1.
“พวกเขาลงมือเหมือนเราไม่ใช่คน”
วันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1971 รัสเซลล์ ออสวอลด์ (Russell Oswald) ผู้บัญชาการเรือนจำนิวยอร์ก ได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง ลงนามโดย 5 นักโทษจากคุกแอตติกา (Attica) เนื้อหาในกระดาษ เป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปพัฒนาความเป็นอยู่ของคนคุกให้ดีขึ้น
ทั้ง 5 นักโทษที่ลงนาม ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 28 ข้อด้วยกัน โดยบอกว่าสภาพเรือนจำแอตติกานั้นย่ำแย่อย่างมาก ที่นั่นเต็มไปด้วยการเหยียดผิว นักโทษอยู่ในสภาพที่ลำบาก ทั้งที่บางคนก็ไม่ได้ติดคุกด้วยข้อหารุนแรงอะไรเลย
สำหรับเรือนจำแอตติกานี้ ตั้งอยู่ในดงพื้นที่เกษตรกรรม ย่านภูธรของรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
“คนที่นั่น ถ้าไม่เป็นเกษตรกร ก็มาทำงานเป็นผู้คุมนักโทษ”
สังคมที่คุกแห่งนี้ตั้งอยู่ มีแต่คนขาว และทำให้ผู้คุมในเรือนจำแห่งนี้ จำนวนกว่า 543 นาย เป็นคนผิวขาวทั้งหมด โดยพวกเขาต้องดูแลนักโทษจำนวนกว่า 2.2 พันราย ซึ่งกว่าครึ่งเป็นคนผิวดำ
ในช่วงเวลานั้นการเหยียดผิวยังมีให้เห็นในอเมริกา เหล่าผู้คุมที่เป็นคนชนบท ไม่ค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กับคนผิวสีอื่น นั่นทำให้พวกเขามีอคติต่อนักโทษผิวดำอย่างมาก
นอกจากนี้ความเป็นอยู่ในคุกก็ย่ำแย่ นักโทษ 1 รายจะได้ทิชชู่เพียง 1 ม้วนต่อเดือนสำหรับเข้าห้องน้ำ พวกเขามีสิทธิ์อาบน้ำแค่อาทิตย์ละครา หากจดหมายนักโทษคนไหน เขียนด้วยภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ จะถูกโยนทิ้ง
อีกทั้งการกดขี่ทางศาสนายังเกิดขึ้น เมื่อผู้คุมไม่ให้นักโทษที่เป็นมุสลิมประกอบพิธีละหมาด เพราะถือว่าไม่ใช่ศาสนาประจำเรือนจำแห่งนี้ ด้านนักโทษที่เจ็บป่วยก็จะได้รับการดูแลที่ย่ำแย่ อาหารความเป็นอยู่สุดเละเทะ
เหล่าผู้คุมไม่ยอมปรับปรุง เพราะพวกเขาเหยียดผิวดูถูกนักโทษ มองอีกฝ่ายเหมือนไม่ใช่คน ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความโหดเหี้ยม
นี่จึงทำให้เรือนจำแห่งนี้ เต็มไปด้วยคนคุกที่เกลียดชังผู้คุมอย่างมาก
สำหรับความย่ำแย่และตึงเครียดนี้ ดำรงอยู่ในคุกแอตติกาหลายปีแล้ว แต่เมื่อถึงยุค 70 สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะคนผิวดำต่างเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง สังคมจึงตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์มากเป็นพิเศษ
เหล่านักโทษก็ได้รับแรงบันดาลใจการเรียกร้องทางการเมืองจากโลกภายนอก พวกเขาจึงมีการรวมตัว และเรียกร้องไปยังผู้คุม วิงวอนขอความเมตตา เพื่อให้ได้รับสิทธิและปรับปรุงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่สิ่งที่คนคุกได้รับกลับมา ก็คือความเงียบเฉย แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ พยายามเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ยิ่งพูดบ่อยเข้า แทนที่เจ้าหน้าที่ผิวขาวจะรับฟัง แต่กลับทำให้คนเหล่านี้โมโหยิ่งกว่าเดิม และนำไปสู่การคัดเลือกเจ้าหน้าที่มา 4-5 คน จัดตั้งเป็นชุดไล่ล่านักโทษตัวแสบ
โดยพอถึงกลางดึก ทีมงานชุดนี้จะบุกเข้าห้องขัง ปลุกคนคุกที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ลากมากระทืบจนน่วม เอาไปขังเดี่ยวบ้าง สร้างความตกตะลึงหวาดกลัวให้กับนักโทษอย่างมาก
อย่างไรก็ดี แม้ทางการจะพยายามกดขี่บอกให้คนคุกปิดปากเงียบ และยอมรับความเป็นอยู่ในแอตติกาโดยราบคาบ แต่เพราะกระแสเรียกร้องชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมอเมริกันเกิดขึ้นแล้ว โลกภายนอกมีการชุมนุมมากมายเพื่อบอกย้ำว่าคนเท่ากันภายใต้กฎหมาย เหล่านักโทษจึงไม่ยอมแพ้ เพราะแม้พวกเขาจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเป็นคนที่กฎหมายต้องดูแล
เมื่อบอกกับผู้คุมไม่ได้ ตัวแทนนักโทษ 5 รายจึงร่าง 28 ข้อเสนอส่งไปให้ ผบ.เรือนจำพิจารณา ซึ่งทีแรก ตัวรัสเซลล์ก็เห็นด้วยที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในคุกให้ดีขึ้น ทั้งเพิ่มกระดาษทิชชู่ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา การให้นักโทษได้พบแพทย์ง่ายขึ้น อาหารการกิน ที่นอนความเป็นอยู่ก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดีผู้คุมในคุกแห่งนี้ ไม่ยอมรับเสียงแห่งการปฏิรูปจากนักโทษ พวกเขายังคงกดขี่และจัดการคนคุกให้ศิโรราบ
ความตึงเครียดดำเนินไปเรื่อยๆ และเมื่อเหล่านักโทษได้ยินเสียงกระซิบกระซาบมาว่า ข้อเสนอของพวกเขาทั้งหมด ถูกเพิกเฉย
ทุกอย่างก็ระเบิดเปรี้ยงกลายเป็นโศกนาฏกรรม
2 เดือนหลังการเรียกร้อง ในวันที่ 8 กันยายน ปี 1971 ผู้ต้องขังก็ลุกฮือก่อการจลาจลขึ้น เพียงเพราะความเหลืออดเดียว
“สิ่งที่พวกเขาทำกับพวกเรา ราวกับเห็นนักโทษเป็นเพียงทาสผิวดำเท่านั้น”
2.
ตอนบ่าย 3 โมงครึ่ง วันที่ 8 กันยายน ผู้คุมรับแจ้งเหตุผู้ต้องขังผิวดำ 2 คนทะเลาะกัน ตรงลานสนามหญ้าของคุก ถึงตรงนี้ ไม่มีใครแน่ใจว่ามันเป็นการวิวาทหรือการหยอกล้อระหว่างนักโทษด้วยกันแน่ แต่เจ้าหน้าที่ 3 รายถูกสั่งให้ลงมาคุมสถานการณ์ทันที
นักโทษผิวดำที่ทะเลาะวิวาทรายหนึ่ง วิ่งหายไปในฝูงทรชน ส่วนอีกคนโดนสั่งให้ไปขังเดี่ยว แต่เขากลับปฏิเสธพร้อมใช้มือกระแทกไปที่อกผู้คุมผิวขาว 2 ครั้งด้วยกัน
หลังจากนั้นนักโทษผิวขาวคนหนึ่งตรงเข้ามาห้ามผู้คุมไม่ให้ใช้กำลังทำร้ายนักโทษผิวดำ ทางผู้คุมตัดสินใจล่าถอย พร้อมสั่งให้นักโทษทั้งหมดกลับเข้าห้องขัง
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังกันมา แล้วสั่งให้นักโทษผิวดำที่ก่อเหตุทำร้ายผู้คุมไปขังเดี่ยว เขาโดนลากจากห้องขัง ขณะที่นักโทษผิวขาวยอมไปแต่โดยดี
เหตุการณ์ตรงนี้สร้างความไม่พอใจให้กับนักโทษอย่างมาก จึงมีการส่งเสียงโห่ร้องปาข้าวของใส่ผู้คุม นี่เท่ากับเป็นการเร่งเร้าสถานการณ์เดือดในแอตติกาให้รุ่มร้อนขึ้นไปอีก
ความตึงเครียดไม่ได้ถูกเพลา แต่เหมือนมีการสุมไฟไปให้ระอุยิ่งขึ้นกว่าเดิม
คืนนั้นมีข่าวลือปลิวมาว่านักโทษผิวดำที่โดนขังเดี่ยว ถูกชุดไล่ล่าของราชทัณฑ์ซ้อมจนตาย
นี่จึงเป็นจุดแตกหักให้นักโทษเลิกก้มหัวให้กับรัฐอีกต่อไป
เช้าอีกวัน เจ้าหน้าที่สั่งปิดประตูเรือนจำบางส่วน ทำให้นักโทษจำนวนมากต้องเดินผ่านอุโมงค์แคบๆ เพื่อออกไปยังสนามหญ้า ซึ่งเป็นจุดเดียว ที่คนคุกจะได้เห็นท้องฟ้าโปร่ง โดยไม่มีลูกกรงขวางกั้นแต่อย่างใด
สนามหญ้าแห่งนี้ จึงเป็นสิ่งที่นักโทษใฝ่หา ที่ย้ำเตือนให้พวกเขาเห็นว่าตัวเองก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนเช่นคนอื่นๆ
แต่เพราะความตึงเครียด การกดขี่ของผู้คุม ความเป็นอยู่สุดเน่าเฟะของนักโทษ ทุกอย่างผสมกันเข้า ในที่สุดการจลาจลก็เกิดขึ้น
พวกเขาพุ่งเข้าทำร้ายผู้คุม นักโทษปีกอื่นๆ เมื่อรับรู้ว่ามีการลุกฮือ ก็คว้าอุปกรณ์ทุกอย่าง งัดประตูห้องขัง ทำลายข้าวของ แล้วกรูกันลงไปที่สนามหญ้า
นักโทษยึดกุญแจของผู้คุมแล้วไขเปิดประตูในแอตติกา หลังจากนั้นทุกอย่างก็วายป่วง มีการรุมกระทืบเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง ทางการสั่งระดมกำลังเพื่อเข้าระงับสถานการณ์
อดีตคนคุกที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเล่าอย่างหวาดผวาว่า “ที่สนามหญ้าตรงนั้น พวกเราต้องหวาดผวาอาชญากรสุดอันตรายที่หลุดจากห้องขัง ขณะเดียวกัน ก็ต้องกลัวผู้คุม ที่อยู่บนหอคอย ซึ่งพยายามจะยุติการจลาจลนี้”
กินเวลาไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่คุกแอตติกาจำนวน 42 ราย ก็ถูกจับเป็นตัวประกัน เหล่านักโทษย้ายตัวประกันไปในห้องขัง และให้คนคุกที่เป็นมุสลิมซึ่งเรียกร้องการเคลื่อนไหวอย่างสันติ เป็นผู้ดูแลความปลอดภัย
ทั้งนี้มีผู้คุมรายหนึ่งถูกรุมตื้บ อาการสาหัส เหล่านักโทษช่วยกันนำตัวออกจากคุก ให้รถพยาบาลมารับตัวไป
วันที่ 9 กันยายน คนคุกแอตติกาครอบครองพื้นที่ทุกส่วนในคุกแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ทำการล่าถอย ด้านตัวประกันถูกสั่งให้เปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษแทน เพราะหวั่นเกรงว่าหากเกิดการบุกชิงตัวประกัน เจ้าหน้าที่จะได้แยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นใคร
เหตุการณ์นี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วอเมริกา ในวันที่ 10 กันยายน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทางการ ร่วมกันเจรจากับนักโทษ ข้อเรียกร้องถูกเพิ่มเป็น 30 ข้อ เพราะเหล่าตัวแทนนักโทษแอตติกา วิงวอนให้อภัยโทษความผิดฐานยึดคุกแห่งนี้
ช่างภาพข่าวถูกพาตัวไปถ่ายความเป็นอยู่ในคุก เพื่อเน้นย้ำว่าไม่มีอันตรายเกิดกับตัวประกันแต่อย่างใด และนักโทษทุกคนแค่ต้องการเรียกร้องความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นเท่านั้น
การเจรจาดำเนินไปด้วยดี ทางตัวแทนภาครัฐเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง
แต่แล้ว ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังหาทางออก ข่าวร้ายก็มาเยือนเมื่อผู้คุมที่ถูกพาตัวส่งโรงพยาบาล ได้เสียชีวิตลงแล้ว นั่นทำให้การเจรจาหยุดชะงักทันที และเหล่านักโทษก็รู้ในบัดดลเลยว่า
พวกเขามีสิทธิ์ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
วันที่ 11 กันยายน เจ้าหน้าที่รัฐระดมกำลังออหน้าคุก เหล่านักโทษรีบพาตัวประกันมาเดินให้ทางการเห็น พร้อมเอามีดจ่อที่คอหอย เพื่อขู่ไม่ให้มีการเข้ามาสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดีเพราะมีผู้คุมตายจากเหตุจลาจลนี้ นั่นทำให้ภาครัฐเลือกใช้กำปั้นเหล็กกำราบนักโทษ พลันที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กปฏิเสธให้ตัวแทนนักโทษแอตติกาเข้าพบ ทางผบ.รัสเซลล์ก็รับลูก ขอกำลังตำรวจรัฐ เจ้าหน้าที่ปราบจลาจล ตอนนี้พวกเขาไม่ได้หวังแค่จะยึดคุกคืนแล้ว แต่ต้องการจัดการนักโทษให้เด็ดขาด ฐานลุกฮือทวงศักดิ์ศรีความเป็นคน
แผนการถูกวางไว้อย่างรวดเร็ว และเพราะความเร่งรีบ มันจึงกลายเป็นหายนะในเวลาต่อมา
3.
เวลา 09.45 ของวันที่ 13 กันยายน เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ บินขึ้นไปเหนือสนามหญ้าของแอตติกา จากนั้นกระป๋องแก๊สน้ำตาก็ถูกโยนลงมาอย่างต่อเนื่อง
นักโทษทั้งหมดแตกฮืออลหม่าน ขณะที่เจ้าหน้าที่กว่า 500 ราย ทั้งตำรวจรัฐ อดีตผู้คุม กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งปืนยาว ลูกซอง ทะลวงเข้าประตูคุก และระดมยิงแก๊สน้ำตา พร้อมกระสุนจริง และกระสุนยางเป็นจำนวนมาก ด้านทีมซุ่มยิงก็เข้าประจำการหอคอย แล้วลั่นไกอย่างดุเดือด
กระสุนกว่า 400 นัดถูกรัวถล่มออกไป อดีตนักโทษที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเผยว่า ควันจากแก๊สน้ำตาตลบอบอวลไปทั่ว เจ้าหน้าที่ไม่มีทางเห็นเลยว่าเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า ดังนั้นพวกเขาจึงยิงไปอย่างมั่วซั่ว
“ผมแสบปอดและตาไปหมด หายใจไม่ออก มองอะไรก็ไม่เห็น แถมยังต้องหลบกระสุนที่บินว่อนนี้อีก”
เฮลิคอปเตอร์สั่งการให้เหล่านักโทษยอมแพ้ จะได้ไม่เจ็บตัว แต่แม้คนคุกจะศิโรราบแล้ว แต่กระสุนก็ยังซัดเข้าใส่พวกเขาต่อเนื่อง
กินเวลาเพียง 10 นาที การสลายชุมนุมก็ยุติ ผลของมันคือ มนุษย์ 39 คนถูกฆ่าด้วยกระสุนจริง แบ่งเป็นนักโทษ 29 ราย ตัวประกัน 10 นาย โดยมีผู้บาดเจ็บมโหฬารกว่า 89 ชีวิต
เมื่อยึดคุกแอตติกาสำเร็จ พวกเขาสั่งนักโทษทั้งหมด ถอดเสื้อผ้า แล้วให้คลานก้มหัว ผ่านโคลน พร้อมคำขู่ของเจ้าหน้าที่ว่า
“ถ้าเงยหน้าขึ้นมา พวกกูจะฆ่ามึง”
แกนนำนักโทษที่ร่วมเจรจาบางคนถูกยิงทิ้งอย่างอนาถ ขณะที่คนคุกจำนวนมากบาดเจ็บและต้องได้รับความอับอายในการคลานเข้าห้องขัง ผ่านจากกองโคลนไปแล้ว ก็ยังมีดงตีนของเจ้าหน้าที่ให้ต้องฝ่า พร้อมกับการโดนเตะกระทืบทำร้ายอย่างสนุกสนาน จากคนของรัฐ
การสลายชุมนุมครั้งนี้ เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก มันถูกเรียกว่าการลุกฮือที่แอตติกา โดยทางการได้ปล่อยรายงานเท็จว่า เหล่านักโทษเชือดคอหอยผู้คุมขณะบุกกระชับพื้นที่ เพื่อสร้างภาพว่าเหล่านักโทษที่ก่อเหตุเป็นอาชญากรสุดอันตราย เหมาะสมแล้วที่จะต้องใช้กระสุนจริงจัดการ
อย่างไรก็ดีรายงานการชันสูตรยืนยันว่าตัวประกันทั้ง 10 คน ไม่ได้ถูกมีดเชือดคอหอย
แต่พวกเขาตายเพราะโดนกระสุนจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น
4.
หลังเกิดเรื่อง ทางการพยายามปกปิดความจริง พวกเขาอ้างว่าจะดำเนินคดีกับนักโทษที่ก่อเหตุจลาจลนี้ แต่อีกด้านก็เป็นเพียงการขู่ไม่ให้เหยื่อในวันนั้นฟ้องกลับภาครัฐ
การบิดเบือนข้อเท็จจริงนี้ ยังรวมถึงการส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่ในคุกแอตติกาเข้าไปคุยกับครอบครัวผู้คุมที่ตายจากเหตุดังกล่าว เพื่อให้รับเงินชดเชยเพียงน้อยนิด โดยในสัญญารับเงินนั้น ย้ำว่าห้ามฟ้องร้องต่อภาครัฐอีกในอนาคต
อย่างไรก็ดีการล้อมปราบครั้งนี้ ไม่ทำให้ทุกฝ่ายเงียบได้ มันจึงนำไปสู่การสืบสวนของสื่อและภาคประชาสังคม จนพบว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่สูงขนาดนี้ เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้นที่ใช้กระสุนจริงในการล้อมฆ่า
เมื่อข้อมูลหลุดออกมาเรื่อยๆ ทุกคนก็รู้ว่าเหล่านักโทษแค่เรียกร้องความเป็นอยู่ในคุกให้ดีขึ้น ไม่ได้หวังฆ่าใคร แต่เป็นภาครัฐต่างหากที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายต่อพวกเขา
ยิ่งสืบสวนก็ยิ่งพบแต่ความอื้อฉาว ถึงตรงนี้เหยื่อผู้รับเคราะห์จากเหตุวันนั้น ได้เรียกร้องให้นำตัวผู้ก่อเหตุมาขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีฐานฆ่าคนตาย
แต่แล้วในปี 1976 หรือ 5 ปีหลังเหตุลุกฮือนี้ ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กได้สั่งยุติการดำเนินคดีกับนักโทษที่ก่อเหตุจลาจล ผลของมันนี้เอง ทำให้ต้องยุติการสอบสวนเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปสลายชุมนุมด้วย เป็นอันว่าคำสั่งนี้ กลายเป็นการนิรโทษกรรมอำพรางความผิดทุกอย่าง
อภินิหารของกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่คนเดียว ถูกดำเนินคดี
แต่เหล่านักโทษที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ไม่ขอยอมแพ้ พวกเขาต่างรวมตัวกันเป็นสมาคมเหยื่อเหตุแอตติกา เพื่อฟ้องร้องให้ภาครัฐเปิดเผยความจริง เมื่อได้รับการเพิกเฉย พวกเขาก็ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย
การต่อสู้ครั้งนี้กินเวลายาวนานเกือบ 29 ปี จนถึงปี 2000 ในที่สุดภาครัฐก็ยอมแพ้ ยอมจ่ายเงินชดเชยรวมกันกว่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่เหยื่อในเหตุการณ์นี้
แม้จะเป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่ครอบครัวของนักโทษ และผู้คุมที่ตายไปจากกระสุนจริงของรัฐ ต่างเรียกร้องคำขอโทษจากทางการ
แต่ไม่มีคำพูดนี้หลุดออกมาแต่อย่างใด
5.
เหตุการณ์ลุกฮือที่แอตติกา ทำให้สังคมตื่น ตาสว่าง นั่นจึงทำให้นักการเมืองเริ่มขยับ นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ในคุกให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี อเมริกายังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนักโทษต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก การเหยียดผิวในคุกยังมีอยู่ และความเป็นอยู่ของนักโทษก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการเรียกร้องยังไม่สิ้นสุด และยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับบาดแผลจากแอตติกา มันยังคงเป็นฝันร้ายของคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น นักโทษที่อยู่ตอนล้อมฆ่า เผยว่าพวกเขาดีใจที่รอดตายมาได้ แต่การมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนต้องจมกับความเศร้าสร้อย เจ็บปวดบอบช้ำ ทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งไม่มีวันชะล้างได้ ในชั่วชีวิตนี้
อดีตนักโทษคนหนึ่งรำลึกถึงการล้อมปราบที่แอตติกาว่า ตัวเขาเคยเห็นคนโดนยิงตายมาก่อน แต่ไม่ใช่แบบนี้ เพราะมีนักโทษบาดเจ็บ นอนทับกัน แล้วตะโกนร้องโอดโอย โดยไม่มีใครแม้แต่คนเดียว ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งสิ้น
“มนุษย์ประเภทไหนกัน ที่ทำกับพวกเราได้ถึงขนาดนี้”
อ้างอิงจาก
https://www.usatoday.com/in-depth/graphics/2021/09/08/attica-prison-riot-50-years-later/5509972001/
https://www.cbsnews.com/pictures/attica-prison-riot-50-years-later/25/
https://www.npr.org/2021/10/27/1049295683/attica-prison-documentary-stanley-nelson