เชื่อว่าแทบทุกท่านคงได้ทราบหรืออย่างน้อยก็ได้ยินข่าวดราม่าระหว่าง ‘ป้าเซ็กซ์ทอย’ ซึ่งกลายเป็นสมญานามในอินเทอร์เน็ตของคุณสาลินี ชุ่มวรรณ์ ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กับทาง Workpoint News มาบ้างนะครับ สำหรับท่านใดที่ไม่ทราบเรื่องมากนัก ผมสรุปให้ฟังแบบสั้นๆ แล้วกันว่า ทางเวิร์คพอยท์ ไปสัมภาษณ์คุณสาลินี (และอีกหลายคน) เรื่องการเปิดให้เซ็กซ์ทอยถูกกฎหมายในไทยนั้นควรหรือไม่, เพราะอะไร? คุณสาลินีตอบมา โดยรวมๆ ก็คือไม่เห็นด้วยนั่นแหละครับ แล้วทางเวิร์คพอยท์ก็ทำกราฟิกโคว้ตจากคำสัมภาษณ์นั้น กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว (คือ ด่าคุณสาลินีไปทั่ว)
แต่สุดท้ายพล็อตดูเหมือนจะพลิกล็อกเมื่อเวิร์คพอยท์ออกมาแถลงการขอโทษว่าข้อความที่นำมาทำอินโฟกราฟิกนั้นไม่ได้ตรงกับคำพูดเป๊ะๆ[1]ของคุณสาลินี แน่นอนว่าทำให้หลายฝั่งกลับลำมาด่าเวิร์คพอยท์และถามหาความรับผิดชอบในฐานะสื่อของสำนักข่าวนี้ไปแทนจนกระทั่งตอนนี้
ผมเป็นคนหนึ่งที่ตามเรื่องนี้อยู่แบบห่างๆ คือ ตามเท่าที่มีการโพสต์การแชร์ในโลกออนไลน์นี่แหละครับ ฉะนั้นในเมื่อผม ‘ห่าง’ ผมก็ไม่ทราบหรอกว่าอะไรคือเหตุผลกลการสำคัญที่ทำให้เวิร์คพอยท์ต้องออกมาขอโทษขอโพยแบบที่ทำอยู่ แต่ผมขอพูดถึงจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้แบบชัดๆ ก่อนที่จะไปคุยถึงเหตุผลกันนะครับ (ซึ่งน่าจะเป็นการว่าเพื่อนผมเองไปสักเกือบครึ่งเฟรนด์ลิสต์ในเฟซบุ๊กได้) ว่า ผมไม่เห็นว่าเวิร์คพอยท์นั้นต้องออกมาขอโทษขอโพยอะไรเลย สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้ผิด (หรือหากจะผิดก็น้อยมาก) แต่หากจะมีใครที่ควรจะออกมาขอโทษนั้น ก็ควรจะเป็นข้าราชการอย่างคุณสาลินีที่เงินเดือนมาจากภาษีประชาชนอย่างเราๆ แต่กลับมีความคิด (หากเรียกว่า ‘มีความคิดได้’) ที่บั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ต่ำเตี้ยอย่างคงที่ต่อไปได้ นี่มากกว่ากระมังที่เป็นความรับผิดชอบต่ออำนาจหน้าที่ (accountability) ที่ควรถามหากัน โดยเฉพาะหากต้องชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบระหว่างสื่อกับข้าราชการระดับสูงในระบบที่ใช้อำนาจและวิธีคิดแบบของเธอจองจำความเป็นคนของพวกเราไว้
ผมไม่แน่ใจว่าคนที่กลับลำมาด่าเวิร์คพอยท์แทน หรือคนที่วางตัวดูสูงส่งว่า “ดีนะฉันไม่พลาดท่าไปด่าป้าเค้าก่อน บลาๆๆ” นั้นได้อ่านบทสัมภาษณ์ตัวเต็มหรือไม่? ถ้าไม่ได้อ่าน แต่เห็นเวิร์คพอยท์ออกมาขอโทษ ก็กลับลำทันทีนั้น ผมก็คิดว่าพวกท่านเลือกข้างหรือน้ำหนักของความรับผิดชอบผิดต่ออำนาจหน้าที่ผิดไปแล้วกระมัง ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมจะคิดว่าสื่อควรจะไร้ความรับผิดชอบนะครับ สื่อมันก็ต้องมีนั่นแหละครับความรับผิดชอบน่ะ แต่คำถามคือผิดจริงไหมถึงต้องรับผิดชอบ, ด้วยความผิดที่เท่าๆ กัน (สมมติ) ระหว่างข้าราชการที่กุมอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการและมาจากภาษีของเรา กับสื่อสารมวลชน ใครควรต้องมี accountability มากกว่ากัน หรือเราควรต้องเรียกร้องจากใครมากกว่ากัน?
ท้ายที่สุดสมมติว่าผิดทั้งคู่จริง ในกรณีที่ทางหนึ่งแสดงความรับผิดต่อการกระทำที่ผิดพลาดของตนไปบ้างแล้ว กับอีกฝั่งหนึ่งที่ยังคงไม่ทำอะไรเลย (ข้าราชการประเทศนี้ดูจะสอนกันมาดีครับ แบบ รมต. ต่างประเทศเราที่บอกให้ไปถามสปิริตกับนักกีฬานั้น ก็ดูเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดี) …ผมคิดว่านี่คือปัจจัยที่ต้องคิดพิจารณาด้วยกับการกลับลำกลับท่าที ผมคิดว่าพวกท่านสะเพร่าที่กลับลำโดยไม่อ่าน หรืออาจทำโดยไม่คิดให้ทั่วถ้วนนัก
แต่หนักยิ่งกว่า หากได้อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มแล้วยังไปโจมตีด่าเวิร์คพอยท์อีกในกรณีนี้ ผมบอกได้อย่างมั่นใจเลยครับว่าข้อความในกราฟิกนั้น หากได้อ่านเทียบกับคำสัมภาษณ์เต็มๆ แล้ว หากจะมีอะไรที่ผิดพลาดได้ ก็คือกรณีที่ทางเวิร์คพอยท์อาจผิดพลาดใส่ ‘เครื่องหมายคำพูด’ ในตัวกราฟิกนั้น นอกเหนือจากเครื่องหมายคำพูดที่ผมไม่แน่ใจนักว่าได้ใส่มั้ยแล้ว ไม่มีอะไรที่ผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะในทางปฏิบัติแล้วการใส่เครื่องหมายคำพูดในทางวิชาการมักจะถือว่าเป็นการคัดลอกคำพูด/เขียนของบุคคลที่อ้างถึงมาแบบโดยตรง ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย (หรือหากมีการเน้นคำเพิ่ม ก็ต้องระบุว่าเน้นโดยเราเอง เป็นต้น) นอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมมองไม่เห็นจุดที่ผิดอะไรของเวิร์คพอยท์อีก ลองมาดูเนื้อความเต็มๆ กันครับ
ทางเวิร์คพอยท์เริ่มเปิดประเด็นมาว่าอย่างนี้ครับ
“Sex Toy อุปกรณ์ใช้ในการผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อให้มีความรู้สึกคล้ายกับขณะร่วมเพศ หรือใช้ในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ จะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามวิธีการใช้งาน เช่น ไวเบรเตอร์ (Vibrator) ดิลโด (Dildo) และตุ๊กตายาง (Sex Doll) ฯลฯ
ปัจจุบัน Sex Toy ในประเทศไทยยังเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย เข้าข่ายลามก อนาจาร เป็นอันตรายต่อสังคมและศีลธรรม
โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรมศุลกากรห้ามนำ Sex Toy เข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพราะเป็นวัตถุหรือสื่อลามก”[2]
และนี่คือคำตอบเต็มๆ ของคุณสาลินีครับ
“วัฒนธรรมไทยยังเป็นเรื่องสงวน ยังต้องปกปิดการที่จะมีอารมณ์ทางเพศ ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็สามารถยับยั้งชั่งใจได้ไม่หมกมุ่นโดยการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นการนั่งสมาธิ เล่นกีฬา ฯลฯ
แต่การออกกฎหมายมานั้นเพื่อควบคุมกลุ่มน้อยที่อาจจะสร้างความยุ่งยากในสังคม ยังมีคนส่วนมากที่เห็นด้วยว่า Sex Toy ผิดกฎหมายก็เหมือนกับการห้ามสูบหรี่ในบางที่ เขาถึงได้ออกกฎหมายตัวนี้ออกมา คงเอาเรื่องวัฒนธรรมมาจับอย่างเดียวไม่ได้
ดังนั้นถ้าอยากให้ถูกกฎหมายในเรื่อง Sex Toy ประเทศไทยต้องมีงานวิจัยมารองรับก่อนว่ามีผลดีอย่างไร ไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบที่จะตามมา หากถามว่าก็มีงานวิจัยจำนวนมากทั่วโลกทำไมถึงไม่เอามาใช้ เราต้องยึดหลักบริบททางสังคมของประเทศไทย เพราะบริบททางสังคมของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน[3]
(ผมเป็นคนเน้นข้อความเองทั้งส่วนตัวหนา และตัวเอนครับ)
เราจะเห็นได้ว่าเนื้อความดั้งเดิม ไม่ได้มีอะไรที่ผิดไปเลย เนื้อความในกราฟิกรอบแรกนั้นคือส่วนที่เป็นตัวหน้า เพียงแค่ทางเวิร์คพอยท์ ‘สรุป’ เอาข้อความว่า “วัฒนธรรมไทยยังเป็นเรื่องสงวน … ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ” นั้น ให้กลายเป็น “บริบทของสังคมไทยไม่ควรมี Sex toy” แทนไป เพราะมันต่อเนื่องมาจากตัวคำถามของทางเวิร์คพอยท์เองอยู่แล้วว่ากำลังพูดเรื่อง Sex toy อยู่ ผมถึงได้บอกว่าหากท่านได้อ่านเนื้อหาที่สัมภาษณ์จริงๆ แล้ว ความผิดเดียวเลยที่เวิร์คพอยท์มีก็แค่การใส่เครื่องหมายคำพูด! แต่เนื้อหาไม่ได้ผิดเลยแม้แต่น้อย และวิธีการอ้างแบบนี้ก็เป็นวิธีการอ้างแบบอิงบริบท (Contextual referencing) ที่สรุปเนื้อหาหรือไอเดียออกมา แล้วนำมาใช้อ้างอิง ซึ่งก็ทำกันทั่วไปนั่นแหละครับ แม้แต่กับเพื่อนผมหลายๆ คนที่หันมาด่าเวิร์คพอยท์เอง ‘ก็ทำเป็นปกติชีวิตเช่นกัน’
เพราะฉะนั้น ผมถึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลกที่เวิร์คพอยท์ต้องออกมาขอโทษขอโพยทั้งที่แทบไม่ได้ผิดอะไร และความผิดของการเป็นข้าราชการที่กินเงินเดือนแต่กลับมีความคิดที่กักขังความเป็นคน และไม่เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมให้เท่าทันโลกนั้นก็ยังดูจะอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ มันจึงดูน่าทุเรศมากขึ้นไปอีก ดังที่ผมเกริ่นแต่แรก กับการที่คนแห่กันออกมาเรียกร้อง accountability จากเวิร์คพอยท์มากกว่าข้าราชการหญิงระดับสูงนางนี้
มากไปกว่านั้น จะเห็นได้ว่าข้อความที่ปรับเปลี่ยนแก้ไขหลังออกมาขอโทษแล้วนั้น ทางเวิร์คพอยท์ก็ไม่ได้กลับไปอ้างคำพูดเต็มๆ ในส่วนเดิม ที่เน้นเป็นตัวหนาไว้ แต่กลับไปยกคำพูดในส่วนตัวเอนขึ้นมาแทน ซึ่งอาจจะฟังดูซอฟท์กว่าสักนิด แต่เอาเข้าจริงแล้วมีปัญหาไม่ด้อยกว่ากันเลย จนน่าสงสัยว่าทางเวิร์คพอยท์ทำไมจึงเลือกเปลี่ยนข้อความเช่นนี้
(หากจะเรียกร้องหรือถามอะไรเวิร์คพอยท์ ก็ควรถามเรื่องนี้ครับ เช่น พยายามกลบเกลื่อนไว้หน้าข้าราชการกินเงินเดือนระดับสูงจากภาษีประชาชนแต่กลับไร้หัวคิดเช่นนี้หรือเปล่า?)
ทำไมผมถึงบอกว่าข้อความใหม่ (ส่วนตัวเอนที่ยกมา) ก็มีปัญหาในตัวเองไม่แพ้กัน นั่นก็เพราะ
(1) มีงานวิจัยออกมามากมายแล้วจริงๆ ดังที่คุณสาลินีเธอพยายามอ้าง ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นได้ชัดว่าข้าราชการระดับสูงของไทยนั้น ไม่ได้พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตัวเองเลย การวิจัยในหัวข้อนี้เพียงกดเข้า Google Scholar หรือ Academia.edu ก็จะพบงานวิจัยและบทความวิชาการ รวมถึงหนังสือที่เขียนถึงเรื่องนี้มากมายแล้ว (ล่าสุดที่ผมลองกดใน Academia.edu ผมพบผลลัพธ์ที่ 37,413 บทความ) หรือถ้าจะให้แนะนำตรงนี้เลยก็ได้นะครับ มีงานที่ดีมากๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอย่าง The Technology of Orgasm เขียนโดย Rachel P Maines และมีฉบับแปลภาษาไทยแล้ว (แปลดีมากด้วยครับ) ชื่อว่า ‘เทคโนโยนี:ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์, ฮิสทีเรีย และออกัสซั่มของผู้หญิง’ โดยสำนักพิมพ์พารากราฟ (เดี๋ยวผมจะแปะลิงก์แหล่งสั่งซื้อให้ท่านด้วยเลยนะครับในส่วนอ้างอิงเผื่อหามาอ่าน)[4]
งานชิ้นดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการใช้ศีลธรรมแบบศาสนา (หรือในกรณีแบบที่เกิดขึ้นก็คือ คุณค่าวัฒนธรรมอันดีงามสูงค่าแบบไทยๆ นี่แหละครับ) มากีดกันข้อเท็จจริงว่ามนุษย์มีความต้องการทางเพศ ทั้งชายและหญิง ในยุคแรกผู้หญิงที่มีอารมณ์ทางเพศก็ได้รับการเสนอแบบคุณสาลินีว่ามานี่แหละครับ ว่าให้เข้าโบสถ์ให้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอะไรไป แต่ความหงี่ความคัน มันไม่ได้เสกให้หายกันได้โว้ย ก็ทำให้คนที่สุดจะกลั้นความคันได้นั้นถูกมองเป็นตัวประหลาดไป จนสุดท้ายก็ค่อยๆ พัฒนามีไวเบรเตอร์มาช่วยพวกเธอ (ซึ่งประวัติศาสตร์มันยาวมาก ผมเล่าได้ไม่หมดตรงนี้หรอกครับ) ปัญหามันจึงได้ทุเลาลง…นี่แหละครับที่เขาเรียกว่างานวิจัย
(2) วิธีการอธิบายของเธอนั้นใช้มาตรฐานของความดีเป็นพื้นฐาน ซึ่งแน่นอนว่าก็เป็นปัญหาเดิมๆ ที่ว่าไม่มีใครควรมีสิทธิเป็นศูนย์รวมในการตัดสินความดีอย่างรวมศูนย์ หากว่ากันอย่างถูกต้อง ด้วยมาตรฐานของระบบคิดของรัฐสมัยใหม่ เราไม่ได้ต้องการ ‘ความดี’ ในการอยู่ร่วมกันด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ใช่รัฐศาสนาที่ต้องปกครองโดย Religion ethics แต่ข้อกำหนดทางกฎหมายนั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำในการที่จะ ‘ไม่เลว/ไม่เหี้ย’ ตามมาตรฐานของสังคมนั้นๆ ว่าง่ายๆ คือ รัฐสมัยใหม่ไม่ได้ขอให้เราเป็นคนดี แต่ขอให้เราไม่เหี้ย เพราะถ้าเหี้ยอาจจะไปละเมิดสิทธิคนอื่น ระเบียบร่วมของชุมชน หรืออื่นๆ ได้ ฉะนั้นแค่ไม่เลว ไม่ชั่วก็พอแล้ว เป็นคนธรรมดาๆ ก็ได้ ไม่ต้องคนดีอะไร
กระนั้นการใช้มาตรฐานความดี ซึ่งไม่รู้ใครให้สิทธิเธอในการตีความนั้น มาเป็นไม้บรรทัดกำหนดเกณฑ์ในการเข้าถึงหรือไม่เข้าถึง ทำอะไรได้หรือไม่ได้กับร่างกายของเราเอง และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย จึงเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังอย่างมาก และในฐานะข้าราชการที่ต้องมีฐานะเป็นผู้รับใช้ประชาชนแล้ว อาจเรียกได้ด้วยว่าเป็นวิธีการคิดที่เข้าข่ายสามานย์ได้ทีเดียว เพราะวิธีการคิดแบบคุณสาลินีนี้คือวิธีการเดียวกันกับที่สตรียุคกลางโดนกดขี่ไว้ ให้ถ่ายโอนความคันของพวกเธอไปหาพระผู้เป็นเจ้า และใครคันจนไม่อาจอดกลั้นด้วยตัวเองได้ ก็ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสังคมไป หากใช้มาตรฐานความดีแบบคุณสาลินีเป็นมาตรวัด เพราะการคันเกินไปมัน “ขัดกับวัฒนธรรมอันดีของประเทศนี้” วิธีคิดของคุณจึงไม่เพียงกดทับคนหงี่ แต่มันยังไปบี้คนที่คันเกินทนให้เป็นเหยื่อทางสังคมเพิ่มขึ้นไปด้วย
(3) การอ้างแบบที่ว่านอกจากจะเป็นการไม่ยอมรับความจริงว่าประเทศของเรานั้นบ้าเซ็กซ์และเป็นแหล่งรวมอบายมุกระดับตัวท็อปของโลกแล้ว การใช้วิธีคิดว่าต้องรอให้ sex toy มันเหมาะสมสัมพันธ์กับวัฒนธรรมก่อนค่อยว่ากันอย่างนี้ มันเหมือนกับการบอกว่า การเมืองไทยยังไม่ควรมีเสรีภาพ ไม่ควรมีประชาธิปไตย เราชิงสุกก่อนห่ามนั่นแหละครับ เพราะบอกตรงๆ เลยว่าแทบไม่มีที่ไหนหรอกที่เกิดมาแล้วพร้อมจะเป็นประชาธิปไตยเลย เช่นเดียวกันกับเซ็กซ์ทอย ไม่มีวัฒนธรรมประเทศไหนในโลกหรอกครับ โดยเฉพาะหลังจากมีการได้รับอิทธิพลแบบวิคตอเรียนมาแล้วในยุคล่าอาณานิคม (ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งหมดไม่ว่าจะโดนยึดเป็นเมืองขึ้นหรือไม่ก็ตาม) ที่มีวัฒนธรรมที่พร้อมรับสัมพันธ์กับการมีอยู่ของเซ็กซ์ทอยเลย แต่วัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ครับ มันปรับเปลี่ยนได้ และปรับเปลี่ยนเพื่อให้สนองต่อวิธีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคน
การแช่แข็งวัฒนธรรมเพื่อหวังให้มาแช่แข็งความเป็นอยู่ของคนในสังคมรวมถึงสิทธิที่จะทำอะไรต่อร่างกายตัวเอง ด้วยข้ออ้างสั่วๆ แบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่นับได้ว่าน่าสิ้นหวังมากจริงๆ และสมควรจะถูกเรียกร้องหาความรับผิดชอบ หรือความเหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่ได้แล้ว …คนที่มีความคิดแบบนี้ เราควรจะปกป้องจากการโดนวิจารณ์จริงๆ หรือครับ โดยเฉพาะเป็นบุคคลในตำแหน่งหน้าที่ที่รับเงินเดือนจากประชาชนโดยตรง และยังทำหน้าที่ควบคุมสังคมอีก? ผมเห็นว่าข้าราชการในตำแหน่งแบบนี้ หรือสถาบันทางการเมืองแบบนี้ต่างหากมิใช่หรือที่ควรจะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากที่สุด
(4) ตรรกะ วิธีคิด ข้อเสนอของคุณมันมีปัญหาในทุกองค์ประกอบครับ ถ้าการออกกำลังกายมันแก้ปัญหาแก้ความคันได้ ป่านนี้นักกีฬาทุกคน นักบอลทุกราย นักบาสทุกท่าน ฯลฯ คงถือครองพรหมจรรย์กันหมดแล้วครับ คุณควรจะเอาวิธีคิดแบบสุขศึกษาสมัยศตวรรษที่แล้วออกจากสมองไป แล้วก้าวเดินออกจากมาให้ทันความเป็นจริงบ้างเถอะ กีฬาอาจช่วยสร้างความสนุกสนาน ทำให้สุขภาพแข็งแรง สอนเรื่องมิตรภาพ กฎกติการ การยอมรับซึ่งกันและกัน กระทั่งเบี่ยงเบนความคันชั่วขณะ แต่มันไม่ได้ทำให้หายไปครับท่าน หากจะมีอะไรขึ้นมาบ้าง ร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์นั้นแหละคือ มวลรวมของความคันเลย โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ด้วยแล้ว
(5) แม้แต่เรื่องการนั่งสมาธิของคุณสาลินีเอง ก็ไม่ได้การันตีการถึงพร้อมด้วยความดีงามในแบบที่คุณสาลินีเชื่อได้เสมอไป และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการลดระดับความหงี่ได้ทุกครั้ง ตรงกันข้าม ในบางกระแสความคิด การนั่งสมาธิถูกใช้ในฐานะกุศโลบายหรือเครื่องมือในการกระตุ้นพลังทางเพศหรือว่าง่ายๆ ก็คือทำให้คันหนักขึ้นนั่นเองครับ อย่างลัทธิตันตระเอง ก็ใช้การนั่งสมาธิในฐานะเครื่องมือในการเพิ่มกำลังทางเพศครับ ถึงขนาดมีคำที่เรียกกันว่า Tantric Sex ในฐานะศาสตร์เพื่อพัฒนาชีวิตรักหรือศักยภาพบนเตียงเลยทีเดียว (โอเค ไม่จำเป็นต้องเตียงเสมอไปอะนะ) ผมถึงได้บอกว่าวิธีคิดแบบของคุณมันจำกัดจำเขี่ย ระดับความคิดก็ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพเสียเหลือเกินครับ
ทุกวันนี้เรายังโดนละเมิดสิทธิทางกฎหมายกันไม่พออีกหรือครับ จึงต้องถึงกับต้องขยันมาล้วงลึกละเมิดสิทธิเหนือเครื่องเพศและความสุขส่วนตัวกันปานนี้?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู goo.gl/t4C13r
[2] โปรดดู workpointnews.com
[3] เพิ่งอ้าง
[4] สั่งซื้อได้ที่ readery.co หรือช่องทางออนไลน์ และร้านหนังสือชั้นนำอื่นๆ
Illustration by Kodchakorn Thammachart