1
วันหนึ่ง ขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ป.5 จำได้ว่าครูสอนวิชาสังคมศึกษา เอาเทป VHS 2 ม้วนมาเปิดในวิชาประวัติศาสตร์ ม้วนแรกเป็นเรื่อง 14 ตุลาฯ ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์ บริบทสังคม และชัยชนะ ส่วนอีกม้วน เป็นวิดีโอขาวดำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ความยาวน้อยกว่ากันมาก ไม่ได้มีเนื้อหาอะไร แต่เป็นภาพบันทึกการ ‘สังหารหมู่’ อย่างเหี้ยมโหด
ภาพที่เราได้เห็นในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการยิง M-79 เข้าไปในธรรมศาสตร์ ภาพการทารุณกรรมศพ การฟาดเก้าอี้ หรือเอาศพมากองรวมกันเผานั่งยาง ก็มาจากวิดีโอชุดนั้น ซึ่งเป็นการ ‘บันทึกเทป’ โทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมเพื่อออกอากาศในช่วงบ่ายวันที่ 6 ต.ค. ในปีนั้น
ผมจำได้ว่ามันค่อนข้างโหดร้ายกับเด็ก ป.5 ไม่ใช่น้อย จำได้ว่ามีหลายคนดูไม่จบ ขอออกจากห้องไปก่อน ส่วนหลายคนดูไปก็ทำหน้าสะอิดสะเอียนไป ส่วนครูที่สอนเอง ก็ไม่ได้บรรยายอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่ใช้วิดีโอเป็นสื่อการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้จบครบถ้วน เพราะในแบบเรียนสังคมศึกษา ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าวิชา สปช. อธิบาย 6 ตุลาฯ แค่บรรทัดเดียว ว่าเกิดการ “ล้อมปราบ” และตามมาด้วยการรัฐประหารเท่านั้น
แต่บรรทัดเดียวของ 6 ตุลาฯ ในหนังสือสปช. และวิดีโอที่แทบไม่ได้อธิบายความเป็นมาอะไร ทำให้พวกเราจำนวนหนึ่ง ได้ไปหาความรู้ต่อ สัก 20 ปีที่แล้ว ความรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ สำหรับเด็กประถมยังจำกัดมาก อินเตอร์เน็ตยังเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีหนังสือของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ไม่มีบทความของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีเพียงหนังสือเล่มแดงๆ ที่รวมภาพขาวดำของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างละเอียด
ในเวลานั้น มุมมองต่อ 6 ตุลาฯ ของผมไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่รู้ว่าครั้งหนึ่ง มีความโหดร้ายเกิดขึ้น และเป็นผลพวงจากความแตกแยก การปลุกปั่น จนเกิดการสังหารหมู่ขึ้น ส่วนใครทำอะไร และความเป็นมาเป็นอย่างไร ข้อจำกัดในขณะนั้น ทำให้เราไม่รู้อะไรข้างหลังเลย
2
ผมมารู้ทีหลังว่า 6 ตุลาฯ เพิ่งถูกพูดถึงครั้งแรกก็ตอนครบรอบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539 และเริ่มมีการรำลึกอย่างจริงจังก็ตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ‘ระบบ’ ของเรา ต้องการ ‘ฝัง’ เหตุการณ์นี้ให้ลึกที่สุด เพราะขัดกับศีลธรรมอันดี แย้งกับความเป็น ‘สยามเมืองยิ้ม’ อย่างชัดแจ้ง
ทั้งที่เมื่อ 40 ปีก่อน ชุดความคิดว่าด้วยการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นชุดความคิดกระแสหลัก เด็กทุกคนที่เกิดในเวลานั้น ถูกปลูกฝังให้เกลียด ให้กลัวคอมมิวนิสต์ ที่เรียกว่าเป็น ‘ภัยแดง’ ทั่วประเทศ มีคนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เต็มไปหมด หลายคนเป็นจริง แต่หลายคนเพียงแค่ถูกกล่าวหา แต่ก็ถูกจับตัว ถูกฆ่า ทว่าหลังจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ เรื่องพวกนี้ก็ถูกฝังกลบไปด้วย แล้วพยายามสร้างความทรงจำใหม่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า “คนไทยรักกัน” ไม่เคยมีความขัดแย้งใดๆ แทน
เอาเข้าจริง 6 ตุลาฯ เพิ่งจะมาอยู่ในกระแสหลักกันจริงจัง เมื่อครบวาระ 40 ปี หลังจากถูกปั่นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ และหลังจากเพลงประเทศกูมี เอาเหตุการณ์ที่ท้องสนามหลวงไปใส่ในมิวสิกวิดีโอเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะกลายเป็น trending ในทวิตเตอร์อีกครั้ง มีคนทวิตหลายแสนข้อความเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
หากมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า 6 ตุลาฯ เป็นหมุดหมายสำคัญมากในประวัติศาสตร์ และยังมีผลมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่สำคัญของรอยต่อปี พ.ศ. 2518 – 2519 ก่อนจะเกิด 6 ตุลาฯ กำลังจะบอกก็คือ ไม่ว่าอย่างไร ฝ่ายชนชั้นนำย่อม ‘กลัว’ อำนาจใหม่ที่พวกเขาเข้าไม่ถึง ไม่มั่นใจสิ่งที่มองไม่เห็น
3
นอกเหนือจากการสังหารโหดแล้ว หากพยายามสรุป 6 ตุลาฯ ก็จะพบความหมายแวดล้อมว่า เหตุการณ์เช้าวันนั้น เกิดจากความพยายามสำคัญ 3 เรื่อง ก็คือ 1.ต้องยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีที่อ่อนปวกเปียก ไม่เข้มแข็งมากพอ ทั้งในการจัดการนักศึกษา และในการป้องกันประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ เพราะพนมเปญเพิ่งแตกเมื่อปี พ.ศ. 2518 หรือ 1 ปีก่อนหน้านั้น และมี “fake news” เกิดขึ้นทุกวันว่าเวียดนามเตรียมบุกกรุงเทพฯ
2.จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ต้องหาวิธีการจัดการกับขบวนการนักศึกษา ขบวนการกรรมกร-ผู้ใช้แรงงาน ที่เติบโตขึ้นมาก และมีแนวคิดไปทาง ‘ซ้าย’ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อไป และ 3.ทุกขั้นตอนของ 6 ตุลาฯ มีการวางแผน ตั้งแต่สร้างความกลัวด้วยการทยอยลอบสังหารผู้นำแรงงาน นักศึกษา นักวิชาการ มีการใช้ระเบิด มีกระบวนการจัดตั้งของฝ่ายขวาที่ข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคน ‘เข้าป่า’ ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อสร้างเงื่อนไข ทั้งการล้อมปราบ และการยึดอำนาจ
ส่วนบรรดาฝ่าย ‘ผู้กุมอำนาจ’ ต่างก็สรุปบทเรียนตรงกันว่า เรื่องการพาจอมพลถนอม กิตติขจร บวชพระกลับมาในไทย การแขวนคอช่างไฟฟ้าที่สามพราน จ.นครปฐม หรือหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันที่ 5 ต.ค. นั้น เป็นเพียงเงื่อนไข ที่ทำให้เกิด ‘ไคลแมกซ์’ ให้เห็นว่ารัฐบาลเสนีย์เอาไม่อยู่ ปูทางไปสู่การรัฐประหารตอนเย็นวันนั้น โดยที่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ คนที่ทำรัฐประหาร ยอมรับเองด้วยซ้ำว่า มีอีกหลายคน หลายกลุ่ม รอรัฐประหารอยู่เหมือนกัน เลยต้องรีบชิงยึดอำนาจก่อน
ที่สำคัญก็คือ มีการวางแผนโดยทหารที่ไม่ใช่ระดับผู้นำอยู่หลายเดือน เพราะในเวลานั้น ทหารหลายขั้วก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวแม้กระทั่งกับผู้นำเหล่าทัพ นั่นสะท้อนให้เห็นว่า มีสภาพของ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ปกคลุมอยู่ตลอด
ที่ยังคลุมเครือจนถึงทุกวันนี้ และทำให้การพูดถึง 6 ตุลาฯ ยังคงจำกัดอยู่ก็คือ ปฏิบัติการในเช้าวันที่ 6 ตุลานั้น วางแผนมานานขนาดไหน และพวกเขาตั้งใจให้เกิดความรุนแรงมากขนาดนั้นหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘อุบัติเหตุ’ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด จนกลายเป็น ‘รอยด่าง’ ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงอีก
4
ปัญหาใหญ่ของเหตุการณ์นี้ก็คือ ผ่านมา 43 ปี ก็ยังไม่จบ แม้ในทางประวัติศาสตร์ จะพิสูจน์แล้วว่า ‘ล้มเหลว’ ทั้งในฝ่ายรัฐบาลหลังรัฐประหาร ซึ่งพยายามวางแผน ‘ปฏิรูปประเทศ’ 12 ปี และกวาดล้างคอมมิวนิสต์ให้หมด แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด อยู่ได้เพียงปีเดียวก็โดนรัฐประหารซ้อน และแม้จะมีคำสั่ง 66/23 และ 65/25 ออกมา เพื่อให้บรรดาผู้ที่เข้าป่าออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็ตาม
และแม้ก่อนหน้านั้น จะมีการนิรโทษกรรมทั้งฝ่ายนักศึกษาที่ติดคุก และฝ่ายผู้ที่ก่อเหตุสังหารหมู่ เพราะรัฐบาลไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาผิดฝ่ายนักศึกษาได้ ขณะเดียวกัน เมื่อกระบวนการศาลดำเนินการต่อไป ประชาชนยิ่งสนใจกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงมากขึ้น
เช่นเดียวกับความขัดแย้งในกองทัพ ที่เป็นเหตุให้ ‘สายประนีประนอม’ ชนะสาย ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ทำให้ 6 ตุลาฯ ยุติแบบค้างคาไปพร้อมกับการปล่อยตัวนักศึกษา ซึ่งทำให้บรรดาขวาพิฆาตซ้ายไม่ได้รับชัยชนะแบบที่พอจะกล่าวเป็นเกียรติประวัติให้วงศ์ตระกูลได้ คงเหลือแต่เพียงเรื่องเล่าว่าใครพยายามทำอะไรในเวลานั้น เท่านั้น
แต่หากลากเส้นต่อเนื่องมา ก็จะพบว่าการต่อสู้ทางความคิดของตัวละครในวันนั้น หรือตัวละครที่สืบเนื่องจากวันนั้น ยังคงอยู่
ความ ‘ไม่จบ’ นี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ 6 ตุลาฯ ไม่ถูกกล่าวถึง แบบเรียนว่าด้วย 6 ตุลาฯ ในปัจจุบัน กลับเลวร้ายกว่าเดิม หนังสือส่วนใหญ่เลือกจะไม่พูดถึง แต่ก็โชคดีที่ว่ามีข้อมูลให้อ่านมาก มีบทความที่หลากหลาย กระจายอยู่ทั่วโลกออนไลน์ ไม่ต้องอยู่ในมุมมืด เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
5
ประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า 6 ตุลาฯ ยังไม่จบก็คือ ผ่านมา 43 ปี การเรียกฝ่ายตรงข้ามว่า “ซ้ายจัด” ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เพิ่งเรียกนักวิชาการ – นักเรียนทุนนอกว่าพวก “ซ้ายจัดดัดจริต” พร้อมกับไล่บางพรรคการเมืองไปฟังเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ เช่นเดียวกับการปลุกอุดมการณ์ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสียเข้มข้น ราวกับว่ายังมีคอมมิวนิสต์กระจายตัวในป่า หรือรอบบ้านเหมือนเมื่อ 40 – 50 ปีที่แล้ว
เช่นเดียวกัน ความกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น ในฐานะภัยคุกคามก็ยังคงอยู่ การใช้วิธีนี้อาจเป็นนัยว่าพวกเขาไม่เคยยอมรับว่า 6 ตุลาฯ เป็น ‘ความผิดพลาด’ และยังคงคิดว่าเป็นวิธีการที่ได้ผล จึงใช้วิธีการเดิมๆ ที่น่าจะตกยุคไปนานมากแล้วให้กลับมา ‘มีชีวิต’ อีกครั้ง
เพราะในแง่หนึ่ง 6 ตุลาฯ สำหรับ ‘พวกเขา’ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร และสุดท้าย ก็ไม่มีใครต้องรับผิด แม้ผลลัพธ์จะตามมาด้วยการตายจำนวนมาก มีภาพการทารุณกรรมเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ ‘ขบวนการนักศึกษา’ ไม่เคยเป็นเสี้ยนหนามพวกเขาอีกต่อไป ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ และผลทางจิตวิทยาที่ตามมาก็คือ ความรู้สึกของหลายคนที่จะมองว่า ‘ไม่คุ้ม’ หากเอาตัวเองเข้าไปแลก กับการต่อสู้กับ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’
เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไร หากจะมีความพยายามที่จะทำให้เกิด 6 ตุลาฯ อีกครั้ง เพราะในเมื่อเหตุการณ์ 43 ปีก่อน เป็นความตั้งใจ ไม่ใช่ความผิดพลาด สิ่งที่พวกเขาพยายามบอกด้วยการไม่กล่าวถึง ไม่สรุปบทเรียน ก็อาจสะท้อนว่าอาจเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาฯ อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้
และในที่สุดแล้ว อาจไม่มีใครต้องรับผิดเหมือนเดิม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา และอาจเป็นได้ตลอดไป…