ข่าวใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาหนีไม่พ้นกระแสการ ‘สวิงขวาสุดกู่’ ของค่านิยมทางการเมืองในหลายประเทศ ดังสะท้อนจากคะแนนนิยมที่พุ่งสูงขึ้นของพรรคการเมืองแนวขวาจัดที่รณรงค์ด้วยลัทธิคลั่งชาติเป็นหลัก เน้นนโยบายกีดกันคนเชื้อชาติอื่นออกจากประเทศ หรืออย่างน้อยก็กีดกันออกจากโอกาสทางเศรษฐกิจ
ชัยชนะในสนามเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน และการลงประชามติโหวตให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ (Brexit) ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดในปี ค.ศ. 2016 นอกจากจะตอกย้ำกระแสนี้อย่างชัดเจนแล้ว ชัยชนะของทรัมป์ในอเมริกา และผลโหวตเบร็กซิทในอังกฤษ ต่างสะท้อนว่าคนในสังคมแตกเป็นสองฝ่ายที่มีขนาดทัดเทียมกัน ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียดเพียง 57% ส่วนประชาชนในสหราชอาณาจักรที่ออกเสียงให้ ‘ถอนตัวจากสหภาพยุโรป’ ชนะอย่างฉิวเฉียดกว่านั้นอีก คือ 51.9% หรือ 17.4 ล้านคน ของประชาชนชาวอังกฤษราว 72% ที่ไปออกเสียงประชามติ
ผลพวงจากเบร็กซิทต่อชีวิตของคนเดินดินในอังกฤษคืออะไร โดยเฉพาะต่อคนที่อพยพมาตั้งรกรากจากประเทศอื่นในภาคพื้นยุโรป? สตูดิโออินดี้จากอังกฤษ แพนิค บาร์น (Panic Barn) ตอบคำถามนี้ด้วยอารมณ์ขันชนิดชอบชิงทำให้ตัวเองดูงี่เง่า หรือ self-deprecating humor แบบฉบับอังกฤษ ในเกมแสนสนุกและสุดแสบชื่อ Not Tonight
เกมนี้ให้เราเล่นเป็นหนุ่มไร้นามแต่ถูกรัฐแปะป้ายว่า ‘บุคคลเชื้อสายยุโรป หมายเลข 112’ ซึ่งที่จริงเกิดในประเทศอังกฤษ ไม่ได้ย้ายมาจากที่อื่น แต่ทุกครั้งที่เราพยายามอ้าปากอธิบายว่าเราเป็นคนอังกฤษนะ ทุกคนในเกมตั้งแต่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ไปจนถึงเจ้าของบาร์ที่จ้างเราเฝ้าประตู ก็จะไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ไม่เคยฟังเราพูดจนจบ ตัดสินไปแล้วว่าเราไม่ใช่คนอังกฤษพื้นเมือง บางคนจะปลอบใจว่า คนอังกฤษกับคนยุโรปอย่างเรา (ชื่อเล่น ‘พวกยูโร’ หรือ Euros) น่ะทำงานด้วยกันได้นะ แต่อีกหลายคนก็จะก่นด่าสบถใส่ว่า แกมันพวกยูโรสกปรก ไสหัวออกจากประเทศนี้ไปซะ เบร็กซิทไปแล้วไง!
ตัวเราในเกมใช้ชีวิตในห้องเช่าแคบๆ ที่รัฐบาลขวาจัดย้าย ‘พวกยูโร’ มาอยู่ด้วยกัน ชื่ออาคาร Relocation Block B (อาคารย้ายถิ่น B) ตอนต้นปี 2018 เกือบสองปีหลังจากที่ชาวอังกฤษโหวตออกจากสหภาพยุโรป (ซึ่งในโลกจริง จะมีผลในปี ค.ศ. 2019) และประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลขวาจัด งานเดียวที่รัฐบาลอนุญาตให้เราทำ คือการไปเป็นคนเฝ้าประตูหรือ bouncer หน้าผับ เทศกาล และงานรื่นเริงในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ คอยเช็กอายุและเงื่อนไขอื่นๆ ของแขกที่อยากเข้าร้าน โดยจะมีเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองมาเยี่ยมเยือน ตรวจสอบความประพฤติเราอย่างสม่ำเสมอ โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่า “จงทำงานหนัก อย่าหาเรื่อง แล้วแกอาจจะได้รับอนุญาตให้อยู่อังกฤษต่อไป” เมื่อถึงเส้นตายคือคืนวันส่งท้ายปีเก่า ค.ศ. 2018 (เพราะปี 2019 จะเป็นปีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ)
Not Tonight ใช้กราฟิกและระบบเกมเหมือนถอดแบบมาจาก Papers, Please เกมที่ผู้เขียนชอบมาก (และเคยเขียนแนะนำไปแล้วก่อนหน้านี้) แทบทุกกระเบียดนิ้ว แต่กราฟิกสองมิติในเกมนี้มีรายละเอียดมากกว่า มีสีสันกว่า และรุ่มรวยอารมณ์ขันมากกว่า Papers, Please หลายขุม แต่พอเล่นไปได้สักพัก Not Tonight ก็มอบความสนุกอันเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเด่นชัด (ยังไม่นับว่าLucas Pope ผู้ออกแบบ Papers, Please ไม่เพียงแต่รับรู้ว่าเกมนี้เลียนแบบเกมของเขาเท่านั้น แต่ยังให้กำลังใจทีมออกแบบ Panic Barn อีกด้วย)
เกมสลับฉากระหว่างห้องเช่าของเรา ฉากคุยกับเจ้านายก่อนเริ่มงาน และฉากหลักคือการยืนขวางหน้าประตูผับหรืองานเทศกาลที่รับจ้างมาทำ หน้าที่ของเราคือต้องเช็กบัตรประชาชน พาสปอร์ต ตั๋วเข้างาน เสื้อผ้า และเงื่อนไขการคัดกรองอื่นๆ ที่นายจ้างกำหนดมาให้ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาที่จำกัด แต่ละ ‘กะ’ ในเกมนี้ใช้เวลาจริงเพียง 4 นาที แต่ทุกวินาทีมีความหมาย เพราะเราต้องคัดคนเข้างานให้ได้ตามเป้าหมายขั้นต่ำที่ถูกกำหนด เช่น ต้องรับแขกธรรมดา 20 คน แขกวีไอพีอีก 8 คน ในคืนนี้ ถ้าทำไม่ได้เราจะถูกตำหนิ หักค่าจ้าง และถ้าผิดพลาดบ่อยครั้งเข้า เกมก็จะจบก่อนเวลาอันควรด้วยการที่เราถูกอัปเปหิออกจากเกาะอังกฤษ
เราจะได้ค่าจ้างหลังจบงานทุกงาน ถ้ากรองแขกเข้างานได้มากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะได้เงินโบนัส และยังมีช่องทางอื่นๆ ที่จะได้เงิน เช่น รับสินบนจากคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ยอมหลิ่วตาข้างหนึ่งให้เขาหรือเธอเข้าไปได้ หรือหาเงินจากการขายยาเสพติดให้กับแขก แต่ถ้าทำแบบนี้เราจะถูกหักคะแนนความประพฤติหรือ social credit ซึ่งถ้าต่ำมากๆ เราก็จะถูกขับไล่ออกจากอังกฤษก่อนสิ้นปีได้เหมือนกัน
เงินที่ได้ในเกมมีประโยชน์อะไร? หลักๆ ต้องเอาไปจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และซื้อหรืออัพเกรดเฟอร์นิเจอร์ในห้อง และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น เช่น เดินเร็วขึ้นอีกเล็กน้อย หรือเหนื่อยน้อยลง สามารถทำงานหลายกะติดต่อกันได้โดยไม่เหนื่อย ถ้าเราทำงานติดกันมากๆ หลายวัน สุขภาพเราจะย่ำแย่ และเราก็ต้องพักผ่อนอยู่บ้านเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ แต่ถ้าวันไหนนอนอยู่บ้าน วันนั้นเราก็จะไม่มีเงิน ดังนั้นการเลือกว่าจะพักผ่อนวันไหน วันไหนจะไปทำงานที่ไหน (แรกๆ จะไม่มีทางเลือก แต่พอเล่นไปจะเลือกได้ว่าอยากรับงานที่ไหนในแต่ละวัน จากตัวเลือกสองตัว) โดยกะจังหวะใช้เงินและจ่ายค่าเช่าให้พอดี จึงเป็นส่วนสำคัญของ Not Tonight
เล่นไปสักพักเราจะต้องตัดสินใจทางศีลธรรมในทางที่คล้ายกับ Papers, Please ซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ว่า ต้องเลือกว่าเราจะเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อพยายามเปลี่ยนอังกฤษเข้าสู่เส้นทางที่ดีกว่า เกลียดคนต่างชาติน้อยกว่านี้ หรือว่าเราจะก้มหน้าก้มตาทำงานของเราไป และหวังว่าสักวัน อะไรๆ มันจะดีขึ้นและเบร็กซิทจะเป็นเพียงฝันร้ายในอดีตเท่านั้น
เนื้อหาของ Not Tonight เสียดสีการเมืองอังกฤษอย่างมีชั้นเชิง และเล่นกับประเด็นอื่นๆ อีกมากมายนอกจากเบร็กซิทเอง
ตั้งแต่ความเป็นไปได้ที่ระบบสุขภาพโดยรัฐจะถูกแปรรูปเป็นของเอกชน ทัศนคติอันเต็มไปด้วยอคติ (และหลายคนก็ไม่รู้ตัว) ต่อคนต่างเชื้อชาติ ระบบควบคุมทางสังคมแข็งๆ อย่างเช่นการให้คะแนนความประพฤติ (social credit) และความแร้นแค้นของการพยายามเอาตัวรอดไปวันต่อวัน
Not Tonight นับว่าฉายภาพ ‘ดิสโทเปีย’ ของประเทศอังกฤษในอนาคตอันใกล้ แต่เป็นดิสโทเปียที่ไม่หดหู่สิ้นหวังเหมือนดิสโทเปียในภาพจำของเรา เพราะตัวละครในเกมไม่ใช่ทุกคนที่โกรธแค้นและไร้ความหวัง บทสนทนาทั้งเกมเขียนด้วยอารมณ์ขันแนวจิกกัดตัวเองแบบอังกฤษที่สนุกและมีเสน่ห์มาก ไม่ว่าจะเป็นทุกฉากที่เราคุยกับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง (ที่คิดว่ากำลังยื่นมือมาช่วยเรา ด้วยท่าทีอวดเบ่งและอารมณ์ยกตนข่มท่านประมาณ ‘ฉันน่ะเจ๋งกว่าแกเยอะ’) ฉากคุยกับเจ้าของผับผู้มีน้ำใจ ผับถูกไฟไหม้ก็ยังดันทุรังเปิดขายเหล้าในซากผับ เพื่อหาเงินมาช่วยพนักงานชาวต่างชาติ หรือฉากการต่อล้อต่อเถียงกับเด็กสาวอายุไม่ถึง ที่ไม่เคยล้มเลิกความพยายามจะเข้าผับ – อารมณ์ขันเหล่านี้ Not Tonight ถ่ายทอดผ่านบทสนทนาคมกริบ พาดหัวข่าวรายวัน (อ่านได้ในสมาร์ทโฟนในเกม) และกราฟิกพิกเซลสองมิติที่ละเอียดและแต่ละย่านมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ทั้งหมดนี้ช่วยรักษาความสนใจของคนเล่นไปตลอดทั้งเกม แถมยังพยุงอารมณ์ระหว่างเล่นให้ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสงสารและหัวเราะในลำคอไปจนถึงฉากจบ ไม่ถึงขั้นโศกตรมแต่อย่างใด
Not Tonight ยกระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเพิ่มรายการสิ่งที่เราต้องเช็ก ซึ่งก็เป็นวิธีสื่อสารสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ของคนอังกฤษที่อพยพมาจากประเทศอื่น เช่น เริ่มต้นเราเพียงแต่ต้องดูว่าบัตรประชาชนถูกต้องหรือเปล่า (หน้าคนตรงกับรูปติดบัตร และยังไม่หมดอายุ) คนมีอายุเกิน 18 ปีจริงไม่ และชื่อของคนที่อ้างว่าเป็นแขกวีไอพีคนนั้นอยู่ในรายชื่อแขกวีไอพีของเราหรือเปล่า แต่ทำงานไปได้ไม่ถึงเดือน เราจะต้องเริ่มเช็กสัญชาติ เมื่อรัฐบาลขวาจัดเริ่มกีดกันคนต่างชาติเข้มข้น เงื่อนไขใหม่ๆ เช่น “ห้ามคนจากสามประเทศคู่อริของอังกฤษเข้ามา” (ฝรั่งเศส อิตาลี และไอร์แลนด์) จนสุดท้ายก็กลายเป็น “ให้เข้าได้แต่คนที่ถือสัญชาติอังกฤษเท่านั้น” และต่อให้ถือสัญชาติอังกฤษ คนคนนั้นก็ต้อง “มีคะแนนความประพฤติสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ” และ “ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ” (เช่น นักข่าว)
ระบบเกมฉายภาพสังคมที่ค่อยๆ ล่มสลาย สังคมที่ไม่น่าจะมีใครอยากอยู่รวมถึงคนที่สมาทานลัทธิคลั่งชาติ ได้อย่างชัดเจน
เกมนี้เล่นง่ายและเล่นได้อย่างราบรื่น มีเพียงเรื่องที่สร้างความรำคาญบางจุด เช่น ถ้าซื้ออุปกรณ์มาติดห้องเช่าอันใหม่มา เราไม่สามารถกลับไปเลือกอุปกรณ์ชิ้นเก่าได้อีก การคัดกรองบางเกณฑ์ดูออกยากมาก เช่น ตอนเฝ้าหน้าบาร์ชายหาด เจ้านายบอกไม่ให้คนที่ “แต่งตัวไม่เหมาะสม” เข้าร้าน คนใส่บิกินียังพอดูออก แต่คนที่สอดผ้าเช็ดตัวไว้ในกางเกงนี่ผู้เขียนดูตาแทบหลุดแล้วก็ยังมองไม่ออก ความที่มีขนาดไม่กี่พิกเซล ทำให้กลายเป็นฉากที่ยากเย็นเกินความจำเป็น (และก็เลยบอกลา ขอไปเฝ้าบาร์ปกติแทน ทันทีที่มีทางเลือก)
นอกจากนี้ บางครั้งก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เงินโบนัสเพียงเพราะว่าเราโชคร้าย เจอคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองหลายคนติดต่อกัน (การปฏิเสธคนใช้เวลามากกว่าการรับคนมาก เพราะต้องหาจุดที่ผิดพลาดให้เจอ และแจ้งเหตุผลที่ไม่ให้เข้า) แต่ปัญหาเหล่านี้นับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความเจ๋งของเกม ซึ่งนอกจากจะสนุกมากแล้วยังต้องให้เครดิตดนตรีประกอบที่สนุกสนาน เปลี่ยนแนวดนตรีไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับสไตล์ของผับที่เราไปเฝ้าประตูตลอดเกม
นอกจาก Not Tonight จะจับประเด็นร้อนฉ่าทางการเมืองมาออกแบบเป็นเกมเสียดสีอย่างมีชั้นเชิง และรุ่มรวยด้วยอารมณ์ขันแล้ว กระบวนการออกแบบเกมนี้ยังน่าสนใจมากตรงที่ให้คนเล่นมีส่วนร่วม และถกเถียงอภิปราย (ทั้งเรื่องเกม และเรื่องการเมือง!) กันตั้งแต่เนิ่นๆ ผ่านช่อง Discord ของเกมนี้ ซึ่งถูกใช้ในหลายวาระ เช่น จัดการแข่งขันว่าใครจะเป็นเจ้าของผับ (ในเกม) ที่ดีที่สุด ผ่านคำสั่งแชทใน Discord ทีมออกแบบทำแม้กระทั่งจัดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษจำลองในช่อง Discord ของตัวเอง ซึ่งก็แน่นอน ผู้สมัครหาเสียงแต่ละคนต้องประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเบร็กซิทเพราะอะไร
ล่าสุดก่อนปล่อยตัวเกมนี้ ทีมออกแบบประกาศตั้งราคาเกมโดยให้สมาชิก Discord ของเกมนี้โหวต! ทั้งหมดนี้แปลว่าสมาชิกกว่า 10,000 คนใน Discord ของ Not Tonight แปรสภาพเป็น ‘กองเชียร์’ แทบจะทันทีที่เกมนี้วางขาย และแม้แต่คนที่บอกว่าไม่ชอบจุดยืนทางการเมืองของเกมนี้เลย (ซึ่ง ‘ไม่เอา’ เบร็กซิทอย่างชัดเจน ดูง่ายๆ จากความเสื่อมโทรมของอาคารบ้านเรือน และนโยบายรัฐที่เผด็จการขึ้นเรื่อยๆ ในเกม) หลายคนก็ยังเล่นจนจบ และบอกว่าเกมนี้สนุกมาก (โดยเล่นไปก็ด่าไปด้วย!)
ความสำเร็จของ Not Tonight ในแง่การขาย เป็นเครื่องสะท้อนว่า การเลือกประเด็นที่อื้อฉาวหรือแหลมคม หรือมีการทุ่มเถียงกันมากมายไม่สิ้นสุดในโลกจริง มาทำเป็นธีมหลักของเกม แทนที่จะเลือกแต่ประเด็น ‘ปลอดภัย’ โลกสวยไร้ข้อครหามาทำเกมนั้น ไม่จำเป็นจะต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า หรือดึงดูดแต่เสียงด่าจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของคนทำเกมเสมอไป ในทางตรงกันข้าม เสียงด่านั้นเองที่ทำให้คนอื่นหันมาสนใจลองเล่นเกมมากขึ้น และก็ถกเถียงกันมากขึ้นถึงประเด็นใหญ่ในโลกจริง