1. แล้ววันหนึ่งวัตถุลึกลับซึ่งคล้ายว่าจะเป็นยานพาหนะจากนอกโลกก็ปรากฏขึ้นพร้อมกันสิบสองแห่งทั่วโลก มนุษยชาติแตกตื่นด้วยไม่รู้ถึงจุดประสงค์อันแน่นอนของผู้มาเยือนปริศนาเหล่านี้ แต่ด้วยก็ไม่ทีท่าว่า ‘อะไรสักอย่าง’ ซึ่งอาศัยอยู่ในยานจะลงมาสานสัมพันธ์ใดๆ กับมนุษย์โลก ดร. หลุยส์ แบงค์ส (เอมี่ อดัม) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ จึงได้รับมอบหมายงานจากกองทัพฯ เพื่อร่วมมือกับ เอียน ดอนเนลลี (เจเรมี เรนเนอร์) นักวิทยาศาสตร์ ในการขึ้นไปบนยานลึกลับ เพื่อที่ทั้งคู่จะได้พบกับ Heptapods สิ่งมีชีวิตต่างดาวเจ็ดขา ซึ่งปรากฏตัวขึ้นหลังกำแพงคล้ายกระจกที่กั้นขวางสองสายพันธุ์ออกจากกัน ภารกิจของ ดร.หลุยส์ และ เอียน คือหาทางสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตปริศนานี้ และหาคำตอบให้กับความกังวลที่ว่า ด้วยจุดประสงค์อะไรที่ทำให้พวกเขาเดินทางมายังโลกมนุษย์
2. หากเพียงโดยคร่าว Arrival อาจฟังดูไม่ต่างจากหนัง sci-fi ธรรมดาทั่วไป แต่จุดที่ทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาคือการที่ตัวเอกของหนังไม่ใช่วีรบุรุษสงคราม หรือนักวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นนักภาษาศาสตร์ ที่ชวนให้สงสัยตั้งแต่แรกได้ยิน นั่นเพราะสิ่งที่พวกเขาศึกษา, ในสมมติฐานของโลกซึ่งยังไม่รับรู้ข้อมูลใดๆ ต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว, จะยังคงจำกัดวงอยู่แต่เพียงภาษาของมนุษย์เท่านั้น พูดอีกอย่างคือ ภาษาซึ่งถูกปรากฏอยู่บนโลกใบนี้ เช่นนั้นแล้ว การที่หนังเลือกจะใช้ผู้เชี่ยวชาญในสายมนุษยศาสตร์จึงเสมือนการตั้งสมมติฐานที่น่าสนใจว่า ภายใต้กรอบความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นเพียงพอหรือยังที่จะทำความเข้าใจกับจักรวาล ในทางหนึ่งจึงอาจพูดได้ว่า คำถามที่หนังโยนลงมาคือ ภาษา ซึ่งมนุษย์ใช้ในฐานะของเครื่องมือในการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งสากลหรือเปล่า หรือเป็นเพียงกลไกที่จะใช้กันได้เฉพาะแค่ในสายพันธ์มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้เท่านั้น
3. ไม่เพียงแต่เฉพาะประเด็นด้านภาษา แต่ Arrival พาเราไปไกลเกินกว่านั้น ด้วยการท้าทายเรื่องการรับรู้ ‘เวลา’ ในแบบมนุษย์ กล่าวคือ การรับรู้เหตุการณ์และการเลื่อนไหลของเวลาในลักษณะของ Chronological, Sequential หรือการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ตามลำดับของเวลา ไล่เรียงตามการจัดเรียงซึ่งถมทบกันไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังสุด พูดง่ายๆ คือ มนุษย์จะไม่อาจรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของสิ่งซึ่งยังไม่เกิดขึ้นได้ และด้วยเหตุนี้เราจึงอาจอธิบายชีวิตของมนุษย์ด้วยแนวคิดเรื่องเจตจำนงแห่งเสรี หรือ free will ด้วยเพราะเมื่อไม่รับรู้ต่ออนาคตที่จะเกิด จึงเท่ากับว่ามนุษย์ยังมีอิสระที่จะ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยผลลัพธ์ของมันก็จะคลี่คลายออกมาตามแต่การตัดสินใจของปัจเจกบุคคลนั้นๆ เช่นนี้แล้วจึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์จึงคือผู้กำหนดชีวิตของตัวพวกเขาก็ด้วยความไม่อาจหยั่งรู้อนาคตที่บังคับให้พวกเขาต้อง ‘เลือก’ นั่นเอง
4. กระนั้นก็แล้ว สิ่งที่ Arrival ถามกับเราคือ แต่ถ้าหากวันหนึ่งคุณสามารถรับรู้ทุกเรื่องราวของชีวิตได้อย่างไม่เป็นลำดับเวลาล่ะ ถ้าวันหนึ่งคุณเกิดมาแล้วรู้ความเป็นมาและความเป็นไปของตัวคุณเองโดยไม่ต้องรอให้มันเกิดขึ้นก่อนถึงจะรู้ แต่รับรู้มันพร้อมกันในทีเดียวตั้งแต่แรกเกิด จนคุณตาย ถ้าคุณรู้ล่วงหน้าได้ว่าวันที่สามของเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2567 คุณจะได้พบกับคนๆ หนึ่งซึ่งจะกลายเป็นคู่ชีวิต และลูกคนแรกของคุณจะถือกำเนิดขึ้นสองปีหลังจากนั้น และถ้าคุณจะรู้ว่าลูกน้อยซึ่งเพิ่งเกิดมาไม่กี่วันจะเสียชีวิตด้วยโรคร้ายซึ่งไม่อาจรักษาหายล่ะ เคยคิดไหมว่าหากมนุษย์ต่างก็รับรู้เวลาในแบบนี้ ชีวิตเราจะเป็นเช่นไร
พูดให้เห็นภาพขึ้นกับตัวอย่างที่ Arrival แสดงให้เห็นผ่านภาษาของ Heptapods ที่ถูกเขียน (?) ออกมาในรูปของวงกลม โดยการพ่นน้ำหมึก (?) ออกมาในเวลาเดียวแล้วมันก็ค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปอักษรพร้อมกันในทีเดียว โดยไม่เริ่มจากจุดเริ่มต้น และไม่จบตรงจุดสิ้นสุด ลองนึกภาพคุณเขียน ตัว ก โดยที่ใช้มือทั้งสองข้างจากฐานคนละฝั่งและลากมาบรรจบกันพอดิบพอดี ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่มนุษย์เขียนนั่นเพราะการเขียนตัว ก ในแบบของเรา และการรับรู้เวลาในแบบของเรานั้นดำเนินไปด้วยการมีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด ต่างกับ Heptapods ซึ่งเวลาที่พวกเขารับรู้ไม่ได้เดินหน้าเป็นเส้นตรง แต่หมุนตัวเป็นวงกลมเช่นเดียวกับภาษาเขียนของพวกเขา มันจึงเป็นวิธีการเขียนของสิ่งมีชีวิตต่างดาวเหล่านี้จะเขียนตัว ก โดยการเขียนมันออกมาในทีเดียว ไม่มีจุดตั้งต้น และไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นการสร้างตัว ก ออกมาในคราว เฉกเช่นเดียวกับเวลาในแบบที่ Heptapods รับรู้นั่นเอง
5. คุณอาจสงสัยว่า ถ้าวันหนึ่งมนุษย์สามารถรับรู้เวลาพร้อมกันแบบ Heptapods แล้ว เช่นนั้นก็แปลว่า เมื่อเรารู้ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น ก็เท่ากับเราสามารถ ‘เลือก’ จะเบี่ยงไปในเส้นทางอื่นที่จะพาเราหลีกเร้นไปจากการต้องประสบภัยร้ายๆ นั้นได้สิ ตรงนี้เองที่ Arrival พาเราไปไกลกว่าการสรุปหนังง่ายๆ แค่ว่า choose your own path, choose your own future. เพราะเมื่อวิธีการรับรู้เวลาเปลี่ยนไป และตรรกะต่อการรับรู้เวลาในแบบมนุษย์ถูกทลายลง มันจึงทำให้การ ‘เลือก’ การ ‘ไม่เลือก’ และแนวคิดเรื่อง ‘เจตจำนงเสรี’ เองก็ล้วนถูกรื้อกระดานลงเช่นกัน
ด้วยเพราะเหล่า Heptapods ไม่ได้อาศัยอยู่บนฐานคิดของเจตจำนงเสรี และการเลือกอย่างใด และ ไม่เลือกอย่างใด ก็ไม่ได้อยู่ในการกระทำที่พวกเขาจะกระทำ หรือเลือกจะกระทำได้ หากแต่เป็นการปล่อยให้ชีวิตไหลไปกระทบกับสิ่งซึ่งรู้ว่าสักวันหนึ่งจะเกิดขึ้นกับพวกเขา ประหนึ่งก้อนหินที่ถูกสายน้ำชักพาเรื่อยไป และไม่อาจขืนแรงต้านกระแสน้ำเอาไว้ได้ ก้อนหินก้อนนั้นรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าสักวันมันจะถูกกัดเซาะจนสึกกร่อน แต่มันก็ทำได้แต่เพียงรอให้วันนั้นมาถึงโดยไม่อาจพาตัวเองให้หลุดพ้นไปจากจุดสิ้นสุดอันแน่นอนของมันได้
6. คุณเคยอ่านเรื่องหอสมุดแห่งบาเบลของ ฆอร์เฆ หลุยส์ บอเฆสไหมครับ เรื่องสั้นที่เล่าถึงหอสมุดซึ่งบรรจุหนังสือทุกเล่มที่บนโลกใบนี้ มันบรรจุทุกองค์ความรู้ แม้กระทั่งหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้นก็มีอยู่ในห้องสมุดนี้ ใน The Story of Your Life เรื่องสั้นดั้งเดิมก่อนจะถูกดัดแปลง Arrival มา ของนักเขียนอเมริกันนาม เท็ด เชียง ได้ใช้แนวคิดที่เรียกว่า Borgesian Formulation ในการอธิบายต่อการรับรู้เวลาในแบบ Heptapods ไว้ว่า ลองสมมติว่าคุณได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งบรรจุเรื่องราวชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบ คุณรู้ว่าชีวิตคุณต่อแต่นี้จะได้เจอกับอะไร จะโศกเศร้าบ้าง และมีความสุขบ้างในวันไหน กระนั้นก็ตาม ความรู้ต่ออนาคตที่คุณได้รับจากหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่สิ่งซึ่งคุณจะมีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงได้ จริงที่ต่อแต่นี้คุณจะรับรู้แล้วถึงความเป็นไปของชีวิตต่อแต่นี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไปเปลี่ยนในสิ่งที่รู้อยู่แล้วนี้ได้ นั่นเพราะหากยึดตามคำอธิบายที่ว่า หนังสือซึ่งคุณได้อ่านบันทึกเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของคุณ การกระทำในเรื่องซึ่งไม่สอดคล้องตามที่หนังสือได้เขียนไว้จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องราวของคุณได้ถูกบันทึก และได้ถูกเขียนไว้แล้ว ประวัติศาสตร์ของชีวิตคุณได้ถูกจารึกไว้แล้ว เฉกเช่นเดียวกับความจริงที่หนังสือเล่มนั้นบันทึกไว้
พูดโดยสรุป ความน่าสนใจของ Arrival จึงคือการที่มันหยิบยื่นตรรกะเรื่องเวลาอีกชุดหนึ่งให้กับเรา ที่ไม่ว่ามันจะน่าเชื่อ หรือชวนให้งุนงงสับสน กระนั้นมันก็คือตัวอย่างของความเป็นไปได้หนึ่งต่ออีกนับไม่ถ้วนพ้นในจักรวาลอันไม่รู้สิ้นสุดนี้