ผมคิดว่าเวลามีโครงการทางการทหารหรืองบแปลกๆ ต่างๆ ออกมา ที่รัฐบาลไม่ใคร่อยากจะให้ใครไปขุดค้น ตามรอย หรือ ‘รู้เรื่อง’ ด้วยมากนัก เรามักจะได้ยินคำพูดประมาณว่า “อย่ามายุ่ง นี่คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ เปิดเผยไม่ได้ ตอบไม่ได้” เพื่อปัดตกข้อซักถามต่างๆ ซึ่งมันก็เป็นการขัดกติกาของระบอบประชาธิปไตยหลายอย่าง โดยเฉพาะในเครื่องความความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบอันมากับอำนาจหน้าที่ (Accountability) และเสรีภาพในข้อมูล (Freedom of Information) ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา คือ เรื่องของรัฐนั้นมันเท่ากับ ‘เกี่ยวกับเรา’ โดยตรงไปโดยปริยายอยู่แล้วอะนะครับ
แต่รอบนี้ผมไม่ได้จะมาเขียนว่า “เฮ้ยยยย การจะมาปกปิดข้อมูลแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องปะวะ!” หรือการมาบอกทหารทำแบบนี้ผิด การอ้างเรื่องงบลับ เรื่องลับกับความมั่นคง มันไม่เวิร์คยังไง หรือเราควรจะผลักดันเสรีภาพหรือสนับสนุนสิทธิและความเป็นคนของประชาชนก่อนเรื่องอื่นๆ สิอะไรเทือกนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เขียนไป พิมพ์ไปซ้ำๆ จนนิ้วจะซ้นทั้งสิบนิ้วอยู่แล้ว แต่ที่รอบนี้อยากเขียนถึงคือเรื่องของพื้นฐานในด้านวิธีคิดที่ไปลึกกว่านั้นบ้าง คือ ข้อถกเถียงที่เป็นรากฐานของรัฐสมัยใหม่ของ Thomas Hobbes และ John Locke ครับ โดยทั้งคู่นั้นมักจะถูกมองว่าเป็น ‘คู่ตรงข้าม’ กันในเชิงความคิด แต่ผมว่าในหลายจุดทีเดียว หากเรามองในระยะที่ห่างออกมาหน่อยแล้ว เราจะพบความเหมือนของทั้งสองคนนี้ ที่สุดท้ายแล้วมันทำให้พลังของ ความมั่นคงดูจะมีอำนาจเหนือกว่าเสรีภาพเสมอๆ ในอรรถาธิบายของรัฐสมัยใหม่ แม้แต่ในกรณีของ Locke ที่ดูจะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบิดาคนสำคัญของแนวคิดเสรีนิยมก็ตาม
ก่อนที่จะเริ่มคุยกันถึงพื้นฐานในการเป็น ‘รัฐสมัยใหม่’ ของตัวพ่อทั้งสองคนนี้ มันค่อนข้างจะจำเป็นมากที่จะต้องอธิบายถึงสภาวะของรัฐก่อนสมัยใหม่เสียก่อน เพราะมันเป็นที่มาที่นำมาสู่แนวคิดหรือข้อเสนออันเป็นรากฐานของสิ่งที่เรียกว่ารัฐสมัยใหม่น่ะครับ แม้ว่า Hobbes จะถูกมองเป็นเจ้าพ่อสายดาร์ก ในขณะที่ Locke ออกจะถูกมองว่าเป็นด้านสว่างจากแทบทุกฝ่ายนั้น สิ่งหนึ่งที่พวกเขาสองคนดูจะแชร์กันคือ การมองว่าสภาพแรกเริ่ม หรือสภาวะธรรมชาติ (State of Nature) ของมนุษย์นั้น คือ สภาวะที่ไร้รัฐ (stateless) เหมือนกันทั้งคู่ แต่ Locke ก็ตามประสาสายสว่างนั่นแหละครับ เค้าวาดภาพของสภาวะธรรมชาติที่ว่านี้น่ากลัวน้อยกว่า Hobbes พอสมควร อย่างไรก็ดี แม้จะดีกว่า Hobbes แต่ก็ไม่ได้แปลว่าดีอะไรนัก ฉะนั้นการมีรัฐสมัยใหม่ขึ้นมาจึงยังสำคัญอยู่นั่นเอง
สภาวะธรรมชาติของ Hobbes นั้นลุงแกมองว่ามันคือสภาพที่ทุกคนเสมอภาคกัน ในคนละเซนส์กับความเสมอภาค หรือ Equality ที่พูดๆ กันตอนนี้ แต่มันคือ ความเสมอกันทางความเสี่ยงและไร้ซึ่งความปลอดภัยมั่นคงในชีวิต เพราะในสภาวะธรรมชาตินั้น ใครก็ตามล้วนมีสิทธิทำร้ายกันและกันได้อย่างเท่าๆ กันหมด เป็นสภาวะที่ Hobbes เรียกว่า War of all against all หรือที่เขียนเป็นภาษาละตินให้ดูแรดๆ ศักดิ์สิทธิ์ๆ ว่า Bellum omnium contras omnes (ใครต้องทำข้อสอบวิชาสังคมส่งคุณครู ก็ลองเขียนใส่เข้าไปดูนะครับ เผื่อได้คะแนนเพิ่ม) มันคือสภาวะอย่างที่ว่ามานั่นแหละครับ คือ ทุกคนล้วนมีโอกาสฆ่ากันตายได้หมด ทุกคนจึงเสมอภาคกันด้วยความเสี่ยงนั่นเองครับ ด้วยจุดยืนที่ว่านี้เอง Hobbes นั้นมองว่าโดยพื้นฐานนั้นชีวิตของมนุษย์ในสภาวะดังกล่าวนี้มันแสนจะโดดเดี่ยว (Solitary), ยากจน (Poor), โสโครก (Nasty), โหดร้าย (Brutish) และแสนสั้น (Short)
โลกที่แสนดำทะมึนของความเสมอภาคของ Hobbes นี่เองที่ทำให้เค้าถูกมองว่าเป็นเจ้าพ่อสายดาร์กของโลกรัฐศาสตร์ แม้จะฟังดูโหดร้าย โลกมืดมาก แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าข้อสังเกตของโลกแบบดิสโทเปียของ Hobbes เป็นอะไรที่ผิดนักนะครับ เพราะแม้เราจะอยู่ในโลกในสังคมที่มีรัฐแล้ว มีกฎหมาย มีขื่อมีแปแล้ว เราก็ยังต้องลงกลอนล็อคประตูอยู่ ยังต้องการรั้วรอบบ้านอยู่ ยังต้องการพาสเวิร์ดในการเข้ารหัสข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของเรากันอยู่ นั่นเพราะเราเองก็มองแบบที่ Hobbes ว่ามานี่แหละครับว่า โดยพื้นฐานแล้วคนมันเหี้ย มันไว้ใจไม่ได้ ถ้าเราไม่ป้องกันตัวเองจากสันดานเหี้ยๆ อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์นั้น เราก็คงไม่รอดเป็นแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องลองนึกไปถึงสภาพของ State of Nature หรือสภาวะธรรมชาติที่ไร้ขื่อไรแปด้วย ยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก…นี่แหละครับ เป็นที่มาสู่ข้อเสนอของ Hobbes อันเป็นรากฐานของรัฐสมัยใหม่ต่อไปครับ
ข้อเสนอของ Hobbes ในหนังสือเรื่อง Leviathan นั้น เป็นชื่อของสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเลที่ดึงเอาชื่อและตำนานของมันมาจากไบเบิลฮิบบรูใน Book of Job เอาง่ายๆ ก็คือ มันเป็นสัตว์ประหลาดที่แข็งแกร่งมากๆ นั่นแหละครับ แล้วไอ้สัตว์ประหลาดทรงพลังนี้มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราวของเรา?
มันเกี่ยวตรงๆ เลยครับ ก็คือ ในสภาพของ War of all against all ที่ทุกคนเสมอภาคในความเสี่ยงและพร้อมจะฆ่ากันเองของ Hobbes นี้ เพราะว่ามันไม่มีอำนาจสูงสุดบางอย่างที่เหนือกว่าคนโดยทั่วไปชนิดที่ไม่ต้องคิดเรื่องจะไปสู้ไปตบกับมันหรือท้าทายอะไรได้เลยขึ้นมา (Ruler beyond challenged) เพื่อที่อำนาจสูงสุดที่ว่านี้เองจะได้สามารถสยบและควบคุมความยุ่งเหยิงของ War of all against all ให้ยุติลงได้ ฉะนั้นข้อเสนอของ Hobbes จึงวางรากฐานอยู่ที่ Political and Philosophical Absolutism หรือแนวคิดสัมบูรณ์นิยมทางการเมืองและปรัชญา ที่เชื่อในอำนาจสัมบูรณ์สูงสุด หรือ Leviathan ที่จะยุติสภาวะของความเสี่ยงที่มีในชีวิตอันมาจากสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ให้จบลงได้
จากจุดนี้เองในมุมมองของ Hobbes แล้วจุดกำเนิดหรือรากฐานของรัฐบาลสมัยใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือความโปร่งใสที่แสนงดงามอะไร แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิตแทบจะล้วนๆ คือ รัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ทำให้เราหลุดออกจากสภาพของความเสี่ยงตายตลอดเวลาได้ และหากพูดกันแบบสุดทางสุดๆ แล้ว Hobbes อาจจะมองเสรีภาพต่างๆ อย่างเป็นภัยเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาได้วาดภาพของเสรีภาพไปอย่างสุดทางหรือ Radical มากๆ เป็นเสรีภาพที่ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์พื้นฐานใดๆ อย่างเสรีภาพอันนำไปสู่การฆ่าแกงกันเองโดยใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้นั่นเอง ฉะนั้นรัฐที่ทรงพลังอำนาจอย่างที่ไม่มีใครจะไปขัดแย้งด้วยได้จึงจำเป็นในมุมมองของ Hobbes
ในขณะที่โลกของ State of Nature ในมุมมองของ Locke นั้น แม้จะไร้รัฐ ( บาล) คือๆ กัน แต่ ‘สว่าง’ กว่าฝั่งของ Hobbes เยอะทีเดียวครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งความคล้ายคลึงกัน มีหลายมุมทีเดียวที่ลุงสองคนนี้มีมุมมองร่วมกัน แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอที่ทั้งสองคนมองในฐานะทางแก้นั้น กลับต่างกันออกไปไม่น้อย ในสภาวะธรรมชาติของ Locke เองนั้น ก็เป็นสภาวะที่เท่าเทียมกันในทางความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับ Hobbes เพราะทุกคนมีอำนาจในการทำร้ายกันอย่างเท่าๆ กัน มิหนำซ้ำ Locke เองก็ยังมองสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ที่เป็น Perfect Freedom หรืออิสรภาพอันสมบูรณ์ของมนุษย์ด้วย เพราะไม่มีใครห้ามอะไรใครได้ หรือก็คือ เป็นสังคมที่ไร้อำนาจสูงสุด หรือ State of Non-subjection นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญของ Hobbes กับ Locke ในมุมมองก่อนการเกิดของรัฐก็คือ Locke มองว่าแม้จะอยู่ในสภาวะธรรมชาตินี้ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเกิดสงครามและความขัดแย้ง (แต่ไม่ได้แปลว่า Locke มองว่าสภาวะธรรมชาตินี้ดีงามอะไรเช่นกันนะจ๊ะ)
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นและไม่รู้ทำไมห้องเรียนของเมืองไทยไม่ค่อยพูดถึงกันก็คือ สภาวะธรรมชาติที่ Locke เสนอนั้น เขาดึงมันมาจากแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) ที่พระผู้เป็นเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์ทุกคน หรือจริงๆ ก็คือ ได้มอบให้ไว้กับ Adam ใน Book of Genesis (เมื่อมอบให้กับอดัมในฐานะ ‘พ่อ’ ของเราทั้งมวลแล้ว ก็จึงหมายถึงการมอบให้มนุษย์ทุกคนไปด้วย) ในแง่นี้เราพอจะพูดได้ทีเดียวว่า ในขณะที่ Hobbes มอง State of Nature บนฐานของความเหี้ยมโหดของสงครามที่เขาพบเจอ (เขาเขียน Leviathan ขึ้นในช่วงสงครามภายในของอังกฤษ หรือ English Civil War ที่ตีกันเละเทะทั่วไปหมด) ในขณะที่ Locke นั้นมอง State of Nature จากอำนาจหรือพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ประทานให้กับมนุษยชาติ
ฉะนั้นมันจึงเป็น ‘ความเท่าเทียมกัน’ ในแง่ที่ว่า ทุกๆ คนเท่าเทียมกันภายใต้พระเจ้า (Everybody is equal under God.) ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันจากความฉิบหายล้านแปดไปเสียหมดอย่างมุมของ Hobbes
โดยสิทธิตามธรรมชาติ หรือ Natural Rights ที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์มีหลักๆ 3 ประการคือ ชีวิต (Life) เสรีภาพ (Liberty) และทรัพย์สิน (Property) และสิทธิโดยธรรมชาติเหล่านี้เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี อย่างไรก็ตามในสภาวะธรรมชาติ ที่เป็น Perfect Freedom ใครอยากทำอะไรก็ได้นั้น ทำให้เราเนี่ย ยากที่จะป้องกันสิทธิตามธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้เหล่านี้ของเราได้ เพราะในสภาวะธรรมชาติใครอยากจะมาขโมยของเราก็ทำได้ หรือแม้แต่เอาชีวิต ฉะนั้นประชาชนจึงสมควรจะรวมตัวกัน แล้วสร้างป็นสัญญาประชาคม หรือข้อตกลงร่วมของสังคมนั้นๆ ที่ Locke เรียกว่า Social Contract ขึ้นมา
จุดนี้เองทำให้จุดยืนของ Locke แตกต่างไปจาก Hobbes ครับ คือ เขาถูกมองในฐานะหัวหอกคนสำคัญของค่ายเสรีนิยมและรัฐธรรมนูณนิยม (Constitutionalism) ที่มองว่ารัฐสมัยใหม่/รัฐบาลเกิดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน 3 ประการที่ว่ามาเป็นหลัก และมาจากความตกลงปลงใจร่วมกันของสังคม ฉะนั้นประชาชนจึงควรจะจำกัดอำนาจของรัฐบาลให้อยู่ในวงที่จำกัดเท่าที่จำเป็นก็พอ และหากรัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่ตามกลไกของตนได้ คือ การคุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน ที่พระผู้เป็นเจ้าผู้อยู่สูงสุดได้ประทานให้นั้น ประชาชนก็มีสิทธิที่จะโค่นล้มรัฐบาลเวรนั้นไป ว่าง่ายๆ ก็คือ Right of Revolution นั่นเอง
เขียนมาขนาดนี้ หลายคนอาจจะงงว่า “อ้าวเห้ย แล้วเสรีภาพมันลูกเมียน้อยยังไง?” ตาลุง Locke เค้าก็ดูจะให้ภาษีให้น้ำหนักกับเสรีภาพมากโขอยู่หนิ ไม่ผิดครับ ลุงแกให้น้ำหนักให้ความสำคัญไม่น้อยจริงๆ ไม่งั้นคงไม่ได้เป็นหัวหอกด้านนี้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเสรีภาพที่ Locke ให้นั้น มันก็วางฐานอยู่ที่การประทานมาให้จากพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นสิทธิที่ได้มาโดยความเมตตา (Right by Divine Benevolence) อยู่ดี มากไปกว่านั้น เสรีภาพที่ Locke พูดถึงและให้น้ำหนักนั้นมันคือเรื่องของประชาชนทั่วไปไง ไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของรัฐบาลโดยแท้ ตรงกันข้ามหน้าที่ของรัฐบาลในฉบับของ Locke เอง ก็มีกลไกแบบเดียวกันกับ Hobbes เลยครับ แม้ดีกรีความโหดจะน้อยกว่า นั่นคือเรื่อง ‘การประกันความมั่นคง’
การประกันความมั่นคงได้กลายเป็นพื้นฐานทั้งในแง่อำนาจหน้าที่หลัก กลไกสำคัญ และรวมไปถึงช่องทางที่ทำให้รัฐสามารถสะสมกำลังของตัวเองได้ จนในที่สุดรัฐในนามผู้ ‘ดูแล/ผูกขาดความมั่นคง’ นี้ก็ดูจะสามารถถือครองความเหนือกว่าในทางกำลังในระดับที่ Right to Revolution ของลุง Locke เองก็ดูจะทำอะไรไม่ได้มากนัก
ว่ากันใหม่ก็คือ หากอภิปรายแบบแย่ๆ ด้วยการใช้มาตรฐานของสังคมในปัจจุบัน ไปตัดสินคำอธิบายของลุง Locke แกแล้ว ก็ต้องบอกว่าข้อเสนอที่ว่ามานั้นออกจะมีความย้อนแย้งกันเองอยู่บ้าง เพราะคำอ้างของรัฐบาลที่กระทำในนามความมั่นคง ซึ่งเป็นกลไกอำนาจหน้าที่หลักนั้น มันทำหน้าที่ในการลดทอนสิทธิพื้นฐาน 3 ประการที่ Locke เองพยายามจะคุ้มครองอย่างมากอยู่ด้วย เมื่อพื้นฐานการวางต้นรากของรัฐบาลของรัฐสมัยใหม่ คำอ้างที่ว่า “นี่มันความลับของชาติ นี่เป็นเรื่องความมั่นคง” ก็จะปรากฏให้เห็นต่อไป อย่างยากจะไปต่อปากต่อคำด้วยได้ เพราะเขาเองก็สามารถอ้างได้ว่า “อ้าว กูก็ทำหน้าที่ตามที่พวกมึงมอบหมายให้ไง ถ้าไม่ทำแบบนี้ เดี๋ยวก็ว่าไม่ประกันหรือคุ้มครองสิทธิ 3 ประการห่านั่นอีก แล้วก็มาหาใช้ Right to Revolution อะไรให้วุ่นวายอีก”
ฉะนั้นแล้ว ในบั้นปลาย หากเราไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดขอบเขตอำนาจทางกำลังของรัฐอย่างจริงจังได้ รัฐที่มีไว้คุ้มครองเสรีภาพของ Locke ก็อาจจะกลายเป็นรัฐที่ทรงอำนาจ และอาศัยอำนาจเยี่ยงสัตว์ร้ายนั้น ‘ปกครองประชาชนในนามความมั่นคง’ ไปแทนได้
บทความชิ้นนี้ ผมจึงอยากจบลงที่ตรงนี้ หวังว่าน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า “ที่มาของคำกล่าวอ้างเรื่องความมั่นคงต่างๆ อย่ามาเสือก อย่ามายุ่ง” นั้นมันมาอย่างไร และทำไมทำอย่างไรไอ้คำอ้างพวกนี้ก็ไม่หมดสักที ผมอยากเสนอลงไปกว้างๆ 2 จุดตรงนี้ครับว่า (1) เราต้องหาทางที่จะควบคุมกำลังทางกายภาพที่รัฐรวมศูนย์อยู่ให้ได้แล้ว ไม่เช่นนั้นวิกฤตการณ์อันมาจากเลวิธานรัฐประหารเมืองก็คงจะไม่ยุติไป และ (2) ผมอยากชักชวนให้เราลองมองหาข้อเสนอหรือทางเลือกอื่นๆ ในฐานะกลไกหลักของรัฐบาล นอกจากเรื่องความมั่นคงนี้กันลองดู เพราะหากยังคงสภาพแบบที่เป็นอยู่ต่อไป โวหารของความมั่นคงที่คาราคาซังอยู่นี้ ก็คงจะไม่อาจยุติลงไปได้
ผมเองและบทความนี้เองอาจจะไม่ได้มีคำตอบอะไรให้คุณว่าเราควรมีทางออกทางไหนอย่างไร (ก็พยายามคิดอยู่ และเคยพยายามเสนอไปบ้างในบทความก่อนหน้านี้บางชิ้น) แต่แม้จะไม่มีทางออกให้ ก็คิดว่าอย่างน้อยที่สุดได้ทำให้เห็นปัญหารากฐานที่เรากำลังต้องเผชิญหน้าอยู่ และหวังว่าจะมีหนทางให้หลุดออกไปจากวังวนวังเวรนี้ได้ในเร็ววันครับ (หวังกันไปนะครับ ผมปลงนานแล้ว)