ถ้าเอ่ยถึงผลงานศิลปะ ‘ภาพนู้ด’ หรือ ‘ภาพเปลือย’ โดยปกติแล้ว ผู้ชมงานศิลปะบ้านเรามักจะคุ้นเคยกับภาพนู้ด หรือภาพเปลือยของเพศหญิงมากกว่าภาพนู้ดเพศชาย แต่ในโลกศิลปะตะวันตก ศิลปะภาพนู้ดเพศชายถูกทำมาแต่โบร่ำโบราณนานมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุคกรีกโบราณ หรือยุคเรอเนสซองส์ แต่ภาพนู้ดเหล่านั้นก็มุ่งเน้นในการนำเสนอเรือนร่างและกล้ามเนื้ออันเข้มแข็งเปี่ยมพลังของเหล่าวีรบุรุษ หรือการสร้างความเวทนาและการปลดปลงสังขารทางศาสนา มากกว่าจะนำเสนอความงามอันอีโรติกเย้ายวน หรือกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศ ที่มักจะสงวนไว้แต่กับเรือนร่างของเพศหญิงเท่านั้น ในยุคสมัยที่ความรักเพศเดียวกันยังไม่เป็นที่เปิดเผยแพร่หลาย
ส่วนในโลกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ภาพนู้ดเพศชายไม่ค่อยถูกนำเสนอในวงกว้างนัก ไม่ว่าจะเป็นในวงการศิลปะ หรือสื่อเชิงสังวาสเพื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศ ต่างก็ถูกนำเสนอกันอย่างกระมิดกระเมี้ยนไม่เปิดเผย ด้วยถูกมองว่าเป็นเรื่องอุตริ วิตถาร ไปจนถึงลามกอุจาดตาในสายตาของ (ดัดจริต) ชนผู้มีความอ่อนไหวทางศีลธรรมทั้งหลาย (ซึ่งอันที่จริง ถึงจะเป็นอะไรที่อุตริวิตถารและลามกก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถเป็นศิลปะได้)
หากแต่ในยุคสมัยใหม่เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และคนรักเพศเดียวกันกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในทั่วโลก ภาพนู้ดเพศชายทั้งที่เป็นสื่อเชิงสังวาสและงานศิลปะ ต่างก็ถูกนำเสนอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินชายแท้อย่าง เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele), ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucian Freud) หรือศิลปินรักเพศเดียวกันอย่าง เดวิด ฮ็อกนีย์ หรือ โรเบิร์ต แมปเพิลธอร์ป (Robert Mapplethorpe) ต่างก็นำเสนอศิลปะภาพนู้ดของเพศชายอันเปี่ยมสุนทรียะ งดงาม เย้ายวน หรือแม้แต่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศกันถ้วนหน้า
หันมามองในวงการศิลปะบ้านเรา มีศิลปินผู้หนึ่งที่ทำงานศิลปะภาพนู้ดเพศชายมาอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า โอ๊ต มณเฑียร ผลงานของเขานำเสนอทั้งความงามในสรีระของผู้ชายและความอีโรติกเย้ายวนของคนรักเพศเดียวกันอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์
ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า สรงประภา : Reclining Queer Nude
โอ๊ต มณเฑียรนำเสนอตัวตนของเกย์ไทยผ่าน ‘ภาพนู้ดแนวนอน (Reclining Nude)’ และการจัดฉากในภาพวาดแบบ Orientalism (การมองความเป็นตะวันออกด้วยสายตาแบบคนตะวันตก) อันเป็นประเภทของภาพนู้ดยอดนิยมแบบหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ซึ่งโดยส่วนใหญ่นางแบบในภาพจะเป็นเพศหญิง แต่ศิลปินเลือกหยิบมาดัดแปลงเสียใหม่ โดยเลือกที่จะวาดภาพเปลือยของเกย์ไทยเพศชายแทน ศิลปินยังล้อเลียนท่วงท่าการโพสต์และการวางองค์ประกอบของภาพวาดนู้ดแนวนอน สุดคลาสสิคชื่อดังในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก อย่างภาพ Rokeby Venus (ค.ศ.1647) ของ ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez) หรือภาพ Olympia (ค.ศ.1863) ของ เอดูอาร์ต มาเนต์ (Edouard Manet) เป็นต้น
นอกจากการจัดวางท่วงท่าของนายแบบและการจัดฉากและองค์ประกอบของภาพแล้ว ศิลปินผู้นี้ยังนำเสนอตัวตนของเหล่านายแบบทั้งด้านกายภาพ พลังงาน และการสื่อความรู้สึก หรือมวลอารมณ์อันลึกซึ้ง ผ่านการจัดแสงในลักษณะที่แตกต่างกันไปตามบุคลิกภาพของนายแบบแต่ละคนอีกด้วย
โอ๊ตเลือกนายแบบเกย์ชาวไทยที่มีอายุไล่เลี่ยกับตนเอง จากหลากหลายอาชีพ พื้นเพ ทั้งพนักงานบริการ, นักศึกษา, นักออกแบบ, พนักงานออฟฟิศ, นักเต้น ฯลฯ เพื่อสะท้อนประสบการณ์ส่วนตัวที่แตกต่างกัน และทำการพูดคุยไต่ถามถึงตัวตน ความคิด และอัตลักษณ์ของพวกเขาเหล่านั้น เพื่อเทียบเคียงและเสาะหาความเชื่อมโยงถึงตัวศิลปินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดลายเส้นอันเปี่ยมอารมณ์หวามไหวและเย้ายวน ที่บ่งบอกถึงการรับรู้ของศิลปินที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและนายแบบในโมงยามนั้นๆ
โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินเจ้าของนิทรรศการ กล่าวถึงที่มาของผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“เริ่มจากชื่อนิทรรศการ ‘สรงประภา’ คำว่า ‘สรง’ แปลว่า ‘อาบ’ ส่วน ‘ประภา’ แปลว่า ‘แสง’ รวมกันเป็น ‘อาบแสง’ ซึ่งแสดงนัยยะถึงเรือนร่างของนายแบบที่อาบแสงสีต่างๆ ที่เราจัดขึ้นเวลาวาดภาพ ชื่อนี้ยังเป็นชื่อของ ‘ถนนสรงประภา’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตูดิโอและหอศิลป์แห่งนี้ของเรา ส่วนชื่อสร้อยก็คือ ‘Reclining Queer Nude’ หรือ ‘นู้ดเกย์แนวนอน’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราสนใจมาตลอด
ด้วยความที่เราสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็จะมีการพูดถึงภาพนู้ดแนวนอน ที่ส่วนใหญ่นางแบบจะเป็นผู้หญิง และนำเสนอร่างเปลือยของเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นภาพของ เบลาสเกซ, มาเนต์ หรือ โกแกง (Paul Gauguin) เราเลยตั้งคำถามว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นร่างเปลือยของผู้ชายที่เป็นเกย์ และเป็นคนไทยด้วย จะทำงานแตกต่างกันอย่างไร
เพราะร่างกายของผู้หญิงในภาพนู้ดแนวนอนนั้นมีนัยยะสำคัญอย่าง ความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของนางแบบว่า เขาอนุญาตให้เรามองหรือเรากำลังลักลอบมองเขา? เขากำลังยั่วยวนเราหรือไม่? ภาพนั้นเป็น Male Gaze (การจ้องมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศด้วยสายตาของผู้ชาย) ไหม? สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญในภาพนู้ดแนวนอนตามปกติ แต่ถ้าเราเปลี่ยนแบบในภาพให้เป็นผู้ชายเกย์ชาวไทยล่ะ จะเป็นอย่างไร หลังจากที่ทำก็ได้คำตอบว่ามีความแปลกแตกต่างออกไป”
กับคำถามที่ว่า ถ้าการดูภาพนู้ดผู้หญิงเป็น Male Gaze แล้วการดูภาพนู้ดผู้ชายเกย์นั้นเป็น Gay Male Gaze หรือไม่? โอ๊ตตอบเราว่า
“ก็อาจจะเรียกแบบนั้นก็ได้นะ เพราะในภาพนู้ดผู้ชายเกย์ของเราก็แสดงออกถึงความเสน่หาและเย้ายวนไม่ต่างกับภาพนู้ดผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองของเรือนร่างก็จะมีความแตกต่างกัน อย่างการ ‘เห็นหรือไม่เห็นองคชาต’ นั้นเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับภาพนู้ดผู้ชาย หรืออย่างบั้นท้ายในภาพนู้ดของผม ก็จะมีนัยยะทางเพศมากกว่าบั้นท้ายของภาพนู้ดผู้หญิง เพราะเป็นบั้นท้ายของเกย์, นายแบบบางคนอาจจะขอให้เราวาดภาพอวัยวะบางส่วนเขาให้สมส่วน หรือเรียบเนียนขึ้น แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนเป็นเกย์ก็ยังยึดโยงกับความสวยงามน่าดึงดูดใจไม่ต่างกับเพศอื่นๆ ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
นอกจากกายภาพของนายแบบแล้ว เรายังมองไปถึงพลังงานของเขาด้วย ด้วยความที่เราเป็นสายมูเตลู เป็นหมอดูมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เวลานายแบบมาเป็นแบบให้เราวาดภาพ เราจะให้เขาเลือกไพ่ทาโรต์หนึ่งใบที่ซ่อนอยู่ในหน้าหนังสือที่เราให้เขาเปิดดู แล้วเราก็จะถามถึงเหตุผลที่เขาเลือกไพ่ใบนี้ แล้วเราก็จะตีความจากสิ่งที่เขาเล่า ซึ่งมีทั้งประวัติชีวิต ไปจนถึงประสบการณ์ทางเพศที่เลวร้าย เราก็นำเรื่องราวเหล่านั้นมาตีความเป็นการจัดมู้ดโทนของแสงและท่าโพสต์ในการวาดภาพ
เหตุผลอีกอย่างที่เราสนใจเกี่ยวกับแสงไฟ และการจัดแสงให้อาบร่างกายของนายแบบในการวาดภาพของเรา ก็มีที่มาจากความทรงจำวัยเด็กที่เราเคยเป็นเด็กส่องไฟในร้านคาราโอเกะของคุณแม่ด้วย”
นอกจากผลงานภาพวาดนู้ดเกย์แนวนอนในนิทรรศการครั้งนี้แล้ว ด้วยความที่มีอีกบทบาทในฐานะนักเขียน โอ๊ตยังเขียนเรื่องสั้น ‘สรงประภา (เสี้ยวสนทนา)’ ที่ถ่ายทอดเสี้ยวเวลาอันเปี่ยมอารมณ์ในบทสนทนาระหว่างศิลปินกับนายแบบ ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือประกอบนิทรรศการนี้อีกด้วย
“สำหรับผม การเปลือยมีความหมายนะ อันดับแรกคือมันเปลื้องทุกอย่างที่บดบังและปรุงแต่งตัวเราออก ทั้งสิ่งที่จับต้องได้อย่างเสื้อผ้า หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น ชนชั้น ศีลธรรม ฯลฯ ผมว่า เอาจริงๆ เรือนร่างของเราคือนิยามของความเป็นมนุษย์ คือความจริงที่สวยงาม และศิลปะที่ดีสำหรับผมต้องซื่อสัตย์ พอคิดแบบนี้แล้ว เลยต้องย้อนถามว่า ถ้าใจความหลักในงานคือร่างกาย ทำไมเราต้องวาดเสื้อผ้าเข้าไปด้วย”* (*ตัดตอนจากเรื่องสั้นประกอบนิทรรศการ)
นิทรรศการ ‘สรงประภา : Reclinning Queer Nudes’ จัดแสดงที่ แกลเลอรี่ ‘โพธิสัตวา’ พื้นที่แสดงงานศิลปะที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เขียวชอุ่มย่านดอนเมือง ที่มีแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับศิลปิน LGBTQ+ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ และตั้งชื่อตามพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเทพแห่งความเมตตาและไร้ซึ่งเพศสภาพ
นิทรรศการจะเปิดให้ชมไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2021 โดยแกลเลอรี่จะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ 10:00 – 20:00 น. (วันปกติต้องนัดหมายในการเข้าชม) ติดตามรายละเอียด/ข่าวสารและกิจกรรม ของ แกลเลอรีโพธิสัตวา ได้ที่ Facebook: www.facebook.com/BodhisattavaGallery, Instagram: @bodhisattava.gallery, หรืออีเมล bodhisattava.gallery@gmail.com