ว่ากันว่าพุทธแท้ทำบุญไม่ต้องใช้เงิน แถมหนักข้อเข้าก็บอกว่า คนที่ใช้เงินทำบุญที่จริงแล้วไม่ได้บุญอะไรกับเขาเลย ซึ่งผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า ถ้าเรามองข้อมูลจากคัมภีร์ต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า?
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ หรือพูดง่ายๆ ว่าทรงยังไม่ตรัสรู้นั่นแหละนะครับ พระพุทธองค์ทรงเคยทดลองกระทำ ‘อัตตกิลมถานุโยค’ หรือ ‘การบำเพ็ญทุกรกิริยา’ ซึ่งก็เป็นการบำเพ็ญเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ที่นิยมกัน โดยถือเป็นสิ่งที่ชิคๆ และล้ำเอามากๆ ในสมัยพุทธกาล
ศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของอินเดีย ที่เกิดขึ้นในช่วงรุ่นราวคราวเดียวกับพุทธศาสนา โดยอาจจะเก่ากว่าเล็กน้อยก็คือ ‘ศาสนาเชน’ (หรืออาจเรียกแบบมีความรู้ และดูคูลยิ่งขึ้นว่า ศาสนาไชนะ) ก็เลือกที่จะบำเพ็ญตนเพื่อการหลุดพ้นจากทางโลกด้วยวิธีการบำเพ็ญทุกรกิริยา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเคยทดลองบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีนี้นั่นแหละ เผลอๆ ตอนที่พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะบำเพ็ญตนเพื่อการหลุดพ้นด้วยวิธีที่ว่า ก็เป็นเพราะอิทธิพลของศาสนานี้ด้วยซ้ำไป
ความในพุทธประวัติ ซึ่งก็มีที่มาอยู่ในพระไตรปิฎกอ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงทรมานพระองค์ด้วยการขบพระทนต์ (ฟัน) จนแน่น, อัดเพดานพระโอษฐ์ (ปาก) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น), ผ่อนพระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระอัสาสะ (ลมหายใจออก) ให้เหลือน้อยแล้วทรงกลั้นพระปัสสาสะเอาไว้ให้นาน จนพระวรกายร้อนเป็นไฟและมีพระเสโท (เหงื่อ) ไหลย้อย พระฤทัย (หัวใจ) สวิงสวาย และเสวยพระกระยาหารน้อยมากหรือไม่เสวยอะไรเลย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่ต่างไปจากการบำเพ็ญตนตามแนวทางอย่างพวกโยคี และนักบวชในศาสนาเชน แต่ก็อย่างที่รู้กันดีในหมู่ชาวพุทธนะครับ ว่าสุดท้ายพระพุทธองค์ก็ทรงเลิกบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีที่ว่าไป
นิทานในพุทธประวัติได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ตอนนี้ อย่างเต็มไปด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติเอาไว้ว่า พระอินทร์จะมาบรรเลงพิณด้วยสายที่บางเส้นก็ขึงเสียจนตึงจัด บางเส้นก็ขึงเอาไว้หย่อนจัด แต่มีอยู่เส้นหนึ่งที่ขึงเอาไว้อย่างพอดี ไม่หย่อนและตึงจนเกินไปนัก จึงทำให้เสียงที่บรรเลงออกมาเพราะพริ้งพิมพ์ใจเป็นที่สุด จนทำให้พระพุทธองค์ทรงค้นพบอะไรที่เรียกว่า ‘ทางสายกลาง’ เลยทรงเลิกบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีที่ตึงจัด อย่างสายพิณที่ดีดเท่าไหร่ก็ไม่เพราะของพระอินทร์เส้นนั้น
ผลที่ตามมาก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้จากการค้นพบทางสายกลางก็คือ ปัญจวัคคีย์ หรือคณะผู้ติดตามของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 คน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีด้วยเห็นว่า พระพุทธองค์นี่แหละ ‘ของจริง’ ก็ถึงกับสิ้นศรัทธาต่อพระองค์ แล้วหลบลี้หนีหายไปจนหมด เพราะต่างก็ลงความเห็นว่า พระพุทธเจ้าที่พวกเขาเคยเห็นว่าเป็นของจริงแน่ๆ นั้น อาจจะเป็นเพียงแค่ของปลอมทำเหมือนเมดอินกรุงกบิลพัสดุ์เสียแล้ว
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญอะไรนักหรอกครับ เพราะตัวละครใหม่ที่มีบทบาทสำคัญกับพระพุทธศาสนาอีกคนกำลังจะปรากฏกายขึ้นมาแทนที่ และ ‘นางสุชาดา’ ก็คือใครคนนั้น
เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากการที่พระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วจึงเสด็จมาประทับที่ใต้ ‘ต้นไทร’ ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ใกล้บ้านของนางสุชาดานี่แหละ
คำนำหน้านามก็บอกอยู่แล้วนะครับว่า นางสุชาดา ไม่ใช่นางสาวสุชาดา และเธอก็เป็นหญิงที่แต่งงานแล้วจริงๆ นั่นแหละ แต่ว่าก่อนที่จะแต่งงานนั้น นางสุชาดาได้มาบนบานศาลกล่าวกับต้นไทร ที่ไม่น่าจะมีผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกผูกเอาไว้สองข้อว่า ข้อหนึ่ง ขอให้เธอได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน และข้อสองก็คือ ขอให้เธอได้ลูกคนแรกเป็นผู้ชาย โดยถ้าเสร็จสมอารมณ์หมายตามที่วาดฝันไว้ทั้งสองข้อแล้ว เธอจะแก้บนด้วยของที่มีมูลค่าถึง 100,000 กหาปณะ
ไม่ว่าจะด้วยบารมีของต้นไทร หรืออะไรก็ไม่รู้แหละ แต่แน่นอนว่านางสุชาดาได้ครบทั้งสองข้อตามที่เธอได้บนกับต้นไทรเอาไว้ และเธอก็ไม่ได้แก้บนเอาไว้เสียเนิ่นนานจนบางทีเธออาจจะลืมไปเลยก็ได้ เพราะตามพุทธประวัติก็อ้างว่า ลูกชายคนนั้นของเธอนั้นก็โตเสียจนออกเรือนไปเรียบร้อยเลยทีเดียว
อยู่ๆ นางสุชาดาก็นึกขึ้นมาได้นะครับว่าเธอยังไม่ได้แก้บน ซึ่งก็ตรงกันกับวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทรต้นเดียวกับที่เธอบนเอาไว้นั่นแหละ วันนั้นเธอจึงส่งนางทาสี (ภาษาไทยคือ นางทาส) ไปปัดกวาดทำความสะอาดที่โคนต้นไทรนั่นเสียก่อน นางทาสคนที่ว่าจึงได้มีโอกาสไปพบเข้ากับพระพุทธเจ้า ซึ่งนางทาสคนนี้ก็เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเป็นรุกขเทวดามันเสียอย่างนั้น
อารามดีใจนางทาสก็ไม่สนแล้วแหละครับว่าจะต้องปัดกวาดเช็ดถูโคนต้นไม้อะไรอีก เธอรีบเอาข่าวไปบอกนายหญิงของเธอ ซึ่งก็ทำให้นางสุชาดาดีใจเป็นอย่างยิ่ง จนถึงขนาดต้องแต่งตัวแบบจัดเต็ม (ซึ่งก็คงจัดเต็มขนาดมีมรูปผู้หญิง ในชุดนกยูงของสาวกธรรมกายยังต้องอายเลยเหอะ!) พร้อมกับทูล ‘ข้าวมธุปายาส’ ไว้เหนือศีรษะ เพื่อเอาไปถวายรุกขเทวดาคนนั้น ที่ให้พรเธอจนเสร็จสมอารมณ์หมายครบทั้งสองข้อ
เรื่องราวต่อจากนั้นก็อย่างที่มีอยู่ในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ของการศึกษาภาคบังคับไทย พระพุทธเจ้าได้เสวยข้าวมธุปายาส (คือข้าวที่หุงด้วยนมและน้ำตาล) เป็นพระกระยาหารมื้อแรก หลังจากทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วเสด็จไปประทับที่ใต้ต้นโพธิ์ต่อ จนบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนนางสุชาดาก็ถูกยกย่องว่าเป็น ‘อุบาสิกา’ คนแรกในพระพุทธศาสนา
และหากจะนับกันอย่างนี้แล้ว สาวกคนแรกของพระพุทธศาสนานี่เป็น ‘ผู้หญิง’ นะครับ ไม่ใช่ ‘ผู้ชาย’ แถมยังไม่ใช่ผู้หญิงคนนี้ยังไม่ใช่นางไพร่ที่ไหน แต่เป็นมหาเศรษฐีนีระดับที่ป้าเช็ง เจ๊เกียว หรือจะเจ๊ปูว์ ยิ่งลักษณ์ ยังต้องมอบมงให้เลยอีกต่างหาก เพราะนางสุชาดามีทั้งนางทาสเป็นของตนเอง เวลาจะออกเรือนก็อยากได้คุณสามีที่มีชาติมีตระกูล และที่สำคัญคือมีสตางค์เสมอกัน
ที่สำคัญก็คือตอนไปบนกับต้นไทรนี่เธอระบุจำนวนตัวเลขค่าดำเนินการของเจ้าพ่อต้นไทรไว้ถึง 100,000 กปาหณะ เลยนะครับ
ใครบางคนเคยเสนอเอาไว้ว่า ‘กหาปณะ’ นี่แหละ คือที่มาของคำว่า ‘กษาปณ์’ แถมยังมีมูลค่า 1 กปาหณะ เท่ากับ 4 บาท เลยทีเดียว ดังนั้นถ้าจะแปลงเป็นเงินบาทแล้วล่ะก็ เงินค่าตัวคุณสามีและคุณลูกที่นางสุชาดาประเมินไว้ก็คือ 400,000 บาท แต่ย่อมแน่นอนว่า นี่เป็นมูลค่าเงินเมื่อยุคพุทธกาล ไม่ใช่ค่าเงินในปัจจุบัน และถ้าเทียบง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ก๊วยเตี๋ยวตกชามละ 40 บาท ตามราคามาตรฐาน ในขณะที่เมื่อ พ.ศ. 2500 ก๊วยเตี๋ยวชามละสลึง แปลว่าเงิน 1 บาท สามารถซื้อก๊วยเตี๋ยวได้ถึง 4 ชาม ดังนั้นค่าเงิน 400,000 บาทของนางสุชาดาในยุค 2,500 กว่าปีที่แล้วนั้น จึงน่าจะมหาศาลพอๆ กับเงินที่รัฐไทยจะเก็บได้จากการเพิ่มค่า VAT เป็น 8% เลยทีเดียว (อ่อ! ลืมไป ท่านผู้นำเขาไม่ได้พูดว่าจะเพิ่มภาษีสักหน่อยนี่เนอะ?)
แต่วาสนาระหว่างนางสุชาดากับพระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้จบลงเพียงแค่การถวายข้าวมธุปายาส แล้วกลายเป็นอุบาสิกาคนแรกเพียงเท่านั้น ลูกชายคนโตของเธอที่ชื่อว่า ‘ยสะ’ (ก็คนที่ขอมาจากจากพ่อต้นไทร ด้วยค่าหัวรวมกับพ่อของเด็กด้วยเท่ากับค่ารายได้จาก VAT ที่หากเพิ่มขึ้นอีก 1% ในยุคนี้นั่นแหละ!) ได้อุปสมบท แถมยังบรรลุอรหันต์อีกต่างหาก
ครั้งหนึ่งนางสุชาดายังได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย รวมทั้งพระยสะ มาฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้แสดงเทศนาจนนางสุชาดา และอดีตภรรยาของพระยสะ ถึงกับบรรลุโสดาบันอีกด้วย ดังนั้นรอบๆ พระวรกายของพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้มีเฉพาะพระสงฆ์หรอกนะครับ พระองค์ยังมีสาวกระดับอภิมหาเศรษฐีนีของอินเดียในยุคนั้นอยู่อีกด้วย แล้วคนที่โคตรอภิมหารวยขนาดนางสุชาดา จะไม่เคยใช้จ่ายเพื่อการทำบุญในพุทธศาสนาเลยอย่างนั้นหรือครับ?
แถมอุบาสิการะดับอภิมหาเศรษฐีนีที่เลื่อมใสในพระพุทธองค์ ก็ไม่ได้มีเฉพาะนางสุชาดา อุบาสิกาที่รวยเว่อร์วังอีกคนหนึ่งก็คือ นางวิสาขา แห่งภัททิยนคร แคว้นอังคะ ก็เคยถวายชุด ‘มหาลดาปสาธน์’ (คือเครื่องประดับในชุดแต่งงานของชาวอินเดีย ที่ใช้สวมคู่กับส่าหรี) ที่ประดับไปด้วยเพชร 4 ทะนาน แก้วมุกดา 11 ทะนาน แก้วประพาฬ 20 ทะนาน แก้วมณี 33 ทะนาน แถมยังใช้เงินแทนด้าย กระดุมทำด้วยทอง มูลค่า 90 ล้านกหาปณะ หรือ 360 ล้านบาทเมื่อยุคโน้น (คำนวณดูเองว่า เงินขนาดนี้ พี่ไทยเราจะเอาไปเหมาเรือดำน้ำมาได้กี่เข่ง?) ให้กับพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปใช้เป็นปัจจัยไปสร้างวัดบุปผาราม
ท้ายที่สุดนางวิสาขาก็เป็นอุบาสิกาอีกคนหนึ่งที่บรรลุโสดาบัน และคัมภีร์ในพระศาสนาอย่าง ปรมัตถทีปนี ยังระบุไว้ว่า เมื่อเสียชีวิตแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นที่ 5 คือนิมมานรดีอีกเสียด้วย
คงจะพิสูจน์ไม่ได้หรอกนะครับว่า บุญอันใดที่ทำให้อภิมหาเศรษฐีนีคนนี้บรรลุโสดาบัน จนไปเกิดบนสวรรค์ชั้นที่ 5 แต่ถ้าจะบอกว่า การถวายทรัพย์สินที่มีมูลค่าเท่ากับเงินจำนวน 360 ล้านบาท (ตามค่าเงินยุคกระโน้น) ไม่ทำให้เธอได้บุญกุศลใดๆ เลย ก็คงจะใจร้ายกับเธอเกินไปเสียหน่อย
ที่ข้างพระวรกายของพระพุทธเจ้าก็ยังมีอภิมหาเศรษฐีในยุคโน้นอยู่อีกนะครับ ไม่ว่าจะเป็น อนาถบิณฑิกเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี ที่สร้างพระอารามเชตวันวิหาร อันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่เป็นประจำ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งอภิมหาเศรษฐีแห่งยุคโน้น ซึ่งได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น ‘เอกะทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก’ (อุบาสกผู้เป็นเลิศในการเป็นผู้ถวายทาน) จนในที่สุดอภิมหาเศรษฐี (ระดับเสี่ยเจริญ และเจ้าสัวธนินท์ ยังได้แต่มองตาปริบๆ เมื่อจะเทียบกันด้วยความมั่งคั่ง) คนนี้ก็บรรลุโสดาบันเช่นกัน และเมื่อพระพุทธเจ้าเป็นผู้เอื้อนพระโอษฐ์เองว่า เสี่ยอนาถบิณฑิกฯ ท่านเป็นเลิศทางด้านการถวายทานสารพัดสิ่งอย่าง การถวายสิ่งของนู่นนี่จะไม่ทำให้ท่านได้บุญจนบรรลุถึงโสดาบันเลยหรือครับ?
ผมไม่ได้หมายความว่า การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นจะต้องใช้เงินเสมอไป เพียงแต่ผมไม่แน่ใจนักว่า การถวายเงินหรือปัจจัยอื่นๆ ที่แสดงออกถึงความมั่งคั่งของผู้ถวายนั้น จะไม่ได้บุญตามความเชื่อในศาสนาพุทธจริงๆ หรือ?
แต่ถ้าดูข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผมเข้าใจว่า หลักการในศาสนาพุทธตามพระบาลีนั้นไม่ได้ปฏิเสธปัจจัยเหล่านี้เลยสักนิด (ส่วนจะได้บุญมากบุญน้อย หรือจำนวนปัจจัยไม่เกี่ยวกับแต้มบุนที่เก็บได้ อะไรยังไงนั่นก็อีกเรื่อง) และอันที่จริงแล้วคำว่า ‘อัตตกิลมถานุโยค’ ที่พี่ไทยมักจะแปลกันว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา เพียงอย่างเดียวนั้น ตามรูปศัพท์ดั้งเดิมแล้ว แปลว่า ‘การทำตนให้ลำบากเดือดร้อน’ ต่างหาก
ใช่ครับใช่ ถ้าจะว่ากันตามพระบาลีแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเลิกกระทำตนให้ลำบากเดือดร้อนนั้น พระองค์ไม่เพียงแต่เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาเท่านั้น แต่ยังทรงได้รู้จักกับนางสุชาดาอีกด้วย ดังนั้นถ้าศาสนาไหนจะใช้เงินทำบุญไม่ได้ศาสนานั้นก็ไม่น่าจะเป็นศาสนาพุทธในอินเดีย แต่คงเป็นศาสนาไทย แถมยังเป็นศาสนาไทยของใครเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้หมายรวมถึงของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธไปทุกคนอีกด้วย