[คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม Batman: Arkham Knight]
“ในตำนานต่างๆ วีรบุรุษคือคนที่เอาชนะมังกรได้ ไม่ใช่คนที่ถูกมังกรกลืนกิน แต่แม้กระนั้น ทั้งสองคนก็ต้องรับมือกับมังกรตัวเดียวกัน ใครก็ตามที่ไม่เคยเผชิญหน้ากับมังกรย่อมมิใช่วีรบุรุษ คนที่เคยเจอแต่ประกาศภายหลังว่าไม่เคยเจอก็มิใช่วีรบุรุษเช่นเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน มีเพียงคนที่กล้าเสี่ยงสู้กับมังกร และเอาตัวรอดมาได้เท่านั้นที่จะครอบครองขุมทรัพย์ ‘สมบัติอันได้มายากเย็น’ ได้ เขาคนเดียวเท่านั้นที่อ้างได้อย่างแท้จริงว่ามีความเชื่อมั่นในตัวเอง เนื่องจากเขาได้เผชิญกับด้านมืดของตัวตน และดังนั้นจึงได้ตัวตนกลับมา … เขาได้สิทธิที่จะเชื่อว่าตนจะสามารถก้าวข้ามภยันตรายทั้งหลายในอนาคตได้ด้วยวิธีเดียวกัน”– คาร์ล ยุง ใน The Conjunction
“ผู้ใดต่อกรกับสัตว์ประหลาด พึงระวังว่าตนจะไม่กลายเป็นสัตว์ประหลาดเสียเอง และเมื่อเธอเพ่งมองลึกลงไปในก้นบึ้ง ก้นบึ้งนั้นก็เพ่งมองเข้าไปในตัวเธอเช่นกัน” –ฟริดริช นิทเช่ ใน Beyond Good and Evil
ในสังคมที่กระบวนการยุติธรรมบ่อยครั้งดูจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ พึ่งพาไม่ค่อยได้สำหรับคนไร้เส้นและเส้นเล็กทั้งหลาย ผู้ประสบภัยที่ลุกขึ้นมาทำอะไรแหกคอกหรือแม้แต่รุนแรง อย่างการเอาขวานไปจามรถที่มาจอดขวางหน้าบ้าน เอาค้อนมาทุบรถเสียโชว์สื่อ หรือออกโรงไล่ล่าคนร้ายด้วยตัวเองตามคติ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ล้วนแต่เป็นการทำตัวเป็น ‘ศาลเตี้ย’ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พฤติกรรมพึงปรารถนา คนทำก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากธารกำนัลไปไม่น้อย
ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ตราบนั้นเรื่องราวของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่ลุกขึ้นมาปราบเหล่าคนร้ายก็จะยังคงตรึงใจเราไม่เสื่อมคลาย และในบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ฝรั่งทั้งหลาย อันดับหนึ่งหนีไม่พ้น แบทแมน (Batman) ฮีโร่แนว ‘ตัวเอกปฏิลักษณ์’ (anti-hero) รุ่นเดอะ ผู้ไม่เคยเป็นฮีโร่แบบดีทุกกระเบียดนิ้วราวอัศวินขี่ม้าขาว จากจักรวาลดีซีคอมิกส์ในอเมริกา
ความนิยมของแบทแมนส่งผลให้เราได้เล่นเกมแบทแมนอย่างต่อเนื่องนานกว่าสองทศวรรษแทบทุกแพลตฟอร์มเกม แต่ในบรรดาเกมแบทแมนทั้งหมด ผู้เขียนเห็นว่า Arkham Knight เกมสุดท้ายในไตรภาคจากฝีมือการสร้างของ ร็อคสเตดีย์ สตูดิโอ (Rocksteady Studio) จากกรุงลอนดอน อังกฤษ ไม่เพียงแต่เป็นเกมซูเปอร์ฮีโร่ที่เจ๋งที่สุดในประวัติศาสตร์เกมเท่านั้น แต่ยังฝากแง่คิดเกี่ยวกับการทำงานของ ‘ศาลเตี้ย’ และสาเหตุที่ ‘คนดี’ สามารถกระทำความเลวได้โดยไม่สะทกสะท้าน อย่างคมคายและระทึกใจจนถึงนาทีสุดท้าย
กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด Arkham Knight คือเกมแอคชั่นสุดห่ามไร้ขีดจำกัดที่ผสมระบบเกมหลายแนวเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
ตั้งแต่การต่อสู้มือเปล่า (จากมุมมองบุคคลที่สาม) การแก้ปริศนา (puzzle) การลอบเร้น (stealth) การขับรถ การยิงและเขวี้ยงอาวุธ รวมถึงการโหนตัวและบินร่อนโฉบไปมาระหว่างอาคารต่างๆ ที่ให้อารมณ์อิสระเสรีเหนือสิ่งอื่นใด แม้จะมีเส้นเรื่องหลักที่ชัดเจนเป็นเส้นตรง เราจะทิ้งเส้นเรื่องหลักไว้ชั่วคราวทีละหลายชั่วโมงก็ได้ ไปร่อนสำรวจเมืองก็อธแฮม (Gotham) เมืองอึมครึมสถาปัตยกรรมโกธิค (Gothic) จากตำนานแบทแมน แทบทุกซอกมุมในเมืองดูจะมีความลับให้ค้นหา ตั้งแต่ปริศนาของริดเลอร์ (Riddler) คู่ปรับคนสำคัญของแบทแมน ไปจนถึงการลักขโมยหรือโจรกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของแก๊งกวนเมืองมากหน้าหลายตา ไปสกัดแผนชั่วบางอย่างจากการดักฟังการสื่อสารของเหล่าวายร้าย บางคราวเราจะได้โฉบลงไปพบกับเส้นเรื่องรอง(subplot) อะไรสักอย่างโดยบังเอิญ และถ้าเราอยากฝึกวิทยายุทธเหมือนแบทแมนจริงๆ เราก็สามารถร่อนหรือขับแบทโมบิลไปยังจุด ‘AR Challenge’ ที่เรียงรายอยู่รอบเมือง ไปพยายามบรรลุเป้าหมายสุดโหดให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด เช่น น็อคสมาชิกแก๊งทุกคนในห้องให้สลบเหมือดภายในสิบห้าวินาที ซิ่งแบทโมบิลรอบลู่วิ่ง (ถนนธรรมดาแต่วางป้ายบอกทางให้ซิ่ง) ให้จบภายในครึ่งนาที ร่อนผ่านห่วงในอากาศให้ครบทุกอัน ฯลฯ
Arkham Knight ให้เราสวมบทเป็นแบทแมนอย่างใส่ใจในรายละเอียด ครบถ้วนทุกมิติของความเป็นแบทแมนในฉากที่มีความหลากหลายสูงมาก ในเกมนี้เราจะเตะ ต่อย ทุ่ม เขวี้ยงบาตาแรง (batarang บูมเมอแรงรูปค้างคาว) ปาระเบิดควัน แฮกคอมพิวเตอร์ ยิงตะขอเหล็กเดินทางจากที่สูงโดยไม่แตะพื้น ถลาบินร่อน หาเบาะแสในสถานที่เกิดเหตุ ขอข้อมูลจากอัลเฟรด (Alfred) พ่อบ้านคู่ใจ แก้ปริศนา หาทางออกจากเขาวงกต รวมถึงใช้สิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมเป็นตัวช่วยในการต่อสู้ เช่น จับหัวศัตรูช็อตตู้ไฟ แย่งอาวุธศัตรูมาใช้ ซ่อนตัวในตะแกรงใต้พื้นแล้วจู่โจมให้น็อคในหมัดเดียว ห้อยเอาหัวลงเหมือนค้างคาวลงมาจากขื่อ ดึงตัวศัตรูที่เดินมาข้างใต้ขึ้นไปน็อค ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับฉากแอคชั่นที่ทำจากในแบทโมบิล (ซึ่งผู้เขียนพบว่าบังคับยากกว่าการสู้นอกรถพอสมควร) แถมคอมโบ้การต่อสู้ก็ทำได้เป็นสิบๆ ชุด และยิ่งทำได้มากยิ่งได้ค่าประสบการณ์มาก
ค่าประสบการณ์ในเกมนี้ใช้อัพเกรดความสามารถต่างๆ ของแบทแมน เช่น เพิ่มความทนทานของเสื้อเกราะ ทำให้บาตาแรงน็อคศัตรูและทำให้ศัตรูคนอื่นที่อยู่รอบๆ มึนงงชั่วคราว ทำให้ปืนของแบทโมบิลโหลดกระสุนเร็วขึ้น ฯลฯ เท่านั้นยังไม่พอ Arkham Knight ยังให้เราเล่นเป็นทีมกับคู่หูในตำนานของแบทแมน นั่นคือ โรบิน (Robin) ไนท์วิง (Nightwing) และ แคทวูแมน (Catwoman) บางฉากในเกมนี้ให้เราสลับไปควบคุมโรบินหรือแคทวูแมน ใช้ชุดความสามารถของเขาหรือเธอแทนที่แบทแมน
Arkham Asylum เกมแรกในไตรภาค ให้แบทแมนมีความสามารถค่อนข้างจำกัด เกมต่อมาคือ Arkham City เพิ่มทักษะยิงตะขอเหล็กสำหรับโหนและโรยตัวอย่างรวดเร็วจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และทักษะการถลาร่อนในอากาศเหมือนแบทแมนในหนัง พอมาถึง Arkham Knight ก็เพิ่มแบทโมบิล (Batmobile) พาหนะคู่ใจของแบทแมนเข้ามา ในเกมเราสามารถกดเรียกแบทโมบิลมาขับได้ทุกเมื่อ และบ่อยครั้งเราก็จะต้องซิ่งจับคนร้ายในเมืองก็อธแฮม ยิงระเบิดหลายสิบลูกถล่มสมาชิกแก๊งจากในรถ และยิงเครื่องกว้านหน้ารถไปทลายกำแพงปูน ทะลุทะลวงโลดทะยานไปบู๊ต่อในฉากถัดไป
แบทแมนเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ไม่มีพลังเหนือมนุษย์อย่างซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน และซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ ก็จริง แต่ทักษะการต่อสู้และอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายก็พุ่งถึงจุดสูงสุดใน Arkham Knight บทสรุปสุดท้ายของไตรภาค ทำให้เรา (คนเล่น) รู้สึกได้ถึงพลังทุกอณูของแบทแมนอยู่ทุกนาที ผู้เขียนคิดขำๆ ด้วยซ้ำไปว่า ลำพังการชก เตะ ห้อยหัวลงมาเกี่ยวคนขึ้นไปน็อคคาที่ โดยกดปุ่มแอคชั่นพื้นฐานไม่กี่ปุ่มก็เพียงพอแล้วที่จะจัดการกับศัตรูส่วนใหญ่ในเกม ไม่ต้องใช้คอมโบ้เป็นสิบๆ ท่าที่มีในเกมนี้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนพันธุ์แท้แบทแมนที่ต้องการความท้าทายขั้นสุด โหมด ‘AR Challenge’ ก็มีไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
สิ่งที่ทำให้ Arkham Knight เป็นมากกว่าเกมซูเปอร์ฮีโร่เจ๋งๆ หนึ่งเกม ก็คือการให้เราไม่เพียงแต่สวมบทบาทเป็นแบทแมนจากภายนอก แต่ลงลึกไปถึงก้นบึ้งจิตวิญญาณของแบทแมนเลยทีเดียว
ทีมออกแบบพาเราดำดิ่งลงไปในใจของแบทแมน เพราะพาโจ๊กเกอร์ (Joker) คู่ปรับตัวเอ้ของแบทแมน กลับคืนสู่จอ ในการหักมุมที่เจ๋งที่สุดครั้งหนึ่ง ตลอดการเล่นครึ่งเกมแรกเราจะคิดว่าโจ๊กเกอร์ไม่มีทางกลับมาแล้ว เราสู้กับสแกร์โครว (Scarecrow) และเหล่าวายร้ายผองเพื่อนเท่านั้น เพราะเคยเห็นโจ๊กเกอร์ตายในฉากจบของ Arkham City เกมที่สองของไตรภาค แต่เขาดันกลับมาได้ใน Arkham Knight –กลับมาโลดแล่นในจินตนาการของแบทแมน กลายเป็น ‘ภาพหลอน’ ในจิตใจที่รบกวนและท้าทายยิ่งกว่าตอนที่โจ๊กเกอร์ยังมีชีวิตอยู่เสียอีก!
ระหว่างเล่นเราจะพบว่า ในเกมก่อนหน้านี้คือ Arkham City แบทแมนหมดเวลาเกือบทั้งเกมไปกับการหายาคลายพิษที่เขาโดนโจ๊กเกอร์ฉีดเข้าเส้น พิษนั้นผสมกับเลือดของโจ๊กเกอร์เอง ในฉากจบของเกมนั้นแบทแมนฉีดยาให้ตัวเองทัน แต่โจ๊กเกอร์ตาย พอมาถึง Arkham Knight แบทแมนก็ค้นพบว่าเขาฉีดยาคลายพิษไม่มากพอ เลือดชั่วของโจ๊กเกอร์ค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่สมอง และความเป็นโจ๊กเกอร์ก็เข้าครอบงำจิตวิญญาณของแบทแมนอย่างช้าๆ จากภายใน
เราจะถึงบางอ้อเมื่อเห็นโจ๊กเกอร์กลับมาใหม่ว่า แบทแมนหรือเราที่แท้ก็ไม่ต่างจากโจ๊กเกอร์ เขาชอบต่อยตีผู้คน และระหว่างเล่นเราก็ต้องยอมรับว่าการทำคอมโบ้สารพัดชนิดเพื่อทำร้ายสมาชิกแก๊งต่างๆ นั้นช่างสนุกเสียจริง โดยเฉพาะเวลาที่โฉบลงมากลางวงโดยไม่ให้ตั้งตัว พูดสั้นๆ ก็คือ แบทแมนไม่ใช่วีรบุรุษแต่อย่างใด เขาเป็นมนุษย์ปุถุชนที่บังเอิญบ้านรวย มีปมตั้งแต่เด็กเพราะพ่อแม่ถูกฆ่าตาย หมกมุ่นกับการล้างแค้นจนทำตัวแทบไม่ต่างจากคนบ้า
ทว่าสิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ เมืองก็อธแฮมเละเทะเหลวแหลกเสียจนคนจำนวนมากฝากความหวังไว้กับ ‘ศาลเตี้ย’ ผู้บ้าคลั่ง และยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษ
โจ๊กเกอร์ขาดแบทแมนไม่ได้ และแบทแมนก็ขาดโจ๊กเกอร์ไม่ได้ เพราะโจ๊กเกอร์คือตัณหาหรือ Id ของแบทแมนที่พร้อมจะเผยตัวออกมา พร้อมสำแดงพลังทำลายล้างทุกครั้งที่เขาขาดจิตสำนึก สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง
ตลอดระยะเวลาเกือบแปดทศวรรษที่ผ่านมา โจ๊กเกอร์กับแบทแมนโคจรมาปะทะกันนับครั้งไม่ถ้วนทั้งในหน้าหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์จอเงิน จอแก้ว จอมือถือ หรือเกม และทุกครั้งคนคู่นี้ก็เป็นภาพสะท้อนความคิดเรื่อง ‘คนดี’ และ ‘คนเลว’ ของสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้นๆ เส้นลวดที่แบทแมนไต่ ระหว่างบท ‘โรบินฮู้ดเปี่ยมคุณธรรม’ และบท ‘ศาลเตี้ยผู้กดขี่’ ไม่เคยอยู่นิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามสมัยนิยม
เราทุกคนล้วนแต่มีความเป็นโจ๊กเกอร์ในตัวเอง ที่แย่กว่านั้นคือ โจ๊กเกอร์พร้อมจะออกฤทธิ์ครอบงำเราทุกครั้งที่เราคิดว่ากำลัง ‘ทำความดี’ เนื่องจากโดยธรรมชาติ สมองมนุษย์มีวิธีหาข้ออ้างมาสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมแย่ๆ มากมายหลายวิธีด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ 1) การอ้างคำของ เติ้งเสี่ยวผิง ที่ว่า “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” (ตรงกับสุภาษิตฝรั่ง the end justify the means) 2) การใช้คำที่ฟังดูดี (euphemism) มากลบเกลื่อน และ 3) การอ้างเข้าข้างตัวเองว่า “คนอื่นเลวกว่านี้เยอะ”
เราหรือแบทแมนในเกมจะทรมานบีบคอ หักแขนหักขาลูกสมุนของเหล่าวายร้ายในเกม จับทุ่มแล้วโยนทิ้งเหมือนเศษขยะเป็นเรื่องปกติ ฉากหนึ่งเราถึงขนาดปั่นล้อหลังของแบทโมบิลให้หมุนใกล้ใบหน้าของสมุนที่ตาเหลือกลนลานร้องขอชีวิต คำรามให้คายความลับออกมา ความรุนแรงทั้งหมดนี้แบทแมนในเกม (และตัวเราด้วย) พร้อมให้เหตุผลว่าชอบธรรม เพราะ 1) ผลลัพธ์ของมันชอบธรรม (ปกป้องเมืองก็อธแฮมจากสแกร์โครวและผองเพื่อน) 2) นี่เป็นแค่ ‘เทคนิคการสืบสวนผู้ต้องหา’ ไม่ใช่ ‘การทรมานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ และ 3) สแกร์โครวกับเหล่าวายร้ายเลวกว่าเรามากมายหลายเท่า
ลงปักใจเชื่อว่ากำลังทำเพื่อ ‘ผลลัพธ์ที่ดี’ หรือ ‘เป้าหมายอันสูงส่ง’ แล้วล่ะก็ เราก็พร้อมจะโยนมาตรวัดทางศีลธรรมทั้งหลายออกนอกหน้าต่าง ระหว่างที่ทำตัวเลวแบบเดียวกับที่โจ๊กเกอร์ทำ
ต่างกันตรงที่โจ๊กเกอร์ซื่อสัตย์กว่า เลวบริสุทธิ์กว่า เขาใช้ความรุนแรงอย่างเหลวแหลกร่าเริงโดยไม่เคยคิดจะอ้างความชอบธรรมอะไรทั้งสิ้น
Batman : Arkham Knight ให้อุทาหรณ์ว่า ‘ศาลเตี้ย’ จะเป็นที่ต้องการ คนจะมองว่าผลลัพธ์ ‘ยุติธรรม’ เฉพาะแต่ในสังคมที่กระบวนการยุติธรรมแหลกเหลวเท่านั้น แต่ ‘ศาลเตี้ย’ ก็มีราคาแพงมหาศาลที่ปัจเจกและสังคมต้องจ่ายอย่างหนีไม่พ้น
แม้แต่ ‘วีรบุรุษปฏิลักษณ์’ (anti-hero) กร้านโลกอย่างแบทแมน ก็ไม่วายถูกก้นบึ้งเพ่งมองกลับเข้ามาในตัวเอง ต้องดิ้นรนรับมือกับการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเก่งกาจสักปานใด