เพราะ ‘โลกแห่งจินตนาการ’ เป็นโลกที่แสนทรงพลัง
นี่คือช่วงเวลาแห่งเสือดำ นอกจากการเข้าป่าล่าเสือดำแล้ว สัปดาห์หน้าเรายังมี Black Panther หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องล่าสุดที่ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากประเด็นเรื่องความอลังการตระการตาและความมันที่หนังฮีโร่จะให้เราได้แล้ว Black Panther ยังสร้างกระแสฮือฮาในฐานะหนังฮีโร่ ที่คราวนี้ฮีโร่คนใหม่เป็นคนผิว ดังนั้นในอาณาจักรวากานดา (Wakanda) อันลึกลับ วัฒนธรรมชนเผ่าและโลกของคนผิวสีจึงได้รับการนำเสนอใหม่ ในมิติที่เชื่อมโยงกับอารยธรรมและอนาคต
นั่นสินะเราอาจคิดว่า หนังหรือคอมมิกเป็นแค่เรื่องบันเทิง แต่ทำไมเรื่องบันเทิงแบบนี้ถึงได้รับความสนใจและเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญ แถมยังไปเกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ๆ อย่างอคติทางชาติพันธุ์ เรื่องความรุนแรง และเรื่องตัวตน
ภาพจินตนาการของคนผิวดำถูกวาดซ้ำๆ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 มาจนถึงปัจจุบัน คนผิวดำดูจะถูกโยงเข้ากับความป่าเถื่อนรุนแรง ภาพในหนังหรือหนังสือมักมีแนวโน้มที่จะทำให้เราเข้าใจว่าคนดำเป็นอย่างนั้นจริงๆ การใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐต่อคนผิวดำบางกรณีก็ดูจะเป็นผลพวงของจินตนาการที่โลกมอบให้คนผิวสี การมีฮีโร่ที่ให้ภาพใหม่ๆ เป็นฮีโร่ผิวดำ ก็แสดงถึงการพยายามสร้าง ‘ภาพอื่นๆ’ ให้คนผิวสี
บูรพาคดีศึกษา กับตะวันออกที่ ‘ถูกสร้าง’ ขึ้น
เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) เป็นหนึ่งในนักคิดที่ชี้ให้เห็นพลังและมิติทางการเมืองของจินตนาการ แนวคิดเรื่องบูรพาคดีศึกษา (orientalism) เป็นแนวคิดที่กลับมาบอกว่า โลกตะวันออก – รวมถึงชนเผ่า คนผิวสีทั้งหลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสายตาของคนขาวทั้งนั้น ถึงแม้ชาวตะวันออก (รวมถึงพวกเราด้วย) จะอยู่กันตามปกติอยู่แล้ว แต่ซาอิดบอกว่า ‘มุมมอง’ และ ‘ความจริง’ ของโลกตะวันออก ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนผิวขาว
โดยสรุปคือ หลักๆ แล้ว ความคิด ความเชื่อ และจินตนาการที่เกี่ยวกับตะวันออก ถูกสร้างขึ้นผ่านข้อคิด ข้อเขียน บันทึกและวรรณกรรมที่คนขาว ‘พูดถึงตะวันออก’ ในฐาน ‘คนอื่น’ (other) คนขาวเดินทางไปในดินแดนตะวันออกและบอกว่าคนที่ไม่ใช่ผิวขาวเป็นอย่างไร โดยมีตัวเองและแรงจูงใจในการสำรวจดินแดนอื่น เช่น ทรัพยากร ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไปจนถึงความต้องการตลาดสำหรับขายสินค้าที่ผลิตได้ในระบบทุนนิยม
ภาพสำคัญที่คนขาวใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าครอบงำ คือ การมองว่าคนผิวดำเป็นกลุ่มชนที่ด้อยกว่า ไม่มี ‘ความเจริญ’ ไม่มีเหตุผล (ในมิติของความรู้แบบวิทยาศาสตร์) ป่าเถื่อน และล้าหลัง ดังนั้นในฐานะคนขาวที่มีความเหนือกว่า จึงเข้าไปจัดการและครอบงำได้ ความสนใจเรื่องตะวันออกทำให้นักสารพัด ทั้งนักเขียน นักนิรุกติศาสตร์ นักเดินทาง พ่อค้า ต่างเดินทาง ‘สร้าง’ ความรู้และภาพของคนอื่นนี้กันอย่างแข็งขัน แต่ประกอบไปด้วยอคติ
มรดกตกทอดของอคติและภาพแทน
จากบันทึก วรรณกรรม บทกวี ไปจนถึงตำราทางวิชาการจำนวนมหาศาลจากยุคนั้น สิ่งที่ตกทอดมาถึงยุคนี้ คือ การที่เรามีภาพบางอย่างฝังอยู่ในหัวแล้ว เพราะหากไปเจอกับคนดำตัวจริง เราก็มีแนวโน้มที่จะ ‘มอง’ คนกลุ่มนั้นไปตามภาพเหมารวม – ภาพคนป่า – ด้วยอคติที่ผ่านมานับร้อยปี และคงปฏิเสธได้ยากว่า ทุกวันนี้เรายังมีอคติที่มองว่าคนดำสัมพันธ์กับความรุนแรงและความล้าหลังอยู่
ประเด็นสำคัญคือ ต่อให้ในความเป็นจริง คนผิวดำจำนวนหนึ่งนั้นได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงจริงๆ แต่ข้อโต้แย้งคือ ถึงจะมีจริงก็ไม่ได้แปลว่าคนดำทั้งหมดเป็นแบบนั้น และหากมองลงไปในรายละเอียดที่ว่า คนดำอาจจะต้องใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามองให้ซับซ้อนลงไปอีกหน่อย ภาพของคนผิวสีอาจเป็นเพราะอคติที่เราจินตนาการว่า เออ คนดำคือคนที่ต้องทำมาหากินและใช้ชีวิตแบบนี้ คนดำผู้ได้รับผลกระทบจากอคติจึงมีโอกาสในชีวิตน้อยกว่าคนขาว หรือมากไปกว่านั้นคือ คนดำเองก็อาจไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตและตัวตนของตัวเองให้พ้นไปจากอคติที่สังคมได้วาดไว้
ระยะหลัง ขนาดเราผ่านกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ เรื่องสีผิวมาแล้ว แต่ในระดับความคิด ดูเหมือนว่าภาพ – จินตนาการถึงคนผิวดำ – ก็ยังมีอคติที่ลากยาวมาจนปัจจุบัน เช่น ภาพของผู้หญิงผิวดำเปรี้ยวๆ เฟี้ยสๆ เรามักคิดถึงผู้หญิงผิวดำในลักษณะดุดัน ระยะหลังก็มีกระแสของผู้หญิงผิวดำที่ออกมาบอกว่า ฉันก็ไม่ได้เฟี้ยสนะ เป็นคนเรียบๆ ธรรมดาๆ นี่แหละ
Black Panther กับภาพ ‘ชนเผ่าใหม่’
คำว่า ชนเผ่า เช่นบ้านเราเองก็ยังมีการเล่นมุกที่เอาดาราตลกอย่า โจอี้ กาน่า มาเล่น ความเป็นชนเผ่าจึงถูกโยงกับอดีต เป็นตัวตนและวิถีชีวิตแบบที่พ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว ถ้ามองในมิติของวิวัฒนาการ การไปดูชนเผ่าก็เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปดูไดโนเสาร์ ชนเผ่าเป็นเรื่องของความไม่มีอารยธรรม ความรุนแรงและความยากจน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกวาดอย่างกลับหัวกลับหาง
ดินแดนวากานดา (Wakanda) – แน่นอนว่าเชื่อมโยงกับความเป็นแอฟริกัน กลับเป็นดินแดนที่ล้ำสมัย แถมยังเต็มทั้งความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม และความร่ำรวยที่เรียกว่าอยู่จุดสูงสุดในระบบทุนนิยมของจักรวาลมาร์เวล
ถ้าย้อนกลับไปในปี 1966 อันเป็นปีที่ The Black Panther ถูกปล่อยออกมาในฉบับคอมมิกส์ ในปีนั้น อเมริกาก็กำลังมีกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องผิวสีและชาติพันธุ์ ในช่วงกลางปี 70 นักเขียนการ์ตูนของมาร์เวลได้เลือกใช้ฮีโร่ผิวดำนี้ให้มีประเด็นทางการเมือง ในการสร้างกระแสต่อต้านกับกลุ่ม Klu Klux Klan ซึ่งก่อนหน้าที่จะปรับแนวเรื่องให้เข้มแข็งขึ้นนี้ The Black Panther เองก็มีปัญหาภายในว่า เรื่องนี้มีตัวเรื่องที่ไม่โอเคแถมขายไม่ค่อยได้
ผลสำคัญของการสร้างฮีโร่ผิวดำ ลองนึกภาพเรา – หรือกระทั่งเด็กๆ ที่ต่างได้รับรู้เรื่องราวของฮีโร่สุดเคร่งขรึม ผู้ต่อสู้เพื่อเผ่าพันธุ์และบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ภาพของคนผิวสีจึงทั้งเปลี่ยนแปลงไป และยังส่งผลทางความรู้สึกและตัวตนของเด็กๆ ที่จะรู้สึกดีกับความเป็นคนผิวดำและตัวตนของตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก