‘Bullfight’ เป็นเรื่องราวของซึกามิ หนุ่มใหญ่ที่ตลอดทั้งชีวิตเหมือนจะไม่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานใดๆ ปัจจุบันเขากลายเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ธรรมดาๆ ฉบับหนึ่ง ซึ่งเกิดความนึกฝันไปว่าอาจจะร่ำรวยขึ้นภายหลังการจัดแข่งกีฬาวัวชน โดยการรับซื้อและจำหน่ายวัวที่เข้าร่วมเหล่านั้น แล้วขายต่อให้กับโรงชำแหละด้วยกำไรสองเท่าจากต้นทุน
แต่หนทางสู่ความสำเร็จนั้นกลับไม่ได้เป็นไปโดยง่ายเหมือนเช่นที่วาดฝันไว้ เพราะทั้งตัวของซึกามิ คนทำงานในสำนักพิมพ์ รวมถึงทาชิโรผู้ริเริ่มโครงการต่างก็ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาประสานศึกรอบทิศ เพื่อให้งานชนวัวที่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับภูมิภาคนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ตั้งแต่ขนส่งวัวจากเมืองอื่นเข้ามา จัดหาอาหาร ที่พักพิง ตลอดจนถึงการก่อสร้างลาน (ที่ใช้สนามเบสบอลมาดัดแปลง) การวางแผนโฆษณา การหาเงินลงทุน และได้อุทิศหน้าข่าวแทบทั้งหมดให้กับการประชาสัมพันธ์ จนเกือบจะกลายเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาวัวชน โดยระหว่างที่ซึกามิเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ประเดประดังเข้ามา เราจึงได้ทราบว่า เขายังมีอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นอยู่เบื้องหลัง นั่นคือการที่คนรักของเขา ซาคิโกะกำลังมาถึงจุดที่ต้องการจะหยุดความสัมพันธ์
ซึกามิพบรักกับซาคิโกะในช่วงสงครามที่ทำให้เขาต้องส่งภรรยาและลูกสองคนไปหลบภัยยังต่างจังหวัด โดยให้บังเอิญว่าคนรักเก่าของซาคิโกะที่เป็นเพื่อนของซึกามิเสียชีวิตพอดี ซึกามิผู้ที่มีครอบครัวอยู่แล้วกลายเป็นคนรักใหม่ของเธอหลังจากนั้น เธอรักเขา แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเขาอาจเป็น ‘คนไม่ดี’ ทั้งจากความเย็นชาไร้หัวใจ หรือแทบไม่เคยแสดงออกถึงความห่วงใยใดๆ เลย นั่นเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจเดินทางไปหาซึกามิถึงสนามวัวชน ในช่วงที่เขากำลังวิ่งวุ่นสาละวนตระเตรียมจัดการงานต่างๆ ภายใต้แรงกดดัน
และเธอก็ต้องรู้สึกเหมือน
ถูกเขาผลักไสอีกครั้งหนึ่ง
Bullfight (ค.ศ.1949) เป็นนวนิยายสั้นในลำดับที่ 2 ของยาสุชิ อิโนะอุเอะ (Yasushi Inoue) ที่ได้รับรางวัล Akutagawa ในปี ค.ศ.1950 ซึ่งให้บังเอิญว่าในบ้านเราเคยมีผลงานของอิโนอุเอะแปลและตีพิมพ์ออกมาด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ นวนิยายสั้นเล่มแรกของเขา The Hunting Gun (ค.ศ.1949) ในชื่อไทยว่า ‘รักสามเส้า’ โดยสำนักพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก (ที่เข้าใจว่าได้กลายของสะสมหายากไปแล้วในปัจจุบัน) และอีกเล่ม มีชื่อว่า ‘ลิขิตสี่ฤดู’ เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างนักปรัชญาพุทธ ไดซากุ อิเคดะ (Daisaku Ikeda) กับยาสุชิ อิโนะอุเอะ แปลโดย พจนา จันทรสันติ
อิโนะอุเอะเริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักเขียนตั้งแต่ร่ำเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาเคยลงเรียนวิชาวรรณคดีอังกฤษ ก่อนจะย้ายไปสำเร็จการศึกษาด้านปรัชญา โดยมีวิทยานิพนธ์เป็นบทวิเคราะห์ผลงานของปอล วาเรลี (Paul Valéry) เอกกวีชาวฝรั่งเศส
เป็นที่ทราบกันดีว่า อิโนะอุเอะเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักเขียนนวนิยายก็เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 42 ไปแล้ว สำหรับยุคสมัยที่อายุโดยเฉลี่ยของมนุษย์ปกติยังไม่ถึง 60 ปี นี่ถือเป็นการเริ่มต้นวิชาชีพในวัยชรา อย่างไรก็ตาม นอกจากนวนิยายสองเล่มแรกแล้ว เขายังได้เขียนและตีพิมพ์นวนิยายออกอีกนับร้อยเรื่อง หลายเรื่องได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายในยุคซามุไร
ชื่อของอิโนะอุเอะกลายเป็นที่สนใจในโลกตะวันตกอีกครั้ง เมื่อสำนักพิมพ์ในยุโรป โดยเริ่มจากฝรั่งเศสได้ทยอยแปลและจัดพิมพ์ผลงานของเขาออกมา ล่าสุดนั้นสำนักพิมพ์ Pushkin Press ในอังกฤษก็ได้พิมพ์ Bullfighting, The Hunting Gun และเรื่องสั้น Life of a Counterfeiter สำนวนแปลใหม่โดย ไมเคิล เอมเมอริค (Michael Emmerich)
แม้จะไม่โด่งดังเทียบชั้นได้กับคาวาบาตะ ยาสึนาริ (Kawabata Yasunari) หรือแม้กระทั่งดาไซ โอซามุ (Dazai Osamu) แต่ในช่วงที่อิโนะอุเอะยังมีชีวิตอยู่ ว่ากันว่าเขาเป็นหนึ่งในนักเขียนญี่ปุ่นที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลวรรณกรรมอยู่หลายครั้ง แม้สำหรับชาวญี่ปุ่นเองอิโนอุเอะจะได้รับการยกย่องในฐานะของนักเขียนนวนิยายที่สามารถวาดภาพ หรือรจนาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของทั้งญี่ปุ่นและจีนได้ราวกับเนรมิตโลกอดีตขึ้นมาใหม่
แต่ในมุมมองจากโลกตะวันตกแล้ว อิโนะอุเอะเป็นเอตทัคคะในด้านการวาดภาพจิตใจมนุษย์ ผ่านบทเปรียบเปรยและอุปมาต่างๆ ที่เขาแทรกใส่เข้ามาในเรื่องได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน ตั้งแต่ในบทกวีเปิดเรื่อง The Hunting Gun ที่เปรียบเปรยประกายเยียบเย็นของแอ่งน้ำกับจิตใจของนักล่าผู้โดดเดี่ยว จนไปถึงการใช้ฉากชนวัวของ Bullfight ตอนท้ายเรื่องเพื่อบรรยายความรู้สึกภายในของตัวละครอย่างซึกามิ หรือโดยเฉพาะซาคิโกะเองที่ใช้ผลการแข่งขันคู่สุดท้ายเป็นเครื่องชี้วัดว่าเธอจะไปจากเขาหรือไม่
งานเขียนของอิโนอุเอะ
ซึ่งว่าไปแล้วเขียนขึ้นในท่วงทำนองเรียบง่าย
บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
กลับเต็มไปด้วยคุณลักษณะเด่น และองค์ประกอบของความเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่หลายอย่างหรือเป็นดังที่โคจิน คิตารานิ (Kojin Kiratani) นักปรัชญาวรรณกรรมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ใน Origins of Modern Japanese Literature ว่า จุดเริ่มต้นของวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่นั้นมาจากการใช้เทคนิควิธีการ เช่น การค้นพบภาพภูมิทัศน์ที่เป็นมากกว่าบทบรรยายฉากธรรมดา การค้นพบโลกภายในตัวละคร หรือคำสารภาพในฐานะของระบบ ซึ่งมีอยู่ในนวนิยายและเรื่องสั้นจำนวนมากของเขา อย่างเช่น The Hunting Gun ก็เขียนขึ้นในรูปของนวนิยายจดหมาย (Epistolary Novel) ที่นอกเหนือจากจะบอกเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่งแล้ว ยังเป็นคำสารภาพของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งถ่ายทอดให้เรารู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้างที่ไม่สามารถเชื่อมต่อหรือเยียวยาได้ด้วยความรัก
ในขณะที่ Bullfight ที่แม้จะเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่สาม หรือเป็นมุมมองแบบสัพพัญญู แต่ก็มักจะแทรกเสียง หรือความนึกคิดของตัวละครไว้ระหว่างบทบรรยาย หรือบทสนทนา จึงไม่แปลกที่เราผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนได้ก้าวเข้าไปในห้วงความคิดและจิตใจของซึกามิและซาคิโกะ โดยที่บางครั้งก็เป็นเพียงฉากตอนที่ตัวละครเหล่านี้เฝ้ามองดูเหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งก็ทำให้พูดได้ว่า อิโนะอุเอะนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงภาพภูมิทัศน์ หรือฉากต่างๆ ให้กลายเป็นอารมณ์และความรู้สึก เป็นโลกภายนอกที่สะท้อนโลกภายใน หรือกลับไปกลับมาได้อย่างเชี่ยวชาญ
ฉากการชนวัวที่ถูกบรรยายไว้ราวกับการจับภาพด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่มีความละเอียดสูงนั้นจึงอาจไม่ใช่เพียงการแสดงภาพบรรยากาศสมจริงแต่เพียงเท่านั้น หากทว่ายังเป็นการฉายความรู้สึกภายในของตัวละครต่างๆ ออกมา ไม่ใช่ฉากการต่อสู้ที่สะกดสายตา แต่ทว่าเป็นความเศร้าที่เกิดจากการดิ้นรนของสัตว์สองตัว ซึ่งการต่อสู้นั้นแทบไม่มีความหมายสำหรับตัวมันเอง เพราะสุดท้ายมันก็ต้องถูกส่งไปโรงชำแหละและแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์
Bullfight เป็นนวนิยายเล่มเล็กๆ ที่อัดแน่นด้วยความสัมพันธ์อันควบแน่นระหว่างชีวิต ความรักความสัมพันธ์ ความคาดหวัง ความสำเร็จ ความล้มเหลวที่สามารถกระทบใจเราผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งผู้ชื่นชอบวรรณกรรมสมัยใหม่ญี่ปุ่นน่าจะชื่นชอบได้ไม่ยากเลย