วงการหนังบ้านเราอาจไม่นับได้ว่ามีความหวือหวาอะไรนักในช่วงหลายปีมานี้ จากที่เราเคยได้พูดคุยกับคนในวงการเอง หรือจากข่าวรายรับของหนังไทยแต่ละเรื่อง
แน่นอนว่าบ้านเราก็พอมีหนังที่โดดเด่นเป็นหน้าเป็นตาได้ แต่เมื่อเทียบกับจำนวนหนังไทยทั้งหมดในแต่ละปี ก็อาจยังเห็นที่ว่างอีกมากให้นักทำหนังทั้งในกระแสและนอกกระแสค้นหาสิ่งที่ขาดหายไปให้เจอ และเข้าไปเติมเต็มในพื้นที่เหล่านั้น
อันที่จริงแล้ว ด้วยพื้นที่สื่อที่มากขึ้นก็ทำให้การดูหนังไม่ยากอย่างสมัยก่อน เราไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะหนังที่ฉายตามโรงหนัง แต่จะดูผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ เดินสายตามงานเทศกาล หรือเลือกดูในโรงนอกกระแสก็ได้ แม้ดูเผินๆ อาจจะดูเงียบๆ อยู่บ้าง แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ที่กระโดดลงมาทำหนังโดยมีความคาดหวังที่แตกต่างกันไป
บางคนเป็นผู้กำกับ MV บางคนทำหนังสั้น ผลงานที่ผ่านมาของพวกเขาเป็นยังไง และแต่ละคนมีแนวคิดอย่างไรบ้างในการทำหนัง Young MATTER ตามไปหาคำตอบพร้อมกับดูตัวอย่างผลงานที่พวกเขาภาคภูมิใจจาก 8 ผู้กำกับหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง
ธีรภาส ว่องไพศาลกิจ
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“รู้สึกว่าทำหนังสนุกดี มีอะไรอยากเล่น สารที่เราอยากบอกไม่ได้เป็นประโยคที่บอกออกมาตรงๆ เราชอบความสนุกที่มันสามารถเล่นได้ในหนัง ชอบการสร้างบรรยากาศที่ไม่ใช่การเขียนตรงๆ ไปเลย เราว่าพลังของหนังเป็นอีกแบบ มันส่งข้อความได้ เช่น ภาพหนึ่งรู้สึกว่าแรงมาก รู้สึกอะไรไม่รู้นะ เพราะเราไม่สามารถโควตออกมาเป็นคำพูดได้ เหมือนชอบเรื่องอารมณ์กับบรรยากาศมากกว่า”
พูดถึงผลงานเรื่อง Huu
“หนังเรื่องเกี่ยวกับ Sound Artist ที่หมกมุ่นมากๆ อยู่ดีๆ งานก็มีตัวตน เสียงเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมาของมันเอง”
จิรายุส รัศมีแสงทอง
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“ทำทุกอย่างให้สุด สุดโต่งสุดเหวี่ยงแล้วมันจะดีเอง แต่ปัจจุบันพอจบมาแล้วก็ต้องหาความพอดี เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้เป็นของเรา 100% มันเป็นของตากล้องของทีมงานแล้ว และแน่นอนก็ต้องเป็นของลูกค้า เพราะงั้นเราว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของการหาตรงกลางของทุกทีมมากกว่า”
พูดถึงผลงานเรื่อง 500
“เรื่องนี้เป็นเรืองที่ชอบสุด เพราะได้ทำอะไรที่อยากทำ แบบไม่สนใจ ไม่รู้ถูกผิด คิดหน้างานเยอะ นักแสดงเดินชนกล้องแล้วคิดว่ามันดีก็เอาเทคนั้นมาใช้เลย ทีวีที่จะถ่ายโดนถอดไปแล้ว ก็เอาคนไปถือทีวีเลย มันสนุก มันมั่วซั่ว เหมือนภาพตัดแปะมารวมๆ กัน ตอนนี้ไม่น่ามีโอกาสได้ทำแบบนั้นแล้ว หรือว่าถึงได้ทำก็คงไม่สดเท่าตอนนั้นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าตอนนี้ไม่ดีนะ ตอนนี้มันก็ต้องเขยิบไปอีกขั้น”
จิรัฐติกาล พระสนชุ่ม (ปัจจุบันบวชเป็นพระ จึงแทนตัวเองว่าหลวงพี่)
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“จริงๆ ความเข้าใจของหลวงพี่ต่อผู้การเป็นผู้กำกับมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างตอนแรกที่เข้ามาเรียนหนังก็เข้าใจว่า การเป็นผู้กำกับมันมีแพตเทิร์นอยู่ว่าจะต้องคิดแบบนี้ๆ ไม่ว่าจะเพราะจากตัวเองหรือเบ้าหลอมของสถาบันการศึกษา ตอนนั้นก็คิดว่าตัวเองเป็นเหมือนเจ้านายที่พอคิดอะไรออก ก็ไปหาคนมาช่วยกันสร้างโลกภาพยนตร์ตามที่เราคิด แต่แล้วเราก็ไปเจอเข้ากับตอ ตอที่ว่าคือทุกคนที่มาช่วยเราแต่ละคนก็ล้วนแต่มีความคิดเป็นของตัวเอง อาจจะด้วยความที่เป็นเพื่อนๆ วัยใกล้ๆ กันด้วย แล้วเวลาทำงานทุกคนก็แบกความรู้ความคิดหรือกระทั่ง ego มากันหมด เราเองเป็นคนประเภทแบบประนีประนอมไม่เด็ดขาด ก็เลยไม่สามารถวางอำนาจในการทำงานแบบนั้นได้ เราก็เลยหันมาสนใจงานที่สามารถผลิตขึ้นด้วยคนจำนวนน้อยกว่าตอนแรก ก็คือทำสารคดีกับเพื่อน ส่วนใหญ่จะทำกับ พสิษฐ์ ตันเดชานุรัตน์ หรือสอง ซึ่งเรามักจะลงชื่อว่าเป็นผู้กำกับร่วมกัน เพราะว่าช่วยๆ กันตลอดจนแยกแยะไม่ออกว่าจริงๆ ใครรับผิดชอบส่วนใหญ่ ยกเว้นงานถ่าย ซึ่งแทบเป็นของสองทั้งหมด
“พอคนน้อยมันไม่สามารถจะไปเซ็ตหรือคิดการใหญ่อะไรได้มาก พอได้ทำสารคดีแล้วเราก็พบว่า จริงๆ เราไม่ถนัดในการสร้างโลกขึ้นมาใหม่ในหนัง เรากลับถนัดการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกใบนี้มากกว่า
“ยิ่งตอนหลังพอได้กลับมาสำรวจงานตัวเองก็เจอว่างานของเราเลือกที่จะเล่าเรื่องคนชายขอบเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะลึกๆ เราหวังว่าสังคมจะยกคุณค่าของคนชายขอบเหล่านี้ให้ขึ้นมาเทียบเท่ากับคนอื่นในสังคม ซึ่งการมองว่าคนต่างๆ เท่ากันนั้นอาจจะเป็นรากฐานไปสู่สิ่งอื่นที่ใหญ่กว่า”
พูดถึงผลงานเรื่อง การตายของหิ่งห้อย
“เป็นเรื่องพี่ชายแท้ๆ ของเราที่ป่วยและพิการตั้งแต่เกิด ซึ่งเราเองเห็นเขาและพัฒนาการของเขามาตั้งแต่เด็ก เราจึงมองว่าเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง จนกระทั่งโตขึ้น เราถึงได้รับรู้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกผลักออกจากสังคม ไปโรงเรียนกลับมาก็โดนกลั่นแกล้งเสมอหรือบางครั้งก็เป็นที่รังเกียจของเพื่อนและคนอื่นๆ ซึ่งตรงนี้ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ปกติ เราสงสัยว่าทำไมต้องนับเอาความแตกต่างทั้งปวงมาเป็นข้ออ้างในการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่ง ทำไมเราจึงไม่มีสำนึกในการทำความเข้าใจคนที่ไม่เหมือนเรา เราจึงคิดทำสารคดีเรื่องนี้โดยพยายามพาคนดูไปรู้จักกับพี่ชายของเรา โดยมุ่งพิจารณาไปที่การกระทำและผลของการกระทำของเขา มากกว่าการตัดสินไปตามความเชื่อแบบเดิมๆ ว่าพอเป็นคนพิการแล้วเขาจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นความคิดแบบที่ผลิตซ้ำความเชื่อว่าคนพิการไม่มีความรู้สึกนึกคิด คนพิการต่ำต้อยกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ได้เพิ่มพูนความเข้าใจที่พวกเรามีต่อพวกเขา ซ้ำร้ายยังคอยกีดกันพวกเขาออกจากพวกเรา”
วัชรพล สายสงเคราะห์
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“เราว่าหนังเป็นพื้นที่อันหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากมันได้หลายอย่างมากอย่างเราเอง ช่วงไหนเราอินอะไรสนใจอะไรเราก็ทำเรื่องนั้น แต่บางทีมันอาจจะไม่ได้เหมาะกับการเป็นหนังเท่าไหร่ เลยต้องมองหาวิธีการนำเสนอที่มันสนับสนุนตรงนั้นให้ชัดมากขึ้น แล้วค่อยๆ หาทางปรับให้มันลงตัวกัน จนเราไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นหนังดีมั้ย บางทีเราก็เอาหนังโป๊มาตัดต่อเพื่อเล่าเรื่องให้มันใหม่หรือไม่ก็เราแค่เซ็งที่รถมอเตอร์ไซค์เราหาย แต่พี่ตำรวจบอกเราว่านายสั่งให้ดูอีกคดีก่อน ซึ่งเราว่ามันคงจะคล้ายๆ กับการตั้งสเตตัสเฟซบุ๊กแหละมั้งเพียงแต่หนังมันมีลูกเล่นอะไรบางอย่างที่สนุกและมีชั้นเชิงกว่า
พูดถึงผลงาน
“ผลงานล่าสุดเป็นหนังสั้นธีสิสครับ ชื่อเรื่องว่า “เมืองในหมอก” พูดถึงความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกเจ้าของร้านชำที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ ใครมีโอกาสก็แวะเวียนไปชมผลงานของผมและเพื่อน ๆ ได้ ในเทศกาล ‘ฤดูหนัง’ วันที่ 15-16 พฤษภาคม 2560 ที่ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/rudoonung
จิรัศยา วงษ์สุทิน
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“ทำหนังไปทำไมนี่ก็เป็นคำถามที่ถามตัวเองอยู่นะ เพราะหนังที่เราทำเองเรื่องล่าสุดคือหนังธีสิส ซึ่งก็ทำเพราะต้องทำ ไม่งั้นเรียนไม่จบ แล้วพอเรียนจบมาก็ยังไม่ได้ทำหนังตัวเองเลย เหมือนพอไม่โดนบังคับก็ไม่ได้อยากทำขนาดนั้น ยังไม่เจอเรื่องที่ทำให้อยากทำจนตัวสั่นจนลุกขึ้นมาทำเองอะ แต่ถ้าให้ตอบจากเรื่องที่เคยทำมา เราก็ทำหนังเรื่องตัวเองทั้งนั้น จริงๆ เราอาจจะแค่เป็นคนหมกมุ่นกับตัวเอง เลยอยากเล่าเรื่องตัวเอง จะได้มีคนมาสนใจเรื่องเรา”
พูดถึงผลงาน
“หนังที่เราทำทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากเรื่องตัวเอง เป็นเรื่องครอบครัว เพื่อน ความรักของเราเอง เราก็เคยมานั่งคิดว่าทำไมเราเลือกทำเรื่องพวกนี้ พบว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่เคยกระทบจิตใจและติดอยู่ในหัวมานาน แต่เรามักจะเล่ามันตอนที่เราหลุดพ้นจากเรื่องพวกนี้ไปแล้วเหมือนทำหนังสั่งลาปัญหาอะ ว่าโอเค กูพ้นจากมึงแล้วนะเหมือนเป็นไดอารี่ไปในตัวด้วย”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/longstoryshortsbyhal
อสมาภรณ์ สมัครพันธ์
แนวคิดเกี่ยวกับการทำหนัง
“สำหรับเราการทำหนังมันคือการเล่าเรื่องของผู้กำกับหนัง มันเลยหลากหลายมาก เพราะว่าแต่ละคนก็จะมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป ถ้าถามเรา เรามักจะถามออกมาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยเจอ ความคิดเห็นของเราที่เป็นช่วงเวลานึง อาจจะยาวหรือสั้นก็ได้ ก็รวมมาเป็นหนังเรื่องนึง
“แต่เราไม่อยากจะทรีตว่าหนังของเราเป็นหนังที่มาจากเรื่องส่วนตัวทำแล้วจบจบไป เพราะว่าเราทำหนังออกมาแล้วคนดูได้ดูด้วย หนังมันไม่ใช่หนังเราคนเดียว มันเป็นของคนดูด้วย เราเลยอยากทำให้คนดูเข้าใจ หรือถ้ามากกว่านั้นก็คือคนดูอินด้วย เพราะฉะนั้นเราเลยพยายามที่จะไม่ทำให้มันยาก ไม่ได้บอกว่าหนังที่ดูยากมันไม่ดีนะ มันก็เป็นวิธีการเล่าอีกแบบหนึ่ง เราแค่อยากให้คนดูเข้าใจไปกับเรื่องด้วยเพราะเรารู้สึกว่ามันก็สำคัญเหมือนกันในความคิดของเรามากกว่า”
พูดถึงผลงานเรื่อง Klose
“ตอนแรกเราไม่คิดว่าเราจะเป็นคนทำหนังได้ ไม่คิดว่าจะเป็นผู้กำกับได้คิดว่าเป็นได้แต่ตัดต่อ แต่พอต้องทำเราก็เลยพยายามจะเล่าสิ่งที่เรารู้สึก ตอนแรกก็ไม่มีเรื่องอะไรแต่สุดท้ายแล้วทุกคนจะมีสิ่งที่อยากจะพูด
“มันมาจากประสบการณ์ส่วนตัว สิ่งที่คิด ทัศนคติต่อความสัมพันธ์ ตอนแรกเราอยากทำให้คนดูเข้าใจเพราะด้วยการที่หนังมันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ไม่รู้จะเรียกชื่อว่าอะไร สุดท้ายมันก็เกินคาด บางคนก็อินกับหนัง รู้สึกกับหนัง เราก็เลยมาคิดดูว่าความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นปกติอยู่แล้ว พอหนังมันเล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบนี้คนก็เลยอินขึ้นมาซึ่งก็ดีมากๆ สำหรับเรา ตอนทำเราคิดอย่างเดียวเลยว่าจะเล่ายังไง ให้ดูเรื่องที่มันง่ายออกมาเข้าใจง่าย มันก็ดูง่าย แต่ว่าง่ายแล้วไม่น่าเบื่อ
“เราไม่อยากให้คนดูรู้สึกว่าหนังเรามันไม่มีอะไร เราใช้วิธีเรียบเรียง เรารู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เราเลือกมามันก็มีความเป็นจริงอยู่ คนก็เลยเข้าถึงง่าย มันคือวิธีการเรียบเรียงที่ไม่ได้เล่าไปตรงๆ แต่เล่าผ่านกล้อง ผ่านการแสดง ผ่านวิธีการตัดต่อ”
นราธิป ไชยณรงค์
แนวคิดในการทำหนัง
“พอรู้ว่าชอบทำหนัง หลังจากนั้นเหมือนกับโดนขโมยวิธีการมองและคิดแบบปกติก่อนหน้านั้นไปเลย กลายเป็นว่าเราหมกหมุ่นที่จะมองหา story จากเหตุการณ์รอบตัวตลอดเวลา แล้วที่แปลกคือรู้สึกสนุกกับตัวเองที่กลายเป็นคนแบบนี้
“ส่วนในแง่การทำงานคือทำด้วยความสนุกอย่างที่เราบอก มันเป็นส่วนหนึ่งไปในชีวิตเราแล้ว และทุกครั้งเวลาได้ทำในสิ่งที่คิดหรือไม่ได้คาดคิดก็ตาม การได้ทำผลงานอะไรสักอย่างออกมา มันทำให้อยากทำอีกต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างสำหรับการได้ทำหนังหรือวิดีโอในแต่ละปีเหมือนเป็นการสำรวจการโตขึ้นของเราในรูปแบบหนึ่ง รวมถึงมันเยียวยาเรากับการเป็นผู้กำกับในแง่การทำเป็นอาชีพจริงๆ คือเคยคิดว่าถ้าไม่ได้ทำผู้กำกับแต่ต้องไปเป็นยามรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ก็คงเป็นยามที่ยังทำหนังต่อไปอยู่ดี”
พูดถึงผลงานเอ็มวี meyou – two million thanks
“ด้วยความที่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสั้นๆ เราหยิบจับสองส่วนในตัวเพลงที่ค่อนข้างชัดๆ มาตั้งเป็นโจทย์ อย่างแรกคือคำว่า ‘กูมึง’ ที่เป็นสรรพนามกำกวม ให้ความหมายที่บ่งบอกถึงความหยาบคายหรือสนิทสนมแตกต่างตามบริบทบุคคลที่สนทนาด้วย ต่อมาคือลูปของเพลงที่วนไปมาและการวนเนื้อร้องเหมือนการสะกดจิต
“สิ่งที่ตีความต่อเพลงคือรู้สึกว่าเพลงมันมีความเป็นไทยสูง คือเราเป็นประเทศที่มีการใช้สรรพนามเยอะแยะซับซ้อนเหลือเกิน และมีความขัดแย้งในตัวเอง เลยนึกถึงคลิปของเด็กมัธยมที่ตบกันเพื่อแย่งแฟนให้ความรู้สึกที่โรแมนติกแอคชั่นย้อนแย้ง ซึ่งเราอยากทำความเข้าใจมากๆ คลิปวิดีโอบ้านๆ พวกนี้มีความสมจริงสูง ก็เลยเกิดเป็นโครงเรื่องของการตบกันของกลุ่มเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง โดยแทนภาพสายตาของชายหนุ่มในเหตุการณ์ ที่เกิดตกหลุมรักหญิงสาวทั้งสองคนตรงหน้าและไม่สามารถเลือกได้ว่าชอบหญิงสาวคนไหนจากความรุนแรงแบบเดียวกัน หลังจากนั้นด้วยความที่เพลงวนเป็นลูป เหมือนตกอยู่ในห้วงภวังค์ โลกที่เด็กผู้ชายมองเห็น จึงเป็นภาพยูโธเปียมากๆ แม้ว่าจะขัดแย้งกับความรุนแรงตรงหน้าก็ตาม”
คำขวัญ ดวงมณี
แนวคิดในการทำหนัง
“มันเกิดจากตอนจีนอยู่ปี 3 เรียน Fashion Design แต่ไม่ได้ชอบทำเสื้อผ้าเลย เรากลับหลงรัก Fashion Film และคิดว่าอยากทำให้ที่ไทยมีงานเจ๋งๆ บ้างกับฝันอยากทำให้แบรนด์ดังๆ ที่เราชอบ
“มานึกย้อนแล้วตอนเด็กๆ จีนชอบตัดต่อวีดีโอเล่นขำๆ กับเพื่อนแต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ ชอบดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี บางทีได้ยินเพลงอะไรก็จะชอบนึกภาพตาม มันคงเกิดจากความชอบหลายๆ อย่างที่พอเอาทุกอย่างมาผสมกันเป็นงานของเรา
“พอเรียนจบมาก็ยังไม่รู้จักสายงาน Production มาก ว่าเราอยากทำอะไร เพราะก็มีหลายหน้าที่ที่น่าสนใจตอนนั้น เป็น Filmmaker บ้าง ไปฝึกงานและทำงานจริงบ้าง ถึงได้คำตอบว่าเราอยากเป็นผู้กำกับ ตอนนี้สนุกกับการทำงานมากรู้สึกท้าทายขึ้นเรื่อยๆ อยากเก่งให้มากกว่านี้ เพราะจริงๆ ชั่วโมงบินเราก็ยังน้อย ถึงแม้สายงานนี้จะเหนื่อยแต่ก็รู้เลยว่าได้ทำสิ่งที่รักเป็นแบบไหน”
พูดถึงผลงาน ‘Don’t You Go’
“ถึงแม้เพลงจะดูสดใสและสนุก แต่พออ่านแค่ชื่อเพลงแล้วกลับนึกหลอนๆ เหมือนกัน เลยทำให้เป็นเหมือนหนัง Thiller 80s สมัยก่อน อารมณ์เหมือน The Shinning ถ้าสังเกตมุกกับจังหวะในหนังจะติดเชยๆ นิดหน่อยบวกกับ Styling และเฟรมภาพบางอย่างแบบ French New Wave ให้ภาพดูคอนทราสต์กับเพลงแต่ยังคงความสนุกอยู่”