1.
วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1973 ที่ธนาคารแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ชายคนหนึ่งแต่งกายใส่เสื้อแจ็กเก็ตหิ้วกระเป๋าเอกสารเข้าไปในธนาคาร ท่าทางของเขาก็เหมือนลูกค้าทั่วๆ ไปที่มาทำธุรกรรมปกติ
แต่ในชั่วพริบตานั้น ชายคนนี้กระชากปืนกลมือออกมาจากเสื้อแล้วยิงขึ้นไปที่เพดานของธนาคาร ทำเอาทุกคนแตกตื่นกัน ก่อนที่เขาจะพูดด้วยสำเนียงอเมริกันอย่างดีเยี่ยมว่า “ปาร์ตี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว…”
2.
การก่อเหตุครั้งนี้ คนร้ายเตรียมตัวเองเป็นอย่างดี นอกจากปืนกลมือที่ซ่อนในแจ็กเก็ตแล้ว กระเป๋าเอกสารยังมีกระสุนสำรอง มีด ระเบิดพลาสติก อุปกรณ์ทำระเบิด เชือก วิทยุสื่อสาร และวิทยุไว้ฟังข่าว ตอนก่อเหตุเขาสวมถุงมือ และมีอีกคู่เตรียมมาด้วย นี่กลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์สื่อมวลชนของสวีเดน เป็นครั้งแรกที่สื่อได้ถ่ายทอดสดวิกฤตนี้จนจบ และมียอดคนดูเพิ่มกว่า 73%
ขณะก่อเหตุนั้น มีพลเมืองดีกดสัญญาณเตือนลับไปยังตำรวจได้ จนมีการดวลปืนกันขึ้นในธนาคารทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่คนร้ายจะสั่งอพยพคนไม่เกี่ยวข้องออกไปให้หมด ซึ่งมีด้วยกันกว่า 40 คน แต่ให้คงเหลือพนักงานธนาคารหญิงไว้ 3 คนเพื่อเป็นตัวประกัน ต่อมาคนร้ายจะพบพนักงานชายที่ซ่อนตัวอยู่เพิ่มอีก 1 คน จึงทำการเรียกให้มาเป็นตัวประกันเพิ่มด้วย โดยคนร้ายได้พาตัวประกันทั้งหมดไปกองรวมกันในห้องนิรภัยของธนาคารชั้นล่างก่อนใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา เกือบ 6 วัน
เมื่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาเจรจาในธนาคารด้วย ชายหนุ่มได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ข้อแรกเขาขอให้ตำรวจไปพาตัว คลาร์ก โอลอฟสัน (Clark Olofsson) นักโทษที่ติดคุกอยู่และมีประวัติอาชญากรมากมายมาที่ธนาคารแห่งนี้
ข้อ 2 เขาเรียกร้องเงิน 3 ล้านโครเนอร์ซึ่งเป็นสกุลเงินของสวีเดน โดยครึ่งหนึ่งต้องเป็นธนบัตรสวีเดน อีกครึ่งต้องเป็นธนบัตรต่างประเทศ ข้อ 3 เขาขอรถที่เร็วเพื่อจะใช้ในการหลบหนี โดยเขาขอหมวกกันน็อก เสื้อเกราะกันกระสุนที่ตำรวจต้องมอบให้เขากับตัวประกันทั้ง 4 คนใส่ขณะขึ้นรถหลบหนีด้วย
แม้จะเป็นข้อเสนอสุดเหลือเชื่อ แต่เพราะค่านิยมของสังคมสวีเดนนั้นไม่ชอบความรุนแรง แถมเหตุการณ์นี้ดันเกิดขึ้นในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เหล่านักการเมืองไม่กล้าเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการอันอาจจะส่งผลต่อคะแนนนิยมตัวเองได้ อีกทั้งในขณะนั้นรัฐบาลสวีเดนเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้ายสังคมนิยมสนับสนุนการปฏิรูปเรือนจำ
ไม่เน้นการคุมขังแต่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักโทษ
ผู้ก่อเหตุรู้ดีว่าเขาได้เปรียบกับการอาศัยช่องโหว่นี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับฟังข้อเสนอแล้วส่งเรื่องไปให้รมว.ยุติธรรมพิจารณาและอนุมัติตามคำขอเกือบทั้งหมดในเวลาต่อมา
3.
สิ่งที่รมว.ยุติธรรมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคนร้ายก็คือการนำตัวประกันนั่งรถหลบหนีไปด้วย โดยรัฐมนตรีย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่าเป้าหมายสำคัญของการจัดการวิกฤตตัวประกันครั้งนี้คือมอบหมายงานให้ตำรวจมีอิสระเต็มที่ แต่ต้องพิจารณาคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวประกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดด้วย
ข้อเสนอแรกได้รับการตอบสนอง เมื่อคลาร์ก โอลอฟสันถูกพาตัวเข้าไปยังธนาคาร เจ้าหน้าที่ย้ำว่าให้ช่วยโน้มน้าวตัวคนร้ายให้ยอมวางอาวุธและปล่อยตัวประกันให้ได้ คลาร์กยังงุนงงในตอนแรกว่า ทำไมคนร้ายรายนี้ถึงเลือกเขา
จนเมื่อตัวเองถูกพาตัวไปยังห้องนิรภัยที่ชั้นล่างของธนาคาร ที่นั่นเขาได้เผชิญหน้ากับคนร้าย “เกิดอะไรขึ้นกันวะเนี่ย” คลาร์กพูดกับคนร้ายเป็นภาษาสวีดิช และในชั่วพริบตานั้น เขาก็จำชายผู้ก่อเหตุได้ทันที
ที่แท้ชายที่ก่อเหตุซึ่งพูดภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นคนสวีเดน ชื่อของเขาคือยาน เอริค โอลซ์สัน (Jan-Erik Olsson) อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาคดีงัดแงะตู้เซฟ ชำนาญในการประกอบระเบิด แถมมีสมองอันเฉลียวฉลาด เขาคืออาชญากรตัวเอ้ซึ่งเคยติดคุกอยู่ที่เดียวกับคลาร์กช่วงหนึ่งและทั้งสองมีความสนิทสนมกันมาก
นักประวัติศาสตร์ต่างฉงนกับการที่ทางการสวีเดนตอบรับข้อเสนอแรกของเอริคอย่างง่ายดาย เพราะตัวคลาร์กนั้นเป็นอาชญากรที่ร้ายกาจอย่างยิ่ง ปล้นธนาคารบ่อยแถมแหกคุกอย่างง่ายดายบ่อยครั้ง เคยหนีออกนอกสวีเดนไปไกลถึงประเทศเลบานอนแล้วก็กลับมาก่อเหตุในประเทศ ตัวคลาร์กอายุแค่ 27 ปีในตอนนั้น หนุ่มแน่นหน้าตาหล่อเหลา ความดังและความหล่อทำให้เกิดปรากฎการณ์คลั่งคลาร์กกันมาก มีคนกรี๊ด สื่อตามถ่ายภาพขณะขึ้นศาลอยู่เสมอ
นอกจากนี้ 2 สหายโจรต่างมีความเฉลียวฉลาดในระดับหัวกะทิ
ดังนั้นแทนที่จะไปกล่อมคนร้ายให้ปล่อยตัวประกัน
มันดันกลายไปเพิ่มประสิทธิภาพ
การทำงานของคนร้ายให้มากขึ้นไปอีกด้วย
หลังเกิดเหตุ ตำรวจเชื่อว่าคลาร์กอาจเกี่ยวข้องกับการวางแผนเรื่องนี้ด้วย เพราะมีรายงานว่าเขาแนะนำที่พักให้เอริคไปอยู่ก่อนจะก่อเหตุไม่นาน แถมระหว่างที่อยู่ธนาคาร คลาร์กยังช่วยจัดการวางแผนลบภาพกล้องวงจรปิด เคลียร์ทางคอยดูไม่ให้ตำรวจบุกเข้ามาในห้องนิรภัยด้วย
ข้อเสนอแรกผ่านไปอย่างง่ายดาย ข้อเสนอที่ 2 จึงตามมา เมื่อตำรวจนำเงินมาให้ตามเงื่อนไขที่ขอไป เมื่อได้เงินครบ ตำรวจนำรถฟอร์ดมัสแตงสีน้ำเงินน้ำมันเต็มถังมาให้ตามข้อเสนอที่ 3 แต่เพราะคนร้ายต้องการพาตัวประกันไปด้วย
ซึ่งเป็นสิ่งที่รมว.ยุติธรรมไม่ยินยอม มันจึงไม่เกิดการปล่อยตัวขึ้น ตัวประกันจึงต้องอยู่กับอาชญากร 2 คนในชั้นใต้ดินห้องนิรภัย ส่วนเจ้าหน้าที่อยู่ชั้นบน ส่งข้อความอาหารถึงกันและพยายามเจรจากันอย่างต่อเนื่องพร้อมหาวิธีการเข้าจับกุมยุติวิกฤตตัวประกันให้ได้โดยเร็ว
ที่ห้องนิรภัยของธนาคาร โจร 2 คนกับตัวประกัน 4 คนได้อยู่ด้วยกัน จนเกิดเหตุการณ์ที่จะถูกเรียกขานกันต่อมาว่าสต็อกโฮล์ม ซินโดรม
4.
ตัวประกันทั้ง 4 คนเป็นพนักงานธนาคารทั้งหมด ขณะโดนจับตัวประกันนั้นตัวประกันหญิงสาวคนหนึ่งกลัวที่แคบในห้องนิรภัยและขอร้องให้คนร้ายปล่อยให้เธอเดินออกจากห้องนิรภัยเพื่อคลายความวิตกบ้าง คนร้ายอนุญาตเพียงแต่มีข้อแม้ต้องให้เอาเชือกคล้องคอหญิงสาวไว้เพื่อไม่ให้หลบหนี ต่อมาจะมีตัวประกันหลายคนผลัดกันเดินออกมานอกห้องนิรภัยด้วยวิธีนี้ มันเป็นความรู้สึกแรกของเหล่าตัวประกันว่าคนที่จับพวกเธอนั้นไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรเลย
ด้านตัวประกันชายหนึ่งเดียวเคยถูกทดสอบ โดย 2 โจรเอาปืนกลมือไปวางบนเก้าอี้ เพื่อลองใจว่าชายหนุ่มจะชิงเอาปืนไปใช้ไหม ปรากฏว่าเขาไม่ได้เอาไป โดยในระหว่างการควบคุมตัวนั้น เขาอนุญาตให้เหล่าตัวประกันโทรศัพท์แจ้งที่บ้าน แถมยังช่วยปลอบใจเหล่าตัวประกันผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งถึงขั้นปาดน้ำตาออกจากแก้ม ให้กำลังใจด้วยคำพูด
มนุษย์ 6 คนต่างอยู่ในที่แคบๆ ร่วมกัน ยิ่งใกล้ยิ่งได้พูดคุย ความผูกพันบางอย่างก่อตัวขึ้น ยิ่งอยู่ด้วยกันหลายวัน ตัวประกันกับเหล่าโจรได้แลกเปลี่ยนสนทนา กิน หลับด้วยกัน
ความเห็นอกเห็นใจกันโดยเฉพาะตัวประกัน
กับเหล่าคนร้ายก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ
ตัวประกันหญิงรายหนึ่งนอนหลับไป แล้วตื่นขึ้นมาพบว่า ตัวเอริคเอาเสื้อโค้ตมาคลุมให้เพื่อไม่ให้เธอหนาวสั่นจนเกินไป มันทำให้เหล่าตัวประกันประทับใจในตัวคนร้ายเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่ทำให้ทางการตกใจในความเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของตัวประกันก็คือ มีตัวประกันหญิงคนหนึ่งโทรศัพท์ไปหานายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ระหว่างรอการเลือกตั้งอย่างโอลอฟ พามเมอ (Olof Palme) นักสังคมนิยมฝ่ายซ้ายผู้ยิ่งใหญ่เพื่อร้องขอให้ปล่อยคนร้าย 2 คนหนีไปร่วมกับตัวประกันทั้ง 4 ในรถเลย สถานการณ์จะได้จบๆ สักที เพราะเหล่าตัวประกันเองก็กลัวว่าตำรวจจะก่อเหตุฆ่าคนร้ายถ้าไม่มีตัวประกันนั่งรถไปด้วยอย่างแน่นอน ถึงตรงนี้ตัวประกันไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่อีกต่อไป แต่กลับไปเชื่อใจคนที่จับตัวพวกเขาเองมากกว่า
ในที่สุด 6 วันหลังการจับตัวประกัน ตำรวจตัดสินใจเข้าชาร์จจับกุม โดยการหย่อนระเบิดเสียง แก็สน้ำตา ใส่หน้ากากกันแก๊ส หน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าบุกจับกุมคนร้ายและตัวประกันซึ่งก็อ่อนล้าเต็มที เมื่อเจอการบุกชาร์จ ทุกคนต่างมอบกับพื้น อาเจียน น้ำหูน้ำตาไหล หายใจไม่ออก แสบแก้วหู โดย 2 โจรต่างพูดว่า “เรายอมแล้ว เอาพวกเราออกไปที”
ทีแรกนั้น ตำรวจก็เดาความเป็นไปได้ที่คนร้ายจะฆ่าตัวประกัน จะยิงสู้กับตำรวจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ 2 โจรกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งวางอาวุธช่วยเก็บระเบิด ยอมถูกใส่กุญแจมือ ทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบง่ายเสียด้วยซ้ำเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่จะคาดคิดถึง โดยเฉพาะเหล่าตัวประกันทั้ง 4 ที่มีอาการเศร้าสร้อยโอบกอดร่ำลากับคนร้าย 2 คนด้วยความอาลัย ถึงขนาดที่ตัวประกันคนหนึ่งตะโกนออกมาจากรถพยาบาลบอกกับตัวคลาร์กว่า “เราคงได้พบกันอีก”
เหตุการณ์ทุกอย่างนี้ตกอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนอยู่แล้ว มันนำไปสู่คำถามสำคัญว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อาลัยผูกพันกันระหว่างตัวประกันกับอาชญากรขึ้นมาได้
5.
หลังเกิดเหตุนักจิตวิทยาเข้ามาตรวจสอบสภาพจิตใจเหล่าตัวประกันทั้ง 4 ทันที สิ่งที่พวกเขาพบคือ ตัวประกันทุกคนตกอยู่ในอาการช็อกตกใจในระดับเดียวกับที่ทหารช็อกระหว่างการทำสงคราม พวกเขาจึงพบว่าร่างกายมนุษย์มีกลไกบางอย่างที่สามารถปรับตัวลดความเครียด ทำให้ตัวประกันมีความเห็นอกเห็นใจผู้ก่อเหตุ ถึงขนาดว่า ปวารณาตัวเองเป็นอาชญากรพวกเดียวกัน แล้วมองตำรวจเป็นผู้ร้ายได้อย่างเหลือเชื่อ
ข้อค้นพบนี้ จึงนำไปสู่การเรียกขานว่า อาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรมในเวลาต่อมา ก่อนจะโด่งดังหลังเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลโดยทนายความของแพทริเซีย เฮิร์ส (Patricia Hearst) ซึ่งโดนจับเป็นตัวประกันโดยองค์กรซ้ายหัวรุนแรงแล้วต่อมาเธอกลับมาจับปืนร่วมปล้นธนาคารกับกลุ่มคนร้าย
โดยทนายความของเฮิร์สพยายามโน้มน้าวลูกขุนว่าหญิงสาวมีอาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรม ซึ่งแม้ลูกขุนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้อาการสต็อกโฮล์ม ซินโดรมมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีเหยื่อจากการลักพาตัวบางคนเจออาการนี้ บางคนถึงขนาดร้องไห้เมื่อทราบข่าวว่าคนที่จับตัวมาเสียชีวิตด้วยซ้ำไป
หลังเกิดเรื่องเหล่าตัวประกันทั้งหมดต้องเข้ารับการบำบัดสภาพจิตใจ มีบางคนฝันร้ายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น แต่น่าแปลกที่ไม่มีการพูดจาให้ร้าย 2 อาชญากรแต่อย่างใด แถมยังมีตัวประกันบางคนไปเยี่ยมผู้ต้องหาในเวลาต่อมาด้วย
ในเวลาต่อมาศาลจะยกฟ้องความผิดคลาร์กในเรื่องนี้ แต่เขายังต้องติดคุกในความผิดอื่น แต่สุดยอดอาชญากรอย่างเขาได้ทำการแหกคุกอีกครั้งแล้วกลับไปก่อเหตุ โดนจับ ก่อเหตุ โดนจับ เป็นวงจรซ้ำๆ ที่ทำให้เขามีชื่อเสียงอย่างมาก กลายเป็นตำนานอาชญากรของสวีเดนในเวลาต่อมา
ขณะที่ตัวเอริคจำคุกในคดีนี้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็ออกมาจากคุกในช่วงยุค 80 โดยขณะติดคุกมีจดหมายจากสาวๆ ส่งมาถึงเขามากมาย และเขาเคยแต่งงานกับหญิงสาวที่ส่งจดหมายมาบอกรักเขาในคุกด้วย ในปี ค.ศ.1996 ได้ย้ายมาอยู่ภาคอีสาน ประเทศไทยกับภรรยาชาวไทยซึ่งมีลูกติด ก่อนจะกลับไปสวีเดนแล้วพิมพ์หนังสือชีวประวัติเหตุการณ์ในวันนั้นพร้อมกับกล่าวขอโทษเหล่าตัวประกันทั้ง 4
ทั้งนี้ไม่ใช่เหล่าตัวประกันเท่านั้นที่เกิดความผูกพันกับอาชญากร เพราะตัวเอริคเองก็ผูกพันกับเหล่าตัวประกันด้วย แม้เขาจะไม่มีความคิดที่จะฆ่าตัวประกันเลย แต่ในช่วงแรกนั้นถ้าจะต้องฆ่าตัวประกันเขาบอกว่ามันทำได้ง่ายมาก แต่เมื่ออยู่ๆ ไปเขาก็เห็นบางอย่างในตัวประกัน เห็นความเป็นคนและเริ่มผูกพันกับตัวประกันไปด้วย
“เราอยู่ด้วยกันทุกวัน ทำความรู้จักกันเพราะมันไม่มีอะไรให้ทำมาก ผมจะฆ่าใครได้ล่ะ คนหนึ่งก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อีกคนก็มุ่งมั่นจะมีชีวิตอยู่ คนหนึ่งก็ยังเด็กแต่กล้าหาญมาก คนหนึ่งก็คิดถึงลูกและสามี…”