หลายคนอาจจะเริ่มต้นคิดอ่านบทความนี้ เพื่อจะเห็นความหวังบางอย่าง หรือโมเดลสักชิ้นในการต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมาในหลายรูปแบบ หลายระดับ (ตั้งแต่โซตัส ยันระดับโลก) แต่ผมคงจำกัดพูดถึงเฉพาะในรูปแบบของเผด็จการทหารในสเกลระดับประเทศเป็นหลักก่อน และอย่างแรกที่อยากจะบอกท่านก็คือ ท่านจะไม่เห็นความหวังหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากบทความนี้ ฉะนั้นหากอยากได้อะไรที่มันจรรโลงใจ หันหลังกลับตอนนี้อาจจะยังทันนะครับ
เมื่อคิดถึงหัวข้อนี้ สิ่งแรกๆ ที่ผมนึกถึงก็คือ เพลงของ John Mallencamp ที่ชื่อ Authority Song ท่อนฮุกของเพลงนี้ย้ำซ้ำๆ หลายรอบว่า “I fight authority, authority always wins.” หรือ “ฉันสู้กับผู้มีอำนาจเท่าไหร่ ผู้มีอำนาจก็ยังคงเป็นฝ่ายชนะเสมอ”[1] เหตุผลที่นึกถึงเพลงนี้ก่อนเลยก็ง่ายๆ ครับ เพราะผมเห็นว่าจริงตามนั้น
ไม่เป็นความลับอะไรทั้งสิ้น ผมมีจุดยืนที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และยืนยันที่จะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำนาจ อุดมการณ์ หรือวัฒนธรรมแบบเผด็จการ อย่างไรก็ดี ผมเองก็ไม่อยากจะหลอกตัวเองกับความฝันเฟื่อง (fantasy) ที่ไม่อยู่บนฐานความเป็นจริงนักด้วยว่า “ประชาชนจะลุกฮือขึ้น และโค่นล้มเผด็จการให้พังลงได้ในที่สุด” ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ายาก จนแทบจะไม่มีทางเป็นจริงได้ แม้จะหอมหวานแต่ก็เป็นเพียงกลิ่นที่จะดอมดมได้เมื่อหลับตาฝันเท่านั้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างดูจะโหดร้าย ไร้ทางไป หมดหนทางชนะไปเสียหมดนั้น บ่อยครั้งการเลือกที่จะหลอกตัวเอง (self-delusional) กับความฝันที่ทำให้ตัวเองคิดว่าสามารถเป็นจริงได้สักวันนั้นอาจจะกลายเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ ‘ทน’ ใช้ชีวิตกับความเป็นจริงที่ไม่อยากให้จริงนั้นได้…แต่ผมเองไม่แน่ใจว่าการคิดแบบนี้มันถูกแน่แล้วหรือไม่
หลายคนอาจเห็นต่างกับผมที่เขียนว่าพวกเขากำลังเพ้อฝัน เอาจริงๆ มีบทความมากมาย ที่เพียงกดค้นหาง่ายๆ ด้วยกูเกิลก็จะค้นพบแล้ว อย่าง How to defeat a dictator. โดย George Ayittey ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ที่ลงใน Huffington Post[2], บทความ How to beat a dictator โดย Foreign Policy[3] และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี ผมพบว่าหลายครั้งการเขียนนั้น มันมาจากสายตาของคนซึ่งไม่เคยถูกปกครองโดยเผด็จการอำนาจนิยมแต่เขียนอภิปรายวิธีการเสมือนว่าเคยทำทดลองและได้ผลมาแล้ว หรือไม่ก็เป็นการเขียนจากคนที่ถูกปกครองอยู่ด้วยอำนาจเผด็จการ และยังไม่มีปัญญาจะทำลายอำนาจเผด็จการในบ้านตนเองได้ แต่เขียนวิธีการโค่นล้มเผด็จการออกมาเสียแล้ว…เอาจริงๆ ตัวผมเองก็จัดอยู่ในประเภทหลังนี้อยู่ด้วยบ่อยๆ ครั้ง เพราะผมเห็นว่าแม้ในระดับหนึ่งมันจะ self-delusional แต่มันก็มีประโยชน์ในตัวของมันอยู่ เดี๋ยวผมจะพูดถึงต่อไปในตอนท้าย
อย่างไรก็ดี เหตุผลสำคัญที่สุดที่ผมมองว่า ‘ภาพที่วาดหวัง’ ไว้นั้น เป็นเพียงแค่ความฝันเฟื่องลอยๆ ก็เพราะผมมองจากมุมมองทางด้านความมั่นคงศึกษา (Security Studies) ซึ่งถือว่าเป็นสายที่ผมให้ความสนใจโดยตรง ฉะนั้นหากมองด้วยแว่นตาแบบอื่น ก็อาจจะมองภาพเดียวกันนี้ อย่างมีความหวังมากกว่าผม (หรือน้อยกว่าผม) ก็เป็นได้ครับ
เวลาที่เราพูดถึงการต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยม/ทหาร ในสเกลระดับประเทศนั้น มักจะมีความหมายแบบเดียวกับการพูดถึง ‘กระแสการสร้างประชาธิปไตย’ หรือ Waves of Democratization ซึ่งจนถึงตอนนี้โดยหลักๆ แล้วก็จะนับกันว่ามีอยู่ 4 ช่วงหรือ 4 กระแส คือ 1st Wave นั้นอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19, 2nd Wave เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยอย่างชัดเจน, 3rd Wave โดยมากเริ่มนับกันที่ปี ค.ศ. 1974 ซึ่งเกิดการปฏิวัติคาร์เนชั่น (Carnation Revolution) ขึ้นในโปรตุเกส เรื่อยมาจนกระทั่งถึงราวๆ ปี 2000 โดยช่วงท้ายสงครามเย็น นับว่ามีบทบาทโดดเด่นที่สุดในช่วงนี้, 4th Wave ก็คือช่วงนี้แหละครับ ที่เผด็จการหลายที่ในตะวันออกกลางรวมไปถึงแอฟริกาเริ่มสั่นคลอน จนเกิดกระแส Arab Spring อะไรก็ว่ากันไป
ทีนี้รูปแบบที่ถูกนำมาสร้างภาพชวนฝันที่สุดก็หนีไม่พ้นการสร้างรัฐประชาธิปไตยในช่วงที่ 1 หรือ First Wave Democracy ที่นำโดยอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส) ที่ให้ภาพของการลุกขึ้นสู้ของประชาชน ลุกขึ้นสู้กับผู้ครองอำนาจการปกครองในสมัยนั้นๆ หรือในอีกหลายๆ กรณีคือเข้าทำการต่อรองทางอำนาจกับเจ้าผู้ปกครองอย่างได้ผล รูปแบบของ First Wave นี้ได้กลายมาเป็นภาพโมเดลของการต่อสู้ ที่ทำให้เชื่อว่าหากประชาชนของรัฐมีสำนึกร่วมของความเป็นประชาธิปไตยร่วมกัน จับมือกันลุกขึ้นสู้ได้ เราจะล้มผู้นำเผด็จการลงได้ อย่างที่คนฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกาเคยทำสำเร็จ หรือเราจะสามารถมีอำนาจต่อรองทางการเมืองจนลดอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมให้หมดลงได้แบบในอังกฤษ ผมคิดว่าภาพของการต่อสู้แบบนี้ยากที่จะปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นภาพของเหตุการณ์แบบ Arab Spring หรือแม้แต่การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในปี พ.ศ. 2553
… แต่ก็อย่างที่หลายๆ ท่านคงทราบอยู่แล้ว ว่า “ความเป็นจริงไม่หอมหวานแบบภาพโมเดลในฝัน” หากมันจะมีกลิ่นอะไรบ้าง มันคงจะเป็นกลิ่นคาวเลือดที่รอวันให้ความยุติธรรมมาชำระล้าง (แต่บ่อยๆ ครั้ง ความยุติธรรมก็ดูจะไม่เคยมาถึงสักที)
ทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้? หากเราตัดความหอมหวานและคุณค่าอะไรที่น่าเชิดชูออกไปหมดก่อน ผมคิดว่าเราสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยคำอธิบายเรื่องดุลย์กำลัง ผสมๆ เข้ากับแนวคิดเรื่องวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ของคาร์ล มาร์กซ์กันได้อยู่ครับ
ผมอยากอธิบายวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์แบบฉาบฉวยมากๆ และลดทอนความซับซ้อนสุดๆ ก็คือ มันคือแนวคิดที่ว่า การเกิดขึ้นของจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ (Historical turn) อันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมหรือเงื่อนไขในทางการเมืองนั้น มันมีลักษณะแบบ Outside in เสียมากกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงของ ‘โลกทางวัตถุภายนอกตัวตนของเรา’ เป็นตัวการสำคัญที่กำหนดและเปลี่ยนเงื่อนไขความเป็นอยู่ของสังคมการเมือง อย่างคำอธิบาย เรื่องชาตินิยมของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เองก็วางอยู่บนกรอบนี้ ว่า ชาตินิยมจะไม่มีทางเกิดขึ้นสำเร็จได้เลย หากไม่มีการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีแท่นพิมพ์ อันนำมาซึ่งทุนนิยมการพิมพ์ขึ้น เพราะประชากรในรัฐจะไม่สามารถมีจินตนาการร่วมของสิ่งเดียวกันพร้อมๆ กันได้ (แอนเดอร์สันใช้คำว่า ‘สุญกาลสหมิติ’ หรือ Homogenous Empty Time)[4] หรือตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ ว่าหากเราไม่มีเทคโนโลยี search engine อย่าง Google วิถีชีวิตและเงื่อนไขทางสังคมทั้งหมดของเราในวันนี้จะเปลี่ยนไปเลย หรือหากไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โลกจะไม่เป็นอย่างนี้แน่นอน เพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ มันเปลี่ยนไป ตามเงื่อนไขของวัตถุและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการก็เช่นเดียวกัน หากเรานำแนวคิดเรื่องวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์มาจับแล้ว เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมรูปแบบของการลุกฮือขึ้นต่อสู้เผด็จการ “มันจึงเป็นจริงได้ในสมัย 1st Wave แต่ยากจะเป็นจริง (หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย) ในช่วง 4th Wave ที่เรากำลังหายใจกันอยู่ตอนนี้” คือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าคำอธิบาย ‘กลไกทางอำนาจของรัฐ’ ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเราจะอยากรับหรือไม่อยากจะนับรัฐบาลนั้นในฐานะผู้บริหารรัฐของเราก็ตาม มันวางฐานอยู่บนนิยามของรัฐแบบเวเบอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า Weberian State
โดยอีตา Max Weber ได้ให้นิยามรัฐยอดฮิตติดดาวไว้ว่า รัฐนั้นคือ “ผู้ซึ่งได้รับความชอบธรรมในการใช้กำลังทางกายภาพเพียงหนึ่งเดียวภายใต้พื้นที่หนึ่งๆ” (The monopoly of the legitimate use of physical force in the given territory)[5] ว่าง่ายๆ ก็คือ รัฐเป็นผู้ถือครองอำนาจในการ ‘สังหาร หรือต่อสู้ในทางกายภาพ’ อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวนั่นเองครับ ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงการ ‘รวมพลังกันต่อสู้กับรัฐ’ แล้ว มันจึงเป็นเรื่องความมั่นคงมากๆ ทีเดียว
ฉะนั้น เมื่อเราตัดเรื่องคุณค่า อุดมการณ์ หรือความประเสริฐน่าบูชาของอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนออกไปก่อน เราจะพบว่าการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายประชาชนที่รวมกำลังกัน กับฝ่ายรัฐนั้นมันคือเรื่องของ ดุลย์กำลังทางกายภาพ อย่างมากทีเดียว ในสมการความมั่นคงหรือดุลย์กำลังนี้ อาจเรียกได้ว่าฝั่งประชาชนเป็นตัวแทนของ ‘กำลังในเชิงปริมาณ’ ที่แม้อาจจะไม่ได้ถือครองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีอย่างรัฐ แต่มีปริมาณมากกว่า ในทางตรงกันข้าม รัฐเป็นตัวแทนของ ‘กำลังในเชิงคุณภาพ’ ที่แม้ปริมาณ (คน) จะน้อยกว่า แต่คุณภาพของทรัพยากรทางความมั่นคงหรือการต่อสู้ทางกายภาพสูงกว่าฝ่ายประชากรนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การที่ First Wave Democracy เกิดขึ้นได้ หากอภิปรายผ่านมุมมองด้านความมั่นคงและวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็ตอบได้ว่ามันเป็นเพราะระดับของ ‘คุณภาพ” ของเทคโนโลยีทางความมั่นคง โดยเฉพาะอาวุธที่ใช้ต่อสู้ทางกายภาพของฝั่งรัฐนั้น ยังไม่มีศักยภาพสูงพอที่จะล้ม ‘ปริมาณ’ ของฝ่ายประชากรได้ อย่างในการปฏิวัติฝรั่งเศส อาวุธที่ทันสมัยที่สุด ก็อยู่ไม่เกินปืนใหญ่ (Artillery) ที่เรียกว่า Gribeauval gun (ช่วงเวลาที่คิดค้นคือ 1765 – 1774 และการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดในปี ค.ศ. 1789) ว่าง่ายๆ ก็คือ ในทางความมั่นคงแล้ว ตราบใดที่ “อำนาจในการใช้กำลังในทางกายภาพเชิงกำลัง ยังคงเหนือกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับอำนาจในการใช้กำลังในเชิงคุณภาพที่ฝั่งรัฐครอบครอง การโค่นล้มรัฐบาล หรือมีข้อตกลงต่อรองกับรัฐอย่างตรงไปตรงมา แบบ First Wave Democracy ก็ยังคงเกิดขึ้นได้”
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา (เป็นอย่างน้อย) ที่เทคโนโลยีทางอาวุธและการสงครามก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด (ก็เพราะมันเกิดสงครามโลกนั่นแหละนะครับ) ดุลย์กำลังที่ฝ่ายปริมาณเคยอยู่เหนือกว่าก็กลับตาลปัตร
อำนาจของฝั่งรัฐที่ถือครองคุณภาพในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพดูจะสูงกว่ากำลังในทางปริมาณไปมากแล้ว ทำให้ตั้งแต่ Second Wave Democracy เป็นต้นมา เราได้เห็นปรากฏการณ์การ “ลุกขึ้นสู้ของประชาชน ต่อต้านเผด็จการ” แล้วสำเร็จด้วยตัวมันเองน้อยมาก ตรงกันข้าม ในช่วง Second Wave นี้สิ่งที่ทำให้การเอาชนะอำนาจนิยมได้นั้น ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่าไม่ได้มาจากอิทธิพลไม่ว่าจะโดยตรงหรือในฐานะผลต่อเนื่องของการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาชนะค่ายอักษะได้ ฉะนั้นเราจะพบว่าการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะมาจากกำลังหรืออิทธิพลจากภายนอก (รัฐอื่น) เข้ามาช่วยให้เกิดประชาธิปไตยขึ้น อย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นเอง เป็นกรณีหนึ่งที่อาจจะชัดเจนที่สุดของรูปแบบนี้ ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางระบอบประชาธิปไตยให้โดยตรง
แน่นอนว่ารูปแบบการเกิดประชาธิปไตยใน Wave ที่ 2 – 4 ไม่ได้มีแค่แบบที่ว่าอย่างเดียว แต่แทบจะทุกรูปแบบ วางฐานอยู่บนสมการความมั่นคงและดุลย์กำลังไม่มากก็น้อย อย่าง การก่อการร้ายเอง ในหลายๆ ครั้งยังถูกนำมาใช้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย อย่างกรณีของเนลสัน แมนเดลล่า ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลคนขาวนั้น เขาเองก็เคยโดนเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และมีการใช้ยุทธวิธีแบบการก่อการร้ายในการให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องจริง หรืออย่างกรณีของปาเลสไตน์ หรือ IRA เองก็เช่นกัน ที่พยายามจะปลดปล่อยตนเองจากการครอบงำด้วยยุทธวิธีแบบการก่อการร้าย เพราะท้ายที่สุดแล้ว การก่อการร้ายมันคือยุทธวิธีการต่อสู้กับ ‘รัฐ’ โดยที่ฝ่ายที่ก่อเหตุรู้อยู่แล้วว่ากำลังต่อสู้กับฝ่ายที่ถือครองกำลังเหนือกว่ามากๆ อย่างเทียบไม่ติด หรือก็คือ ยุทธวิธีในการต่อสู้โดยไม่ได้สนใจ ‘ดุลย์กำลัง’ แต่แรกนั่นเอง
อีกรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้มาก นอกเหนือไปจากการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอื่น หรือการตอบโต้ด้วยยุทธวิธีอย่างการก่อการร้ายแล้วก็คือ การที่มีตัวแปรภายในบางส่วนขยับข้ามฟากมาทำให้สมการความมั่นคงที่ไม่ได้ดุลย์กลับมาได้ดุลย์อีกครั้ง ว่าง่ายๆ ก็คือ อำนาจของรัฐเผด็จการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ) ที่ถือครองกำลังทางกายภาพแต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และมีส่วนหนึ่งย้ายฝั่งมาให้การสนับสนุนฝั่งประชาชน แทนที่จะสนับสนุนฝั่งรัฐ การเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นหมายความว่าฝ่ายประชาชนซึ่งเดิมทีเป็นตัวแทนของฝ่ายปริมาณและอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในดุลย์กำลังเชิงกายภาพนี้ มีขีดความสามารถสูงขึ้นนั่นเอง และอาจจะมากพอที่จะเหนือกว่าฝ่ายรัฐได้ในที่สุด ผมคิดว่าเราอาจจะพอมอง การอภิวัตน์ พ.ศ. 2475 ของประเทศไทย ในฐานะแบบหนึ่งของโมเดลนี้ได้ ที่ฝ่ายพลเรือนกับทหารบางส่วน ร่วมมือกัน (อย่างน้อยก็ชั่วคราว ก่อนจะทะเลาะกันเอง) เปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ เป็นต้น
จริงๆ ยังมีรูปแบบอื่นๆ ยิบย่อยอีกมากนะครับ แต่ผมคงพูดได้ไม่หมด ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ ถึงท้ายที่สุดแล้วการคาดหวังจะเห็นการลุกฮือของประชาชน ยอมตายเพื่อเปลี่ยนประเทศนั้นมันยากมากที่จะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่ได้แปลว่าการต่อสู้กับเผด็จการ หรือการทำงานทางความคิด เชิงอุดมการณ์ที่ต่อต้านเผด็จการนั้นมันไร้ซึ่งความหมายนะครับ สำหรับผมแม้ว่าบ่อยๆ ครั้งการ ‘เขียนความหวัง’ แบบนี้มันจะ self-delusional ในตัวเองอย่างที่บอกไปตั้งแต่แรก แต่มันก็มีประโยชน์ของมันอยู่บ้าง คือ ในระหว่างที่เรายังพยายามหาทางสู้ต่อ อย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดเหยื่อของอำนาจเผด็จการได้ยากขึ้นหรือเมื่อเกิดเหยื่อขึ้นแล้วอย่างน้อยที่สุดเหยื่อก็อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงบ้างสักนิด ว่าข้างนอกยังมีคนเคลื่อนไหวเพื่อพวกเขาอยู่ และพร้อมๆ กันไป อย่างน้อยมันก็หล่อเลี้ยงอุดมการณ์ แนวคิด หรือวิถีของประชาธิปไตยเอาไว้ได้ ที่ต่อให้ตัวคนจะแก่ตายไปแล้ว แต่ความคิดเหล่านี้มันก็จะยังอยู่ต่อไปได้ และตราบเท่าที่มันยังไม่ตายตามตัวคนไปความคิดความฝันที่ว่านั้น ก็มีโอกาสที่จะกลับมากลายเป็นวัตรปฏิบัติในโลกจริงได้อีกครั้ง
และหากมันกลับมา ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่เราจะต้องยืนยันกันให้ชัดก็คือ ‘ความสำคัญของตัวแทนฝั่งปริมาณ’ อย่างผมหรือทุกๆ ท่าน เพราะเราไม่ได้มีปืนในมือ ไม่ได้มีรถถังไว้ขับ ผิวหนังและแคลเซียมที่กันสมองหรือหัวใจเรานั้น มันสู้กระสุนและดินปืนจากสไนเปอร์ไม่ได้หรอกครับ ฉะนั้นเราต้องทำให้อำนาจและความสำคัญของรัฐที่หวังว่าสักวันต่อไปนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้นั้นวางฐานอยู่บน ‘ปริมาณ’ ซึ่งเป็นอำนาจที่เราในฐานะประชากรครอบครองอยู่ ปริมาณที่ว่านี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก ‘เสียง’ ของเรานี่แหละครับ และการยืนยันมันที่ชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในกติกา ที่อาจจะได้คนแย่ คนเหี้ย หรือคนโง่บ้าง แต่ครบเทอมก็เลือกใหม่…แต่อำนาจเผด็จการที่ครอบครองกำลังในเชิงคุณภาพอย่างเบ็ดเสร็จนั้น ไม่มีเทอมนะครับ สามารถต่ออายุตัวเองเท่าไหร่ก็ได้ (เห็นมั้ยครับ ย่อหน้านี้ของผม ก็ความฝันที่ไม่รู้วันไหนจะเป็นจริงก็ไม่รู้)
ผมขออภัยที่บทความนี้ไม่มีทางสว่างอะไรให้ท่าน ไม่มีทางออกโก้หรูดูดี ถ้าจะมีก็มีแต่ทำลายกำลังใจและฝันของหลายคนว่า ประชาชนลุกฮือขึ้นก็ยังไม่รอดอยู่ดี ยังสู้ไม่ได้อยู่ดีเท่านั้น แต่ผมเห็นด้วยกับคำพูดหนึ่งของชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกชื่อดังนะครับ (ผมได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกจากเพลง Iron Sky ของ Paolo Nutini)[6] ที่ว่า
“…The hate of men will pass, and dictators die,
And the power they took from the people will return to the people.
And so long as men die, liberty will never perish. …”
“ความเกลียดชังของเราจะผ่านไป และเผด็จการจะตายลง
เมื่อนั้นอำนาจที่พวกเขาช่วงชิงจากพวกเราไป จะกลับคืนมาหาเราอีกครั้ง
ตราบเท่าที่คนยังคงต้องตาย เสรีภาพจะไม่มีวันดับลง”
(ภาพยนตร์ The Great Dictator ปี ค.ศ. 1940)
ว่าง่ายๆ ก็คือ ตราบเท่าที่เผด็จการมันยังเป็นคน และยังต้องตาย…สักวันคงจะเป็นวันของเราแหละครับ (แค่ไม่รู้จะมีอายุอยู่ดูวันนั้นไหม)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ลองฟังเพลงดูกันได้ครับ หากสนใจwww.youtube.com
[2] โปรดดู www.huffingtonpost.com
[3] โปรดดู foreignpolicy.com
[4] โปรดดู Benedict Anderson, Imagined Communities
[5] โปรดดู Max Weber, Politics as a Vocation
[6] ลองฟังดูได้ครับ เป็นเพลงที่ผมโคตรชอบ www.youtube.com