สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย ผมสัมผัสพื้นที่อนุรักษ์ผ่านสายตาของนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติจึงเป็นพื้นที่เขียวชอุ่มที่สงวนไว้เพื่ออนุรักษ์พรรณพืชและพันธุ์สัตว์ให้ปลอดภัยจากการรุกล้ำของมนุษย์ ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคือเขตอนุรักษ์เข้มข้นที่การเข้าออกต้องขออนุญาตทุกครั้ง พื้นที่เหล่านั้นจึงไม่ต่างจากแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อนุญาตให้มนุษย์อยู่อาศัย และใครที่ล่วงล้ำย่อมถูกตราหน้าว่ากระทำผิดกฎหมาย
เมื่อได้เริ่มทำงาน สิ่งที่ผมเข้าใจดูจะตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
ตำแหน่งแรกของชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยของผมคือเจ้าหน้าที่สื่อสารงานอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรภาคเอกชนที่มีกำลังคนหลักสิบโดยมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วผืนป่าตะวันตกตั้งแต่จังหวัดตากจนถึงกาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่งใน 7 จังหวัด แม้ตัวผมจะทำงานอยู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ แต่หลายครั้งก็ต้องลงไปสัมผัสชีวิตคนทำงานภาคสนามแล้วเก็บเกี่ยวมาบอกเล่าบนโลกออนไลน์
นี่คือช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ทำให้ผมมองผืนป่าใหญ่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะพื้นที่อนุรักษ์กว่าหกสิบล้านไร่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีชุมชนอยู่อาศัยกว่า 6 ล้านไร่หรือคิดเป็นหกเท่าของกรุงเทพมหานคร ชุมชนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยมาอย่างเนิ่นนาน กระจายตัวอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่มรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง
แนวคิดที่ว่า ‘ในป่าไม่มีคน’ จึงเป็นความเข้าใจผิดแบบเต็มประตู เหตุการณ์ที่บางกลอยจึงไม่ใช่กรณีพิเศษ แต่เป็นเพียงภาพสะท้อนของปัญหาที่คาราคาซังมาเนิ่นนาน โดยมีต้นตอจากความดื้อด้านของรัฐที่ยังดึงดันว่าไม่มีชุมชนอยู่ในป่า พร้อมมอบเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวในการแก้ปัญหาคือการ ‘จับ ปรับ ขับไล่’ ที่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา
สันติสุขเกิดได้ หากรัฐกับชุมชนหันหน้าคุยกัน
ในฐานะเด็กใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผมวาดภาพพี่ๆ ที่ทำงานภาคสนามไม่ต่างจากหน่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่อุทยานในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำผิด พร้อมทั้งให้คำปรึกษาทางเทคนิคการลาดตระเวนต่างๆ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมเข้าใจผิดถนัด เพราะงานหลักของเจ้าหน้าที่ภาคสนามคือการ ‘คุย’
คุยกับผู้นำชุมชนทั้งในป่าและขอบป่า คุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปรับทุกข์ผูกมิตรและสร้างความเข้าใจให้ตรงกันของทั้งสองฝ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปะทะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติยังคงอยู่ นี่คือส่วนหนึ่งของโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก (Joint Management of Protected Area in Western Forest Complex : JoMPA) หรือโครงการจอมป่าตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึง 2557 ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสืออยู่ได้”
ผมโชคดีที่ได้เข้ามาทำงานช่วงที่โครงการใกล้จบและได้เห็นภาพ ‘สันติสุข’ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชุมชนในผืนป่าตะวันตก จากที่ครั้งหนึ่งเคยมีความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นการจับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวประกันเพื่อตอบโต้การเข้าจับกุมชาวบ้านที่กระทำผิด
ทั้งหมดเกิดจากสิ่งเดียวคือ ‘เส้นขาว’ แผนผังแสดงการใช้ที่ดินซึ่งเป็นแนวเขตที่ได้ทำการสำรวจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยใช้เครื่องจับสัญญาณจีพีเอสเดินไปตามขอบแปลงพื้นทำกินของชุมชนในป่า แล้วนำมาลากเป็นเส้นสีขาวบนแผนที่เพื่อเป็นสัญญาใจระหว่างทุกฝ่ายว่าจะไม่มีการรุกล้ำเพิ่มเติม พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้เพิ่มโดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมทั้งสนับสนุนให้ดำเนินวิถีชีวิตแบบเป็นมิตรกับผืนป่า ผลลัพธ์ที่ได้คือไม่มีการขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนจากเขตที่สำรวจร่วมกันในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการและจำนวนคดีที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การเข้าป่าครั้งแรกของผม จึงไม่ใช่การเข้าไปชื่นชมธรรมชาติ แต่เป็นการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนในป่า กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอผู้ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ไม่ไปเห็นด้วยตาคงยากจะเข้าใจ
แต่ก็ใช้ว่าทุกอย่างจะสวยงามโรแมนติกอย่างที่คิดฝัน เพราะครัวเรือนจำนวนไม่น้อยได้ละทิ้งวิถีชีวิตในอดีตที่ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งต้องใช้สารเคมีเข้มข้น บนเส้นทางลูกรังที่ชุมชนใช้สัญจร บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ถึงขั้นรุกล้ำมาปักป้ายจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
จำนวนประชากรในป่าที่มากขึ้นและวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป
ตามยุคสมัยเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่อาจบานปลายกลายเป็นปัญหาในอนาคต
ภาครัฐมีสองทางเลือกคือทางแรกคือเดินหน้า ‘จับ ปรับ ขับไล่’ กลยุทธ์ที่นอกจากจะไม่สนใจสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญไทยแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไร้ประสิทธิผล หรือทางที่สองคือการหันหน้าหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ธรรมชาติและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมถอยคนละก้าว
น่าเสียดายที่ทางเลือกที่สองถูกจำกัดโดยกรอบของกฎหมายพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ประกาศใช้ในช่วงโค้งสุดท้ายภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเมินร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่เสนอโดยภาคประชาชน
แก้ปัญหาด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้มองข้อเท็จจริง
ท่าทีของรัฐมองชุมชนในผืนป่าไม่ต่างจาก ‘เนื้อร้าย’ ที่อาจแผ่ขยายลุกลามไปสู่การทำลายผืนป่าเป็นวงกว้าง การจัดการปัญหาในยุคแรกหลังมีการประกาศ พรบ. อุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จึงเป็นสายเหยี่ยวที่เน้นขับไล่คนให้ออกจากป่า โดยชุมชนบางกลอยคือหนึ่งในชุมชนดังกล่าวที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่เดิม โดยรัฐจัดหาพื้นที่ใหม่ให้ในชื่อชุมชนโป่งลึก-บางกลอย ตั้งแต่ พ.ศ. 2539
อย่างไรก็ดี ท่าทีของภาครัฐในการจัดการปัญหาดังกล่าวก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนในเขตป่าโดยแบ่งการดำเนินงานเป็นสามส่วนคือ การสำรวจ การถือครองที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ์ และการรับรองสิทธิ์ โดยกำหนดว่าพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีการทำกินต่อเนื่องก่อนประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์
แน่นอนครับว่าแนวทางดังกล่าวฟังดูเข้าที แต่มีปัญหามากมายในทางปฏิบัติตั้งแต่แหล่งข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย เพราะบางพื้นที่ต้องค้นย้อนกลับไปร่วมร้อยปี อีกทั้งเงื่อนไขการทำกินต่อเนื่องยังขัดกับวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนซึ่งเป็นวิถีที่ให้ธรรมชาติเติมความอุดมสมบูรณ์คืนกลับให้กับแปลงเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี แต่วิถีดังกล่าวย่อมขัดกับวิธีคิดและการออกแบบกฎหมายที่มองแปลงเกษตรในป่าเหมือนกับแปลงนาพื้นราบคือต้องอยู่เป็นหลักแหล่งและเพาะปลูกทุกปี
สุดท้ายมติคณะรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวก็กลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ผ่านไปเนิ่นนานก็ทำการสำรวจพื้นที่ไม่เสร็จสักที กระทั่งมีคณะฮีโร่พ่อรู้ดีขี่ม้าขาวมาตัดจบกระบวนการทั้งหมดในพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 ที่ระบุให้ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน
องค์กรภาคเอกชนอย่างไอลอว์มองว่ากระบวนการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวไม่มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็ย้อนกลับไปอิงบัญชีตามที่ได้สำรวจจากมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 หรือภาพถ่ายทางอากาศ เป็นการดำเนินการโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวโดยมองข้ามการมีส่วนร่วมของชุมชน บ้างก็มีการเรียกให้ชาวบ้านไปชี้แนวเขตที่ดิน ถ่ายภาพไว้ แต่ไม่ให้โอกาสชี้แจง สุดท้ายจึงได้เป็นผลลัพธ์คือข้อตกลงที่จะยินยอมคืนพื้นที่ หากไม่ลงชื่อก็จะถูกข่มขู่ดำเนินคดี โดยกฎหมายใหม่ได้อัพเดตเพดานโทษสูงสุดเป็นจำคุก 20 ปีปรับ 2,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
สันติสุขคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากรัฐเอาแต่จะบังคับใช้กฎหมาย
อย่างไม่ลืมหูลืมตาโดยมองข้ามเสียงเรียกร้องของประชาชน
การขับไล่พวกเขาเหล่านั้นออกจากถิ่นอาศัยทำกิน แน่นอนว่าเป็นการแก้ปัญหาชุมชนรุกล้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างชะงัด แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ เพราะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ถูกช่วงชิงแหล่งสร้างรายได้ยังชีพ สุดท้ายก็ต้องกลับไปพึ่งพิงทรัพยากรในผืนป่าโดยไม่มีทางเลือก
น่าเสียดาย ที่รัฐเลือกจะมองข้ามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ พลางป่าวประกาศว่าตนคือความยุติธรรมโดยบังคับใช้กฎหมายผ่านการตีความแบบกำปั้นทุบดินโดยไม่มองข้อเท็จจริงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง
พื้นที่อนุรักษ์รูปแบบใหม่ เปิดทางให้ชุมชนจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง
ปัญหาชุมชนในป่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญเช่นเดียวกับไทย ทางเลือกหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวคือแนวทางพื้นที่อนุรักษ์ประเภทที่ 6 ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ชื่อว่า “พื้นที่คุ้มครองที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Protected Area with Sustainable Use of Natural Resources)” ซึ่งมีนิยามว่า
พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพตามธรรมชาติ แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กล่าวคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับต่ำและไม่ใช่เชิงอุตสาหกรรมโดยสอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของพื้นที่คุ้มครอง
ลักษณะพิเศษของพื้นที่ดังกล่าวคือความพยายามอนุรักษ์ระบบนิเวศและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไปพร้อมๆ กับคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พื้นที่อนุรักษ์ประเภทนี้จะมีชุมชนอยู่อาศัยแต่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบมีผลกระทบต่ำ นอกจากนี้ ชุมชนยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว
แนวคิดเช่นนี้ดูจะไม่มีอยู่ในกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ที่พอจะใกล้เคียงกันคือมาตรา 64 ในพ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ซึ่งเปิดช่องให้ชุมชนสามารถเก็บหาของป่าได้ หากชุมชนสามารถฝ่าด่าน ‘18 อรหันต์’ ผลักดันโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติ ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเสนอรัฐมนตรี แล้วจึงทำเป็นประกาศกระทรวง และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพียงเท่านี้ชุมชนก็สามารถเก็บหาของป่าตามข้อกำหนดเป็นระยะเวลา 20 ปี
อีกแนวทางหนึ่งที่กฎหมายไทยเปิดช่องให้คือพ.ร.บ. ป่าชุมชนฉบับใหม่ที่ออกในยุคเดียวกัน นอกจากจะกำหนดให้ป่าชุมชนต้องจัดตั้งนอกพื้นที่อนุรักษ์แล้ว ยังรวมศูนย์อำนาจในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการจัดตั้งป่าชุมชนให้ไปอยู่ในมือของรัฐ ผ่านคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดซึ่งรัฐเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สวนทางกับการผลักดันกฎหมายป่าชุมชนจากภาคประชาชนที่ต้องการให้ท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง
ทั้งสองแนวทางสะท้อนให้เห็นแนวคิด ‘พ่อรู้ดี’
ที่รวบอำนาจการอนุญาตทั้งหมดไว้อยู่ในมือข้าราชการ
ปกคลุมด้วยกลไกและหลักเกณฑ์ที่สลับซับซ้อน เพราะเกรงว่าชาวบ้านผู้อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดจะ ‘โง่งม’ จนถึงขั้นทำลายธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของตนเอง
ใครทำลายผืนป่าไทย?
ผู้อ่านเคยได้ยินสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างกวางสมันไหมครับ?
หลายคนอาจจำชื่อสมันได้ขึ้นใจจากการท่องจำชื่อสัตว์สงวนของไทย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมันสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติคืออะไร
สมันคือกวางเขางาม มีถิ่นแพร่กระจายพันธุ์อย่างชุกชุมบนที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยโดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ทุ่งรังสิต ทุ่งพญาไท พระโขนง สำโรง บางปู บางบ่อ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม สมันถูกล่าอย่างต่อเนื่องจนสูญพันธุ์จากธรรมชาติจากการแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นนาข้าวและนาเกลือ สมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติถูกยิงที่กาญจนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2475 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย
ระยะเวลาไม่กี่ชั่วอายุคน คนพื้นราบชาวกรุงเทพมหานครเปลี่ยนพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มภาคกลางให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกจนไม่เหลือเค้าเดิม ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าที่ไม่สามารถพบเจอที่ไหนได้อีก ส่งต่อเพียงรูปถ่ายให้คนรุ่นหลัง
ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูง คนจำนวนไม่น้อยอยู่อาศัยในเมืองและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป เราถูกปลูกฝังให้หวงแทนผืนป่าอันเขียวชอุ่ม พร้อมกับมองว่าการรุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวคือความเลวร้ายที่สมควรถูกประณามและลงโทษตามตัวบทกฎหมาย
วิธีคิดเช่นนี้ย่อมทำให้เรามองชุมชนชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในป่ามายาวนานนับร้อยปี ไม่ต่างจากเนื้อร้ายที่รอวันลุกลาม กัดกินทรัพยากรธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หยิบภาพแผนที่ดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศมายืนยันว่าชุมชนเหล่านี้คือตัวการผู้ทำลายป่าอย่างหน้าไม่อาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐจัดการอย่างเด็ดขาด
พวกเขาและเธอคงรู้สึกดีที่มีส่วนร่วมในการปกป้องธรรมชาติ แต่อาจหลงลืมไปว่าที่ผืนป่าหลงเหลือเท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ มีสาเหตุสำคัญจากบรรพบุรุษคนไทยพื้นราบที่กวาดทำลายจนเหี้ยนเตียนแล้วเปลี่ยนเป็นรายได้เพื่อนำมาพัฒนาชาติ ขณะที่บรรพบุรุษของเหล่าชาติพันธุ์ท้องถิ่นผู้อาศัยในป่าเลือกที่จะธำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ ผืนป่าจึงหลงเหลือมาให้เราประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพยายามขับไล่พวกเขาออกมา
คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหล่าชาติพันธุ์ ‘ถางป่า’ ไม่เร็วพอหากเทียบกับคนพื้นราบ
แน่นอนว่าเราคงหมุนเวลาย้อนกลับไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมเรียกร้องคือการมองปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจ มองชุมชนในป่าในฐานะเพื่อนร่วมชาติไม่ใช่คนอื่นคนไกล และแก้ไขปัญหาโดยการพูดคุยมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างน่ามืดตามัว พร้อมทั้งหาทางออกที่คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าก็อยู่ได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
คู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก