั้นเขาถูกยิงที่ต้นขา และปล่อยให้หญิงชาวบ้านแม่ลูกอ่อนที่เป็นสายให้ทหารไทยต้องถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองที่ดี ก็ต้องมีคนเสียสละกันบ้าง
ไกลออกไปในอดีต เด็กสาวเป็นลูกสาวเจ้าของร้านนาฬิกาในตลาด บ้านของเธออยู่ติดธารน้ำ บ้านที่เต็มไปด้วยนาฬิกา พ่อของเธอนอกจากขายยังเป็นช่างซ่อมเวลา หมายถึงเป็นช่างซ่อมนาฬิกา เธอรักอยู่กับคนหนุ่มพื้นเมืองคนหนึ่ง พวกเขาขี่จักรยานไปเที่ยวกัน เขาพาเธอไปดูการเก็บน้ำผึ้ง ฟังเรื่องเล่าของนางพญาผึ้งที่เลือกผึ้งงานตัวผู้มาผสมพันธ์ จากนั้นก็ฆ่าทิ้งเสีย
ไกลออกไปในอดีต นายทหารหนุ่มมาตามจีบเธอ ซื้อน้ำหอมมาให้ แต่เธอเลือกทาน้ำผึ้งจากหนุ่มคนรัก ไม่นานจากนั้นหนุ่มคนรักของเธอก็ถูกลอบทำร้ายจนปางตาย ไม่นานหลังจากนั้นเธอออกไปเที่ยวกับนายทหารคนนั้น และได้อยู่ในเหตุการณ์ระทึกขวัญร่วมกับเขา
ไกลกลับออกมาจากอดีต สามีนายพลของเธอนอนกำลังตายอย่างเชื่องช้า ร่างของเขาเนือยนิ่งหากในความฝันเขายังคงกล่าวสบถ จนพยาบาลที่เธอจ้างมาดูแลก็สาปแช่งเขาและหนีไป ในห้วงยามสุดท้ายของชีวิต เหรียญตราเกียรติยศกลายเป็นเพียงสิ่งที่จมในกองฝุ่น เครื่องแบบเดียวที่หลงเหลือคือผ้าอ้อมผู้ใหญ่และความทุกข์ทรมานในเรือนร่างที่เปื่อยเน่า
อุปมาของเรือนร่างที่เป็นอัมพาต หลับใหลไร้สติ กำลังตายแต่ยังไม่ตายดูจะเป็นอุปมาสำคัญอย่างหนึ่งในภาพยนตร์อิสระไทย จากเรือนร่างของเด็กหนุ่มที่พ่อทำให้กลายเป็นคนพิการใน ‘เจ้านกกระจอกในบ้านของพ่อผูมีอำนาจ’ (2009, อโนชา สุวิชากรพงศ์) ไปจนถึงทหารชั้นผู้น้อยที่หลับใหลไร้สติเพราะถูกพระราชาในโลกอดีตดูดพลังวิญญาณไปสู้รบ พวกเขาหลับใหลในวอร์ดพิเศษที่สร้างจากโรงเรียนประถมเก่าใน ‘รักที่ขอนแก่น’ (2015, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ไปจนถึง พ่อที่นอนเป็นผักในโรงพยาบาล กับแม่ที่เป็นเหมือนเรือนร่างครึ่งหลับครึ่งตื่นในบ้านเก่าร้างที่ถูกคงสภาพไว้เหมือนวันที่พ่อจากไปใน ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ (2021,ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์)
อุปลักษณ์เรือนร่างที่พิกลพิการเหล่านี้ดูจะเป็นภาพแทนที่ลงตัวในการอธิบายสภาวะของผู้คนที่ง่อยเปลี้ยเสียขา ยังไม่ตายแต่ไร้เรี่ยวแรงต่อสู้ ถูกขังอยู่ในบ้านของผู้มีอำนาจเหนือกว่า เรือนร่างที่ไร้อำนาจของเด็กหนุ่ม นายหทารชั้นผู้น้อย และเมียของนายทหารเป็นสถาปัตยกรรมของความไร้อำนาจของคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในสถาปัตยกรรมของบ้าน ในฐานะของการปกครองโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งอภิชาติพงศ์เคยผลักให้ไกลกว่าด้วยการเปลี่ยนจากบ้านของคนผู้ร่ำรวยทั่วไปให้กลายเป็นบ้านในฐานะสถาบันของพื้นที่ที่รัฐควบคุมโดยการทำให้โรงเรียนกลายเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว
‘เวลา’ จึงอาจจัดเข้าร่วมเป็นภาพแทนที่คล้ายคลึงของร่างกายที่เป็นอัมพาตของคนเล็กคนน้อยเหล่านั้น แต่ดูเหมือน จักรวาล นิลธำรงค์ เลือกกลับข้างให้เรือนร่างที่ไร้อำนาจกลายเป็นเรือนร่างของผู้มีอำนาจเสียเอง อย่างน้อยก็ในอดีต ร่างกายที่ผ่ายผอม ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ครึ่งหลับครึ่งตื่นจึงเปลี่ยนจากภาพของเหยื่อที่ถูกขัง ไปสู่การปลงสังขารน่าเวทนาของผู้กระทำเสียบ้าง ผู้กระทำกลายเป็นคนที่กำลังตาย อำนาจที่ถูกเปลี่ยนข้าง และการต่อสู้ดิ้นรนครั้งสุดท้ายของเรือนร่างที่ไร้เรี่ยวแรงได้เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่จีรังของตัวอำนาจนั้นเอง
ในแง่หนึ่ง เวลา จึงเป็นคู่ที่คู่ควรกับการดูพร้อม พญาโศกพิโยคค่ำ หนังสองเรื่องในปี ค.ศ.2021 ในทางการเมือง หนังสองเรื่องนี้ย้ายข้างจากการเล่าเรื่องของผู้ถูกกระทำมาเป็นฝั่งผู้กระทำ ตัวละครหลักคือเหยื่อชั้นสอง นั่นคือครอบครัวของฝั่งผู้กระทำ ภรรยาสาวเศร้าซึมในพญาโศกฯ จึงซ้อนทับเข้ากับภรรยาที่ต้องดูแลสามีติดเตียงในหนังเรื่องนี้ เช่นเดียวกันในขณะที่ดูเหมือนพญาโศกฯ ติดอยู่ในโลกที่ไร้เวลา ทุกอย่างถูกแช่แข็ง ทำให้หยุดนิ่ง เวลา กลับเล่าเรื่องของการเคลื่อนไหวไม่สิ้นสุดของเวลาในฐานะของ ‘กงกรรมกงเกวียน’ในฐานะของ ‘พรหมลิขิต’ ในฐานะของสิ่งที่ ‘พระเจ้า’ กำหนด
ในหนังเรื่องนี้ ‘เวลา’ จึงกลายเป็นสิ่งที่
มีอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจทั้งมวล
เราอาจอธิบายเวลาในหนังผ่านทางโครงสร้างของหนังที่สลับไปมาระหว่างอดีตกับอนาคต ในภาคอดีตเป็นการอธิบายเวลาผ่านมิติเชิงศาสนา ในปัจจุบันหนังอธิบายเวลาผ่านสิ่งที่เป็นภาพแทนที่ทรงพลังที่สุดของเวลานั่นคือร่างกาย หรืออาจจะบอกได้ว่ามันคือการอธิบายเวลาผ่านมิติของวิทยาศาสตร์ และยังมีอนาคตที่ไม่ได้เล่า แต่ถูกส่งผ่านบรรยากาศที่กรุ่นลอยอยู่ในอาการกึ่งจริงกึ่งฝันของหนัง ในฐานะของการอธิบายเวลาผ่านมิติทางการเมือง
ในทางโครงสร้าง การเล่าสลับของอดีตกับอนาคตไม่ได้เป็นเพียงช่วงสองเวลาที่แตกต่างกัน หากยังแตกต่างกันในทางเทคนิคอีกด้วย ในปัจจุบันหนังเล่าด้วยท่าทีสมจริงแบบหนังอิสระทั่วไป อ้อยอิ่งทอดเวลายาวนานกับการสังเกตสังกาพฤติกรรมและความอมพะนำของผู้คน หากกับช่วงเวลาในอดีต หนังกลับถูกนำเสนออย่างประดิษฐ์และประดักประเดิด เป็นทั้งความนอสตาลเจีย และเป็นละครพีเรียดช่องสามไปจนถึงบันทึกกรรม จนอาจบอกได้ว่านอกจากฉากไปดูการเก็บน้ำผึ้ง ไวยากรณ์ของภาพยนตร์ในส่วนนี้ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งจากการแสดง การไม่ได้แสดง การออกเสียง หรือเครื่องแต่งกาย ล้วนชวนให้นึกถึงภาพของยุคสมัยทำเทียมจนเกือบจะเป็นการบูชาครูหนังไทยโบราณ หนังพรอพากันด้าต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น หรือละครหลังข่าวย้อนยุค ทั้งบทสนทนา การออกเสียงไปจนถึงการเล่า เวลาของหนังจึงแตกหักออกไปจากกัน ไม่ใช่แค่ในฐานะของอดีตและอนาคต แต่แตกหักจนเหมือนมาจากหนังคนละเรื่อง หรือกล่าวให้ถูกต้องมาจากคนละเวลาของความเป็นหนังเอง
อย่างไรก็ดีความประดักประเดิดสร้างปัญหาให้กับหนังไม่น้อย มันทำให้ผู้ชมตีตัวออกห่างหนัง ในขณะที่ครึ่งของปัจจุบัน หนังกระโดดข้ามไปมาระหว่างความจริงกับความฝันอย่างนุ่มนวลและมหัศจรรย์จนแทบจะทำให้ทั้งสองส่วนเลือนเป็นเนื้อเดียวกัน ห้วงเวลาจากอดีตกลับดูแปลกแยก มันกลายเป็นของทำเทียมที่ไม่ได้เป็นภาพฝัน แต่กลายเป็นภาพจำลองแข็งกระด้างของอดีตที่เป็นแฟนตาซีมากกว่านอสตาลเจีย เรื่องเล่าสอนใจของพ่อ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแกนกลางของหนังในการอธิบายเรื่องของเวลาในอุปลักษณ์ของกรรม พรหมลิขิต หรือพระประสงค์ของพระเจ้า กลายเป็นสิ่งก้ำกึ่งระหว่างการเป็นการประกาศสาส์นของเรื่องออกมาอย่าตรงไปตรงมาจนแทบล้นเกิน แต่ในอีกทางหนึ่ง เสียงเล่าอันจงใจและรูปลักษณ์ของพ่อผู้ปั้นแต่งเวลา ก็อาจทำให้ผู้ชมกระหวัดนึกไปถึงเรื่องเล่าจำนวนมากที่เปลี่ยจากโฆษณาชวนเชื่อไปสู่ความจริงอย่างน้อยก็ในการรับรู้ของผู้ฟัง/ผู้ชม ผ่านทางน้ำเสียงอันโอบอ้อมอารีและสถานะของการเป็นพ่อ
และในอีกทางหนึ่งเราอาจบอกได้ว่า เรื่องเล่าของถ้ำ คือการรับรู้เวลาผ่านมิติของศาสนา กฏแห่งกรรมที่จะย้อนคืนมาหาผู้กระทำคือภาพฉายกายวิภาคของเวลา
ในอีกทางหนึ่งภาพแทนของเวลาฉายชัดอยู่ในทัศนียภาพที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นคือร่างกายของมนุษย์ หนังจงใจปล่อยให้ผู้ชมจมอยู่กับภาพของร่างกายผ่ายผอมเปลือยเปล่า เสียงของเสหมะในลำคอ การไม่สามารถกลั้นการขับถ่ายของเสีย การพ่นยา การเปลี่ยนผ้าอ้อม กระทั่งการพยายามหายใจ เรือนร่างของนายพลในช่วงสุดท้ายของชีวิตโดยตัวมันเองได้เป็นรูปสลักของเวลาที่แท้ มนุษย์ทุกคนต้องตาย แต่ห้วงขณะของการเดินทางไปสู่ความตาย การเสื่อมทรุดของสังขาร การเสื่อมสลายของร่างกาย อวัยวะกลายเป็นข้อความ ภาพจำหลักจารึก และภาพที่แสดงให้เห็นถึงเวลาได้ดีที่สุด ‘กายวิภาคของมนุษย์’ ที่กำลังแก่ กำลังเจ็บ กำลังตาย กลายเป็นภาพที่ชัดแจ้งของ ‘กายวิภาคของเวลา’
ในอีกทางหนึ่งนอกจากหนังจะพูดถึงเวลาผ่านชีวิต แล้วมันยังพูดถึงเวลาผ่านทางบรรยากาศของการเมือง กายวิภาคของเวลา ในทางหนึ่งกลายเป็น กายวิภาคของคำว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ เราในฐานะของผู้ถูกกระทำที่เคยเป็นเรือนรางไร้เรี่ยวแรงในหนังเรื่องก่อนๆ
หากมันกระอักกระอ่วนไม่น้อยเมื่อพิจารณาเวลาในแง่นี้ เพราะขณะที่ในมิติศาสนา (กฏแห่งกรรม) กำชับว่า มิติทางวิทยาศาสตร์ (การป่วยไข้) เป็นผลจากกรรมที่ก่อ แต่ความป่วยไข้และความตายสามารถเกิดได้กับเราทุกคน ไม่ใช่แค่กับนายพลผเด็จการหรือภรรยาของเขา ความป่วยไข้ของเขาจึงไม่ได้ตอบโจทย์ของกรรมมากไปกว่าการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเสมอหน้ากันเท่านั้น การที่เรามองดูความเสื่อมสังขาร มอบทั้งความรู้สึกสาแก่ใจในขณะเดียวกันก็มอบความรู้สึกเวทนาสงสาร มาเท่ากับความรู้สึกชวนผวาว่ามันก็เกิดขึ้นกับเราได้ เราอาจจะกลายเป็นผักได้ สถาณการณ์ของเราอาจจะเลวร้ายกว่าเสียด้วยซ้ำ
หากสิ่งที่ดูเสมือนจะตอบสนองการเลือกข้างของเวลาจริงๆ ดูจะเป็นการที่ตัวท่านนายพล ถึงที่สุดถูกคัดออกจากระบบที่อุ้มชูเขามาตลอด ในช่วงที่ป่วยไข้ มีเพียงตัวแทนของนายทหารมาเยี่ยมอย่างลมๆ แล้งๆ พี่สาวที่ดูเหมือนจะเป็นผู้มีอำนาจก็ไม่ได้สนใจการหายตัวไปของเขามากนัก และในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เขาถูกสาปแช่งจากพยาบาลสาว ถูกตะโกนไล่ในฐานะขี้ข้าผเด็จการ และถูกถ่มน้ำลายรดหน้าจากลูกชายของตนเอง ถึงที่สุดการเลือกข้างของเวลา ปรากฏอยู่ในการที่อำนาจ ลาภยศไม่จีรังยั่งยืน ปรากฏอยู่ในความสามารถของผู้คนในการจดจำว่าใครคือศัตรูที่แท้จริง กายวิภาคของเวลาจึงมีมิติของประวัติศาสตร์และการเมืองที่จะกลับมาคืนสนองในมิติที่ศาสนาอาจจะไม่ได้คาดคิด
เวลาในหนังถูกคลี่เผยรูปทรงของมันในมิติต่างๆ ต่อหน้าผู้ชม หากนอกจาก ‘เวลา’ของท่านนายพล ยังมีเวลาอีกชนิดหนึ่งที่หนังฉายให้เห็นและดูเหมือนจะสนใจมากกว่านั่นคือเวลาของคุณแหม่ม ภรรยาท่านนายพล
เวลาในอดีตนั้นหมุนรอบตัวเธอ หมุนรอบการเลือกคู่ของเธอและพ่อของเธอที่เป็นช่างซ่อมนาฬิกา แต่ในเวลาต่อมา ในปัจจุบัน เวลาของเธอกลับหยุดนิ่ง หมุนรอบตัวสามีผู้ป่วยติดเตียงของเธอ เวลาอาบน้ำ เวลาให้ยา เวลาดูดเสหมะ เวลาของเธอในปัจจุบันถูกขโมยไป เธอกลายเป็นเพียงหญิงชราที่เป็นเครื่องจักรของการดูแลสามี ในฉากหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าฉากที่งดงามที่สุดของหนัง คือเมื่อสามีของเธอหายออกไปจากบ้าน เธอออกไปตามหาเขาแต่ไม่พบ ฉากนั้นเธอออกไปตลาด ซื้อผลไม้ กับข้าว เพลิดเพลินอยู่เพียงลำพังราวกับว่าเวลาในตอนนั้นกลับเป็นของเธอชั่วครู่ ก่อนที่จะกลับบ้านมาพบว่าสามีกลับมาแล้วอย่างไม่มีที่มาที่ไป
เวลาของแหม่มกลายเป็นเวลาที่พิศวง เพราะดูเหมือนหนังปล่อยให้เธอหลับตลอดเวลา ราวกับเธอเองก็เป็นเพียงเรือนร่างที่หลับใหลเช่นกัน หนังมักเร่ิมเล่าจากความจริง เช่นเธอซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกไปตามหาสามี แล้วเธอก็พบอดีตพยาบาลที่จ้างมาในผับ เธอตามหล่อนขึ้นไปที่ชั้นสองของบาร์และถูกชายลึกลับโอบกอด พลันเราเห็นเธอนอนหลับ หรือในฉากอดีตที่เข้ามาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พาเธอย้อนกลับไปในเวลาสาว ในทะเลที่เธอเคยฝันถึงตอนสาวๆ และการร่วมรักริมชายหาด (ฉากนี้ชวนให้คิดถึงหนังว่าด้วยผู้หญิงจิตแตกอย่าง Persona ของ Ingmar Bergman) ฉากนี้เป็นอดีต หรือเป็นความฝัน เราไม่อาจทราบแน่ชัด แต่ในเวลาต่อมา เธอหลับใหลอีกครั้ง จวบจนในฉากท้ายๆ สามีป่วยไข้ของเธอพลันลุกขึ้นมาเดินเองได้ เดินออกไปจากชีวิตเธอ เช่นเดียวกันในฉากนี้เธอหลับ หลับเหมือนคนตายอยู่ข้างเตียงของเขา
ในโลกครึ่งจริงครึ่งฝันที่อวลไปด้วยปรารถนาของเธอ เวลาของเธอจึงขยับเคลื่อน เวลาของเธอไหลซ้อนทบกันทั้งอดีตและปัจจุบัน หากโลกของไพลิน ในพญาโศกพิโยคค่ำ คือโลกที่เวลาหยุดนิ่ง โลกของแหม่มในความฝันก็เป็นโลกที่เวลาเคลื่อนไหว และไม่ใช่ในทิศทางที่ไปข้างหน้าแต่เพียงอย่างเดียว